ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-จอร์เจียไปบ้างแล้ว โดยวิเคราะห์ถึงสาเหตุของสงคราม คอลัมน์ในวันนี้ ผมจะได้มาวิเคราะห์ต่อ โดยจะเป็นการวิเคราะห์ท่าทีของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะท่าทีของประเทศตะวันตก
ตะวันตก
โดยภาพรวมแล้ว สงครามรัสเซีย-จอร์เจียในครั้งนี้ ดูเหมือนกับว่า ตะวันตกไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก เพราะรัสเซียถือไพ่เหนือกว่า ตะวันตกคงไม่กล้าที่จะส่งทหารเข้าไป เพื่อสู้รบกับทหารรัสเซีย เพื่อจะช่วยจอร์เจีย ตะวันตกจึงไม่สามารถที่จะทำอะไรได้สำหรับการรุกรานของรัสเซียในครั้งนี้ ตะวันตกต้องพึ่งรัสเซียหลายเรื่อง จึงไม่มีความสามารถ ในขณะนี้ ที่จะคานอำนาจหรือปิดล้อมรัสเซียได้
NATO
สำหรับในกลุ่มสมาชิก NATO นั้น ถึงแม้ว่าโดยภาพรวมแล้ว สมาชิก NATO มองตรงกันว่า สงครามในครั้งนี้ เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ สำหรับการมองรัสเซีย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความกลัวกันถึงภัยคุกคามของรัสเซีย แต่ขณะนี้ คงไม่มีการตั้งคำถามอีกแล้วว่า รัสเซียจะเป็นภัยหรือจะเป็นมิตร
อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มพันธมิตร NATO ยังมีความแตกแยกกันออกเป็น 2 แนวคิด ในเรื่องที่ว่า จะเอาอย่างไรกับรัสเซียดี
กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่ต้องการใช้ไม้แข็งกับรัสเซีย ประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ และประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งต้องการที่จะลดระดับความร่วมมือกับรัสเซีย
รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ David Miliband ถึงกับกล่าวว่า การกระทำครั้งนี้ของรัสเซียเข้าข่าย “การรุกราน” ในขณะที่ Condoleezza Rice รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ประกาศอย่างแข็งกร้าวว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมให้รัสเซียกระทำการเช่นนี้ และ Rice ก็รีบเดินทางไปลงนามในสัญญาจัดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธกับโปแลนด์ทันที
ในขณะที่อีกกลุ่มใน NATO ต้องการประนีประนอมกับรัสเซีย กลุ่มนี้ประกอบด้วย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสเปน ซึ่งไม่ได้กล่าวโจมตีรัสเซียอย่างรุนแรง และต้องการที่จะเปิดช่องทางการเจรจากับรัสเซีย โดยรัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีคือ Frank-Walter Steinmeier ได้กล่าวว่า NATO ไม่ควรที่จะเลื่อนการประชุม NATO-Russia Council และไม่ควรที่จะกีดกันรัสเซียออกจากกลุ่ม G8 และ WTO
สหรัฐฯ
สำหรับท่าทีของสหรัฐฯนั้น ก็พยายามที่จะมีท่าทีแข็งกร้าว แต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก โดยหลังจากที่รัสเซียได้บุกเข้าไปในจอร์เจียนั้น ประธานาธิบดี Bush ได้เรียกร้องให้มีการหยุดยิง และ Bush ได้ประกาศกร้าวว่า การที่รัสเซียบุกจอร์เจียนั้น เป็นสิ่งที่สหรัฐฯยอมรับไม่ได้ แต่ Bush ก็ทำได้เพียงแค่ส่งเครื่องบินลำเลียงความช่วยเหลือไปให้แก่จอร์เจีย และลำเลียงทหารจอร์เจียที่ช่วยสหรัฐฯในอิรักประมาณ 2 พันคนกลับประเทศจอร์เจีย
สำหรับในกรณีของ Rice ก็ได้ประกาศกร้าวว่า การรุกรานจอร์เจียนั้น จะไม่เหมือนในปี 1968 ที่รัสเซียได้ใช้กำลังเข้าบุกยึดประเทศเชคโกสโลวาเกียในขณะนั้น และตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า Rice ได้รีบเดินทางไปเซ็นสัญญาระบบติดตั้งขีปนาวุธกับโปแลนด์ทันที ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา รัสเซียได้คัดค้านระบบป้องกันขีปนาวุธที่อเมริกาจะมาติดตั้งที่โปแลนด์และสาธารณรัฐเช็ค โดยรัสเซียมองว่า เป็นการมุ่งเป้ามาที่รัสเซีย
สหภาพยุโรป
สำหรับท่าทีของสหภาพยุโรปหรือ EU นั้น ถูกจำกัด เนื่องด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะ EU จำเป็นต้องซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นจำนวนมหาศาล ขณะนี้ EUต้องพึ่งพารัสเซียเป็นอย่างมาก โดยรัสเซียกลายเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุด และ EU นำเข้าน้ำมันจากรัสเซียถึง 1 ใน 3 จากการนำเข้าทั้งหมด และนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 40% ของการนำเข้าทั้งหมด ดังนั้น EU จึงตกอยู่ในสภาพถูก black mail ไม่กล้าที่จะมีปฏิกิริยาที่รุนแรง
EU ได้เพียงแต่ร่วมกับสหรัฐฯในการเรียกร้องให้มีการหยุดยิง และมีการขู่รัสเซียเล็กน้อยว่า สถานภาพของรัสเซียใน G8 อาจกระทบกระเทือน และความพยายามของรัสเซียที่จะเป็นสมาชิกของ WTO และ OECD อาจได้รับการกระทบกระเทือน
ขณะนี้ฝรั่งเศสกำลังเป็นประธาน EU อยู่ ประธานาธิบดี Sarkozy จึงรับบทเป็นผู้เจรจากับฝ่ายรัสเซีย และในเบื้องต้นก็มีข้อตกลงระหว่างฝรั่งเศสกับรัสเซีย โดยรัสเซียสัญญาว่า จะถอนทหารออกจากจอร์เจีย และจะยอมให้มีตัวกลางไกล่เกลี่ย และมีกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปใน South Ossitia
สหประชาชาติ
สำหรับสหประชาชาตินั้น ตามทฤษฏีแล้ว น่าจะมีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะคณะมนตรีความมั่นคง หรือ UNSC ซึ่งควรจะเล่นบทบาทนำในการเข้ามายุติความขัดแย้งและสงคราม แต่ก็กลายเป็นว่า UNSC กลับไม่มีบทบาทอะไรเลยในครั้งนี้ และถึงแม้จะได้มีการประชุมกันมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ผลสรุปอะไร ทั้งนี้ก็คงจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะรัสเซียนั้นเป็นสมาชิกถาวร 1 ใน 5 และแน่นอนว่า รัสเซียก็คงจะใช้สิทธิยับยั้ง veto ข้อเสนอของตะวันตกอย่างแน่นอน
มาตรการของตะวันตก
โดยรวมแล้ว ถึงแม้ตะวันตกจะมีข้อจำกัดในการตอบโต้รัสเซีย แต่ขณะนี้ประเทศตะวันตกก็กำลังพิจารณาทางเลือกและมาตรการต่างๆ ซึ่งอาจจะแบ่งได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
· ตะวันตก โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการใช้ไม้แข็งกับรัสเซียมองว่า ถ้าหากตะวันตกไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้รัสเซียได้รับชัยชนะทางการทูตในครั้งนี้ ก็เท่ากับเป็นการทำให้รัสเซีย ได้ใจ และยิ่งจะทำให้รัสเซียแข็งกร้าวมากขึ้น และอาจจะใช้กำลังทหารกดดันและรุกรานประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อีก ดังนั้น ตะวันตกจึงจะต้องทำให้รัสเซียเห็นว่า การใช้ความรุนแรงนั้น จะต้องได้รับการลงโทษ แทนที่จะได้รับรางวัล
· กลุ่มที่ต้องการใช้ไม้แข็งกับรัสเซียมองว่า สงครามในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่ารัสเซียเป็นประเทศมหาอำนาจที่ไม่มีความรับผิดชอบ ดังนั้น ตะวันตกจึงต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหญ่ จากยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ไปเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมและโดดเดี่ยวรัสเซีย
· กลุ่มที่ต้องการใช้ไม้แข็ง จึงกำลังคิดที่จะยกเลิกการเจรจาระหว่างรัสเซียกับ EU ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องการค้าและเรื่องอื่นๆ
· กำลังมีการพิจารณาว่า เหตุผลหนึ่งที่รัสเซียบุกจอร์เจียก็เพราะ ความไม่พอใจที่ NATO จะดึงเอาจอร์เจียและยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิก ดังนั้น จึงมีข้อเสนอว่า เพื่อเป็นการตอบโต้รัสเซีย จึงต้องรีบดึงจอร์เจียและยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิกโดยเร็ว จริง ๆ แล้ว ในการประชุมสุดยอด NATO เมื่อเดือนเมษายน ก็ได้ตกลงในขั้นหลักการไปแล้ว และก่อนเกิดสงครามก็มีการคาดว่า ในเดือนธันวาคมจะมีการเชื้อเชิญดึงเอาทั้ง 2 ประเทศมาเป็นสมาชิกใหม่อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม หลังจากเกิดสงคราม ก็เกิดความไม่แน่นอน เพราะบางประเทศไม่อยากทำให้รัสเซียโกรธไปมากกว่านี้ จึงอาจจะเลื่อนการรับสมาชิกของจอร์เจียและยูเครนออกไป
· มีข้อเสนอให้ตะวันตกลงโทษและตอบโต้รัสเซีย ด้วยการกีดกันไม่ให้รัสเซียเข้าเป็นสมาชิกของ WTO และ OECD รวมทั้งขับรัสเซียออกจากกลุ่ม G8
· Zbigniew Brzezinski อดีต National Security Advisor ในสมัยประธานาธิบดี Jimmy Carter ได้เขียนบทความโจมตีรัสเซียอย่างรุนแรง โดยได้เสนอว่า ตะวันตกน่าจะต้องพยายามเรียกร้องให้ประชาคมโลกประณามการกระทำของรัสเซีย รวมทั้งเสนอด้วยว่า ตะวันตกน่าจะใช้การคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาว ที่จะจัดขึ้นในปี 2014 ที่เมือง Sochi ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของรัสเซีย ห่างจากพรมแดนของจอร์เจียเพียง 20 กิโลเมตร Brzezinski ได้กล่าวว่า ในสมัยของ Carter นั้น สหรัฐฯก็เคยคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิคฤดูร้อนที่ Moscow มาแล้ว เพื่อเป็นการตอบโต้ที่รัสเซียใช้กำลังรุกรานอัฟกานิสถานในปี 1979
· นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่ว่า หากตะวันตกไม่ทำอะไรเลย ก็จะยิ่งทำให้รัสเซียก้าวร้าวมากขึ้น และถ้าหากสหรัฐฯไม่สามารถที่จะทำตามคำมั่นสัญญาที่จะช่วยเหลือจอร์เจียได้ สหรัฐฯก็จะเสียเครดิตเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น ทางออกคือ ตะวันตกจะต้องบีบให้มีการหยุดยิงอย่างถาวร โดยให้รัสเซียยึดมั่นในข้อตกลงหยุดยิงที่ได้เจรจาไว้กับ Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศส
· นอกจากนี้ คงจะต้องมีความพยายามแก้ไขปัญหาใน South Ossetia โดยต้องทำให้ South Ossetia เป็นเขตปลอดทหาร และต้องให้รัสเซียและ South Ossetia ยอมรับกองกำลังรักษาสันติภาพใน South Ossetia ซึ่งควรจะมาจาก EU หรือ UN
และหลังจากนั้น คงจะต้องมีการกำหนดสถานะของ South Ossetia และ Abkhazia ซึ่งรัสเซียอยากให้เป็นเอกราชจากจอร์เจีย แต่ตะวันตกไม่เห็นด้วย และคงจะต้องมีการเจรจาถึงรูปแบบที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งอาจมีหลายสูตร อาจเป็นในลักษณะ สมาพันธรัฐ หรืออาจเป็นเขตการปกครองตนเองแต่ยังอยู่ในประเทศจอร์เจีย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น