Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การปฏิรูประบบการเงินโลก

การปฏิรูประบบการเงินโลก
ไทยโพสต์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 4377 วันพฤหัสบดีที่ 23 ตุลาคม 2551

หลังจากที่วิกฤติการเงินสหรัฐได้ลุกลามกลายเป็นวิกฤติการเงินโลกไปแล้ว ล่าสุดได้มีความพยายามจากผู้นำตะวันตก ที่จะผลักดันให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกขึ้น คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงความพยายามผลักดันการปฏิรูประบบการเงินโลก ท่าทีของประเทศต่างๆ รูปร่างหน้าตาของการปฏิรูป รวมทั้งอุปสรรคต่อการปฏิรูป

แถลงการณ์ร่วม
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางฝ่ายยุโรปได้เดินหน้าผลักดันให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลก โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส Nicolas Sarkozy ในฐานะประธาน EU และ นาย Jose Manuel Barroso ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้เดินทางไปกรุง Washington D.C. เพื่อหารือกับประธานาธิบดี Bush โดยภายหลังการหารือกันได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมแจ้งว่า จะมีการจัดประชุมสุดยอดเพื่อการปฏิรูประบบการเงินโลกขึ้น สถานที่คงเป็นในสหรัฐ และช่วงเวลา คงเป็นภายหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ โดยมีแผนที่จะจัดประชุมสุดยอดหลายครั้ง โดยทั้งยุโรปและสหรัฐเห็นพ้องว่า ควรจะต้องมีการผลักดันให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อลงไปรายละเอียด ท่าทีของสหรัฐและยุโรปก็แตกต่างกัน

ท่าทีของสหรัฐ
ในการประชุมดังกล่าวข้างต้น ประธานาธิบดี Bush ได้แถลงว่า วิกฤติการณ์การเงินในครั้งนี้ จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูประบบการเงินโลก แต่ Bush ก็ได้กล่าวว่า การปฏิรูประบบการเงินโลกจะต้องไม่ทำลายระบบกลไกตลาดเสรี และต้องไม่กระทบต่อระบบทุนนิยมเสรีในแนวที่สหรัฐสนับสนุนมาโดยตลอด Bush ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของทางฝ่ายยุโรป ที่ต้องการให้มีการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน โดยกล่าวย้ำว่าการปฏิรูปจะต้องไม่กระเทือนถึงระบบทุนนิยมประชาธิปไตย ตลาดเสรี และการค้าเสรี

ในเบื้องลึกนั้น สหรัฐซึ่งยังเป็นอภิมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก ยังคงมีความหวาดระแวงต่อข้อเสนอของประเทศอื่นๆ ที่อาจจะทำให้อิทธิพลของสหรัฐในโลกลดลง และอาจจะทำให้โลกเปลี่ยนจากระบบหนึ่งขั้วอำนาจไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ โดย Bush ยังคงยืนยันว่า สหรัฐจะต้องเล่นบทเป็นผู้นำโลกต่อไปในการปฏิรูประบบการเงินโลก หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าสหรัฐยังคงหวงแหนสถานะการเป็นผู้นำโลก คือ การบอกปัดข้อเสนอของเลขาธิการสหประชาชาติ คือ นาย Ban Kee Mun ที่เสนอจะให้มีการประชุมสุดยอดในกรอบของ UN

ท่าทีของสหรัฐนั้น ก็คงออกมาในลักษณะให้มีการปฏิรูปบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ใช่เป็นการถอนรากถอนโคน โดยสหรัฐน่าจะเน้นเรื่องของการสร้างความโปร่งใสในระบบการเงินโลก การกำหนดกฎเกณฑ์การเคลื่อนย้ายของเงินทุน การลงทุน และการปรับปรุงบทบาทการควบคุมดูแลระบบการเงินโลกโดยสถาบันการเงินโลก

ท่าทีของยุโรป
แต่สำหรับผู้นำยุโรปนั้น มีท่าทีต่างจากท่าทีของสหรัฐค่อนข้างมาก โดยยุโรปต้องการให้มีการปฏิรูปแบบถอนรากถอนโคน มีการพูดถึงขั้นให้มีการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ ที่เรียกว่า “Bretton Woods II” โดยนาย Barroso ถึงกลับประกาศกร้าวว่า เราต้องการระเบียบการเงินโลกใหม่ โดยยุโรปเน้นที่จะต้องมีการแทรกแซงกลไกตลาด และมีกฎระเบียบควบคุมระบบการเงินโลกที่เข้มงวด ยุโรปต้องการให้การประชุมสุดยอดที่จะมีขึ้น หารือถึงการสร้างรูปแบบใหม่ของทุนนิยม และให้มีการควบคุมระบบการเงินอย่างมีประสิทธิภาพทั่วโลก

นาย Sarkozy ได้ย้ำถึงความเร่งด่วนของวิกฤติการณ์การเงินโลก ที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขวิกฤติในระดับโลก โดยกล่าวย้ำว่า พวก hedge fund และธุรกรรมที่ไม่โปร่งใสต่างๆ เป็นต้นตอของวิกฤติ และต่อไป จะต้องเข้าไปควบคุมอย่างจริงจัง Sarkozy ย้ำว่า “ระบบการเงินโลกและระบบทุนนิยมโลกในปัจจุบัน เป็นสิ่งยอมรับไม่ได้ ระบบทุนนิยมปัจจุบันถือเป็นการทรยศหักหลังต่อระบบทุนนิยมที่เรายึดมั่นอยู่”

ในขณะที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ Gordon Brown ซึ่งมาจากพรรคแรงงานของอังกฤษ มีอุดมการณ์แนวปฏิรูปอยู่แล้ว จึงได้เสนอที่จะให้มีการปฏิรูประบบทุนนิยมโลกอย่างถอนรากถอนโคน โดยนาย Brown ได้เสนอให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อที่จะเข้ามาควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงิน 30 สถาบันที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันของสหรัฐ Brown เสนอว่าน่าจะต้องมีการปฏิรูปองค์กรการเงินโลกที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรารู้จักกันในชื่อว่า Bretton Woods Brown ยังได้เสนอให้มีการปฏิรูป IMF โดยให้เล่นบทบาทเป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับป้องกันไม่ให้วิกฤติเกิดขึ้นอีก Brown ได้เสนอว่า ขณะนี้โลกต้องการความโปร่งใสมากขึ้น และระบบโลกาภิบาลทางด้านการเงิน

ข้อเสนอการปฏิรูประบบการเงินโลก
สำหรับแผนการจัดประชุมสุดยอดเพื่อปฏิรูประบบการเงินโลกนั้น ผู้นำตะวันตกได้กำหนดว่าควรจะมีหลายครั้ง โดยครั้งแรก จะเน้นในเรื่องของการพิจารณาความคืบหน้าในการกอบกู้วิกฤติการเงินโลกในขณะนี้ และจะพยายามตกลงกันในเรื่องของหลักการปฏิรูประบบการเงินโลก ส่วนการประชุมสุดยอดครั้งต่อๆไป จะเป็นการหารือถึงมาตรการต่างๆในรายละเอียดเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป

สำหรับประเทศที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดนั้น ทางตะวันตกวางแผนว่า กลุ่มแกนหลักคือ G-8 และจะเชิญประเทศนอกกลุ่ม G-8 ที่สำคัญเข้าร่วม อาทิ จีน อินเดีย บราซิล เกาหลีใต้

ขณะนี้ได้มีข้อเสนอออกมาหลายข้อเสนอ โดยมีการมุ่งเป้าไปที่การปฏิรูป IMF อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ IMF มีสมาชิกกว่า 150 ประเทศ แต่สมาชิกก็ยังไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ ว่า IMF ควรจะมีบทบาทอย่างไร โดยเฉพาะในการปฏิรูป IMF

บางคนจึงมองว่า หากไม่สามารถปฏิรูป IMF ได้ ก็ควรมีการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมา เพื่อมาควบคุมระบบการเงินโลก โดยในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการประชุมกลุ่มประเทศ G-20 ที่บราซิล ซึ่งได้มีข้อเสนอให้ประเทศกลุ่มนี้ ผลักดันจัดตั้งกลไกใหม่ ในลักษณะการตั้งวงเงินกู้ล่วงหน้าระหว่างกัน และให้มีการตั้งสำนักเลขาธิการ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและการควบคุมตรวจสอบ จริงๆแล้ว IMF ควรจะเล่นบทสำนักเลขาธิการดังกล่าว แต่ก็มีหลายประเทศคัดค้าน จึงอาจต้องมีการตั้งกลไกใหม่ขึ้น

การปฏิรูป IMF นั้น คงจะมีปัญหาแน่นอน เพราะสหรัฐคงจะไม่สนับสนุนและคงจะยืนยันในหลักการทุนนิยมเสรีต่อไป โดยเน้นกลไกตลาด ในขณะที่ประเทศในเอเชีย ซึ่งเมื่อปี 1997 เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ก็ได้รับบทเรียนอย่างแสนสาหัสมาแล้ว จากมาตรการของ IMF ตั้งแต่นั้นมา ประเทศในเอเชียก็สูญเสียศรัทธาใน IMF ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ประเทศในเอเชียก็ไม่มีสิทธิมีเสียงในสถาบันนี้เลย

ผมอยากจะวิเคราะห์ต่อไปว่า อนาคตของการปฏิรูประบบการเงินโลกคงไม่ง่าย เพราะมีอุปสรรคหลายเรื่อง ปัญหาใหญ่คือ ตัวตั้งตัวตีของการปฏิรูปในครั้งนี้คือ กลุ่มประเทศตะวันตก คือ กลุ่ม G-8 ซึ่งขณะนี้ กลุ่มG-8 กำลังประสบวิกฤติศรัทธาอย่างหนัก เพราะ G-8 ไม่ได้สะท้อนโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน และไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาคมโลกอย่างแท้จริง

การผงาดขึ้นมาของประเทศมหาอำนาจใหม่ อาทิ จีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนา กำลังท้าทายการครอบงำองค์กรโลกของตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศมหาอำนาจใหม่เหล่านี้ ต้องการที่จะให้มีการปฏิรูปโครงสร้างใหม่ของระบบโลกไปในทิศทางที่ตนต้องการ แต่ไม่ใช่ไปในทิศทางที่ตะวันตกต้องการ

ในอดีต กลุ่ม G-8 เคยมีบทบาทอย่างมากในการประสานท่าทีต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลก แต่ในปัจจุบัน โครงสร้างเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จึงทำให้การประชุม G-8 ในปัจจุบัน ไม่มีความหมาย และไม่มีความชอบธรรม

สำหรับองค์กรการเงินโลกหลักคือ IMF และธนาคารโลกนั้น สหรัฐก็เป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งขึ้นมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนนั้น สหรัฐเป็นประเทศเดียวที่ผูกขาดอำนาจในการจัดระเบียบเศรษฐกิจโลก สหรัฐจึงได้ใช้อำนาจดังกล่าวสร้างระบบเศรษฐกิจโลกขึ้นมา ที่เราเรียกว่า Bretton Woods System

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างอำนาจเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะการผงาดขึ้นมาของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และมหาอำนาจที่ไม่ใช่ตะวันตก แต่ประเทศเหล่านี้ ก็ไม่มีบทบาทใน IMF และธนาคารโลกเลย โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้อำนวยการ IMF มาจากยุโรปโดยตลอด และประธานธนาคารโลก ก็ถูกผูกขาดโดยคนอเมริกันมาโดยตลอด นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนา ก็ไม่มีอำนาจการลงคะแนนเสียง (voting power) ใน IMF โดยมีการให้ voting power กับสหรัฐและยุโรปเป็นอย่างมาก โดยประเทศกำลังพัฒนาแทบจะไม่มี voting power เลย

ไม่มีความคิดเห็น: