Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พันธมิตรรัสเซีย-จีน ในโลกยุคหลังการผนวก Crimea

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 29 พฤษภาคม 2557


โลกในยุคหลังการผนวก Crimea
               หลังจากเกิดวิกฤตยูเครน โดยเฉพาะหลังจากที่รัสเซียได้เข้ายึดและผนวกคาบสมุทร Crimea เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้ว ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบโลก ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ยุคที่การเมืองโลกกลับไปเหมือนศตวรรษที่แล้ว ที่มีลักษณะของการต่อสู้แข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจ โดยเฉพาะจะเป็นยุคที่ตะวันตกจะขัดแย้งกับรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ  

                ยุทธศาสตร์หลักของรัสเซียคือ ความพยายามกลับขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก โดยขั้นแรกคือ การขยายอิทธิพลเข้าครองงำประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต หลังจากนั้น จะขยายไปยุโรปตะวันออก ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ

               ปฏิกิริยาตอบโต้รัสเซียของตะวันตกคือ ยุทธศาสตร์การปิดล้อมรัสเซีย ทั้งทางด้านการทหาร การทูตและเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่ EU จะพยายามลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และลดการค้าและการลงทุนกับรัสเซียลง

               นอกจากนี้ การผนวก Crimea ของรัสเซียยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ในการฟื้นคืนชีพของพันธมิตร

นาโต้ หลังจากที่ซบเซามานาน หลังจากสงครามเย็นสิ้นสุดลง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นาโต้ดูสับสนและไม่มีเป้าหมาย แต่จากวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ ทำให้นาโต้กลับมามีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ การปิดล้อมรัสเซียทางทหาร

               พันธมิตรรัสเซีย-จีน

               ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ รัสเซียจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เพื่อสู้กับตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหันไปเป็นพันธมิตรกับจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการปิดล้อมทางทหารและทางเศรษฐกิจของตะวันตก และเพื่อถ่วงดุลตะวันตก

               เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย ได้เดินทางไปเยือนจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ครั้งใหญ่กับจีน ซึ่งวาระซ่อนเร้นคือ การดึงจีนมาเป็นพันธมิตร เพื่อถ่วงดุลตะวันตก การเยือนครั้งนี้ จึงถือเป็นการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ เป็นการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์รัสเซีย-จีน

โดยจีนได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญในยุทธศาสตร์ใหม่ของรัสเซีย ที่จะถ่วงดุลตะวันตก

               สำหรับจีน ก็คงจะมองการเปลี่ยนแปลงของระบบโลกว่า ขณะนี้ระบบโลกในยุคหลังสงครามเย็น ที่มีสหรัฐและตะวันตกครองความเป็นเจ้า โดยมีรัสเซียอยู่ใต้อาณัติของตะวันตกนั้น กำลังล่มสลายไป จีนจึงมองว่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของจีน เพราะจีนก็หวาดระแวงเช่นเดียวกันว่า ยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐต่อจีน ก็คือยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน รัสเซียจึงจะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะมาถ่วงดุลสหรัฐ ดังนั้นรัสเซียและจีนจึงมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในการกระชับความสัมพันธ์ เป็นพันธมิตรร่วมกัน และจีนก็คงจะมองด้วยว่า ขณะนี้รัสเซียต้องการความร่วมมือจากจีนมาก อำนาจการต่อรองของจีนก็จะมีมากขึ้นในการบีบรัสเซียในเรื่องต่างๆ

               ความร่วมมือทางพลังงาน

               ไฮไลท์ของการเยือนจีนของ Putin ในครั้งนี้คือ การลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงาน โดยรัสเซียตกลงจะขายก๊าซธรรมชาติและน้ำมันให้กับจีนในราคาพิเศษ จีนจะลงทุนในการสร้างท่อส่งก๊าซจาก Siberia มายังจีน มูลค่า 25,000 ล้านเหรียญ และราคาก๊าซที่รัสเซียจะขายให้จีนก็จะมีราคาถูกเป็นพิเศษ ข้อตกลงในครั้งนี้ เป็นข้อตกลงระหว่างบริษัทก๊าซรายใหญ่ของรัสเซียชื่อ Gazprom กับบริษัทของจีน คือ China National Petroleum Corp  โดย Gazprom มีแผนจะส่งออกก๊าซธรรมชาติปริมาณ 38,000 ล้านลูกบาศก์เมตรให้กับจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 24 % ของการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยุโรป

               ยุทธศาสตร์หลักของรัสเซียในเรื่องนี้คือ ลดการพึ่งพาการขายพลังงานให้กับยุโรป ซึ่งในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนถึง 60 % ของการส่งออกพลังงานของรัสเซีย รัสเซียรู้ดีว่า EU เองก็กำลังมีแผนที่จะลการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย และสหรัฐก็มีแผนที่จะขายพลังงานให้กับยุโรปในอนาคต รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกพลังงานรายใหญ่ของโลก และเศรษฐกิจรัสเซียก็อยู่ได้ด้วยการส่งออกพลังงาน คิดเป็น 60 % ของรายได้ของประเทศ

               ในขณะเดียวกัน จีนก็มีความต้องการแหล่งพลังงานใหม่ๆ เพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ในอดีต จีนนำเข้าพลังงานจากรัสเซียน้อยมาก คือเพียง 9 % ของการนำเข้าน้ำมัน และเพียง 1 % ของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ แต่ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ เป็นโอกาสของจีนที่จะลดการพึ่งพาน้ำมันจากตะวันออกกลางและแอฟริกา ขณะนี้ เป็นโอกาสทองที่จีนจะบีบให้รัสเซียขายพลังงานราคาถูกให้กับจีน

               นอกจากนี้ รัสเซียได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรของตะวันตก ตะวันตกได้ถอนเงินการลงทุนจากรัสเซียในปีนี้ไปแล้วประมาณ 50,000 ล้านเหรียญ รัสเซียจึงจำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะจากจีน ซึ่งจีนเองก็พร้อมและอยากจะเข้าไปลงทุนและค้าขายกับรัสเซียอยู่แล้ว ดังนั้น รัสเซียจึงได้ประกาศที่จะผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ เพื่อที่จะให้บริษัทจากจีนเข้าไปลงทุนในรัสเซียมากขึ้น พร้อมกับเปิดตลาดให้จีนส่งออกสินค้าไปยังตลาดรัสเซียมากขึ้น

               ความสัมพันธ์ทางทหาร  

               อีกเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับแนวโน้มพันธมิตรรัสเซียกับจีนคือ การกระชับความสัมพันธ์ทางทหาร ระหว่างประเทศทั้งสอง ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการซ้อมรบร่วมทางทะเล ระหว่างกองทัพเรือจีนกับรัสเซีย โดยจะเป็นการซ้อมรบนอกชายฝั่งเซี่ยงไฮ้ ซึ่งก็อยู่ทางตอนเหนือไม่ไกลนัก จากเกาะเซนกากุหรือเกาะเตียวหยู ซึ่งเป็นกรณีพิพาทจีนกับญี่ปุ่นอยู่ นับว่าเป็นความเคลื่อนไหวทางทหารที่มีนัยยะสำคัญ เพราะช่วงก่อนหน้านี้ ตอนที่ Obama มาเยือนญี่ปุ่น ก็ได้ประกาศว่า สหรัฐจะปกป้องเกาะเซนกากุของญี่ปุ่น

               ความร่วมมือทางทหารระหว่างรัสเซียกับจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้กระชับแน่นแฟ้นขึ้นมาก ปีที่แล้วก็ได้มีการซ้อมรบทางทะเลร่วมกันใกล้เมือง Vladivostok ของรัสเซีย ซึ่งการซ้อมรบในครั้งนั้น ถือเป็นการซ้อมรบที่ใหญ่ที่สุดที่จีนซ้อมรบร่วมกับประเทศอื่น

               นอกจากนี้ รัสเซียได้ประกาศที่จะขายอาวุธให้กับจีน รวมทั้งเทคโนโลยีทางด้านการทหาร และ เทคโนโลยีอาวุธทันสมัยให้กับจีนด้วย

               กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า ระบบโลกในยุคหลังการผนวก Crimea กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมี

นัยยะสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะการถอยหลังกลับไปสู่ระบบการเมืองโลกในศตวรรษที่ 20 ที่มีลักษณะของความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ และการถ่วงดุลกันและกัน ซึ่งเราก็กำลังเห็นแล้ว ถึงแนวโน้มความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ ตะวันตก กับรัสเซีย และการที่รัสเซียหันไปเป็นพันธมิตรกันจีนเพื่อถ่วงดุลตะวันตก ก็คงต้องจับตาดูและวิเคราะห์กันต่อว่า ระบบการเมืองโลกในอนาคตจะวิวัฒนาการไปในทิศทางใด

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ไทยกับการเป็นศูนย์กลางของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 15 พฤษภาคม 2557



          ความสำคัญของ AEC ต่อไทย
 

          ผมคิดว่าท่านผู้อ่านหลายท่าน อาจจะยังคงมีคำถามอยู่ในใจว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นั้น สำคัญต่อไทยมากเพียงใด ทำไมไทยต้องให้ความสำคัญต่อ AEC ด้วย ผมจึงอยากจะตอบคำถามนี้ก่อน     ความสำคัญของอาเซียนต่อไทย

·      ประการแรก คือ ทางด้านการค้า ประมาณ 70 % ของ GDP ไทย มาจากการส่งออก และขณะนี้ อาเซียนก็เป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย 25 % ของการค้าไทย เป็นการค้ากับอาเซียน และในอนาคต เมื่อเป็น AEC แล้ว สัดส่วนตรงนี้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก

·      ประการที่ 2 ในเรื่องภาคบริการ ปัจจุบัน ภาคบริการมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อเศรษฐกิจไทย ตัวอย่างเช่น การท่องเที่ยวเป็นภาคบริการที่ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค และนักท่องเที่ยวจากประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ภาคการคมนาคมขนส่ง การให้บริการโลจิสติกส์ การให้บริการทางการแพทย์ การศึกษา เหล่านี้เป็นภาคบริการ ที่นับวัน เราจะมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศอาเซียนมากขึ้นเรื่อยๆ

·      ประการที่ 3 ในด้านการลงทุน ปัจจุบัน ไทยจำเป็นต้องมีการย้ายฐานการผลิต ไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า มีแรงงาน มีทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งแนวโน้มที่ผ่านมาคือ การย้ายฐานการผลิตของไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศอาเซียน

·      ประการที่ 4 เรื่องแรงงาน ซึ่งเราคงเห็นชัดเจนแล้วว่า ปัจจุบัน ไทยขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งการแก้ปัญหาของเราคือ การนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งก็คือจากประเทศสมาชิกอาเซียน

·      ประการที่ 5 คือ การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน โดยจะมีการสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน ไทยจึงจะได้ประโยชน์มากมายจากการเชื่อมโยงดังกล่าว

·      นอกจากนี้ หากเอา GDP ของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศมารวมกัน จะมีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อาเซียนจึงมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก และในปี 2030 GDP ของอาเซียน จะขยายเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว คือจะมี GDP 7- 8 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก อาเซียนจึงกำลังผงาดขึ้นมาเป็นขั้วเศรษฐกิจโลก เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก จากการเป็นสมาชิกอาเซียน

·      อาเซียนกำลังเป็นเวทีพหุภาคีทางการทูตที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก เราจะเสียเปรียบเป็นอย่างมาก หากเราอยู่เพียงตัวคนเดียว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ไทยจะต้องรวมกลุ่มกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง

          และนี่ก็คือเหตุผลสำคัญ ที่ไทยต้องให้ความสำคัญกับอาเซียน ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน และจะต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

          ไทยกับการเป็นศูนย์กลางของ AEC

          จุดแข็งของไทยในอาเซียนคือ ไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียนโดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพ ศูนย์กลางโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงทางด้านโลจิสติกส์ ศูนย์กลางด้านอาหาร และศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น

          ดังนั้น วิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ไทยต่อ AEC คือ การที่ไทยจะผงาดขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของ

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต

          สำหรับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ AEC ของไทยนั้น เป้าหมายหลักคือ การทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของ AEC ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ควรจะประกอบด้วยยุทธศาสตร์ย่อย 2 ส่วน

          ส่วนที่ 1 คือ ยุทธศาสตร์ในการเตรียมประเทศไทยให้พร้อม นั่นคือยุทธศาสตร์อาเซียนของสภาพัฒน์ฯ ซึ่งมีอยู่ 8 ยุทธศาสตร์ อาทิ ยุทธศาสตร์การเสริมสร้างการแข่งขันทางการค้า การบริการ และการลงทุน ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น

          แต่ยุทธศาสตร์ไทยต่อ AEC นั้น เราเตรียมพร้อมอย่างเดียวไม่พอ แต่เราต้องมียุทธศาสตร์ด้วยว่า เราจะเข้าไปทำอะไรใน AEC เราจะต้องมียุทธศาสตร์ในการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของ AEC เราจะต้องมียุทธศาสตร์ในเชิงรุกต่อ AEC อย่างไร เราจะทำให้ไทยมีบทบาทนำใน AEC ได้อย่างไร   

          ผมอยากจะเน้นยุทธศาสตร์ในการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง AEC โดยขอเริ่มด้วยยุทธศาสตร์ในด้านการค้าสินค้า ซึ่งในแผนการจัดตั้ง AEC จะมีการเปิดเสรีการค้าสินค้า ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้

อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว

·      kitchen of the world

          สินค้าที่ไทยมีความพร้อมและได้เปรียบ และมีโอกาสส่งออกไปตลาดอาเซียนมากขึ้น ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ แต่ที่ดูแล้ว ไทยน่าจะโดดเด่นที่สุดคือ สินค้าอาหารและยานยนต์

          การส่งออกสินค้าเกษตรของไทย คิดเป็น 13 % ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ธุรกิจการส่งออกอาหารและอุตสาหกรรมการเกษตร ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญ คิดเป็น 10 % ของ GDP ไทย เราเคยมีสโลแกนที่เคยได้ยินกัน คือ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ไทยอยู่ใน 5 อันดับแรกของโลก ในการส่งออกสินค้าอาหาร ดังนั้น ไทยจึงมีศักยภาพอย่างมาก ในการที่จะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของอาเซียน

·      Detroit of the East

          สำหรับอุตสาหกรรมอีกสาขา ที่ไทยมีความโดดเด่นมากคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้เป็นแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในไทย ขณะนี้ ไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียน ปีที่แล้ว ไทยผลิตรถยนต์กว่า 2.5 ล้านคัน ถือเป็นอันดับ 9 ของโลก และในอนาคต หากอุตสาหกรรมยานยนต์ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไทยอาจจะไต่อันดับจากอันดับ 9 ของโลก ไปติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ก็เป็นไปได้

          อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นแม่เหล็กสำคัญ ที่ดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ ไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการ อาทิ มีที่ตั้งอยู่ตรงกลางอาเซียน มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน เป็นศูนย์กลางเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีแรงงานที่มีคุณภาพ ดังนั้น ไทยจึงเป็นประเทศที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมาเป็นเวลานาน

          อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อในปัจจุบัน กำลังจะทำให้ไทยสูญเสียแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติลง โดยเฉพาะนักลงทุนจากญี่ปุ่น ที่เริ่มจะไม่แน่ใจ และมองว่า ไทยเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หากสถานการณ์การเมืองยืดเยื้อ อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ย้ายฐานการผลิต จากประเทศไทยไปประเทศอาเซียนอื่น โดยเฉพาะ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

          ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของไทยในขณะนี้ จึงไม่ใช่คำถามที่ว่า ไทยจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของอาเซียนได้หรือไม่ เพราะไทยเป็นอยู่แล้ว แต่คำถามสำคัญในขณะนี้คือ ไทยจะสามารถคงความเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ในอาเซียนได้ต่อไปหรือไม่

·      tourism hub

          สำหรับในด้านการเปิดเสรีการค้าภาคบริการในกรอบ AEC นั้น เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งใน Blueprint ของ AEC โดยจะมีการเปิดเสรีการค้าภาคบริการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในหลายสาขา ซึ่งสาขาที่ไทยมีความพร้อมและได้เปรียบ และมีศักยภาพที่จะเป็น hub ได้แก่ สาขาด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรม สาขาด้านการให้บริการทางการแพทย์ และสาขาการให้บริการด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น

          สำหรับในด้านการท่องเที่ยวนั้น ไทยมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยกว่า 20 ล้านคนต่อปี ทำให้ไทยติดอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลก ในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยว ไทยจัดอยู่ในอันดับ 16 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ในฐานะที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวมากที่สุด

          ไทยมีจุดแข็งหลายประการในด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม การให้บริการ รวมทั้งอาหาร และความเป็นมิตรของคนไทย ที่ต่างชาติรู้จักกันดีว่าเป็น “The Land of Smiles” ไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับ 1 ของโลก ที่การท่องเที่ยวคุ้มค่ามากที่สุด อันดับ 3 ของโลกในด้านที่พัก อันดับ 2 ของโลกในเรื่องอาหาร และกรุงเทพฯได้รับการจัดอันดับว่า เป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกนานติดต่อกันหลายปีแล้ว

·      medical hub

          ภาคบริการอีกด้าน ที่ไทยมีความโดดเด่นเป็นอย่างมากคือ การให้บริการทางการแพทย์ เราคงจะได้กยินกันบ่อยๆ ถึงคำว่า medical hub คือ การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ของภูมิภาค

          ไทยมีข้อได้เปรียบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของบุคลากรทางการแพทย์ การให้บริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานโลก ในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ไทยยังเป็นศูนย์กลางของการแพทย์เชิงท่องเที่ยวหรือ medical tourism  ปัจจุบัน มีผู้มารับบริการทางการแพทย์ในไทยปีละประมาณ 2 ล้านคน

·      infrastructure and logistics hub

          สำหรับหัวข้อสุดท้าย ที่ผมจะวิเคราะห์คือ เรื่องของแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับภาคบริการอีกสาขาคือ การให้บริการด้านโลจิสติกส์

          ในแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียนนั้น จะมีแผนการการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศอาเซียน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างกัน ซึ่งขณะนี้ โครงการขนาดใหญ่ อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor ซึ่งจะเป็นการสร้างถนนเชื่อมระหว่างพม่า ไทย ลาว และเวียดนาม จากเมียวดีในพม่า ตัดผ่านอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ผ่านพิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร และผ่านเข้าลาวที่สะหวันนะเขต จนไปถึงเมืองดานัง ที่เวียดนาม เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ หรือ North-South Economic Corridor  ซึ่งจะเป็นการสร้างถนนเชื่อมจีนตอนใต้ ไทย ลาว และพม่านอกจากนี้ ยังมีระเบียงเศรษฐกิจใต้ หรือ Southern Economic Corridor เชื่อมระหว่างเมืองทวายในพม่า มาไทย กัมพูชา และเวียดนาม

          ไทยโชคดีที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ตรงกลางอาเซียน ดังนั้น การพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งตามระเบียงเศรษฐกิจต่างๆ ข้างต้น จึงต้องผ่านไทยหมด ไทยคือสี่แยกอาเซียน ไทยจึงมีศักยภาพอย่างมาก ในการที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของอาเซียน และศูนย์กลางการให้บริการทางด้านโลจิสติกส์ของอาเซียน

          ดังนั้น การพัฒนาการให้บริการโลจิสติกส์ของไทย จึงถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูงสุดเรื่องหนึ่งสำหรับการสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งก็มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้นทุนทางด้าน

โลจิสติกส์ต่อ GDP ของไทย ลดลงเรื่อยๆ จาก 20 % ในปี 2000 มาอยู่ที่ 15 % ในปัจจุบัน

          กล่าวโดยสรุป จากที่ผมได้วิเคราะห์มาทั้งหมดนี้ ก็คงจะทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้นว่า ไทยจะมียุทธศาสตร์อย่างไร ในการที่จะเป็นศูนย์กลางของ AEC อย่างไรก็ตาม วิกฤตการเมืองในขณะนี้ ได้ทำให้ไทยสะดุด ในการเดินหน้าสู่การเป็น hub ของ AEC ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะรีบจัดการบ้านของเรา ให้เรียบร้อยโดยเร็ว เพื่อที่ไทยจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในการผงาดขึ้นมา เป็นศูนย์กลางของประชาคม เศรษฐกิจอาเซียนในอนาคตต่อไป

         

 

 

 

 

 

 

 

วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

วิกฤตยูเครน (ตอน 4: ผลกระทบต่อเอเชีย)

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 1 พฤษภาคม 2557

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตยูเครนต่อระบบการเมืองโลกไปแล้ว สำหรับคอลัมน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ถึงผลกระทบของวิกฤตต่อเอเชีย ดังนี้

               ภาพรวม

               หลังจากที่รัสเซียได้เข้ายึดและผนวกคาบสมุทร Crimea เป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้ว จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อโลกคือ การหมุนโลกให้กลับไปสู่ศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่มีลักษณะของการต่อสู้แข่งขันกันทางทหารระหว่างมหาอำนาจ การถ่วงดุลอำนาจ และการกำหนดเขตอิทธิพลของมหาอำนาจ

               ผลกระทบดังกล่าวได้กระทบต่อระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วย โดยอาจทำให้เอเชียกลับไปสู่ยุคสมัยของความขัดแย้งทางทหาร การถ่วงดุลอำนาจทางทหาร การบุกยึดครองและผนวกดินแดน รวมทั้งการสร้างเขตอิทธิพลของมหาอำนาจ

               รัสเซีย

               สำหรับคำถามสำคัญคำถามแรกต่อเอเชียคือ รัสเซียจะมีท่าทีอย่างไรต่อภูมิภาคโดยเฉพาะต่อประเทศเพื่อนบ้านรัสเซียที่อยู่ในเอเชีย  อย่างไรก็ตาม ดูแนวโน้มแล้ว รัสเซียน่าจะให้ความสำคัญกับเขตอิทธิพลเดิมของตนในยุโรปตะวันออก คาบสมุทร Balkan เทือกเขา Caucasus และเอเชียกลางมากกว่า ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ว่า รัสเซียจะใช้กำลังทางทหารผนวกดินแดนใดในเอเชียตะวันออก

               อย่างไรก็ตาม รัสเซียมีกรณีพิพาทเรื่องพรมแดนกับญี่ปุ่นโดยเฉพาะหมู่เกาะคูริว ทางตอนเหนือของเกาะฮอกไกโด ที่รัสเซียยึดไปจากญี่ปุ่น ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และขณะนี้ ก็ยังไม่คืนให้ญี่ปุ่น จึงเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัฐบาล Shinzo Abe ญี่ปุ่นได้พยายามกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย แต่หลังจากวิกฤตยูเครน ญี่ปุ่นก็ถูกสหรัฐบีบให้มีท่าทีต่อต้านรัสเซีย โดยญี่ปุ่นไม่รับรองการผนวกคาบสมุทร Crimea ของรัสเซีย และได้ยุติการเจรจาข้อตกลงการลงทุนกับรัสเซีย กรณีพิพากหมู่เกาะคูริวก็มีแนวโน้มว่าจะปะทุขึ้นมาอีก

               รัสเซียเองก็มีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนทั้งในกรอบอาเซียน + 1 และรัสเซียก็เป็นสมาชิกในหลายกรอบของอาเซียน ทั้ง ASEAN Regional Forum (ARF)   East Asia Summit (EAS) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหม อาเซียน + 8  จึงไม่มีความแน่นนอนว่า ในอนาคต ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับรัสเซียจะเปลี่ยนไปอย่างไร

               นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่า ประเทศในเอเชียตะวันออก จะพยายามลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย เหมือนกันที่ประเทศในยุโรป ก็กำลังมีแนวโน้มที่จะลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเช่นกัน

สหรัฐ

ผลกระทบอีกประการหนึ่งของวิกฤตยูเครนต่อเอเชียคือ บทบาทของสหรัฐและตะวันตกต่อเอเชียอาจเปลี่ยนไปโดยมีความเป็นไปได้ว่า ประเทศตะวันตกและสหรัฐจะหันไปให้ความสำคัญต่อยุโรปตะวันออกและจะลดความสนใจต่อภูมิภาคเอเชียลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของสหรัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ สหรัฐได้เน้นนโยบาย rebalance ต่อเอเชีย  Obama ก็เคยประกาศว่า จะให้ความสำคัญต่อเอเชียมากที่สุด แต่หลังวิกฤตยูเครน ท่าทีของสหรัฐอาจเปลี่ยนไป แม้ว่าล่าสุด Obama จะเดินทางมาเยือนเอเชีย 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แล้วก็ตาม แต่การเยือนครั้งนี้ ก็ไม่สามารถทำให้ประเทศในเอเชียลดความกังวลใจลงไป เพราะหลายประเทศในภูมิภาคต้องการให้สหรัฐเข้ามาเล่นบทถ่วงดุลจีน  

จีน

ดังนั้นประเทศที่ถูกจับตามองมากที่สุด ที่อาจจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปหลังวิกฤตยูเครนคือ จีน ประเด็นสำคัญที่มีการวิเคราะห์กับอยู่คือ การผนวก Crimea ของรัสเซียจะเป็นตัวอย่างให้จีนทำตามหรือไม่ เพราะจีนก็มีปัญหาความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ บทเรียนสำคัญของรัสเซียคือ รัสเซียสามารถใช้กำลังทหารผนวก Crimea มาเป็นของรัสเซียได้ จีนก็อาจจะคิดว่า จีนจะเลียนแบบรัสเซียโดยใช้กำลังทหารเข้าผนวกดินแดนต่างๆ เป็นของตน โดยในกรณีของรัสเซีย ตะวันตกก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ยิ่งจะทำให้จีนได้ใจ มีนโยบายทางทหารที่แข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น

นี่ก็อาจจะเป็นการอธิบายว่า ทำไมจีนถึงมีท่าทีสนับสนุนรัสเซียในการผนวก                Crimea จีนได้งดออกเสียงในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ที่ออกข้อมติประณามรัสเซีย หลังจากนั้น ปูตินก็ได้กล่าวแสดงความชื่นชมต่อท่าทีของจีน และพยายามเน้นจุดยืนร่วมกันของรัสเซียและจีนคือ การต่อต้านตะวันตกและสหรัฐ ดังนั้น ผลกระทบสำคัญในอนาคตคือ การเป็นพันธมิตรระหว่างรัสเซียกับจีน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้

นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐได้ถึงกับออกมาป้องปรามจีนว่า อย่าใช้ตัวอย่างจากรัสเซีย ในกรณีไต้หวัน กรณีพิพาทเกาะเซนกากุกับญี่ปุ่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

               ทะเลจีนใต้

               ดังนั้น จุดอันตรายที่สุดที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตยูเครนคือ ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ โดยฝ่ายสายเหยี่ยวของจีนคงอาจได้ข้อสรุปว่า การผนวก Crimea ของรัสเซียเป็นตัวอย่างที่จีนจะใช้เป็นแบบอย่าง ในการตอกย้ำความเป็นเจ้าของของจีนในทะเลจีนใต้

               ก่อนหน้านี้ จีนก็มีท่าทีแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อปัญหาทะเลจีนใต้คือ มีการสร้างเสริมกำลังทางทหารมีการทำแผนที่ใหม่ ระบุชัดว่า ทะเลจีนใต้เป็นส่วนหนึ่งของจีน

               สำหรับท่าทีของอาเซียนที่ผ่านมาคือ การกดดันให้จีนเจรจาจัดทำ Code of Conduct และพยายามที่จะเน้นการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการทูต มากกว่าการใช้กำลัง แต่จากกรณีการผนวก Crimea ของรัสเซีย ได้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่อาเซียนต้องการคือ กำลังทหารสำคัญกว่าการทูต และกฎหมาย กติการะหว่างประเทศไม่มีความสำคัญ จึงมีคำถามใหญ่ว่า Code of Conduct ที่อาเซียนต้องการ จะสามารถป้องปรามไม่ให้จีนใช้กำลังเข้าผนวกทะเลจีนใต้ได้หรือไม่

               กล่าวโดยสรุป วิกฤตยูเครน นอกจากจะส่งกระทบต่อระบบการเมืองโลกแล้ว ยังกำลังจะส่งผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วย ซึ่งเราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า แนวโน้มผลกระทบต่างๆที่ผมได้วิเคราะห์มา จะกลายเป็นจริงได้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากเป็นจริง ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค