ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่ออาเซียน ปี 2012
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ฉบับวันที่ 13 ธันวาคม 2555
ภาพรวม
ยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่ออาเซียนในปี
2012 ยังคงเป็นการเดินหน้านโยบายในเชิงรุก เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน
โดยเป้าหมายสำคัญของสหรัฐฯต่อภูมิภาคคือ การครองความเป็นเจ้า การปิดล้อมจีน การส่งเสริมปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
และการป้องกันไม่ให้ประเทศในภูมิภาครวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ
สำหรับไฮไลต์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอาเซียนในปีนี้
เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนกับสหรัฐฯในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่กรุงพนมเปญ
เอกสารผลการประชุมคือ แถลงการณ์ร่วม ซึ่งได้ชี้เห็นความพยายามของสหรัฐฯที่จะตีสนิทกับอาเซียนเพื่อแข่งกับจีน
เรื่องสำคัญคือ การยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯจากระดับ partnership หรือ หุ้นส่วนไปสู่ระดับ strategic
หรือ ระดับยุทธศาสตร์ นอกจากนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่อการประชุม ซึ่งมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์
คือ จากการประชุม “ผู้นำ” มาเป็นการประชุม ”สุดยอด” คือภาษาอังกฤษเปลี่ยนจากการประชุม ASEAN-U.S. Leaders’ Meeting มาเป็น ASEAN-U.S. Summit
เวทีอาเซียน
ยุทธศาสตร์ประการหนึ่งของสหรัฐต่ออาเซียนคือ การเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเวทีต่างๆของอาเซียน
โดยเวทีที่สหรัฐฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ การประชุม East Asia Summit หรือ EAS สหรัฐฯได้เพิ่มบทบาทในด้านพลังงาน
การศึกษา สิ่งแวดล้อม และการจัดการภัยพิบัติ นอกจากนี้ สหรัฐพยายามผลักดันให้เพิ่มความร่วมมือในด้านความมั่นคง
โดยเฉพาะในด้านการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และความมั่นคงทางทะเล
ส่วนอีกเวทีหนึ่งที่สหรัฐฯ พยายามเข้ามาเพิ่มบทบาทคือ
การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ซึ่งจากการผลักดันของสหรัฐฯได้ขยายออกมาเป็น ADMM+8 และน่าจะเป็นแรงกดดันจากสหรัฐฯที่ทำให้ ADMM เปลี่ยนความถี่ของการประชุม ADMM+8 จากทุก 3 ปีมาเป็นทุก 2 ปี นอกจากนี้ สหรัฐฯได้เข้ามามีบทบาทในคณะทำงานของ
ADMM+8 โดยเฉพาะในด้านการจัดการภัยพิบัติและการต่อต้านการก่อการร้าย
ด้านเศรษฐกิจ
สำหรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับอาเซียนก็เพิ่มมากขึ้น มูลค่าการค้าในปี
2011เกือบ 200,000 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ และการลงทุนของสหรัฐในอาเซียน
มีมูลค่า 160,000 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์
ได้มีการจัดทำเอกสารสำคัญคือ 2013 ASEAN-U.S. Trade and Investment Framework Arrangement (TIFA) Work Plan นอกจากนี้ ได้มีการประกาศ U.S.–ASEAN Expanded Economic Engagement
(E3) Initiative โดยจะมีมาตรการเชิงรุกทางด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯต่ออาเซียนในหลายเรื่อง
อาทิ การเจรจาข้อตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาหลักการด้าน ICT ด้านการลงทุน และ SME
ความร่วมมือของภาคเอกชนก็เพิ่มมากขึ้นได้มีการจัดประชุม US-ASEAN Business Summit ขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเรื่องสำคัญคือ การที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ
จะเข้ามามีบทบาทใน Master Plan on ASEAN
Connectivity
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องหนึ่งที่ดูแล้วไม่น่าจะเป็นความร่วมมือ แต่น่าจะเป็นการแข่งขันกันระหว่างอาเซียนกับสหรัฐฯมากกว่า
นั่นก็คือ การที่อาเซียนผลักดันการจัดทำ FTA ตัวใหม่ของอาเซียน ซึ่งมีชื่อว่า Regional Comprehensive
Economic Partnership หรือ RCEP (อ่านว่า อาร์เซ็ป) ในขณะที่สหรัฐกำลังผลักดัน FTA
ตัวใหม่ของสหรัฐฯที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP มีแนวโน้มว่า FTA ทั้งสองกำลังจะแข่งกันโดย RCEP จะมีอาเซียนเป็นแกนกลาง ในขณะที่ TPP จะมีสหรัฐฯเป็นแกนกลาง แต่ข้อได้เปรียบของสหรัฐฯคือ
ขณะนี้มี 5 ประเทศอาเซียนโดดเข้าร่วม TPP ไปแล้ว TPP จึงเป็นกลไกสร้างความแตกแยกให้กับอาเซียนด้วย
ทะเลจีนใต้
อีกเรื่องที่สหรัฐฯเอามาใช้เพื่อทำให้อาเซียนแตกแยกและทำให้อาเซียนทะเลาะกับจีน
คือ การจุดประเด็นปัญหาทะเลจีนใต้ ท่าทีของสหรัฐฯในระหว่างการประชุมสุดยอดกับอาเซียน
คือ สหรัฐฯให้ความสำคัญกับปฏิญญาปี 2002 ระหว่างอาเซียนกับจีน อยากให้มีการจัดทำ Regional Code
of Conduct โดยเร็ว และสนับสนุนหลักการ 6
ประการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐฯจะพยายามจุดประเด็นให้สถานการณ์บานปลาย พยายามทำให้อาเซียนแตกแยกและทะเลาะกับจีน
แต่ทั้งอาเซียนกับจีนก็พยายามจะไม่ให้สถานการณ์ทรุดหนักลง
โดยได้มีการจัดทำแถลงการณ์ร่วมระหว่างอาเซียนกับจีนเพื่อคลี่คลายปัญหานี้ ในระหว่างการประชุมสุดยอดที่กรุงพนมเปญ
U.S.-Lower Mekong
Initiative
ยุทธศาสตร์อีกประการของสหรัฐฯต่ออาเซียนคือ
การกระชับความสัมพันธ์กับประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง เพื่อแข่งกับจีน
ได้มีการพัฒนากรอบความร่วมมือที่ชื่อว่า U.S.-Lower Mekong Initiative โดยมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างได้แก่
ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนามและพม่า กับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯเป็นประจำทุกปี
สาขาความร่วมมือเน้น ด้านพลังงาน สาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร การเกษตร การศึกษา
และสิ่งแวดล้อม ในการประชุมครั้งล่าสุด สหรัฐฯได้ประกาศวงเงิน 50 ล้านเหรียญ
สำหรับโครงการต่างๆภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวในช่วง 3 ปีข้างหน้า
กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯกำลังมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกเป็นอย่างมากต่อภูมิภาคอาเซียน
ปัจจัยสำคัญคือ การแข่งกับอิทธิพลของจีน ดังนั้น กำลังเป็นโจทย์ใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆสำหรับอาเซียนและไทย
ที่จะต้องตามเกมสหรัฐฯให้ทัน และกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม เพื่อรองรับต่อแนวโน้ม ที่สหรัฐฯและจีนจะแข่งขันกันมากขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อแย่งชิงสถานะการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคอาเซียน