Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐปี 2015 (ตอนที่ 1)

ก่อนอื่น ถ้าเราอยากจะเข้าใจสหรัฐ เราต้องเข้าใจว่า สหรัฐต้องการอะไร ซึ่งสหรัฐมี 4 เป้าหมายต่อภูมิภาค               
               หนึ่ง คือ ความต้องการครองความเป็นเจ้า
               สอง คือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน ซึ่งอเมริกากลัวว่า จะมาแข่งกับอเมริกา
               สาม คือ การป้องกันไม่ให้ประเทศในเอเชีย รวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ
               สี่ คือ เรื่องผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจต่อภูมิภาค
               ในสมัยสงครามเย็น สหรัฐดำเนินยุทธศาสตร์การต่อต้านคอมมิวนิสต์ ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในช่วงสงครามเย็น เป็นไปในลักษณที่ ไทยเป็นพันธมิตรกับอเมริกาอย่างเต็มที่
               แต่พอสงครามเย็นสิ้นสุดลง เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในภูมิภาคได้เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยมีการผงาดขึ้นมาของ 3 ผงาด ซึ่งส่งผลกระทบอย่างยิ่ง ต่อภูมิภาคและต่อสหรัฐ
               ผงาดที่หนึ่ง คือ การผงาดขึ้นมาของจีน (the rise of China)
               ผงาดที่สอง คือ การผงาดขึ้นมาของเอเชีย (the rise of Asia) เอเชียกำลังจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก ขณะนี้ เราก็เห็นชัดว่า จีนกำลังผงาด เกาหลี อินเดีย อาเซียน ญี่ปุ่น ก็อยู่ในเอเชียหมด
               ผงาดที่สาม คือ การผงาดขึ้นมาของอาเซียน (the rise of ASEAN)
               เพราะฉะนั้น ในเอเชียมีแต่ the rise มีแต่การผงาดขึ้นมา ตรงข้ามกับตะวันตก เราจะไม่ได้ยิน the rise of America เพราะว่าไม่มีแล้ว มีแต่ the decline of America การเสื่อมลงหรือการตกต่ำลงของสหรัฐ และเราก็ไม่ได้ยิน the rise of Europe เพราะไม่มีแล้ว มีแต่ the decline of Europe
นี่คือบริบทที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่กำลังเกิดขึ้นในโลก ซึ่งกระทบต่อทุกประเทศ ทั้งต่อสหรัฐฯ ต่อไทย ต่ออาเซียน แนวโน้มใหญ่นี้คือ เอเชียกำลังเป็นช่วงขาขึ้น ในขณะที่ตะวันตกกำลังเป็นช่วงขาลง
เพราะฉะนั้น ด้วยบริบทดังกล่าว ทำให้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนจึงกระชับแน่นแฟ้น อย่างรวดเร็ว ตอนนี้ จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน เป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย เรื่องการท่องเที่ยว การลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน สร้างถนน รถไฟ จีนมาแรงมาก ความสัมพันธ์ไทย-จีน ก็ใกล้ชิดแน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆ
จากพัฒนาการเหล่านี้ ทำให้สหรัฐฯกังวลใจมากขึ้นเรื่อยๆว่า อิทธิพลของตนในภูมิภาค กำลังจะเสื่อมลง และอเมริกาจะไม่ได้เป็นอันดับหนึ่งอีกต่อไป สหรัฐไม่ได้เป็นคู่ค้า นักลงทุน นักท่องเที่ยว และไม่มีบทบาทในการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในภูมิภาค ตัวแสดงหลักกลายเป็น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี
เพราะฉะนั้น ในสมัยรัฐบาลโอบามา ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา อเมริกาได้วิเคราะห์สถานการณ์ และได้ข้อสรุปที่ว่า จะต้องรีบปรับนโยบายและปรับยุทธศาสตร์ใหม่ต่อเอเชีย นั่นคือที่มาของยุทธศาสตร์ pivot to Asia หรือ rebalancing และเป็นที่มาของการที่อเมริกากำลังจะกลับเข้ามาในภูมิภาคอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะคงสถานะการเป็นเจ้าของตนไว้ และเพื่อที่จะมาแข่งกับจีน เพราะต่อไป เอเชียจะกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก อเมริกามองข้ามไม่ได้ ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอเมริกาอยู่ที่เอเชีย
ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2009 เริ่มเห็นชัดว่า อเมริกาพยายามจะกลับมา ด้วยการมีการประชุมสุดยอดกับอาเซียนครั้งแรก ในช่วงปลายปี 2009 อเมริกาได้พยายามเต็มที่ ที่จะกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน อเมริกามองข้ามอาเซียนไม่ได้แล้ว เพราะอาเซียนกำลังผงาดเช่นเดียวกัน อาเซียนกลายเป็นกลุ่มประเทศที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค เป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค GDP ของ 10 ประเทศรวมกัน มีมูลค่า 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ อันดับ 9 ของโลก และในอนาคต ประชาคมอาเซียนจะมี GDP เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะฉะนั้น อาเซียนกำลังผงาด อเมริกามองข้ามไม่ได้ จึงต้องเดินสายมาอาเซียนอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้นำประเทศ โอบามาก็มาประชุมสุดยอดกับอาเซียนทุกปี รัฐมนตรีต่างประเทศก็ต้องมา ลงมาถึงระดับล่าง อย่างนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศก็ต้องมา  
สำหรับไทย ในขณะที่สหรัฐกำลังกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนมากขึ้น ในสมัยรัฐบาลโอบามา ตั้งแต่ปี 2009 แต่ก็พอดีเป็นช่วงที่ไทยกำลังตกต่ำ กำลังวุ่นวาย เสื้อเหลืองเสื้อแดงเต็มไปหมด ปี 2009 เป็นช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เจอเสื้อแดง ก่อนหน้านั้น ตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ มาเป็นรัฐบาลสุรยุทธ์ รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย ก็วุ่นมาตลอด พอเกิดรัฐประหาร ปี 2006 สหรัฐได้หยุดความสัมพันธ์กับไทย เพราะเป็นกติกาที่สหรัฐจะไม่เจรจากับรัฐบาลทหาร พอปี 2007 มีการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย แต่ก็มีปัญหาอีก คือมีการชุมนุมของเสื้อเหลือง แล้วเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็มาเจอเสื้อแดง ในช่วงนี้ อเมริกาก็ไม่รู้ว่าจะติดต่อกับใคร เพราะวุ่นวายตลอด ไทยได้เสียสถานะในการเป็นประตูสู่อาเซียน เป็นประตูสู่อินโดจีน เป็นประตูสู่ภูมิภาค ที่อเมริกาได้มาปักหมุดตรงนี้ไว้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยเสียสถานะนี้ไป สหรัฐใช้วิธีย้ายไปที่อื่น เมื่อไทยหมดสภาพ สหรัฐก็ไปหาอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯจึงจืดจางลงเรื่อยๆ เพราะปัญหาการเมืองของเรา ซึ่งวุ่นวายไม่จบ หลังจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ มาเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็กลับมาวุ่นวายหนักขึ้นอีก จนนำไปสู่การทำรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว
เมื่อเกิดรัฐประหารปีที่แล้ว แน่นอนว่า อเมริกาต้องเล่นตามเกม คือต้องประณามการทำรัฐประหารและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร ต้องลดระดับความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นกติกาของสหรัฐอยู่แล้ว และทำมาโดยตลอด และส่งสัญญาณให้ไทย เดินหน้ากลับคืนสู่ประชาธิปไตย และให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว
แต่รัฐบาลทหารในครั้งนี้ ต่างจากในอดีต เพราะคราวนี้ดูจะไม่รีบร้อน ไม่รีบเลือกตั้ง รัฐบาลทหารคงได้บทเรียนจากรัฐประหารปี 2006 ครั้งนี้เลยจะใช้เวลานานในการร่างรัฐธรรมนูญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิรูป
รัฐบาลปัจจุบันได้ตัดสินใจหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เป็นการตัดสินใจแบบเด็ดขาด โดยเฉพาะยิ่ง ในเรื่องการทูต ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา การทูตไทยในอดีต จะเน้นการเดินสายกลาง “บัวไม่ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น” โดยพยายามมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกมหาอำนาจ ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง แต่ในครั้งนี้ ดูเหมือนกับว่า อเมริกาจะกดดันไทยอย่างหนัก นอกจากนี้ ไทยก็คงจะเห็นว่า โลกกำลังจะเปลี่ยนไปแล้ว จากระบบขั้วอำนาจเดียว กำลังจะเปลี่ยนเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ที่ได้มีอำนาจและบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ดังนั้น จะเห็นว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามเข้าหาจีน และมีการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว มีข้อสรุปอย่างรวดเร็ว ในเรื่องของการที่จีนจะเข้ามาช่วยสร้างทางรถไฟ เชื่อมจากกรุงเทพฯไปถึงเวียงจันทน์ และทะลุไปถึงคุนหมิง
หลังจากนั้น ญี่ปุ่น ซึ่งคงเห็นแล้วว่า จีนกำลังทำอะไรอยู่ ญี่ปุ่นจึงน่าจะคิดว่า จะต้องรีบเข้ามาหาไทยเพื่อที่จะไม่เพลี่ยงพล้ำต่อการรุกคืบของจีน ญี่ปุ่นจึงเสนอว่า อยากจะมาช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เรา  ไทยจึงเสนอให้ญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ลังเลอยู่พักใหญ่ ให้เข้ามาช่วยสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมที่ทวาย และสร้างถนน และทางรถไฟ เชื่อมจากทวายมากาญจนบุรี ผ่านกรุงเทพไปถึงกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งเรียกว่าระเบียงเศรษฐกิจใต้ หรือ southern economic corridor รวมทั้งเส้นระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ east-west economic corridor จากเมียวดีมาแม่สอด พิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร สะหวันนะเขต ไปถึงดานัง
หลังจากนั้นเกาหลีก็สนใจ และพยายามติดต่ออยากจะเข้ามามีบทบาทในการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ไทย
รัสเซียก็เริ่มขยับเข้ามา ในการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับไทยมากขึ้น รัสเซียขณะนี้มีปัญหากับสหรัฐฯและตะวันตก ในเรื่องยูเครน รัสเซียต้องการหาพันธมิตร เพราะถูกตะวันตกปิดล้อม ไทยก็ต้องการหาพันธมิตร เพราะกำลังถูกสหรัฐฯกดดัน ก็เลยมีผลประโยชน์ร่วมกัน
ขณะนี้ ไทยจึงเน้นเข้าหาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย และอาเซียนด้วย
จะเห็นได้ว่า ประเทศในเอเชียไม่ได้มีปัญหากับเรา และแยกออกระหว่างเรื่องการเมืองภายในและเรื่องการต่างประเทศ
พลเอก ประยุทธ์ฯ ในช่วงที่ผ่านมา ก็ได้เดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ประชุมสุดยอด APEC ประชุมสุดยอด ASEM ได้พบปะกับผู้นำยุโรป ผู้นำอาเซียน ผู้นำของประเทศมหาอำนาจต่างๆ
เพราะฉะนั้น การยอมรับในรัฐบาลชุดนี้ ก็มีในระดับหนึ่ง จากการที่ประเทศต่างๆ ในเอเชีย พยายามที่จะเข้ามาติดต่อกับเรา และเราก็พยายามที่จะติดต่อกับประเทศเหล่านี้

(โปรดติดตามอ่านต่อตอนที่ 2 ซึ่งจะวิเคราะห์การต่างประเทศของไทยปี 2015 (ตอนที่ 2) : ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐปี 2015 นี้)


วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

การต่างประเทศของไทยปี 2015 (ตอนที่1)

              คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะวิเคราะห์การต่างประเทศของไทยในอนาคต ซึ่งสำหรับตอนที่ 1 นี้ จะวิเคราะห์ความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ โดยเฉพาะไทยกับสหรัฐ ส่วนตอนต่อๆไป จะวิเคราะห์บทบาทของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ยุทธศาสตร์ของไทยต่ออาเซียน และความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
               ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ
               ความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจ เรื่องสำคัญในปีนี้คือ ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐ
               เราไม่ควรมองเฉพาะช่วงสั้นๆ เราควรจะมองในภาพใหญ่ เพราะฉะนั้น จะแบ่งได้ 2 ช่วง
               ช่วงแรกคือ การแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยเน้นการกลับไปมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจตะวันตก ตอนนี้เรามีปัญหากับมหาอำนาจตะวันตก  ส่วนมหาอำนาจในเอเชีย ไม่มีปัญหากับเรา คือ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย จะมีปัญหาแต่เฉพาะกับอเมริกาและยุโรป ที่พยายามที่จะชูธงประชาธิปไตย ซึ่งไทยต้องพยายามอธิบายให้ประเทศตะวันตกเข้าใจ
               สำหรับสหรัฐ ตอนนี้เฉยๆ กับเรา ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์อะไรมากมายกับเรา โดยนโยบายของสหรัฐอเมริกาคือ ไทยจะต้องมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก่อน เขาถึงจะมาคุยกับเรา เราก็จะต้องเดินหน้าต่อพยายามประคับประคอง อย่างที่รัฐบาลทำตอนนี้มาถูกทางแล้ว คือ เราพยายามไปมีปฏิสัมพันธ์ ไปร่วมประชุม อย่างการประชุม ASEAN หรือ APEC นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ไปเจอประธานาธิบดีโอบามา หรือไปประชุม ASEM ที่ยุโรป ก็ได้ไปเจอผู้นำยุโรป
               นี่น่าจะเป็นมาตรการในระยะสั้นในช่วงนี้ แต่ว่าไทยจะไม่อยู่อย่างนี้ไปตลอดกาล โจทย์ใหญ่สำคัญของไทย น่าจะเป็นโจทย์ในระยะยาวมากกว่าว่า เราจะมีนโยบายอย่างไรต่อมหาอำนาจต่างๆ ที่พยายามแข่งขันกัน ในการมีอิทธิพลในภูมิภาค
               อย่างไรก็ตาม หลังรัฐประหารปีที่แล้ว สหรัฐได้ลดระดับความสัมพันธ์กับไทย และตัดความช่วยเหลือบางเรื่อง อาทิ ความช่วยเหลือทางทหาร การดำเนินมาตรการกดดันไทยดังกล่าวของสหรัฐ เป็นการผลักให้ไทยไปสนิทกับจีนมากขึ้น
               ความสัมพันธ์ไทยกับจีน มีความใกล้ชิดกันมานาน และมีแนวโน้มว่า ไทยจะใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น เพราะว่าจีนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในระดับโลกและระดับภูมิภาค คือมีแนวโน้มว่า เราจะไปใกล้ชิดจีนอยู่แล้ว แต่สถานการณ์ในตอนนี้บีบให้เราเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น ที่ผ่านมา จีนเองก็อ่านเกมออก ทูตจีนน่าจะเป็นทูตคนแรกที่เข้าพบหัวหน้า คสช. จีนรีบมาตีสนิทกับเรา เห็นใจเรา เข้าใจประเทศไทยว่า เราอยู่ในช่วงใด ดังนั้น สถานการณ์ในขณะนี้ จึงทำให้ไทยเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีรัฐประหาร ไทยก็มีแนวโน้มว่า จะเข้าไปใกล้ชิดกับจีนอยู่แล้ว
               ตอนนี้สหรัฐจึงตกอยู่ในสภาวะ “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก” ภาษาอังกฤษเรียกว่า dilemma ไม่รู้จะเอาอย่างไรดี ใจหนึ่งก็อยากจะมาตีสนิทกับไทย มาตีสนิทกับอาเซียน เพื่อที่จะแข่งกับจีน แต่อีกใจหนึ่งสหรัฐก็มีกติกาและหลักการว่าจะต้องส่งเสริมประชาธิปไตย จะต้องตอบโต้การทำรัฐประหาร อเมริกาจึงตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ ซึ่งผมคิดว่า สหรัฐคงรู้ดีว่า จะบีบไทยมากไม่ได้ และเห็นชัดว่า ในระยะหลังๆ อเมริกาเริ่มพยายามจะกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทย
               ไทยเป็นตัวแสดงที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราเป็นพันธมิตรกับอเมริกามายาวนานตั้งแต่สมัยสงครามเย็น เพราะไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่เราอยู่ตรงกลางของภูมิภาค เหมือนเราเป็นศูนย์กลางหรือเป็นประตูสู่อาเซียน เราเล่นบทบาทนี้มาตลอด เราเป็นตัวแสดงหลักและมีบทบาทนำ พูดง่ายๆ ว่าไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่า ทำไมประเทศไทยถึงมีสถานทูตมาตั้งอยู่มากมาย และทำไมสถานทูตสหรัฐฯในไทยจึงเป็นสถานทูตที่ใหญ่มากแห่งหนึ่งในโลก และทำไมสถานทูตญี่ปุ่นในไทยจึงเป็นสถานทูตที่มีเจ้าหน้าที่มากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย เราเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค มหาอำนาจจึงมองข้ามเราไปไม่ได้
               และด้วยบริบทดังกล่าวข้างต้น ผมจึงคาดเดาในตอนแรกว่า การเยือนไทยของนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว น่าจะมีเป้าหมายหลักเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย – สหรัฐ และเพื่อกลับมาแข่งกับอิทธิพลของจีนที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยสหรัฐน่าจะมีท่าทีที่อ่อนลง และน่าจะเปลี่ยนจุดยืนมาสนับสนุนการปฏิรูปประเทศไทยของรัฐบาลชุดนี้
               อย่างไรก็ตาม ก็เป็นการคาดเดาที่ผิดเพราะในระหว่างการเยือนไทย นายรัสเซล กลับกล่าวสุนทรพจน์โจมตีรัฐบาลหลายเรื่อง เช่นเรื่องการใช้กฎอัยการศึก และความล่าช้าในการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ ในจุดยืนของสหรัฐเช่นนั้น แต่ที่ผมคิดว่า เป็นการล้ำเส้น คือการกล่าวโจมตีกระบวนการถอดถอนว่า ไม่โปร่งใสและมีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝง นอกจากนั้น การพบปะกับยิ่งลักษณ์ ก็ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในเชิงลบจากหลายฝ่ายต่อการเยือนไทยของนายรัสเซลในครั้งนี้ ซึ่งผมมองว่า หากจุดมุ่งหมายหลักของการเยือนไทยคือ การปรับปรุงความสัมพันธ์ ก็ถือว่า ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ถือเป็นการเดินเกมที่ผิดพลาดอีกครั้งของสหรัฐ ผลของการเยือนไทยในครั้งนี้ ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐกลับย่ำแย่มากขึ้น และยิ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ไทย ต้องเข้าหาจีนเร็วขึ้น และเข้มข้นมากขึ้น
               ดังนั้น แนวโน้มความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐในอนาคต จะดำเนินไปในทิศทางใด
               ผมคิดว่า ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในอนาคต ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
               ปัจจัยแรก คือปัจจัยภายในของไทย ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงภายในของไทยว่า เราจะเดินหน้ากันไปอย่างไร แต่ถ้าตาม roadmap ก็จะมีกระบวนการของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และจะมีการเลือกตั้ง หากเป็นไปตามนี้ จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูดีขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น อเมริกาจะกลับมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับไทยอีกครั้ง
               ปัจจัยที่สอง คือปัจจัยที่เกี่ยวกับบทบาทของจีน ขึ้นอยู่กับว่า จีนจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต โดยไทยมีแนวโน้มที่จะใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น
               ปัจจัยที่สาม  คือปัจจัยภายในอเมริกา แม้ว่าอเมริกาจะมียุทธศาสตร์ rebalancing พยายามที่จะเข้ามามีบทบาทในภูมิภาค แต่ว่าขณะนี้ การเมืองภายในอเมริกา อยู่ในช่วงของการ “แผ่ว” ของรัฐบาลโอบามาในช่วง 2 ปีสุดท้าย พรรคเดโมแครตตอนนี้สูญเสียที่นั่งข้างมากในสภาคองเกรส ดังนั้น การดำเนินนโยบายของโอบามาจะมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ยุทธศาสตร์ rebalancing หรือ pivot ที่จะกลับมามีบทบาทโดดเด่นในภูมิภาค จะทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ช่วง 2 ปีนี้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในปี 2016 ช่วงนี้ จะเป็นช่วงที่ไม่มีอะไรโดดเด่น หวือหวา หรือเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ แต่จะเป็นลักษณะของการประคองไปเรื่อยๆ ในแง่ของบทบาทอเมริกาในภูมิภาค ดังนั้น เราจะดูอีกทีคืออีก 2 ปีข้างหน้า ใครจะมา ถ้าเป็นเดโมแครตมา จะเป็นแบบนี้ต่อไป แต่ถ้าเป็นรีพับลิกันชนะการเลือกตั้งคราวหน้า ซึ่งมีแนวโน้มสูง การเมืองอเมริกาจะเปลี่ยนขั้ว ถ้าเป็นรีพับลิกันอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อเอเชียครั้งใหญ่
               และปัจจัยที่สี่ คือการเสื่อมถอยของอำนาจอเมริกา เป็นปัจจัยระดับมหภาค อำนาจของอเมริกากำลังลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจทางทหารและด้านอื่นๆ ด้วย ในระยะยาว จะไม่มี the rise of US แล้ว จะมีแต่ the rise of Asia, the rise of China และ the rise of ASEAN
               ดังนั้นแนวโน้มในระยะยาว จะยากขึ้นเรื่อยๆที่สหรัฐจะประคับประคองสถานะในการเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกต่อไป  โดยสหรัฐอาจจะประคองไปได้อีกหลายสิบปี แต่สหรัฐจะไม่สามารถ dictate หรือกำหนดทิศทาง หรือบีบให้ประเทศอื่นทำอย่างที่สหรัฐต้องการได้ง่ายๆ
                การเสื่อมถอยของอเมริกา จะส่งผลกระทบต่อบทบาทของอเมริกาในภูมิภาคในอนาคต และจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐด้วย ซึ่งหมายความว่า ในระยะยาว แม้ว่าตอนนี้ไทยจะบอกว่า เราจะไม่เลือกข้าง ไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐและจีน เราจะยืนอยู่ตรงกลาง แต่ว่าถ้าดูจากแนวโน้มต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ในระยะยาว ไทยจะเข้าไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และจะออกห่างจากอเมริกามากขึ้นเรื่อยๆ  

โปรดติดตามอ่าน “การต่างประเทศของไทยปี 2015 (ตอนที่ 2)”  ในคอลัมน์กระบวนทัศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 19  กุมภาพันธ์ 2558