Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สงครามค่าเงิน

สงครามค่าเงิน
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันที่ 20 ตุลาคม 2553

ขณะนี้ กำลังมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างสหรัฐกับจีนในเรื่องค่าเงินหยวน ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโลก ทำให้มีการมองกันว่า สงครามค่าเงินได้เกิดขึ้นแล้ว คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ความขัดแย้งดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง
ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนในเรื่องค่าเงินหยวนนั้น เกิดขึ้นมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยสหรัฐมองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐตกต่ำและทำให้ขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลคือ การที่ค่าเงินหยวนของจีนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง สหรัฐประเมินว่า ค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 40% จึงทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาถูก และนำไปสู่การขาดดุลการค้ามหาศาลกับจีน ในปี 2009 สหรัฐขาดดุลการค้ากับจีนมากถึง 227,000 ล้านเหรียญ คิดเป็น 2 ใน 3 ของการขาดดุลการค้าของสหรัฐกับทั่วโลก สหรัฐได้กล่าวหาจีนในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1994 ต่อมาในปี 2005 สภาสูงของสหรัฐได้ลงมติจะขึ้นภาษีสินค้าจีน ถึง 27% จึงเป็นการบีบจีนให้ต้องประกาศเพิ่มค่าเงินหยวน โดยประกาศว่า จะเพิ่ม 20% ภายใน 3 ปี แต่ตั้งแต่ปี 2008 หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก จีนได้หยุดการเพิ่มค่าเงินหยวน และสหรัฐประเมินว่า จริงๆ แล้วจีนเพิ่มค่าเงินหยวนเพียง 2% เท่านั้น

หลังจากจีนถูกสหรัฐกดดันอย่างหนัก ในวันที่ 19 มิถุนายน ปีนี้ จีนจึงได้ประกาศที่จะมีการปรับค่าเงินหยวน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 6.83 หยวน ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ แต่มาถึงปัจจุบัน เงินหยวนเพิ่มค่าเพียง 2% เท่านั้น ในขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 10% และกำลังจะมีการเลือกตั้งในต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ รัฐบาลโอบามาจึงได้กดดันจีนอย่างหนัก

มาตรการกดดันจีนของสหรัฐ
ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐได้ใช้มาตรการต่างๆ ในการกดดันจีน
มาตรการแรกคือ ภายใต้กฎหมาย Omnibus Trade and Competitiveness Act ปี 1988 กำหนดว่า กระทรวงการคลังสหรัฐจะต้องทำรายงานเกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐ เพื่อพิจารณาว่า รัฐบาลดังกล่าวมีนโยบายแทรกแซงและทำให้ค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ (currency manipulator) ซึ่งหากประเทศใดถูกระบุว่า เป็นประเทศ currency manipulator ทางสภาคองเกรสจะออกมาตรการตอบโต้โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า

ต่อมา เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา สภาคองเกรสได้มีการเสนอกฎหมายเพื่อที่จะขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้จีน โดยมองว่า การแทรกแซงค่าเงินของจีนนั้น ถือเป็นมาตรการอุดหนุนการส่งออกที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นบริษัทสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจะสามารถร้องเรียนเพื่อขอให้รัฐบาลขึ้นภาษีตอบโต้จีน สภาคองเกรสได้มีมติรับร่างกฎหมายดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง 349 ต่อ 78 เสียง ขั้นต่อไปคือ ต้องเสนอให้สภา senate พิจารณา ซึ่งน่าจะเป็นในช่วงหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน และถ้าผ่านสภา senate ประธานาธิบดีโอบามาจะต้องลงนามรับรองกฎหมายดังกล่าว ซึ่งก็ยังไม่มีความแน่นอนในเรื่องนี้

นอกจากนี้ Fred Bergsten นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลโอบามา ได้เสนอให้สหรัฐหาแนวร่วมกับประเทศต่างๆ ในการกดดันจีน โดยเฉพาะจาก EU และมหาอำนาจเศรษฐกิจใหม่คือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย กำลังมีความพยายามที่จะใช้การประชุมสุดยอด G20 ที่เกาหลี ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในการกดดันจีน ก่อนหน้านี้ ได้มีความพยายามในการประชุมของ IMF แต่ล้มเหลว Bergsten จึงได้เสนอเพิ่มเติมว่า สหรัฐควรใช้ช่องทางของ WTO ในการออกมาตรการตอบโต้จีนในเรื่องนี้ด้วย

ท่าทีของจีน
สำหรับจีนนั้น มีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ในอดีต จีนมักจะยอมตามแรงกดดันของสหรัฐ แต่ในปัจจุบัน การผงาดขึ้นมาของจีนทางเศรษฐกิจ ทำให้จีนแข็งข้อกับสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนได้ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหาของสหรัฐ โดยบอกว่า ค่าเงินหยวนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่จีนได้ดุลการค้ากับสหรัฐ และปฏิเสธว่า จีนไม่เคยแทรกแซงค่าเงินหยวน และได้บอกว่า สหรัฐอย่าเอาค่าเงินหยวนของจีนมาเป็นแพะรับบาปสำหรับปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยจีนเน้นว่า จีนจะเดินหน้าในการปฏิรูปนโยบายค่าเงินต่อไป แต่ว่าจะเป็นในอัตราที่จีนเป็นคนกำหนด โดยจีนไม่เห็นด้วยต่อแรงกดดันที่จะให้เพิ่มค่าเงินหยวนอย่างรวดเร็ว และมองว่า การที่สหรัฐกดดันจีนในเรื่องนี้ เป็นข้ออ้างในการที่สหรัฐจะใช้มาตรการปกป้องทางการค้าและกีดกันสินค้าของจีน

นักเศรษฐศาสตร์ของจีนบางคนถึงกับมองว่า แรงกดดันของสหรัฐอาจจะมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ คือ การที่สหรัฐพยายามที่จะสกัดกั้นไม่ให้เศรษฐกิจของจีนเจริญเติบโตขึ้นมาแข่งกับสหรัฐ

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้แสดงจุดยืนต่อต้านกฎหมายที่ผ่านสภาคองเกรสที่จะลงโทษจีน และมองว่า กฎหมายดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้ง 2 จีนมองว่า กฎหมายดังกล่าวขัดต่อหลักการของ WTO โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนได้แถลงว่า จีนต่อต้านกฎหมายดังกล่าว และมองว่า กฎหมายดังกล่าวมีลักษณะเป็นมาตรการปกป้องทางการค้า ที่จะทำลายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและสหรัฐ เช่นเดียวกับทางกระทรวงพาณิชย์ของจีนได้อ้างว่า กฎหมายดังกล่าวขัดกับหลักการของ WTO และจีนไม่เคยแทรกแซงค่าเงินหยวน

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
จากความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐในเรื่องค่าเงินหยวนดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก โดยหลายๆ ประเทศมีแนวโน้มที่จะถอยห่างจากหลักการกลไกตลาดเสรี และมีแนวโน้มจะใช้นโยบายปกป้องการค้า และกำลังจะเลียนแบบจีนในการแทรกแซงค่าเงินของตน

ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและบราซิล ได้มีมาตรการในการลดค่าเงิน และป้องกันไม่ให้ค่าเงินสูงขึ้น

สำหรับเงินยูโรก็มีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ ทำให้ประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicolas Sarkozy ซึ่งกำลังจะรับหน้าที่ประธาน G20 ได้เสนอที่จะปฏิรูประบบอัตราแลกเปลี่ยนของโลก โดยเสนอให้กลับไปใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เคยใช้ในทศวรรษ 1970

สำหรับประเทศในเอเชียก็ได้รับผลกระทบทั่วหน้า จากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนในครั้งนี้ โดยค่าเงินของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคขยับตัวสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ ในขณะที่จีนไม่ยอมขึ้นค่าเงิน ทำให้ค่าเงินของประเทศในเอเชียต่อเงินเหรียญสหรัฐสูงขึ้นมาก ทำให้สินค้าส่งออกของประเทศเหล่านี้เสียเปรียบจีนมากขึ้น

นอกจากนี้ ที่เป็นผลเกี่ยวโยงกันคือการที่เงินทุนต่างชาติโดยเฉพาะจากสหรัฐและยุโรปได้ไหลทะลักเข้าสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ทำให้มีการหวาดวิตกว่า จะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในยุควิกฤติต้มยำกุ้ง

สำหรับประเทศไทยก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยค่าเงินบาทได้เพิ่มค่าสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐ และมีการไหลทะลักของเงินทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศอย่างน่ากลัว ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมองว่า ความร่วมมือในการจัดการอัตราแลกเปลี่ยนในระดับโลก จะเป็นหนทางในการป้องกันการทะลักเข้าของเงินทุนต่างชาติในไทยได้

สงครามค่าเงิน?
จากปัญหาต่างๆ ที่ได้กล่าวข้างต้น จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการพูดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า สงครามค่าเงินกำลังเกิดขึ้น โดยรัฐมนตรีคลังของบราซิลได้ประกาศในช่วงปลายเดือนกันยายนว่า สงครามค่าเงินได้เกิดขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม สงครามค่าเงินในครั้งนี้ ยังไม่รุนแรงถึงขั้นวิกฤติ ทั้งนี้เพราะประเทศที่เกี่ยวข้อง ก็พยายามที่จะไม่ให้ความขัดแย้งลุกลามใหญ่โต จะเห็นได้ว่า กฎหมายที่จะลงโทษจีนของสภาคองเกรส อาจจะไม่ผ่านสภาสูง และโอบามาอาจจะไม่ลงนาม
ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามค่าเงิน ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ Timothy Geithner ต้องออกมาให้ความเห็นว่า สงครามการค้าและสงครามค่าเงินคงจะไม่เกิดขึ้น โดย Geithner ได้บอกว่า ขณะนี้สหรัฐพยายามปฏิสัมพันธ์กับจีนในเชิงบวก เพื่อที่จะให้จีนยอมเพิ่มค่าเงินหยวน

อย่างไรก็ตาม Geithner ได้เน้นว่า ปัญหาค่าเงินหยวนไม่ได้เป็นปัญหา 2 ฝ่ายระหว่าง สหรัฐกับจีนเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของโลก ทั้งนี้เพราะประเทศต่างๆ ก็ได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า ดังนั้นจึงจะต้องมีความร่วมมือกันในระดับโลกเพื่อแก้ปัญหานี้

Geithner ได้ให้ความเห็นว่า การประกาศว่า จีนจะเป็น currency manipulator ในขณะนี้นั้น อาจจะไม่ช่วยแก้ปัญหา ดังนั้นข่าวที่ออกมาล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม คือ กระทรวงการคลังสหรัฐประกาศเลื่อนการเสนอรายงานระบุว่าจีนจะเป็น currency manipulator ออกไปก่อน โดยจะรอผลการประชุม G20 ที่กรุงโซล ในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้

เห็นได้ชัดว่า ท่าทีของกระทรวงการคลังสหรัฐดูอ่อนลงและพยายามประนีประนอมกับจีน โดยได้บอกว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค่าเงินหยวนของจีนได้เพิ่มขึ้นมาประมาณ 3% โดยเพิ่มในอัตรา 1% ต่อเดือน ซึ่งหากมีแนวโน้มเช่นนี้ ในระยะยาว น่าจะทำให้ค่าเงินหยวนของจีนสูงขึ้นในอัตราที่เหมาะสมได้

ดังนั้น ขณะนี้ ทุกฝ่ายก็จับตามองไปที่การประชุม G20 ว่า จะสามารถกดดันให้จีนเพิ่มค่าเงินหยวนได้หรือไม่ มีบางคนมองถึงขั้นว่า อาจจะมีข้อตกลงในลักษณะ plaza accord ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ญี่ปุ่นยอมเพิ่มค่าเงินเยนในการประชุม G7 เมื่อปี 1985