ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 23
มกราคม 25547
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้
จะวิเคราะห์แนวโน้มและสงครามความขัดแย้งสำหรับปีนี้ โดยจะแบ่งการวิเคราะห์เป็นภูมิภาคต่างๆ
ดังนี้
ตะวันออกกลาง
ภูมิภาคที่น่าจะยังคงเป็นภูมิภาคที่มีความขัดแย้งและสงครามมากที่สุดคือ
ตะวันออกกลาง
·
ซีเรีย
ประเทศที่จะยังคงมีสงครามกลางเมืองรุนแรงต่อเนื่องมาจากปีที่แล้วคือ
ซีเรีย แม้ว่าในปีที่แล้วคณะมนตรีความมั่นคงหรือ UNSC
จะสามารถกดดันให้รัฐบาลซีเรีย ยุติการใช้อาวุธเคมีกับฝ่ายต่อต้าน
แต่สงครามกลางเมืองก็ยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง และมีแนวโน้มจะลุกลามบานปลายสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
โดยเฉพาะเลบานอน อิรัก และตุรกี
รัฐบาล Assad มีความมั่นใจมากขึ้นโดยเฉพาะหลังจากที่สามารถป้องกันไม่ให้สหรัฐแทรกแซงทางทหาร
ได้เริ่มรณรงค์ครั้งใหม่ในการที่จะบดขยี้ฐานที่มั่นของฝ่ายกบฏ
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาล Assad มีความเข้มแข็งขึ้นคือความแตกแยกของฝ่ายต่อต้านรัฐบาล
แนวร่วมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีชื่อว่า National Coalition of Syrian Revolutionary
and Opposition Forces ไม่สามารถควบคุมการปฎิบัติการทางทหารของฝ่ายต่อต้านได้
นอกจากนั้น ประเทศที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียและกาตาร์
ก็สนับสนุนฝ่ายต่อต้านคนละกลุ่ม นอกจากนี้ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็ยังมีกลุ่มหัวรุนแรง
โดยเฉพาะ Islamic State in Iraq and al-Sham ซึ่งมีความสัมพันธ์กับ
al Qaeda ก็กลายเป็นกลุ่มต่อต้านที่มีความแข็งแกร่งที่สุด
สงครามกลางเมืองในซีเรียได้ลุกลามเข้าสู่เลบานอน
โดยขณะนี้ มีผู้อพยพชาวซีเรียได้อพยพเข้าไปในเลบานอนเป็นจำนวนมาก โดยคิดเป็นประมาณ
25% ของจำนวนประชากรเลบานอน รวมทั้งกลุ่มก่อการร้าย Hezbollah ก็ได้ให้การสนับสนุนรัฐบาล Assad อย่างเต็มที่
ขณะนี้ประชาคมโลกมุ่งความสนใจไปที่การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน
ซึ่งได้ประชุมในวันที่ 22 มกราคม ที่นครเจนีวา อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลซีเรียยอมที่จะเจรจาแต่ก็ปฎิเสธข้อเสนอในการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล
ท่าทีของประเทศต่างๆ ที่ทั้งสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน ก็แตกต่างกัน
จนดูแล้ว มีความเป็นไปได้น้อยที่การเจรจาจะประสบความสำเร็จ ดังนั้น สงครามกลางเมืองในซีเรียจะยืดเยื้อต่อไปและ
มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น
· อิรัก
อีกประเทศหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคืออิรัก
ตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว รัฐบาล Maliki ได้ยกระดับความรุนแรงในการปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่
ในขณะที่รัฐบาลเป็นมุสลิมนิกายชีอะ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลไม่ไว้วางใจรัฐบาลมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งได้เปิดโอกาสให้กลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง คือ al Qaeda in Iraq ได้มีโอกาสเพิ่มบทบาทมากขึ้น
ปี 2014 นี้ มีแนวโน้มว่า ความขัดแย้งทั้งในอิรักและในซีเรียจะเกี่ยวโยงกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลอิรักได้ให้ความช่วยเหลือรัฐบาล Assad ซึ่งเป็นรัฐบาลชีอะด้วยกัน เพื่อปราบปรามฝ่ายต่อต้านนิกายสุหนี่
ทั้งในซีเรียและในอิรัก
นอกจากนี้ แม้ว่าในปีนี้จะมีการเลือกตั้งในอิรัก
แต่ก็คงไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้ และอาจจะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น และนำไปสู่การแทรกแซงจากประเทศภายนอก
· ลิเบีย
อีกประเทศหนึ่งในตะวันออกกลางที่กำลังจะลุกเป็นไฟในปี
2014 คือ ลิเบีย สถานการณ์ในยุคหลัง Qaddafi มีแต่ความสับสนวุ่นวาย ผู้นำลิเบียคนปัจจุบันคือ Ali Zeidan ได้เป็นเป้าของการถูกโจมตีหลายครั้ง
และเสียงเรียกร้องให้ลาออกก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ศรัทธาของประชาชนต่อสถาบันรัฐก็ตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว
ซึ่งได้ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่าน ที่จะทำให้ประเทศลิเบียเป็นประเทศประชาธิปไตยก็กำลังสั่นคลอน
สถานการณ์ในลิเบียก็เหมือนหลายๆประเทศในอาหรับที่กำลังเปลี่ยนผ่าน
โดยได้มีความแตกแยกกันอย่างรุนแรงระหว่างหลายฝ่าย
โดยเฉพาะระหว่างฝ่ายมุสลิมหัวรุนแรงกับฝ่ายเสรีนิยม
ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายปฏิรูป นอกจากนี้ แนวร่วมของฝ่ายต่างๆที่ร่วมกันโค่นล้มรัฐบาล
Qaddafi ซึ่งในอดีตเป็นการร่วมกันของฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายหัวรุนแรง
แต่แนวร่วมดังกล่าวได้แตกสลายลงแล้ว ซึ่งนำไปสู่ระบบการเมืองที่จะแตกสลายลงเช่นเดียวกัน
อีกภูมิภาคที่ในปีนี้ยังคงมีสงครามลุกลามอยู่หลายจุดคือ
ทวีปแอฟริกา
·
สาธารณรัฐแอฟริกากลาง
(Central African Republic)
ปีที่แล้ว สาธารณรัฐแอฟริกากลาง
ได้ทำให้ประชาคมโลกตกตะลึง เมื่อเกิดสถานการณ์รัฐบาลล่มสลายและเกิดสงครามกลางเมือง
ฝ่ายกบฏที่มีชื่อว่า Seleka ซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่มหัวรุนแรงหลายกลุ่ม
ได้โค่นล้มรัฐบาล Bozize และได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยมี Michel Djotodia เป็นผู้นำ อย่างไรก็ตาม ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา Djotodia ได้ยุบกลุ่ม Seleka จึงนำไปสู่ความรุนแรงและสงครามกลางเมือง
สหประชาชาติและมหาอำนาจตะวันตกก็ตอบสนองอย่างไม่ทันการณ์ โดยคิกว่ารัฐบาล Djotodia จะคุมสถานการณ์ได้ และกองกำลังของสหภาพแอฟริกาจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
แต่ก็เป็นการคาดการณ์ที่ผิดพลาด ขณะนี้ กลุ่ม Seleka ได้แตกออกเป็นหลายกลุ่มย่อย
และได้มีการปะทะกัน นำไปสู่สถานการณ์สงครามกลางเมือง ความขัดแย้งยังมีลักษณะเป็นความขัดแย้งทางศาสนาด้วย
เพราะกลุ่ม Seleka ขัดแย้งอย่างหนักกับกลุ่มชาวคริสต์ ซึ่งความขัดแย้งมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นในปีนี้
· ซูดาน
นับเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่ซูดานมีแต่สงครามและความรุนแรง
ปีนี้สถานการณ์ไม่ดีขึ้นและมีแนวโน้มทรุดหนักลง เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
รัฐบาลซูดานได้ประกาศแผนการบดขยี้ฝ่ายกบฎที่มีชื่อว่า Sudan Revolutionary Front ศูนย์กลางของความขัดแย้งอยู่ที่แคว้น
Darfur ซึ่งที่ Darfur สงครามและความขัดแย้งยืดเยื้อมากว่า
10 ปีแล้ว ในอดีตเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวอาหรับกับชนเผ่าที่ไม่ใช่อาหรับ
แต่ในปัจจุบันกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างชนเผ่าอาหรับด้วยกันเอง ซึ่งปีที่แล้ว ความรุนแรงทำให้มีผู้อพยพย้ายถิ่นฐานกว่าสี่แสนห้าหมื่นคน
· ไนจีเรีย
อีกประเทศในแอฟริกาที่มีแนวโน้มของสงครามคือไนจีเรีย
ซึ่งขณะนี้กำลังประสบปัญหาหลายเรื่อง ทั้งกลุ่มแบ่งแยกดินแดน กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง
โดยเฉพาะกลุ่ม Boko Haram ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงสำคัญได้ทำการก่อการร้ายโดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศไนจีเรีย
และแม้รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการปราบปรามแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศในแอฟริกา
ที่จะยังคงมีความขัดแย้งและสงคราม โดยเฉพาะโซมาเลีย ซึ่งกลุ่มก่อการร้าย al Shabab ยังคงมีความสามารถในการก่อวินาศกรรม
อีกประเทศหนึ่งคือมาลี ซึ่งเมื่อช่วงต้นปีที่แล้ว ฝรั่งเศสได้ส่งกองกำลังทางทหารเข้าไปในประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มหัวรุนแรงยึดกุมอำนาจรัฐได้
แต่ขณะนี้ มาลีก็ยังไม่มีเสถียรภาพ การก่อวินาศกรรม การปะทะกันระหว่างชนเผ่าต่างๆ
และกลุ่มต่างๆ ยังคงมีอยู่
เอเชียกลาง
อีกภูมิภาคหนึ่งที่มีแนวโน้มสงครามและความขัดแย้งคือ
เอเชียกลาง ประเทศแรกที่ต้องจับตามองคือ อัฟกานิสถาน ปีนี้เป็นปีที่รัฐบาล Obama ประกาศจะถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน จึงมีความไม่แน่นอนว่า
จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น และนักรบตาลีบันจะสามารถยึดกุมอำนาจรัฐได้หรือไม่
สำหรับอุซเบกิสถาน ก็ประสบปัญหากลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรง
ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางทหารจากฝ่ายตาลีบันในอัฟกานีสถาน
ทาจิกิสถานก็อยู่สภาวะเปราะบางเช่นเดียวกัน
โดยประสบกับภาวะรัฐบาลอ่อนแอ และปัญหาคอรัปชั่น
ส่วนประเทศคีร์กีซสถาน ก็มีปัญหาในทำนองเดียวกัน
คือปัญหาเสถีรภาพของรัฐบาลและปัญหาคอรัปชั่น
สำหรับประเทศคาซัคสถาน ก็ประสบปัญหากลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
และประเทศสุดท้ายในเอเชียกลางที่จะกล่าวถึงคือ
เติร์กเมนิสถาน ซึ่งมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล แต่รัฐบาลก็อ่อนแอมาก
และมีแนวโน้มว่า สงครามในอัฟกานีสถานจะลุกลามเข้าสู่ประเทศนี้ด้วย
ภูมิภาคคอเคซัส
และอีกภูมิภาคหนึ่ง ที่มีแนวโน้มสงครามและความขัดแย้งคือ
ภูมิภาคคอเคซัส ซึ่งถือเป็นจุดอันตรายที่สุดในทวีปยุโรป โดยเฉพาะภาคใต้ของรัสเซีย มีกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่ม
อาทิ กลุ่ม North Caucasus Islamist ได้ขู่ว่า จะก่อวินาศกรรมากีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่จะจัดขึ้นที่เมืองโซชี ภาคใต้ของรัสเซีย
และกลุ่มนี้ได้เรียกร้องให้กลุ่มหัวรุนแรงปฏิบัติการก่อการร้ายทั่วรัสเซีย ในปี
2013 ได้มีการก่อวินาศกรรมอย่างน้อย 30 ครั้งในภูมิภาคนี้
รัฐบาลรัสเซียได้ออกมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่สำหรับเมืองโซชี และเพิ่มการควบคุมชายแดน
เพื่อสกัดกลุ่มก่อการร้ายนอกประเทศ รัสเซียมีปัญหาแบ่งแยกดินแดนในหลายพื้นที่โดยเฉพาะที่ดาเกสถานและเชชเนีย
อย่างไรก็ตาม มาตรการของรัฐบาลรัสเซียกลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง โดยภาพรวม จึงมีแนวโน้มว่า
คอเคซัสจะเป็นจุดอันตรายและมีแนวโน้มของความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในปีนี้