Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

สหรัฐกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาค (ตอนที่ 3)

สหรัฐกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาค (ตอนที่ 3)
ตีพิมพ์ในไทยโพสต์ วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2553

ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ ผมได้เคยวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐกับสถาปัตยกรรมในภูมิภาคไปแล้ว 2 ตอน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะเป็นตอนที่ 3 โดยผมจะมาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ล่าสุดของสหรัฐ ดังนี้

grand strategy
ก่อนอื่น ผมขอทบทวนยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐในเรื่องนี้อีกครั้ง
ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐในภูมิภาคคือ ยุทธศาสตร์ครองความเป็นเจ้า ซึ่งยุทธศาสตร์ย่อยที่ตามมาคือ ต้องป้องกันไม่ให้อิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคลดลง ต้องป้องกันการขยายอิทธิพลของจีน และต้องป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชียรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของอาเซียน+3 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันโดยมีอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยมีเป้าหมายระยะยาว ที่จะจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกขึ้น และถ้าเอเชียตะวันออกรวมตัวกันได้ จะกลายเป็นขั้วอำนาจใหม่ ที่จะมีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ซึ่งจะท้าทายอำนาจของสหรัฐเป็นอย่างมาก และจะเป็นการกีดกันสหรัฐออกไปจากภูมิภาค สหรัฐจึงได้เริ่มส่งสัญญาณคัดค้านพัฒนาการของอาเซียน+3 ทำให้หลายประเทศในภูมิภาคเริ่มถอยจากอาเซียน+3 และหันมาพัฒนาอาเซียน+6 หรือ East Asia Summit (EAS) ขึ้นมาแทน

สำหรับยุทธศาสตร์สหรัฐต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาคนั้น ยุทธศาสตร์หลักคือ การทำให้สหรัฐเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรม ภาษาอังกฤษอาจใช้คำว่า U.S. as the core of regional architecture โดยยุทธศาสตร์ของสหรัฐสรุปได้ด้วยภาพข้างล่างนี้



จากภาพ สรุปได้ว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐคือ สหรัฐเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรม โดยมีสหรัฐอยู่วงในสุด
วงที่ 2 คือ ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับพันธมิตร ซึ่งมีลักษณะเป็น hub and spokes
วงที่ 3 คือ เวทีเฉพาะกิจและเวทีอนุภูมิภาค ที่สำคัญคือ Trans Pacific Partnership (TPP) ซึ่งเป็น FTA 8 ประเทศ และเวทีลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง
วงที่ 4 คือ เวทีเอเปค
วงที่ 5 คือ เวที EAS ซึ่งในอดีต สหรัฐยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่า จะเข้ามาเป็นสมาชิกหรือไม่ และจะปฏิสัมพันธ์กับ EAS ในลักษณะใด
วงที่ 6 เป็นวงที่เผื่อไว้ในอนาคต ในเรื่องของการจัดตั้งสถาบันใหม่ขึ้นมา
สำหรับในวันนี้ ผมจะวิเคราะห์รายละเอียดในวงที่ 5 คือ สหรัฐกับ EAS


สหรัฐกับ EAS
• ภูมิหลังของ EAS
ในอดีตนั้น อาเซียนให้ความสำคัญกับอาเซียน+3 โดยได้มีการประชุมสุดยอดครั้งแรก ตั้งแต่ปี 1997 โดยเป้าหมายระยะยาวจะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตาม ตามที่ได้วิเคราะห์ไปแล้วข้างต้น คือ สหรัฐมองว่า อาเซียน+3 เป็นกรอบที่กีดกันสหรัฐ จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐลดลง และจะเป็นกรอบที่ทำให้อิทธิพลของจีนเพิ่มขึ้น สหรัฐจึงได้แสดงท่าทีคัดค้านอาเซียน+3 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน ประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะญี่ปุ่นและอาเซียน เริ่มมีความหวาดระแวงมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จีนอาจจะครอบงำอาเซียน+3 และประชาคมเอเชียตะวันออก จึงได้มีแนวคิดพัฒนากรอบ East Asia Summit หรือ EAS ขึ้นมา โดยดึงเอามหาอำนาจ คือ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เข้ามาถ่วงดุลจีน EAS จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาเซียน+6 โดยได้มีการประชุมสุดยอด EAS ครั้งแรกในปี 2005 โดยอาเซียนหวังว่า ในระยะยาว EAS จะเป็นช่องทางในการดึงสหรัฐเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอาเซียน และเพื่อที่จะทำให้สหรัฐลดความหวาดระแวงและต่อต้านการรวมกลุ่มในภูมิภาค รวมทั้งจะเป็นการดึงเอาสหรัฐมาถ่วงดุลจีนด้วย

• ท่าทีของสหรัฐ
ในตอนแรกนั้น สหรัฐยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในเรื่องนี้ โดยในช่วงแรก สหรัฐไม่ได้มีท่าทีที่เป็นทางการแต่อย่างใด เพียงแต่ได้ประกาศเป็นหลักการกว้างๆ ว่า สถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่กำลังจะวิวัฒนาการขึ้นนั้น จะต้องมีสหรัฐรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลบุช สหรัฐไม่เคยมีท่าทีอย่างเป็นทางการในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ต่อมาในสมัยรัฐบาลโอบามา ท่าทีของสหรัฐก็เปลี่ยนไป โดยได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ทั้งจากประธานาธิบดีโอบามา และจาก Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศ ในช่วงปี 2009 ว่า สหรัฐสนใจที่จะเข้าร่วมกับ EAS แต่ยังไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่า จะเข้าร่วมในลักษณะใด

ท่าทีในเชิงบวกของสหรัฐ จึงทำให้อาเซียนตอบสนองในเชิงบวกเช่นเดียวกัน อาเซียนต้องการให้สหรัฐเข้ามาอยู่ใน EAS อยู่แล้ว ดังนั้น ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 16 ที่ฮานอย เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาเซียนได้ประกาศท่าทีอย่างชัดเจนว่า อาเซียนสนับสนุนให้สหรัฐและรัสเซียเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับ EAS อย่างเป็นทางการ แต่รูปแบบของการปฏิสัมพันธ์ยังไม่ชัดเจน ล่าสุด ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในแถลงการณ์ร่วมผลการประชุม ได้มีถ้อยคำในทำนองว่า ที่ประชุมยินดีที่ทั้งสหรัฐและรัสเซียสนใจที่จะเข้าร่วม EAS และที่ประชุมจะเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนในปลายปีนี้ เชื้อเชิญสหรัฐและรัสเซียเข้าร่วม EAS อย่างเป็นทางการ ขณะนี้ มีข่าวออกมาว่า มีความเป็นไปได้มากว่า สหรัฐจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก EAS ค่อนข้างแน่นอน โดยข่าวในวงการทูต ได้คาดการณ์ว่า ประธานาธิบดีโอบามาจะเข้าร่วมการประชุม EAS ที่อินโดนีเซีย ปลายปี 2011

• ท่าทีของ Council on Foreign Relations
อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ Evan Feigenbaum จาก Council on Foreign Relations ซึ่งเป็น Think-Tank ที่มีชื่อของสหรัฐ ได้เขียนบทความวิเคราะห์เรื่องนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวคิดที่น่าสนใจ โดย Feigenbaum วิเคราะห์ว่า รัฐบาลสหรัฐคงจะเข้าร่วม EAS โดยคงจะมองว่า สหรัฐจะได้ประโยชน์หลายประการ

ประการแรกคือ ก่อนหน้านี้ สหรัฐเหมือนกับจะไม่ได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาสถาปัตยกรรมในภูมิภาค การเข้าร่วม EAS จะทำให้สหรัฐเข้ามามีบทบาทได้เต็มที่
ประการที่ 2 อาเซียนเป็นกลไกหลักในการจัดตั้ง EAS ดังนั้น การเข้าร่วม EAS จะเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐให้ความสำคัญกับอาเซียน
ประการที่ 3 การเป็นสมาชิกของ EAS จะเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียโดยไม่มีสหรัฐ คือ จะเป็น EAS ที่ขยายวงออกไป โดยมีสหรัฐรวมอยู่ด้วย เท่ากับจะเป็นการถ่วงดุลกรอบอาเซียน+3
ประการที่ 4 การที่สหรัฐเป็นสมชิก EAS จะทำให้ประธานาธิบดีโอบามาให้ความสนใจกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการกรุยทางไปสู่ การที่โอบามาจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ไปเยือนกัมพูชาและลาว

แต่ Feigenbaum กลับวิเคราะห์ตรงข้ามกับรัฐบาลสหรัฐว่า การเข้าร่วม EAS นั้น คงจะไม่ได้ประโยชน์อะไร โดยมองว่า ปัญหาใหญ่ของสหรัฐในภูมิภาคคือ สถาบันที่มีความหมายต่อผลประโยชน์ของสหรัฐมากที่สุด แต่สถาบันดังกล่าวกลับไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วย (เขาหมายถึง อาเซียน+3) โดยเขาเปรียบเทียบว่า การเป็นสมาชิก EAS เปรียบเสมือนสหรัฐเข้าไปอยู่ในห้องๆ หนึ่ง แต่ในอีกห้องหนึ่งที่สหรัฐไม่ได้รับเชิญ กลับเป็นห้องที่มีความหมายมากกว่า เขาจึงสรุปว่า การเข้าร่วม EAS นั้นคงไม่มีความหมายอะไร

Feigenbaum วิเคราะห์ต่อไปว่า แนวโน้มในขณะนี้คือ ประเทศในเอเชียกำลังมุ่งที่จะพัฒนาสถาบันของประเทศในเอเชียเท่านั้น โดยไม่มีสหรัฐ (ซึ่งสถาบันดังกล่าว เขาไม่ได้พูดถึงโดยตรง แต่ผมตีความว่า คือ อาเซียน+3 นั่นเอง) ซึ่งเขามองว่า อาเซียน+3 กำลังมีความร่วมมือกันที่จะเป็นภัยต่อผลประโยชน์ทั้งทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของสหรัฐ เขามองว่า ด้วยเหตุที่มีการพึ่งพาอาศัยทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ประเทศในเอเชียจึงแสวงหาอัตลักษณ์ร่วมและสถาบันร่วม เพื่อที่จะเปลี่ยนความสำเร็จทางเศรษฐกิจให้มาเป็นกลุ่มประเทศที่มีพลังอำนาจมากขึ้น
ดังนั้น Feigenbaum จึงเสนอว่า สหรัฐควรจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน โดยสหรัฐควรที่จะหาหนทางที่จะเชื่อมสถาบันในภูมิภาคใหญ่คือ แปซิฟิค อย่างเช่น เอเปค กับสถาบันเฉพาะของเอเชียอย่าง อาเซียน+3 และเสนอว่า สหรัฐควรใช้การทูตอย่างฉลาดและใช้สมาชิกใน EAS ในการที่จะปรับเปลี่ยน EAS ให้มีความสำคัญขึ้นมา เพราะในขณะนี้ เป็นเพียงแค่เวทีหารือเฉพาะผู้นำ และมีความร่วมมือกันอย่างเบาบางเท่านั้น

ยุทธศาสตร์สหรัฐต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตอนที่ 2)

ยุทธศาสตร์สหรัฐต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 49 วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม - วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน 2553

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของสหรัฐต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้วิเคราะห์ grand strategy ของสหรัฐต่อภูมิภาค และวิเคราะห์ถึงพัฒนาการของยุทธศาสตร์สหรัฐต่อภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลบุชและโอบามาไปแล้ว คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้ จะเป็นตอนที่ 2 โดยจะวิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการทูตของสหรัฐในภูมิภาค ดังนี้
สถานการณ์การทูตของสหรัฐในภูมิภาคล่าสุด

สำหรับความเคลื่อนไหวของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ล่าสุด ได้มีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไฮไลท์การทูตของสหรัฐในภูมิภาค เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงฮานอย ในช่วงปลายเดือนกรกฎคมที่ผ่านมานี้เอง ซึ่งเวทีและประเด็นสำคัญของการทูตสหรัฐ อาจจะแยกแยะเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

• การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ
ที่กรุงฮานอย Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้ประชุมประจำปีกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม โดยผลการประชุมมีสาระสำคัญดังนี้

- ผลการประชุมได้ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนกับสหรัฐครั้งแรกที่สิงคโปร์
- รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนร่วมกับ USTR ได้จัดโครงการ ASEAN Road Show เดินทางไปสหรัฐ
- มีความคืบหน้าในการจัดทำแผนปฏิบัติการฉบับที่ 2 เพื่อแปลงแถลงการณ์ร่วมหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ โดยแผนดังกล่าว จะเป็นแผน 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2011 – 2015
- กำลังมีการร่างข้อตกลงความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ
- ในเดือนสิงหาคม ปีนี้ จะมีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับ USTR ที่เวียดนาม เพื่อพิจารณาความคืบหน้าของการ implement ข้อตกลง TIFA
- ที่ประชุมได้แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของการประชุมรัฐมนตรีในกรอบ Lower Mekong - U.S. Ministerial Meeting
- สหรัฐได้เสนอที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐ ครั้งที่ 2 ขึ้น ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ ที่สหรัฐ
- ที่ประชุมยินดีต่อการที่สหรัฐแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมในกรอบการประชุม East Asia Summit หรือ EAS
- รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐจะเข้าร่วมประชุม รัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน+8 หรือ ADMM+8 ครั้งแรก ในเดือนตุลาคมปีนี้
- ที่ประชุมยินดีที่สหรัฐให้การสนับสนุน ในการที่อาเซียนจะเป็นแกนกลางหรือเป็นศูนย์กลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค
- สหรัฐได้แต่งตั้งทูตประจำอาเซียนไปประจำอยู่ที่สำนักเลขาธิการอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ตั้งแต่เดือนมกราคม ปีนี้

• U.S.-Lower Mekong Initiative
แนวโน้มที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการทูตสหรัฐในภูมิภาค ในปัจจุบัน คือ การเปิดแนวรุกทางการทูต เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในอินโดจีน และในกรอบของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศ โดยเมื่อปีที่แล้ว ได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง 4 ประเทศไปแล้ว

และในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีการประชุมครั้งที่ 2 โดย Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้ประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของ กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม ที่กรุงฮานอย โดยสาขาความร่วมมือที่สำคัญ มี 3 สาขา ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณสุข และด้านการศึกษาและฝึกอบรม

สำหรับในด้านสิ่งแวดล้อมนั้น สหรัฐจะให้เงินช่วยเหลือมูลค่า 22 ล้านเหรียญ ในปี 2010 สำหรับโครงการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และจะมีการจัดทำโครงการ 3 ปี เพื่อช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ในการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และได้มีการจัดทำข้อตกลง Sister River ระหว่าง Mekong River Commission กับ Mississippi River Commission

สำหรับในด้านสาธารณสุข สหรัฐจะให้เงินช่วยเหลือเกือบ 150 ล้านเหรียญ โดยเฉพาะในโครงการป้องกันการแพร่ขยายของเชื้อโรคร้ายต่างๆ ที่ผ่านมา สหรัฐได้ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ถึงกว่า 2 ล้านคนในภูมิภาค และทำให้อัตราการเพิ่มของโรคเอดส์ลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
สำหรับในด้านการศึกษาและฝึกอบรมนั้น สหรัฐได้ตั้งวงเงินให้ความช่วยเหลือในด้านนี้ 18 ล้านเหรียญ ในปี 2010

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ สหรัฐกำลังมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกทางการทูตอย่างหนัก ต่อประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง และต่ออินโดจีน ทั้งนี้สาเหตุสำคัญคือ ความพยายามของสหรัฐที่จะแข่งกับจีน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา จีนได้รุกหนักเข้าสู่อินโดจีนและลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างเช่นกัน ในอดีต จีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า มาโดยตลอด จีนจึงเป็นต่อสหรัฐอยู่หลายขุม ในอดีต สหรัฐได้ทอดทิ้งประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะหลังการแพ้สงครามเวียดนาม ประเทศเหล่านี้จึงอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนมาโดยตลอด แต่จากยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ผมได้วิเคราะห์ไปแล้วว่า สิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อสหรัฐในภูมิภาคคือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ดังนั้น เราจึงได้เห็นว่า ในปัจจุบัน สหรัฐกำลังทุ่มเต็มที่ เพื่อที่จะใกล้ชิดกับประเทศเหล่านี้มากขึ้น เพื่อแข่งกับจีน

ขอเพิ่มเติมข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบัน สหรัฐกำลังกระชับความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี กับประเทศเหล่านี้ด้วย
โดยความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสหรัฐกับเวียดนาม ดีขึ้นมากอย่างผิดหูผิดตา

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับกัมพูชา ก็ดีขึ้นมากเช่นเดียวกัน ในอดีต สหรัฐกับกัมพูชา แทบจะไม่มีความสัมพันธ์อะไรกันเลย แต่ขณะนี้ ได้มีข่าวออกมาว่า สหรัฐกำลังมีแผนการจะซ้อมรบร่วมทางทหารกับกัมพูชาเป็นครั้งแรก ในช่วงปลายปีนี้ การซ้อมรบร่วมจะมีชื่อว่า Angkor Sentinel ซึ่งจะเน้นในเรื่องของปฏิบัติการรักษาสันติภาพ เหมือนกับการซ้อมรบ Cobra Gold ระหว่างสหรัฐกับไทย

และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับลาว ก็กระชับแน่นแฟ้นขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีลาว Dr.Thongluon Sisoulith ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐและได้พบปะกับ Hillary Clinton ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี โดยผลการพบปะหารือ ทั้งสองฝ่ายประกาศจะกระชับความสัมพันธ์กัน และกำลังจะขยายความร่วมมือทางทหารในอนาคต โดยได้เริ่มมีการแลกเปลี่ยนผู้ช่วยทูตทหารระหว่างกันแล้ว นอกจากนั้น ยังได้มีการลงนามในข้อตกลงการขนส่งทางอากาศ ที่จะช่วยกระตุ้นการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกันด้วย

ปัญหาหมุ่เกาะสแปรตลีย์

สำหรับเรื่องสุดท้าย ที่แสดงให้เห็นถึงการทูตในเชิงรุกของสหรัฐในภูมิภาค คือ การจุดชนวนการปะทุของปัญหาความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ครั้งใหม่ โดยในระหว่างประประชุม ASEAN Regional Forum หรือ ARF ที่ฮานอย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม Hillary Clinton ได้ประกาศท่าทีของสหรัฐในเรื่องความขัดแย้งนี้ โดยมองว่า สหรัฐถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และสหรัฐจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ สหรัฐสนับสนุนกระบวนการทางการทูตและการเจรจา และไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลัง Clinton เน้นด้วยว่า การเจรจาจะต้องเป็นการเจรจาแบบพหุภาคี
ท่าทีที่คาดไม่ถึงของสหรัฐในเรื่องนี้ น่าจะเป็นการฉวยโอกาสที่สหรัฐจ้องมองอยู่นานแล้ว ที่จะเข้าแทรกแซง ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน โดยแนวโน้มของรัฐบาลโอบามาคือ การเปลี่ยนจากยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์มาเป็นยุทธศาสตร์แข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้น โดยเฉพาะยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนทางทหาร

ต่อมา รัฐบาลจีนได้ออกแถลงการณ์โจมตีสหรัฐว่า การที่ Clinton กล่าวเช่นนั้น ถือเป็นการโจมตีจีน (attack on China) หลังจากนั้น กองทัพจีนได้จัดการซ้อมรบในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ และประกาศจุดยืนอย่างแข็งกร้าวว่า จีนมีอธิปไตยเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์อย่างเด็ดขาด แต่ปฏิกิริยาของจีนก็ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ นำไปสู่การกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสหรัฐกับเวียดนามอย่างเข้มข้น โดยขณะนี้ เรือรบของสหรัฐ ชื่อว่า John McCain ได้จอบเทียบท่าที่ท่าเรือเมืองดานัง และจะเข้าร่วมภารกิจกับกองทัพเรือเวียดนาม นับเป็นครั้งแรกที่จะมีการปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพเรือสหรัฐกับเวียดนาม และเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐ ชื่อ George Washington ได้ไปจอดเทียบท่าที่ท่าเรือเมืองดานังด้วย