Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

สุนทรพจน์ของ Obama ที่ UN

ลงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 57 ฉบับที่ 3 วันศุกร์ที่ 9 - วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม 2552
สุนทรพจน์ของ Obama ที่ UN

เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Barack Obama ได้กล่าวสุนทรพจน์ที่สมัชชาใหญ่ประชาชาติ ซึ่งถือเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ในการประกาศนโยบายของสหรัฐฯใหม่ต่อโลก คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์สุนทรพจน์ของ Obama ดังนี้

ภาพรวม

ในตอนต้นของสุนทรพจน์ Obama ได้กล่าวว่า เขาเข้ามาเป็นประธานาธิบดีท่ามกลางความรู้สึกของชาวโลกที่มองอเมริกาด้วยความไม่เชื่อใจ แต่ Obama ก็มีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่า ในปัจจุบัน ประเทศต่าง ๆ มีผลประโยชน์ร่วมกัน มีอนาคตร่วมกัน และสุนทรพจน์ของ Obama ในวันนี้ก็จะเน้นเรื่องดังกล่าว เพราะถึงเวลาแล้วที่โลกจะต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางใหม่ โดยเราจะต้องผลักดันยุคใหม่ของการปฏิสัมพันธ์ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันและการเคารพซึ่งกันและกัน
Obama ได้กล่าวว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เขาได้ปฏิรูปนโยบายต่างประเทศ
สหรัฐฯใหม่ :
· โดยตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาได้สั่งให้ปิดคุกที่ Guantanamo Bay
· ได้ร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายทั้งในอัฟกานิสถานและ
ปากีสถาน สำหรับในอิรัก สหรัฐฯก็ได้ยุติสงคราม โดยได้เริ่มถอนทหารออกจากอิรัก โดยตั้งเป้าว่า จะถอนทหารทั้งหมดออกจากอิรักภายในปี 2011
· Obama ได้ผลักดันเป้าหมายที่จะทำให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์
· ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล – ปาเลสไตน์ โดยเน้นสูตร two
state solution คือให้มีรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์อยู่คู่กันอย่างสันติ
· สำหรับในเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน Obama ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายที่แตกต่างไปจาก
สมัยรัฐบาล Bush โดยได้นำอเมริกามาเป็นผู้นำในการเจรจาปัญหาภาวะโลกร้อนของโลก
· สำหรับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯ ได้ร่วมกับประเทศกลุ่ม G20 ผลักดันมาตรการ
กระตุ้นเศรษฐกิจ คิดเป็นเงินประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญ
· ขณะนี้ สหรัฐฯได้หวนกลับมาปฏิสัมพันธ์กับ UN อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเข้าเป็นสมาชิกคณะ
มนตรีสิทธิมนุษยชน สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals และ Obama เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนแรกที่เป็นประธานการประชุมสุดยอดคณะมนตรีความมั่นคง เพื่อหารือถึงการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์
Obama ได้กล่าวว่า นั่นคือสิ่งที่สหรัฐฯ ได้ทำในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และสหรัฐฯจะแสวงหายุคใหม่ของการปฏิสัมพันธ์กับประชาคมโลก ถึงเวลาแล้วที่ทุกคน ทุกประเทศ จะต้องร่วมมือกัน รับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาของโลก

อาวุธนิวเคลียร์

ในสุนทรพจน์ของ Obama ได้เน้น เรื่องสำคัญอยู่ 5 เรื่อง เรื่องแรกคือ เรื่องอาวุธนิวเคลียร์ โดยเสนอให้จะต้องยุติการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ และในระยะยาวคือการทำให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ปัจจุบันภัยคุกคามจากการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแนวโน้มของการแข่งขันในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคต่าง ๆ และการที่กลุ่มก่อการร้ายจะมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง Obama ได้เสนอว่า จะต้องช่วยกันทำให้สนธิสัญญาป้องกันการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty : NPT)มีประสิทธิภาพ โดยสหรัฐฯ จะเจรจากับรัสเซียเพื่อที่จะลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ และจะให้สัตยาบันสนธิสัญญาการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และเรียกร้องให้มีการเจรจาในเดือนมกราคมปี 2010 เพื่อให้มีสนธิสัญญาห้ามการผลิตวัตถุดิบอาวุธนิวเคลียร์ และ Obama จะจัดการประชุมสุดยอดในเดือนเมษายนปี 2010 เพื่อที่จะทำให้วัตถุดิบนิวเคลียร์ปลอดภัย โดยเฉพาะมาตรการป้องกันไม่ให้อาวุธนิวเคลียร์ตกไปอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย

สำหรับในกรณีของเกาหลีเหนือและอิหร่านนั้น กำลังมีพฤติกรรมที่น่าอันตราย แต่ Obama ก็พร้อมที่จะใช้การทูตในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ถ้าอิหร่านและเกาหลีเหนือไม่สนใจเสียงจากประชาคมโลก และถ้ายังเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การแข่งขันกันทางนิวเคลียร์ในตะวันออกกลางและในเอเชียตะวันออก ซึ่งทั้งสองประเทศก็จะต้องรับผิดชอบต่อผลร้ายที่จะเกิดขึ้น

สันติภาพ

เรื่องที่สองที่ Obama ให้ความสำคัญ คือ เรื่องสันติภาพ แต่สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อต้องจัดการกับขบวนการก่อการร้ายหัวรุนแรง โดยอเมริกาจะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในการเดินหน้ามาตรการต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้ง การปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวก ด้วยการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างศาสนาต่าง ๆ
นอกจากนี้ สหรัฐฯจะสนับสนุนการรักษาสันติภาพและการทูตเชิงป้องกัน และจะสนับสนุนให้เกิดสันติภาพในซูดาน ในปัญหาดาร์ฟู และในประเทศต่างๆ ที่มีความขัดแย้ง โดยสหรัฐฯ จะร่วมมือกับ UN เพื่อให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืนถาวร
นอกจากนี้ Obama จะพยายามสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอล ปาเลสไตน์และโลกอาหรับ โดยเป้าหมายของสหรัฐฯก็ชัดเจน คือ สองรัฐ (รัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์) อยู่คู่กันอย่างสันติ

สิ่งแวดล้อม

ส่วนเรื่องที่สามที่ Obama ให้ความสำคัญในสุนทรพจน์ คือเรื่อง สิ่งแวดล้อมโลก โดย Obama ได้กล่าวว่า อันตรายจากภาวะโลกร้อนไม่อาจปฏิเสธได้อีกต่อไป และนั่นก็คือ เหตุผลที่อเมริกาจะต้องยุติการบอยคอตไม่เข้าร่วมการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนของโลก (อเมริกาไม่เข้าร่วมและไม่ให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต) และสหรัฐฯก็กำลังจะเดินหน้าในการลงทุนเพื่อที่จะปฏิรูปอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานสะอาด และสหรัฐฯจะเดินหน้าในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยจะให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี 2020

เศรษฐกิจโลก

และเรื่องที่สี่ ที่ Obama กล่าวถึง คือปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยได้กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือ Great Depression ในช่วงต้นทศวรรษ 1930 โดยในการประชุม G20 ที่พิตต์เบิร์ก จะมีการกำหนดมาตรการร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่สมดุลและยั่งยืน

นอกจากนี้ Obama ยังได้กล่าวถึงประเด็นเรื่อง การให้ความช่วยเหลือประเทศยากจน โดยสหรัฐฯ จะเดินหน้าในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่หิวโหยทั่วโลก นอกจากนี้ ยังได้ตั้งวงเงินไว้ถึง 63,000 ล้านเหรียญ เพื่อช่วยต่อสู้กับภัยร้ายจากโรคระบาดต่าง ๆ โดย Obama ได้ประกาศว่าจะให้การสนับสนุน Millennium Development Goals (MDG) อย่างเต็มที่ และในการประชุมสุดยอด UN ในปี 2010 จะมีการจัดทำแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ MDG ให้ได้

ประชาธิปไตย

และเรื่องสุดท้ายที่ Obama กล่าวในสุนทรพจน์ คือ เรื่องประชาธิปไตยและเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยกล่าวว่า ประชาธิปไตยถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายต่างๆ ตามที่ได้กล่าวข้างต้น และได้บอกว่า สหรัฐฯ จะยืนอยู่เคียงข้างประชาชนที่ลุกขึ้นมาเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม Obama ยอมรับว่า ประชาธิปไตยนั้นไม่สามารถยัดเยียดให้กับประเทศใดประเทศหนึ่งจากข้างนอกได้ แต่ละสังคมจะต้องแสวงหาวิถีทางประชาธิปไตยของตนเอง และไม่มีวิถีทางใดที่จะสมบูรณ์ วิถีทางของแต่ละประเทศจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมและจารีตประเพณีของประชาชน อย่างไรก็ตาม Obama ยืนยันว่า มีหลักการพื้นฐานที่เป็นสากลและสหรัฐฯ จะยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของประชาชนทั่วโลก

กล่าวโดยสรุป ผมมองว่า สุนทรพจน์ของ Obama ในครั้งนี้ ถือเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ที่เป็นการประกาศนโยบายของสหรัฐฯใหม่ต่อโลก ซึ่งเนื้อหาของนโยบายมีลักษณะเป็นอุดมคตินิยมและเสรีนิยมเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการมองโลกในแง่ดี สุนทรพจน์ในครั้งนี้จึงเท่ากับเป็นการขายฝันให้กับชาวโลก ผมก็อยากจะให้ความฝันของ Obama เป็นจริง แต่ก็ยังอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า จะมีอุปสรรคอีกมากมายเหลือเกินที่ Obama จะสานฝันให้เป็นจริงได้ ก็คงจะต้องจับตาดูกันต่อในอนาคตว่า นโยบายต่าง ๆ ของ Obama จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโลกอย่างเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน