Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2557

วิกฤติยูเครน


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 20 มีนาคม 2557


ขณะนี้วิกฤตการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในโลกคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศยูเครน และได้ลุกลามดึงเอารัสเซียและตะวันตกเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ที่มาที่ไปของวิกฤตินี้ รวมทั้งท่าทีของมหาอำนาจต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนี้

               วิกฤติยูเครน

               ประวัติศาสตร์ของประเทศยูเครน ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 9 โดยได้มีการจัดตั้งรัฐของชาวสลาฟ โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุง Kiev ที่จริงแล้วชาวยูเครนกับชาวรัสเซียก็เป็นชาวสลาฟด้วยกัน และยูเครนก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ เรื่อยมาจนถึงในสมัยสหภาพโซเวียต อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 ยูเครนได้แยกตัวออกมาเป็นประเทศเอกราชจากรัสเซีย มีประชากร 45 ล้านคน

               แต่ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ยูเครนก็ประสบกับปัญหาต่างๆมากมาย สถาบันทางการเมืองอ่อนแอไม่เป็นประชาธิปไตย การปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจมีปัญหา รวมทั้งปัญหาคอรัปชั่นและการผูกขาดอำนาจ นอกจากนี้ยังมีปัญหาใหญ่ในเรื่องเชื้อชาติ โดยทางตะวันตกของยูเครน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวยูเครนและนิยมตะวันตก ส่วนทางตะวันออกและทางใต้ของประเทศ คนส่วนใหญ่มีเชื้อสายรัสเซีย และอยากจะกลับไปรวมกับรัสเซีย

               ปี 2010 Yanukovich ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ด้วยการหาเสียงชูนโยบายที่จะกลับไปใกล้ชิดกับรัสเซีย อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Yanukovich  ได้ถูกกล่าวหาจากฝ่ายต่อต้านว่า ผูกขาดอำนาจและมีการคอรัปชั่นกันอย่างกว้างขวาง แต่ประเด็นที่นำไปสู่การต่อต้านครั้งใหญ่คือ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับสหภาพยุโรป หรือ EU โดยได้มีการเจรจข้อตกลงทางเศรษฐกิจซึ่งมีลักษะเป็น FTA ระหว่างยูเครนกับ EU ซึ่งตอนแรกกำหนดจะลงนามในข้อตกลงดังกล่าวในช่วงปลายปีที่แล้ว แต่รัสเซียได้ออกมาคัดค้านและกดดันอย่างหนัก ทำให้ Yanukovich ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว

               การตัดสินใจดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาล ซึ่งฝ่ายต่อต้านก็เป็นชาวยูเครนนิยมตะวันตก รัฐบาล Yanukovich ได้ใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปรามฝ่ายต่อต้าน ซึ่งในที่สุด Yanukovich ได้ถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่หลังจากนั้น ก็เกิดสุญญากาศแห่งอำนาจ ชาวยูเครนกลุ่มนิยมตะวันตกกับกลุ่มที่นิยมรัสเซียก็ขัดแย้งกันอย่างหนัก โดยเฉพาะที่คาบสมุทรไครเมีย ที่อยู่ทางตอนใต้ของยูเครน ซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซีย เกิดเหตุการณ์จลาจล ต่อมาปูตินผู้นำรัสเซียได้ตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าไปในไครเมีย โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องชาวรัสเซียในไครเมีย

               สำหรับประวัติความเป็นมาของไครเมียนั้น รัสเซียได้ครอบครองไครเมียมานานกว่า 200 ปี โดยได้ผนวกไครเมียเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ในปี 1783 อย่างไรก็ตาม ในปี 1954 ในสมัยของสตาลิน สหภาพโซเวียตได้โอนไครเมียไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของยูเครน อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ในไครเมียเป็นชาวรัสเซียถึง 60 % โดยมีชาวยูเครนเพียง 24 %

               ไครเมียมีสถานะเป็นสาธารณรัฐที่เป็นเขตปกครองตนเอง มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา และมีนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายที่ Kiev สภาของไครเมียและนายกรัฐมนตรี Sergei Aksyonov ซึ่งต้องการให้ไครเมียกลับไปรวมกับรัสเซีย ได้จัดให้มีการลงประชามติ ซึ่งผลการทำประชามติก็ออกมาว่า ชาวไครเมียส่วนใหญ่ซึ่งก็เป็นชาวรัสเซีย ต้องการที่จะให้ไครเมียกลับไปรวมกับรัสเซีย อย่างไรก็ตามรัฐบาลยูเครนคัดค้านการทำประชามติโดยบอกว่าไม่ถูกกฏหมาย เช่นเดียวกับตะวันตก ก็ไม่ยอมรับกับผลการลงประชามติเช่นกัน

               สำหรับรัสเซียซึ่งมีกองกำลังทหารอยู่ในไครเมีย และมีฐานทัพเรือใหญ่ที่เมือง Sevastopol ถือเป็นฐานทัพเรือใหญ่ของรัสเซียในทะเลดำ โดยปูตินก็ได้รับไฟเขียวจากสภาของรัสเซียให้ส่งทหาร

เข้าไปไครเมียและยูเครนได้ โดยรัสเซียมองว่า การโค่นรัฐบาล Yanukovich เป็นการทำรัฐประหารเงียบ และมองว่า รัสเซียมีความชอบธรรมที่จะส่งทหารเข้าไปเพื่อปกป้องชาวรัสเซียในยูเครนและไครเมีย

               บทวิเคราะห์

·      รัสเซีย

สถานการณ์ในยูเครนมีลักษณะเป็นเกมการเมืองระหว่างประเทศ เป็นการต่อสู้ทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตก

รัสเซียมองว่าตะวันตก โดยมีสหรัฐเป็นผู้นำ กำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซีย และลดอิทธิพลของรัสเซีย โดยการดึงเอาประเทศยุโรปตะวันออกมาเป็นสมาชิกนาโต้และ EU และต้องการขยายอิทธิพล

ของตะวันตก เข้าไปยังเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย คือในยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน เทือกเขาคอเคซัส และเอเชียกลาง

จริงๆแล้ว รัสเซียได้ส่งสัญญาณในเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2008 ตอนที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย สงครามในครั้งนั้น เป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า รัสเซียต้องการกลับมาเป็นอภิมหาอำนาจทางทหารอีกครั้งหนึ่ง และรัสเซียได้แสดงให้เห็นเป็นบทเรียนชัดว่า อะไรจะเกิดขึ้นสำหรับประเทศที่ตีตัวออกห่างจากรัสเซีย สงครามรัสเซีย-จอร์เจียในครั้งนั้น ตะวันตกก็ทำอะไรรัสเซียไม่ได้ เพราะไม่กล้าเผชิญหน้าทางทหารกับรัสเซีย รัสเซียก็ยิ่งได้ใจ และครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การที่รัสเซียเข้าแทรกแซงยูเครนและไครเมีย รัสเซียก็รู้ดีว่าตะวันตกคงไม่กล้าทำอะไร นอกจากการออกนโยบายคว่ำบาตรซึ่งก็จะไม่มีผลอะไร

อีกเรื่องหนึ่งที่รัสเซียไม่พอใจตะวันตกและสหรัฐเป็นอย่างมากคือ ความพยายามที่จะให้จอร์เจียและยูเครนเข้าไปเป็นสมาชิกนาโต้

รัสเซียรู้ดีว่า ตะวันตกกำลังดึงประเทศอดีตสหภาพโซเวียตไปเป็นสมาชิก EU และนาโต้ รัสเซียจึงมีแผนที่จะดึงประเทศเหล่านี้ไว้ ด้วยการเสนอแผนจัดตั้ง Eurasian Union ซึ่งจะมีสมาชิกประกอบด้วย

ประเทศอดีตสหภาพโซเวียต เช่น อาเมเนีย เบรุส คาซัคสถาน และยูเครน แต่การที่ยูเครนจะไปทำ FTA กับ EU ก็จะทำให้แผนการนี้เสียหาย รัสเซียจึงออกมาคัดค้านอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ยูเครนก็มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย เพราะท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยุโรป 80% ต้องผ่านยูเครน นอกจากนี้ ทางด้านการทหาร ยูเครนก็เป็นรัฐกันชน และเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือใหญ่ที่ไครเมีย

รัสเซียมองว่า การที่ตะวันตกสนับสนุนให้โคโซโวประกาศเอกราชแยกตัวออกจากเซอร์เบียในปี 2008 ก็เป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งในการลดอิทธิพลของรัสเซียในคาบสมุทรบอลข่าน และถ้าตะวันตกสนับสนุนให้โคโซโวประกาศเอกราชได้ รัสเซียก็มีความชอบธรรม ที่จะสนับสนุนให้ไครเมียประกาศเอกราช และกลับมารวมกับรัสเซียได้เช่นกัน

·      ตะวันตก

สำหรับตะวันตกและสหรัฐนั้น ยุทธศาสตร์หลักคือการปิดล้อมรัสเซีย แต่ในกรณีของยูเครนและไครเมีย ในที่สุด ตะวันตกก็คงจะไม่สามารถทำอะไรรัสเซียได้ EU เองก็ต้องซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นจำนวนมหาศาล EU นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียถึง 1 ใน 3 และนำเข้าก๊าซธรรมชาติถึง 40 % ของการนำเข้าทั้งหมด  ขณะนี้  EU และ สหรัฐ กำลังกำหนดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอยู่ แต่ก็คงจะไม่ได้ผล

อะไร อย่างมาก ก็อาจจะมีมาตรการอายัตทรัพย์สินบัญชีเงินฝากของ Yanukovich และคนใกล้ชิด และการห้ามเข้าประเทศตะวันตก แต่ถ้าจะมีมาตรการที่รุนแรงไปกว่านี้ หลายประเทศใน EU ก็คงจะไม่เห็นด้วย เพราะกลัวจะกระทบต่อแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับตะวันตกครั้งใหม่นี้ นำไปสู่คำถามใหญ่ที่ว่า โลกจะเข้าสู่สงครามเย็นภาค 2 หรือไม่ ซึ่งคำตอบของผมก็คือ คงจะยังไม่ใช่สงครามเย็นภาค 2 อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับตะวันตกมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้โลกเข้าใกล้สงครามเย็นภาคใหม่ขึ้นไปทุกที

 

 

วันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2557

ญี่ปุ่น-อาเซียน-ไทย


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2557
 
เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจาก Japan Institute for Social and Economic Affairs ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยของ Keidanren องค์กรธุรกิจที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น โดยได้มีโอกาสพบปะหารือกับหลายภาคส่วนของญี่ปุ่น ทั้งนักวิชาการ นักการเมือง และนักธุรกิจ ได้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายเรื่อง ซึ่งอยากจะมาสรุปวิเคราะห์ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ดังนี้
               เศรษฐกิจญี่ปุ่น
               ผมได้ฟังการบรรยายจากนักวิชาการ นักการเมือง และนักธุรกิจของญี่ปุ่นหลายคน ต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า ญี่ปุ่นกำลังประสบกับภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ ในอดีตทศวรรษ 1960 -1970 ญี่ปุ่นเคยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก แต่ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็ประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอย คือปัญหาที่ทุกคนคาดไม่ถึง นั่นก็คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของญี่ปุ่น มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆว่า สัดส่วนของผู้สูงอายุต่อจำนวนประชากรทั้งหมด กำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ภาวะเช่นนี้ภาษาอังกฤษเรียกว่า aging society หรือภาวะสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ โดยที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ รัฐบาลให้สวัสดิการกับประชาชนเต็มที่ รวมถึงระบบประกันสุขภาพ รัฐบาลต้องจ่ายงบประมาณเป็นจำนวนมหาศาลในระบบประกันสุขภาพผู้สูงอายุ ทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะมากที่สุดในโลก คือ 230 % ของ GDP ญี่ปุ่น และภาระค่าใช้จ่ายตรงนี้ ก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆในอนาคต เพราะในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรส่วนใหญ่ซึ่งตอนนี้อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 65 ปี ก็จะกลายเป็นอายุเฉลี่ย 75 ปี ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ก็จะเพิ่มขึ้นอีกมาก
               ในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้พยายามหาหนทางที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ก็ล้มเหลวหมด ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจ ความพยายามการเพิ่มอัตราประชากร ญี่ปุ่นมีอัตราการเพิ่มของประชากรต่ำที่สุดในโลก คือ 1.29 %  ตามหลักแล้ว อัตราการเพิ่มประชากรไม่ควรน้อยกว่า 2 % ของไทยก็น่าห่วง เพราะอัตราการเพิ่มของ ประชากรไทยอยู่ที่ 1.8 % ไทยเองในอนาคตก็จะประสบปัญหาเช่นเดียวกับญี่ปุ่น คือประชากรส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้น ไทยน่าจะต้องศึกษาปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากรให้ดี และเตรียมมาตรการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่าให้เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนญี่ปุ่น
               การลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียนและไทย
               อีกเรื่องที่เป็นข้อมูลสำคัญที่ได้จากการไปญี่ปุ่นในครั้งนี้คือ Keidanren ได้จัดให้ผมไปเยือนสำนักงานใหญ่ของบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งไทยเป็นฐานใหญ่ที่สุดในอาเซียน ผมได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริหารระดับสูงของโตโยต้าที่สำนักงานใหญ่ที่เมืองนาโกย่า และได้พบปะกับผู้บริหารของบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ได้แก่ Denzo Epson และ Mitsui ได้รับฟังคำบรรยายเกี่ยวกับการลงทุนในอาเซียนของบริษัทเหล่านี้ ซึ่งเห็นภาพชัดว่า อาเซียนเป็นฐานใหญ่ของการลงทุนของญี่ปุ่นโดยเฉพาะไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่นในอาเซียน ปีที่แล้วมีการผลิตรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้ากว่า 1 ล้านคันในอาเซียน นอกจากนี้ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนของญี่ปุ่นได้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตหลักของญี่ปุ่นด้วย              อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจญี่ปุ่นรู้สึกเป็นกังวลไม่น้อยเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย และเริ่มไม่เชื่อมั่นในการลงทุนในไทย จึงทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องคิดแผนสำรอง ก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมญี่ปุ่นในไทยได้เสียหายหนักมาแล้วจากกรณีน้ำท่วมใหญ่ ในปี 2554 และก็มาเจอความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้ออีก ยุทธศาสตร์การลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียน ในอดีต ใช้ไทยเป็นฐานใหญ่เพียงฐานเดียว แต่ในอนาคต แผนสำรองของญี่ปุ่นที่ผมได้ยินมาคือ แผนที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Thailand+1 และ Thailand+2 คือญี่ปุ่นกำลังมีแผนจะย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปในประเทศอาเซียนอื่นเพื่อลดความเสี่ยง โดยเฉพาะที่อินโดนีเซียและเวียดนาม ดังนั้น หากสถานการณ์ในเมืองไทยไม่คลีคลายโดยเร็ว ก็อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยอย่างมากในอนาคต
               นอกจากนี้ นักธุรกิจญี่ปุ่นก็กำลังจับตามองการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว  AEC จะทำให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว แต่ในความเป็จริง AEC ยังไม่ใช่ตลาดเดียวและฐานการผลิตเดียว ญี่ปุ่นก็คงจะรู้ถึงข้อจำกัดตรงนี้ ดังนั้นญี่ปุ่นก็ยังไม่มียุทธศาสตร์ต่ออาเซียนทั้งกลุ่ม แต่เป็นยุทธศาสตร์ย่อยต่อแต่ละประเทศอาเซียนเสียมากกว่า
               นักธุรกิจญี่ปุ่นยังได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและอุปสรรคของการลงทุนของญี่ปุ่นในอาเซียน ซึ่งมีหลายเรื่อง อาทิ ปัญหาคุณภาพของแรงงาน ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหากฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาความไม่สงบทางการเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย น่าจะต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว เพื่อที่จะทำให้ไทยยังคงเป็นที่ที่น่าลงทุนสำหรับญี่ปุ่น โดยผลสำรวจล่าสุดของนักลงทุนญี่ปุ่น ระบุว่าอินโดนีเซียตอนนี้กลายเป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดไปแล้ว โดยไทยตกไปอยู่อันดับ 4 แล้ว
               ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-จีน
               อีกเรื่องที่น่าสนใจในการไปญี่ปุ่นครั้งนี้คือเรื่องความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักการเมือง นักธุรกิจ ต่างก็มองตรงกัน ในการมองจีนว่าเป็นลบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะแข่งกับจีนและสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ
               ผมได้มีโอกาสพบปะหารือกับ สส.ของญี่ปุ่นหลายคน ซึ่งนักการเมืองญี่ปุ่นมองจีนเป็นลบ และมองว่ายุทธศาสตร์ต่อจีนที่จำเป็นของญี่ปุ่นในขณะนี้คือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน นอกจากนั้น นักการเมืองญี่ปุ่นยังมองว่า จีนจะครอบงำกรอบความร่วมมือต่างๆในภูมิภาค โดยเฉพาะกรอบ อาเซียน+3  ญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องเข้าร่วม TPP ซึ่งมีสหรัฐเป็นโต้โผ เพื่อโดดเดี่ยวจีนและปิดล้อมจีนทางเศรษฐกิจ
               สำหรับนักวิชาการญี่ปุ่นก็พูดประสานเสียงเป็นเสียงเดียวกับนักการเมืองญี่ปุ่น โดยเน้นในเรื่องของการเข้าร่วม TPP ของญี่ปุ่น โดยพยายามหว่านล้อมให้อาเซียนเห็นถึงผลดีของ TPP โดยเฉพาะสำหรับประเทศอาเซียนที่ยังไม่เข้าร่วม ซึ่งร่วมถึงไทยด้วย ขณะนี้มีประเทศอาเซียน 4 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ซึ่งก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่อาเซียนเราแตกแยกกันในเรื่องนี้ โดยได้สะท้อนออกมาในการไปญี่ปุ่นครั้งนี้ด้วย นักวิชาการจากสิงคโปร์ที่ไปด้วยกัน ก็พูดเชียร์ TPP เต็มที่ ทำให้เห็นชัดว่า สิงคโปร์ให้ ความสำคัญต่อสหรัฐมากกว่าอาเซียน เพราะอาเซียนไม่เคยมีท่าทีอย่างเป็นทางการที่สนับสนุน TPP ท่าทีของอาเซียนคือ อาเซียนสนับสนุนการจัดทำ FTA ในกรอบอาเซียน + 6 ที่มีชื่อย่อ RCEP
               สำหรับนักธุรกิจญี่ปุ่นก็มองจีนเป็นลบเช่นเดียวกัน แม้ว่าในอดีต ญี่ปุ่นได้เข้าไปลงทุนในจีนมหาศาล แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นกับจีนเริ่มขัดแย้งกันหนักขึ้นเรื่อยๆ ถึงขั้นมีการเดินขบวนประท้วงและใช้ความรุนแรงกับธุรกิจญี่ปุ่นในจีน ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นที่ผมได้พบปะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ญี่ปุ่นมีแผนสำรองที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังอาเซียน หากสถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่านี้ และเริ่มมีแนวโน้มแล้วว่า การลงทุนของญี่ปุ่นในจีนลดลงไปมากในช่วงปีที่ผ่านมา ประเด็นนี้ก็อาจจะเป็นอานิสงส์ของอาเซียนและไทย ที่อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นจากจีนมาไทยมากขึ้นในอนาคต
               กล่าวโดยสรุป การไปญี่ปุ่นในครั้งนี้ของผม ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายเรื่อง บทเรียนของวิกฤติเศรษฐกิจญี่ปุ่น น่าจะทำให้ไทยตื่นตัวต่อปัญหาโครงสร้างประชากรมากขึ้น เช่นเดียวกับสถานการณ์การลงทุนของญี่ปุ่นในไทย ซึ่งไทยก็มีการบ้านหลายเรื่องที่จะต้องรีบแก้ และสุดท้าย เรื่องความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นเราก็คงจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ไทยจะได้จะเสียอย่างไรต่อสถานการณ์ดังกล่าวในอนาคต