สรุปสถานการณ์โลกในปี 2551 (ตอนที่1)
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 14 วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม 2551-วันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม 2552
หน้าที่ 25-26
คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนนี้ เป็นตอนส่งท้ายปีเก่า ผมจึงอยากจะสรุปสถานการณ์โลกในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา โดยจะจัดอันดับเรื่องสำคัญ 10 เรื่อง ที่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อโลกมากที่สุด ในรอบปีที่ผ่านมา โดยเรียงลำดับดังนี้
อันดับ 1 วิกฤติการเงินโลก
อันดับ 2 การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
อันดับ 3 วิกฤติน้ำมันโลก
อับดับ 4 วิกฤติอาหารโลก
อันดับ 5 วิกฤติพายุ Nargis
อันดับ 6 สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย
อันดับ 7 การก่อการร้ายที่มุมไบ
อันดับ 8 การประกาศเอกราชของโคโซโว
อันดับ 9 วิกฤติทิเบต
อันดับ 10 สงครามอิรัก
โดยภาพรวมแล้ว ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เรื่องหลายเรื่องที่เคยเป็นวิกฤติได้คลี่คลายไปในทางดีขึ้น และไม่ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ในรอบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องอิหร่าน อิรัก เกาหลีเหนือ ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ รวมทั้งปัญหาภาวะโลกร้อน แต่ก็กลายเป็นมีเรื่องใหม่เกิดขึ้น ซึ่งคาดไม่ถึง โดยเฉพาะเรื่องที่กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในรอบปีคือ เรื่องวิกฤติการเงินโลก
1. วิกฤติการเงินโลก
ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เรื่องที่ครองอันดับ 1 อย่างไม่มีข้อกังขา คือเรื่องปัญหาวิกฤติการเงินโลก ซึ่งนับเป็นปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 70 ปี โดยที่วิกฤติการเงินสหรัฐหรือที่เราชอบเรียกกันว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ได้ลุกลามระบาดไปทั่วโลก โดยนอกจากทำให้สหรัฐตกอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 1930 ได้ลุกลามใหญ่โตทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งล้มละลาย จนรัฐบาล Bush ต้องอัดฉีดเงินกว่า 7 แสนล้านเหรียญเพื่อกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาด ซึ่งขณะนี้ ได้ลุกลามเข้าไปในอุตสาหกรรมต่างๆ ล่าสุดทำให้บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่กำลังง่อนแง่นทำท่าว่าจะล้มละลาย นอกจากนี้ วิกฤติการเงินสหรัฐยังได้ลุกลามระบาดเข้าไปในยุโรป และภูมิภาคต่างๆทั่วโลก รวมทั้งเอเชีย ตลาดหุ้นเอเชียก็ได้ตกลงอย่างมาก หลายคนพูดว่า ปีนี้ อาจจะเรียกว่าเป็นปีเผาหลอก ในปีหน้า น่าจะเป็นปีเผาจริง
ภายหลังการเกิดวิกฤติการเงินลุกลามไปทั่วโลก ผู้นำโลกตะวันตกได้ตื่นตัวที่จะหาวิธีการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยสหรัฐได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G 20 ครั้งแรกขึ้น ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมก็ออกมาเป็นที่น่าผิดหวัง เพราะข้อตกลงต่างๆไม่ได้ออกมามีลักษณะการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง
ความล้มเหลวของการประชุม G 20 ในครั้งนี้ เป็นผลมาจากท่าทีที่ขัดแย้งกันของยุโรป สหรัฐ และเอเชีย โดยทางยุโรปมีท่าทีชัดเจนที่ต้องการให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างถอนรากถอนโคน แต่รัฐบาล Bush กลับมีท่าทีไม่เห็นด้วย โดยท่าทีของ Bush คือการปฏิรูปจะต้องไม่กระทบต่อระบบทุนนิยมเสรี ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของทุนนิยมแบบอเมริกัน เบื้องหลังท่าทีของสหรัฐคือ ความต้องการคงความเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกไว้ สหรัฐมีความหวาดระแวงต่อข้อเสนอที่จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐในระบบการเงินโลกลดลง โดย Bush ยังคงยืนยันว่า สหรัฐจะต้องยังคงเล่นบทการเป็นผู้นำโลกต่อไปในการปฏิรูประบบการเงินโลก แต่สำหรับท่าทีของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศจากเอเชียนั้น มีท่าทีไม่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของตะวันตก ที่ต้องการผลักดันการเพิ่มบทบาทของ IMF และธนาคารโลก ทั้งนี้ เพราะเอเชียไม่มีสิทธิ์มีเสียงในองค์กรดังกล่าว และมีประวัติอันขมขื่นกับ IMF ซึ่งถูกมองว่าถูกครอบงำโดยตะวันตก โดยเฉพาะโดยสหรัฐอย่างสิ้นเชิง
2. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ
เรื่องใหญ่เรื่องที่ 2 ในรอบปีที่ผ่านมา ที่ชาวโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก คือ การชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ซึ่งในตอนแรก เป็นการต่อสู้กันอย่างเข้มข้นระหว่าง Hillary Clinton กับ Barack Obama แต่หลังจาก Obama ชนะ Hillary ได้เป็นตัวแทนพรรค Democrat แล้ว ก็เป็นการต่อสู้กันระหว่าง Obama กับ John McCain จากพรรค Republican สาเหตุสำคัญที่ชาวโลกให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งสหรัฐ เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายต่างประเทศของสหรัฐก็จะเปลี่ยน ซึ่งจะกระทบต่อโลกทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
แต่ในที่สุด ผลการเลือกตั้งก็ออกมาเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน โดย Obama ชนะ McCain อย่างขาดลอย เรียกว่า ชนะแบบถล่มทลาย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Obama ได้รับความนิยมอย่างมากคือ บุคลิกภาพของเขา ซึ่งเป็นคนหนุ่มแม้จะเป็นคนผิวสี แต่ก็เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงของอเมริกาไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งสอดรับกับความต้องการของคนอเมริกาในขณะนี้ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ McCain มีบุคลิกภาพที่เป็นไปในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นอายุ เป็นคนหัวเก่า สายเหยี่ยว และอนุรักษ์นิยม
ปัจจัยแห่งชัยชนะอีกประการหนึ่งคือ การนำเสนอนโยบายของ Obama ที่โดนใจคนอเมริกัน เพราะ Obama เน้นนโยบายที่เน้นการเปลี่ยนแปลง นโยบายที่จะนำอเมริกาให้ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ นโยบายสังคมที่เน้นให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจนและคนชั้นกลาง และนโยบายต่างประเทศที่เน้นการกอบกู้ศักดิ์ศรีของสหรัฐกลับคืนมาในสายตาประชาคมโลก
3. วิกฤติราคาน้ำมันโลก
เรื่องใหญ่เรื่องที่ 3 ในรอบปีที่ผ่านมาคือ วิกฤติราคาน้ำมันโลก รอบปีที่ผ่านมา มีการผันผวนของราคาน้ำมันอย่างหนัก โดยในช่วงครึ่งปีแรก ราคาน้ำมันได้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ก่อให้เกิดการแตกตื่นกันไปทั่วโลก แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาน้ำมันกลับลดลงอย่างมาก จึงทำให้สถานการณ์วิกฤติคลี่คลายลงไป
โดยในช่วงต้นปีถึงกลางปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันได้ไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณกลางปี ได้ขึ้นไปถึงระดับเกือบ 150 เหรียญต่อ 1 บาร์เรล ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ผลจากราคาน้ำมันที่สูงเช่นนั้น ได้ก่อให้เกิดการแตกตื่นกันไปทั่วโลก โดยราคาน้ำมันได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมัน
ในช่วงนั้น ได้มีการวิเคราะห์กันว่า วิกฤติราคาน้ำมัน จะส่งผลกระทบต่อการเมืองโลก น้ำมันกลายเป็นสินค้าที่มีความสำคัญยิ่งต่อภูมิรัฐศาสตร์ เพราะเกือบทุกสิ่งทุกอย่างต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำมัน ทุกประเทศต้องการน้ำมัน ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงราคาและจำนวนน้ำมันที่เหลืออยู่ จึงส่งผลกระทบต่อการเมืองโลก วิกฤติราคาน้ำมันโลกในช่วงต้นปี ได้ก่อให้เกิดผู้ชนะและผู้แพ้ในเวทีการเมืองโลก ผู้ชนะที่สำคัญคือ ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย ประเทศรอบอ่าวเปอร์เชีย และรัสเซีย มีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาล และจะนำไปสู่ความมั่งคั่งและอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศในอนาคต
สำหรับประเทศผู้แพ้ในเกมราคาน้ำมันครั้งนี้คือ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งต้องนำเข้าน้ำมันและพึ่งพาน้ำมันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่ยังเน้นในเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าส่งออก ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากเกิดวิกฤติการเงินโลก ทำให้ความต้องการน้ำมันลดลงเป็นอย่างมาก จึงทำให้ราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลงเรื่อยๆ จนในช่วงปลายปี ได้ตกลงมาอยู่ที่ประมาณ 40 เหรียญต่อ 1 บาร์เรลเท่านั้น ทำให้ขณะนี้ ปัญหาวิกฤติราคาน้ำมันโลกได้คลี่คลายลงไปมาก
4. วิกฤติอาหารโลก
สำหรับเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 4 ในรอบปีที่ผ่านมาคือเรื่อง วิกฤติอาหารโลก โดยในปีนี้ สถานการณ์ราคาอาหารโลกได้เข้าสู่ขั้นวิกฤติ โดยถือว่าสถานการณ์ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 30 ปี โดยเฉพาะราคาธัญพืชได้เพิ่มขึ้นมากที่สุด
จากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นทำให้ประเทศยากจน ที่ต้องนำเข้าอาหารประสบวิกฤติอย่างหนัก ราคาอาหารในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้คนจนในประเทศไม่มีเงินพอที่จะซื้ออาหาร จึงนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงและความวุ่นวายในหลายประเทศ ที่หนักที่สุดคือ ในทวีปแอฟริกา ประเทศเอเชียใต้ก็ประสบปัญหาอย่างหนัก โดยเฉพาะอินเดียและบังกลาเทศ รวมไปถึงประเทศในอเมริกากลาง อาทิ เฮติ ก็เกิดการจลาจลวุ่นวายขึ้น
ราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นมาจากการที่อุปทานมีน้อยลง ในขณะที่อุปสงค์เพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอุปสงค์หรือความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่กำลังพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจีนและอินเดีย
นอกจากนี้ อีกปัจจัยหนึ่งเป็นผลลูกโซ่มาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆหันไปหาพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะการนำเอาพืชบางชนิดมาใช้ในการผลิตพลังงาน เป็นผลทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารขึ้น
5. วิกฤติพายุ Nargis
สำหรับเรื่องใหญ่ลำดับที่ 5 ในรอบปีที่ผ่านมาคือ วิกฤติพายุ Nargis ที่พัดถล่มพม่าถือเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดของโลกในรอบปีที่ผ่านมา โดยพายุ Nargis ได้พัดถล่มพม่าในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 1 แสนคน นอกจากนี้ ยังมีผู้ประสบความยากลำบาก ขาดแคลนอาหาร น้ำ และที่อยู่อาศัยอีกประมาณ 2 ล้าน 5 แสนคน แต่ที่ซ้ำเติมความสูญเสียในครั้งนี้คือ การไร้ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาของรัฐบาลทหารพม่า ที่หนักไปกว่านั้นคือ ความช่วยเหลือจากนานาชาติก็ถูกกีดกันโดยเฉพาะความช่วยเหลือจากตะวันตก ที่รัฐบาลทหารพม่ากลัวว่าจะเป็นช่องทางเข้ามาแทรกแซงและอาจกระทบต่อระบอบเผด็จการของตน
สำหรับบทบาทของอาเซียน ก็เป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง ที่ในช่วง 3 สัปดาห์แรก อาเซียนแทบไม่มีบทบาทอะไรเลย ทั้งๆที่พม่าเป็นสมาชิกของอาเซียนแท้ๆ แต่กลับกลายเป็นว่าประเทศตะวันตกและ UN กลายเป็นตัวแสดงสำคัญที่กดดันและเสนอความช่วยเหลือ จริงๆแล้ว อาเซียนมีปฏิญญาที่จะจัดการกับภัยพิบัติมาตั้งแต่ปี 1976 และต่อมาก็มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือในการจัดการกับภัยพิบัติ แต่เป็นที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งที่ข้อตกลงเหล่านี้เป็นเพียงแค่กระดาษ เพราะเมื่อเกิดภาวะวิกฤติจริงๆ อาเซียนก็ไม่สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือใดๆได้
(โปรดอ่านต่อตอนจบในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า)