Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ภัยคุกคามปี 2013



ภัยคุกคามปี 2013

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน 2556


เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ได้เผยแพร่เอกสารวิเคราะห์แนวโน้มภัยคุกคามในปี 2013 โดยเอกสารมีชื่อว่า Worldwide Threat Assessment คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จึงจะขอสรุป สาระสำคัญของเอกสารดังกล่าว ดังนี้


ภัยคุกคามในอินเทอร์เน็ต

ภัยคุกคามในอินเทอร์เน็ตกำลังจะกลายเป็นภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ที่จะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยภัยคุกคามดังกล่าวมี 2 ลักษณะ ลักษณะแรก คือการโจมตีทางอินเทอร์เน็ต ( cyber attack) และอีกรูปแบบหนึ่งคือ การโจรกรรมทางอินเทอร์เน็ต (cyber espionage) โดย cyber attack จะเป็นการปฏิบัติการในการป้องกันการเข้าถึงเว็ปไซต์ การโจมตีศูนย์ควบคุม ที่อาจนำไปสู่ความสูญเสียทางกายภาพ เช่น ไฟฟ้าดับ ส่วน cyber espionage นั้นคือ การแฮ็กหรือเจาะเข้าไปในเครือข่ายข้อมูล เพื่อเข้าถึงข้อมูลความลับทางการทูต ทางทหาร และทางเศรษฐกิจ

หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ ประเมินว่า ในช่วง 2 ปีข้างหน้า อาจจะมีโอกาสเกิด cyber attack ครั้งใหญ่ ต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายทางกายภาพ ในระยะเวลายาวนานและกว้างขวาง อย่างเช่น เกิดเหตุการณ์ไฟดับทั่วทั้งภูมิภาค หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ ประเมินว่า รัสเซียและจีน ซึ่งเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ ยังไม่น่าจะโจมตีสหรัฐฯ ในลักษณะ cyber attack ยกเว้นในกรณีที่เกิดความขัดแย้ง หรือวิกฤตการณ์ทางทหาร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบางรัฐ และตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ อาจใช้วิธีนี้โจมตีสหรัฐฯ โดยอาจเข้าถึงเครือข่ายของสหรัฐฯ ที่เข้าถึงได้ง่าย และเครือข่ายดังกล่าวควบคุมการทำงานของโรงงานพลังงาน

ในช่วงปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์ การโจมตีเว็ปไซต์ของธนาคาร และตลาดหุ้นสหรัฐฯหลายครั้ง และทำให้ลูกค้า ไม่สามารถเข้าถึงบัญชีของตนได้ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต อีกกรณีหนึ่ง เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว คือการโจมตีบริษัทน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย ชื่อ Aramco ทำให้คอมพิวเตอร์ของบริษัทกว่า 30,000 เครื่อง ใช้งานไม่ได้

สำหรับ cyber espionage หรือ การโจรกรรมข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตนั้น ได้มีความพยายามของต่างชาติที่จะเจาะข้อมูลหรือแฮ็กข้อมูลเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทั้งของรัฐบาลสหรัฐฯและบริษัทธุรกิจต่างๆ ในอนาคต มีความเป็นไปได้สูงว่า จะมีความพยายามที่จะแฮ็กข้อมูล โดยมุ่งเป้าไปที่ ข้อมูลชั้นความลับทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ ยังระบุว่า มีเครื่องบ่งชี้ว่า องค์กรก่อการร้ายต่างๆ ก็ให้ความสนใจมากขึ้น ในการเพิ่มสมรรถภาพของการโจมตีสหรัฐฯและตะวันตกทางอินเทอร์เน็ต


การก่อการร้าย

ภัยคุกคามอีกเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะในสายตาของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ คือ การก่อการร้ายสากล ภัยคุกคามจากการก่อการร้ายกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน กระบวนการก่อการร้ายสากล กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การกระจายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ เหตุการณ์ Arab Spring ได้ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯในภูมิภาค

สำหรับกลุ่มก่อการร้ายสำคัญที่จะยังเป็นภัยคุกคามต่อตะวันตกและสหรัฐฯ คือ
-          Al-Qa’ida in the Arabian Peninsula (AQAP) เป้าหมายของกลุ่มยังคงเป็นการโจมตีสหรัฐฯ และตะวันตก
-          Al-Qa’ida in Iraq’s (AQI)
-          Al-Shabaab มีฐานที่มั่นอยู่ในโซมาเลีย เน้นแผนการโจมตีเป้าหมายต่างๆในระดับท้องถิ่นและในระดับภูมิภาค ซึ่งรวมถึงเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯและตะวันตก ในแอฟริกาตะวันออกด้วย
-          Al-Qa’ida in the Land of the Islamic Maghreb’s (AQIM) มีเป้าหมายโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ทางตะวันตก และทางตอนเหนือของแอฟริกา

นอกจากนี้ สถานการณ์ความวุ่นวายในโลกอาหรับ ที่เกิดจาก Arab Spring โดยเฉพาะในอียิปต์ ตูนีเซีย เยเมน ลิเบีย รวมทั้งความไม่สงบในโซมาเลียและมาลี ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ได้เพิ่มบทบาท การโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มากขึ้น


อาวุธร้ายแรง

ภัยคุกคามอีกเรื่อง ในปี 2013 นี้ คือการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง โดยเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์
หน่วยงานข่าวกรองสหรัฐฯ ประเมินว่า อิหร่าน กำลังพัฒนาสมรรถภาพนิวเคลียร์ เพื่อเพิ่มความมั่นคง และอิทธิพลในภูมิภาค ซึ่งจะทำให้อิหร่านสามารถที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่แน่ใจว่า อิหร่านได้ตัดสินใจผลิตอาวุธนิวเคลียร์แล้วหรือยัง แต่ที่แน่ๆ คือ อิหร่านได้พัฒนาความสามารถหลายด้าน ทั้งในการเสริมสร้างสมรรถภาพแร่ยูเรเนียน และสร้างโรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์และขีปนาวุธ ซึ่งความสามารถเหล่านี้ สามารถนำมาพัฒนาเป็นขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ได้

สำหรับอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อสหรัฐฯ และภูมิภาคเอเชียตะวันออก เกาหลีเหนือได้ส่งออกขีปนาวุธ และวัตถุดิบต่างๆ ให้แก่อิหร่านและซีเรีย และช่วยซีเรียสร้างโรงงานนิวเคลียร์ แต่ได้ถูกทำลายไปเมื่อปี 2007 นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือได้ประกาศการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งที่ 3 และเดินหน้าพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลยิงข้ามทวีป

อีกประเทศหนึ่งที่ถูกจับตามองในเรื่องการพัฒนาอาวุธร้ายแรง คือซีเรีย หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ประเมินว่า ซีเรียมีโครงการพัฒนาอาวุธเคมี และมีการสะสมอาวุธเคมีเป็นจำนวนมาก


ตะวันออกกลาง

สำหรับในปี 2013 ภูมิภาคที่จะวุ่นวายและเป็นภัยคุกคามมากที่สุด น่าจะเป็นตะวันออกกลาง จากเหตุการณ์ Arab Spring ได้นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง ความรุนแรง และการไร้เสถียรภาพ การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการได้ก่อให้เกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ นำไปสู่ความขัดแย้งทางศาสนาและชาติพันธ์ กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ได้ฉวยโอกาสในการเพิ่มอิทธิพลทางการเมือง พรรคการเมืองที่มีแนวคิดหัวรุนแรงมีอิทธิพลบทบาทเพิ่มมากขึ้น ทั้งในอียิปต์ ตูนีเซีย และโมร็อคโค

สำหรับสถานการณ์ในซีเรีย ซึ่งมีความวุ่นวายมาเกือบสองปีแล้ว รัฐบาลซีเรียกำลังเสื่อมอำนาจลงเรื่อยๆ และแม้ว่ารัฐบาล Asad จะสามารถป้องกันไมให้กลุ่มต่อต้านยึดเมืองสำคัญไว้ได้ อาทิ Damascus, Aleppo, Homs แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถที่จะบดขยี้กลุ่มต่อต้านลงได้ ในขณะที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาล กลับมีความแข็งแกร่งขึ้น ในเขตชนบททางตอนเหนือและตะวันออกของซีเรีย นอกจากนี้ ความไม่สงบทางการเมือง ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มก่อการร้ายในซีเรีย ชื่อ Al-Qa’ida’s Nussrah Front ฉวยโอกาสเพิ่มบทบาทของตนมากขึ้นด้วย

สำหรับอิหร่าน ซึ่งพยายามที่จะขยายอิทธิพล และเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และตะวันตก ก็พยายามที่จะฉวยโอกาสจากความไม่สงบในโลกอาหรับ โดยได้สนับสนุนแนวร่วมกลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์ในความขัดแย้งกับอิสราเอล และเพื่อเป็นการฉวยโอกาสจากการถอนทหารของสหรัฐฯ ออกจากอิรักและอัฟกานิสถาน อิหร่านก็กำลังพยายามกระชับความสัมพันธ์กับรัฐบาลในระดับท้องถิ่นและในระดับภูมิภาคของประเทศทั้งสอง อย่างไรก็ตาม ความพยายามของอิหร่านในการครองความเป็นเจ้าในภูมิภาค ยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะหากรัฐบาล Asad ถูกโค่นล้มลง ก็จะถือเป็นการสูญเสียพันธมิตรครั้งใหญ่ของอิหร่าน

สำหรับสถานการณ์ในอัฟกานิสถาน รัฐบาลสหรัฐฯ ประเมินว่า กลุ่มตาลีบันได้ลดบทบาทลงในอัฟกานิสถาน แต่ยังคงท้าทายสหรัฐฯ และตะวันตก ความมั่นคงยังคงเปราะบางโดยเฉพาะในพื้นที่ ที่กองกำลังนาโต้ได้ควบคุมอยู่ และกำลังจะเปลี่ยนผ่านการควบคุมให้กับกองกำลังของอัฟกานิสถาน ( Afghan National Security Forces (ANSF)) ซึ่ง ANSF ยังคงจะอ่อนแออยู่ และยังคงต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติภายหลังปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่สหรัฐฯ ตั้งเป้าจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน



เอเชียตะวันออก

สำหรับสถานการณ์ภัยคุกคามในภูมิภาคเอเชียตะวันออก สหรัฐฯยังคงมุ่งเป้าไปที่จีน และเกาหลีเหนือ
โดยในปีที่แล้ว จุดยืนและท่าทีของจีนมีความแข็งกร้าว โดยเฉพาะต่อความขัดแย้งทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจีนพยายามที่จะขยายการควบคุมพื้นที่ดังกล่าว  และพยายามขัดขวางความพยายามของนานาชาติที่จะจัดการกับความขัดแย้ง ท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของจีน อาจจะเป็นการตอบโต้การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มบทบาทมากขึ้นในภูมิภาค โดยผู้นำจีนมองว่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ เป็นยุทธศาสตร์ในการปิดล้อมและสกัดกั้นการเพิ่มบทบาทของจีน

เรื่องสำคัญที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯมุ่งเป้า คือ การเพิ่มบทบาททางทหารของจีน โดยขณะนี้จีนกำลังเดินหน้าพัฒนากองทัพอย่างขนานใหญ่ ปีที่แล้ว กองทัพจีนได้พัฒนาอาวุธที่ทันสมัย ตัวอย่างเช่น ในเดือนสิงหาคม จีนได้เปิดตัวเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน  ชื่อ Liaoning

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า ในปี 2013 ภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ และตะวันตก จะมีภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ คือภัยคุกคามทางอินเทอร์เน็ต ส่วนเรื่องปัญหาการก่อการร้าย และอาวุธร้ายแรง เป็นภัยคุกคามที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายปีแล้ว ส่วนภูมิภาคที่มีปัญหามากที่สุดคือ ตะวันออกกลาง ซึ่งก็เป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากอดีต คือตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่มีความวุ่นวายมาโดยตลอด สำหรับในเอเชีย ก็เห็นแนวโน้มชัดขึ้นเรื่อยๆว่า สหรัฐฯมุ่งเป้าไปที่จีน โดยมองว่าจีนเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ และสหรัฐฯก็มีแนวโน้มที่จะมียุทธศาสตร์ในการปิดล้อมจีนหนักขึ้นเรื่อยๆ





วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

RCEP vs TPP



RCEP vs TPP


ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2556


ขณะนี้ กำลังมีแผนการจัดตั้ง FTA ในภูมิภาค ซึ่ง FTA ตัวแรกเป็น FTA ที่มีอาเซียนเป็นแกน มีชื่อว่า RCEP ส่วน FTA ตัวที่สอง มี สหรัฐฯ เป็นแกน ชื่อว่า TPP คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ FTA ทั้งสอง และจะนำไปสู่บทสรุปที่ว่า ไทยและอาเซียนควรจะมีท่าทีอย่างไร


RCEP
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปลายปีที่แล้ว ได้มีการจัดทำปฏิญญาร่วม ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ ที่มี FTA กับอาเซียน ได้แก่  จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยจะมีการเจรจา FTA ตัวใหม่ ระหว่าง 16 ประเทศ ที่มีชื่อว่า Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP

หากเกิด FTA ระหว่าง 16 ประเทศได้จริง จะทำให้ RCEP กลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจะมีประชากรรวมกันกว่า 3000 ล้านคน คือ ประมาณ 45% ของประชากรโลก และมี GDP รวมกัน เกือบ 20 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 1 ใน 3 ของ GDP โลก

โดยการเจรจา RCEP จะตั้งอยู่บนหลักการที่จะเป็น FTA ที่มีคุณภาพสูงกว่า FTA ASEAN+1 และ RCEP จะมีความยืดหยุ่นสูง โดยจะมีหลักการให้การปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง รวมทั้งประเทศคู่เจรจาของอาเซียนที่ไม่เข้าร่วม RCEP ในตอนเริ่มต้น ก็สามารถเข้าร่วมเจรจาในภายหลังได้ นอกจากนั้น RCEP ยังเปิดกว้าง พร้อมที่จะให้ประเทศอื่นๆ สามารถเข้าร่วมในภายหลังได้ด้วย RCEP จึงเป็นความพยายามของอาเซียนที่จะบูรณาการ FTA ที่มีอยู่ในกรอบอาเซียน + 1 ทั้ง 5ฉบับ ให้กลายเป็นฉบับเดียว

ข้อดีของ RCEP ต่อ อาเซียนและไทย มีดังนี้

1. RCEP จะเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะครอบคลุมประเทศคู่ค้าสำคัญของอาเซียนและไทย โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ และ ออสเตรเลีย ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของการค้าในภูมิภาค ไทยและอาเซียนน่าจะได้ประโยชน์จากการส่งออกไปตลาดประเทศเหล่านี้ รวมทั้งได้ประโยชน์จากบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคในเชิงลึกมากขึ้น
2. RCEP จะทำให้อาเซียนกลับมามีบทบาทนำในบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค คือจะทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะมาแข่งกับ TPP ซึ่งจะเป็น FTA ที่สหรัฐฯจะเป็นแกนกลางแข่งกับอาเซียน นอกจากนี้ RCEP จะแก้ปัญหาความขัดแย้งในอดีตที่ยืดเยื้อมาหลายปี คือ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่น โดยจีนต้องการผลักดัน FTA ในกรอบอาเซียน+3 ซึ่งจะมีชื่อว่า East Asia Free Trade Area ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องการผลักดัน FTA ในกรอบอาเซียน+6 ที่มีชื่อว่า Comprehensive Economic Partnership in East Asia หรือ CEPEA
3. อาเซียนตั้งเป้าที่จะเจรจาข้อตกลง RCEP ให้เสร็จในปี 2015 ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง เพราะไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะอาเซียนมี FTA กับประเทศคู่เจรจาอยู่แล้ว 5 ฉบับ ก้าวต่อไปคือ การเจรจาเพื่อบูรณาการ FTA ทั้ง 5 ฉบับ ให้กลายเป็นฉบับเดียว ซึ่งไม่น่ายุ่งยาก ในขณะที่ TPP ซึ่งเป็นคู่แข่งของ RCEP การเจรจาคงจะยุ่งยากมาก
4. การเจรจา RCEP มีความยืดหยุ่นสูง เพราะเปิดกว้าง ที่จะให้ประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจาในตอนแรก ได้เข้าร่วมภายหลังได้ ทั้งประเทศคู่เจรจาที่มี FTA อยู่แล้ว และรวมทั้งประเทศอื่นๆด้วย RCEP จึงเป็น FTA ที่ไม่ได้ปิดกั้นใคร ไม่เหมือน TPP ที่พยายามแบ่งพรรคแบ่งพวก โดยเฉพาะการพยายามกีดกันไม่ให้จีนเข้าร่วม TPP


TPP
FTA ในภูมิภาคที่จะมาเป็นคู่แข่งของ RCEP คือ TPPโดยมีสหรัฐฯเป็นผู้นำ รัฐบาล Obama พยายามผลักดัน TPP เป็นอย่างมาก โดยบอกว่า TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง และก้าวหน้ามากที่สุดในโลก จะขยายจำนวนสมาชิกให้ครอบคลุมประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ซึ่งในที่สุด TPP จะเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สหรัฐฯ ต้องการที่จะเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคโดยใช้ TPP เป็นเครื่องมือสำคัญ และ TPP จะเป็นตัวกันการรวมกลุ่มของประเทศในภูมิภาคโดยไม่มีสหรัฐฯ นอกจากนี้ TPP ยังเป็นเครื่องมือในการโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจด้วย



ข้อเสียของ TPP ต่ออาเซียนและไทยมีดังนี้

1. TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูงและมีความเข้มข้นมาก จะมีการเจรจาเปิดเสรี ถึง 26 สาขา ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในหลายสาขา  โดยเฉพาะภาคบริการ มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม และทรัพย์สินทางปัญญา แม้ว่าไทยอาจจะได้ประโยชน์บ้าง จากการส่งสินค้าบางตัวไปสหรัฐฯ แต่ก็มีหลายสาขาที่เราจะเสียเปรียบ ซึ่งโดยรวมแล้วไม่น่าจะคุ้ม
นอกจากนี้ จากประสบประการณ์การเจรจา FTA ไทยกับสหรัฐฯ ในอดีต ชี้ให้เห็นว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากไทยโดดเข้าร่วมเจรจา TPP เต็มตัว โดยเฉพาะภาคประชาสังคมจะมีความอ่อนไหวในเรื่องนี้มากโดยเฉพาะในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องสิทธิบัตรยา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคประชาสังคมของไทยในวงกว้าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับการเข้าถึงยา นอกจากนี้ ในการเปิดตลาดการค้าภาคบริการโดยเฉพาะในภาคการเงิน สหรัฐฯก็มีระบบการเงินที่แข็งแกร่งกว่าไทยมาก
2. TPP จะกระทบต่อแผนการการจัดตั้ง FTA ในกรอบ RCEP ดังกล่าวข้างต้น โดย TPP จะเป็นคู่แข่งสำคัญของ RCEP เพราะ FTA ทั้งสองตัวตั้งเป้าที่จะเป็น FTA ของภูมิภาคโดยรวม ดังนั้น RCEP และ TPP จะแข่งขันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หาก TPP ประสบความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงปลายปีนี้ และหากดึงญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย ก็จะทำให้ RCEP กระเทือน แต่ในทางกลับกัน หาก RCEP ประสบความก้าวหน้าในการเจรจา ก็จะทำให้แผนการจัดตั้ง TPP ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกัน
3. TPP เป็น FTA ที่มีลักษณะของการกีดกั้น แบ่งพรรคแบ่งพวก สหรัฐฯ พยายามบีบคั้นประเทศต่างๆให้เข้าร่วม ขณะเดียวกัน ก็กีดกันไม่ให้จีนเข้าร่วม TPP จึงเป็นยุทธศาสตร์การโดดเดี่ยวและปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น TPP จะทำให้ประเทศต่างๆในภูมิภาคมีความลำบากใจ เพราะประเทศเหล่านี้ มีปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนอย่างแน่นแฟ้น จีนก็มีความเชื่อว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่ใส่ไว้ใน TPP เป็นเงื่อนไขที่สร้างขึ้นมาเพื่อที่จะกีดกันไม่ให้จีนเข้าร่วม แม้กระทั่งสื่ออเมริกาเอง ก็มองว่า TPP เป็นเครื่องมือในการถ่วงดุลอำนาจจีนทางเศรษฐกิจ ประธานาธิบดี Obama เอง ก็ยังกล่าวในช่วงหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปลายปีที่แล้วว่า จะส่งเสริม TPP  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกดดันจีน ให้จีนปฏิบัติตามกติกาการค้าของโลก ดังนั้น หากไทยรีบตัดสินใจโดดเข้าร่วม TPP ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนได้
4.ข้อเสียประการที่ 4 ของ TPP คือ TPP จะลดบทบาทของอาเซียนในการเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค นอกจากนี้ TPP ยังแบ่งแยกอาเซียน ทำให้อาเซียนแตก เพราะขณะนี้มี 4 ประเทศอาเซียนได้โดดเข้าร่วม TPP ไปแล้ว คือ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน และประเทศไทยเอง ในตอนที่โอบามามาเยือนไทย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ได้แสดงความสนใจที่จะโดดเข้าร่วม TPP ด้วย
5. ข้อเสียประการที่ 5 ของ TPP คือ การเจรจา TPP ที่จะบรรลุข้อตกลง ดูมีความเป็นไปได้ยาก ถึงแม้ว่า RCEP จะเริ่มเจรจาช้ากว่า คือเริ่มเจรจาเมื่อต้นปีนี้เอง แต่ก็มีแนวโน้มว่า จะมีความคืบหน้าในการเจรจา เนื่องจาก การเจรจา RCEP จะเน้นเอา FTA ต่างๆที่อาเซียนมีกับประเทศคู่เจรจาอยู่แล้ว ให้กลายเป็น ข้อตกลง FTA ฉบับเดียว ในขณะที่ TPP ถึงแม้จะมีการเจรจาไปแล้วถึง 15 ครั้ง แต่เนื่องจากการเจรจาครอบคลุมถึง 26 เรื่อง และสหรัฐฯ ตั้งเป้าที่จะให้มีมาตรฐานสูง การเจรจาจึงไม่คืบหน้า จึงมีเครื่องหมายคำถามใหญ่ว่า TPP จะสามารถสรุปการเจรจาภายในปีนี้ได้หรือไม่

กล่าวโดยสรุป จากการวิเคราะห์ผลดีผลเสียดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ชัดว่า RCEP น่าจะให้ผลดีต่อไทยและอาเซียนมากกว่า TPP ดังนั้น ท่าทีของไทยจึงควรให้ความสำคัญกับ RCEP มากกว่า TPP โดย RCEP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไทยจะได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และ RCEP จะทำให้อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยหนุนทำให้ประชาคมอาเซียนและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนประสบความสำเร็จและมีความโดดเด่นในระบบเศรษฐกิจโลกในระยะยาว

แต่ในทางกลับกัน TPP จะส่งผลกระทบทางลบต่อไทยหลายประการ โดยเฉพาะจุดอันตรายในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าภาคบริการ TPP เป็นคู่แข่งสำคัญของ RCEP และอาจทำให้ RCEP ประสบความล้มเหลว นอกจากนี้ TPP ยังเป็น FTA ที่อันตราย ที่แบ่งแยกประเทศต่างๆในภูมิภาค ด้วยการโดดเดี่ยวจีน และแบ่งแยกอาเซียน นอกจากนี้ ในขณะที่ RCEP มีโอกาสที่จะบรรลุข้อตกลง แต่ TPP คงจะเจรจากันลำบาก

         จากข้อสรุปดังกล่าว ไทยจึงควรให้ความสำคัญกับ RCEP และไม่ควรรีบร้อนโดดเข้าร่วมเจรจา TPP โดยควรจะมีการศึกษาข้อดีข้อเสีย ของ TPP ให้ชัดเจนมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม หากไทยกลัวตกรถไฟสาย TPP และหากกลัวว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ไทยก็อาจใช้วิธีโดดเข้าร่วมทั้งสองเวที คือ เอาทั้ง RCEP และ TPP แต่ให้น้ำหนักกับ RCEP มากกว่า TPP โดย RCEP ไทยควรจะโดดเข้าร่วมเต็มตัว แต่ TPP เราอาจจะเข้าร่วมในลักษณะของการเข้าไปสังเกตการณ์ ดูว่าเค้าเจรจาอะไรกัน และถ้าเห็นท่าไม่ดี ก็อาจจะถอนตัวออกมาก็ได้ ดังนั้นไทยควรจะมีทางเลือก หรือ options หลายๆทางไว้ สำหรับการเจรจา FTA ในภูมิภาค ที่กำลังจะสับสนวุ่นวายมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต