นโยบายต่างประเทศของ Obama และผลกระทบต่อโลก
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 8 วันศุกร์ที่ 14 - พฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2551
คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะวิเคราะห์ถึงนโยบายต่างประเทศของ Obama และผลกระทบต่อโลก รวมทั้งข้อจำกัดที่ Obama จะประสบในการดำเนินนโยบายดังกล่าว
นโยบายต่างประเทศของ Obama
หลังจากที่ Obama ชนะการเลือกตั้ง กำลังจะเป็นประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐ ประชาคมโลกก็กำลังสนใจอย่างยิ่งว่า Obama จะมีนโยบายต่างประเทศอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร
โดยภาพรวมแล้ว Obama มีแนวอุดมการณ์เสรีนิยม มีแนวนโยบายสายพิราบ ตลอดเวลาที่ผ่านมา Obama ได้เน้นว่า นโยบายต่างประเทศจะต้องมีการยกเครื่องใหม่ ต้องมีการปฏิรูป และเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือจากนโยบายของ Bush
Obama มองโลกในแง่ดี และพยายามย้ำการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ และการกอบกู้ชื่อเสียงของสหรัฐที่ได้เสียหายไปมากจาก 8 ปีของรัฐบาล Bush ดังนั้น หาก Obama สามารถบรรลุการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศได้จริง ก็น่าจะเป็นผลดีต่อโลก โดยน่าจะทำให้โลกมีเสถียรภาพและสันติภาพมากขึ้น
สำหรับนโยบายต่อตะวันออกกลางนั้น นโยบายต่ออิรักก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับคนอเมริกัน Obama หาเสียงมาโดยตลอดว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะยุติสงครามอิรัก และเน้นการแก้ปัญหาโดยวิถีทางอื่นที่ไม่ใช่การใช้กำลังทางทหาร โดยจะค่อยๆถอนทหารออกมา
สำหรับในกรณีของอัฟกานิสถานนั้น Obama ได้เน้นมาตลอดว่า นี่คือจุดที่รัฐบาล Bush ละเลย และอัฟกานิสถานน่าจะเป็นสมรภูมิหลักของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เพื่อไล่ล่านักรบTaliban al-Qaeda และ Bin laden โดย Obama มีแผนที่จะเพิ่มกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน โดยการสนับสนุนจาก NATO
สำหรับในกรณีวิกฤตินิวเคลียร์อิหร่านนั้น Obama ได้โจมตีนโยบายของ Bush มาตลอด โดยมองว่าจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ หันมาเน้นการเจรจาทางการทูตอย่างจริงจัง รวมทั้งการเจรจาโดยตรงกับผู้นำอิหร่านด้วย
Obama มองว่า สงครามต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาล Bush ประสบความล้มเหลว ดังนั้น จึงจะต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งจะต้องเป็นยุทธศาสตร์ที่มีลักษณะสมบูรณ์เบ็ดเสร็จ ที่ไม่เน้นแต่การใช้กำลังทางทหาร แต่ต้องมุ่งแก้ที่รากเหง้าของปัญหา รวมทั้งการสนับสนุนกลุ่มปฏิรูป กลุ่มสายกลางในโลกมุสลิม การให้การศึกษา และการส่งเสริมการค้าและการลงทุน
เป้าหมายใหญ่ของนโยบายต่างประเทศของ Obama อีกเรื่องหนึ่ง คือการกลับไปฟื้นฟูพันธมิตร หุ้นส่วน และสถาบันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ
สำหรับในเอเชีย Obama มองว่า รัฐบาล Bush ให้ความสำคัญกับพันธมิตรทวิภาคีมากเกินไป Obama จึงมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคีในเอเชียมากขึ้น ในช่วงการรณรงค์หาเสียง Obama ไม่ได้พูดถึงเอเชียมากนัก ผมจึงอยากจะคิดต่อไปว่า การเน้นเวทีพหุภาคีของ Obama จะมีนัยอย่างไรต่อเอเชีย ผมมองว่า มีความเป็นไปได้ว่า Obama จะให้ความสำคัญกับเวทีอาเซียนมากขึ้น โดยสมัยรัฐบาล Bush สหรัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอาเซียน เพราะฉะนั้น ในสมัยของ Obama ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนน่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะอาจมีการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐกับอาเซียนครั้งแรกขึ้น อาจมีการเจรจา FTA ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนทั้งกลุ่ม ดังนั้น จึงเป็นโอกาสสำคัญที่อาเซียนและไทยในฐานะประธานอาเซียน ที่จะต้องรีบดำเนินนโยบายในเชิงรุกเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐ
สำหรับนโยบายต่อมหาอำนาจอื่นๆนั้น Obama มีแนวโน้มที่จะลดความตึงเครียดกับมหาอำนาจใหญ่ๆโดยเฉพาะกับรัสเซียและจีน ในสมัย Bush ความสัมพันธ์สหรัฐ-รัสเซีย เข้าขั้นวิกฤติ บางคนถึงกับกล่าวว่ากำลังจะเกิดสงครามเย็นภาคสอง ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน ก็มีปัญหา Obama ซึ่งเป็นสายพิราบน่าจะมองรัสเซียกับจีนดีขึ้น และน่าจะผูกมิตรกับรัสเซียและจีนมากขึ้น แทนที่จะมองทั้งสองประเทศเป็นศัตรูเหมือนทางฟากพรรค Republican ซึ่งเป็นสายเหยี่ยว
นอกจากนี้ Obama ยังได้ประกาศนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาความยากจน โดยประกาศว่าจะมีการตั้งวงเงินถึง 5 หมื่นล้านเหรียญภายในปี 2012 เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจน
อย่างไรก็ตาม นโยบายการค้าของ Obama ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีแนวโน้มปกป้องทางการค้า โดยในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง Obama ได้กล่าววิพากษ์วิจารณ์ FTA ว่าส่งผลกระทบต่อคนงานอเมริกัน
ข้อจำกัด
ถึงแม้ว่า การประกาศนโยบายต่างประเทศของ Obama ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ตามที่ผมได้กล่าวข้างต้นนั้น อาจจะสร้างความหวังให้กับชาวโลกว่า โลกกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริง ผมมองว่า มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายเลย ที่ Obama จะประสบความสำเร็จ พูดง่ายๆก็คือ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้น Obama ขายฝันให้กับทั้งคนอเมริกันและชาวโลก และ Obama ก็ขายฝันสำเร็จได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่สิ่งที่ยากกว่าการได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ก็คือ การทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดี สิ่งที่ยากกว่าการขายฝัน ก็คือ การสานฝันให้เป็นจริง
อุปสรรคสำคัญที่จะทำให้ Obama ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนโยบายต่างประเทศ คือ วิกฤติเศรษฐกิจภายในประเทศสหรัฐที่คงจะทำให้ Obama จะต้องทุ่มเทเวลา ให้กับการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจภายใน มากกว่าที่จะมาเน้นการดำเนินนโยบายต่างประเทศในเชิงรุก
อุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ของ Obama ในการสานฝันนโยบายต่างประเทศ คือ การขาดแรงสนับสนุนจากประชาชนคนอเมริกัน ซึ่งขณะนี้ มองตรงกันว่า Obama ต้องแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในก่อน ไม่ใช่นโยบายต่างประเทศ
นอกจากนี้ นโยบายในหลายๆเรื่อง หากทำจริงก็คงจะไม่ง่ายเลย ตัวอย่างเช่น การประกาศว่าจะถอนทหารออกจากอิรักภายใน 16 เดือน ในความเป็นจริง หากสถานการณ์อิรักยังไม่นิ่ง Obama ก็คงจะไม่สามารถบรรลุตารางเวลาดังกล่าวได้
เช่นเดียวกับในกรณีอัฟกานิสถาน ซึ่ง Obama ประกาศจะเพิ่มกองกำลัง แต่ทางฝ่ายพันธมิตร NATO หลายๆประเทศ กลับมีนโยบายสวนทาง อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน โปแลนด์และตุรกีได้ประกาศว่า อยากจะถอนทหารกลับประเทศตน
นอกจากนี้ ตามที่ Obama ได้ประกาศว่าจะกอบกู้ภาพลักษณ์ของสหรัฐ แต่ก็มีอุปสรรคในเรื่องการสนับสนุนจากสาธารณชน โดยเฉพาะในกรณีการปิดเรือนจำที่อ่าว Guantanamo
อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือเรื่องที่ Obama ประกาศจะเปลี่ยนนโยบายในเรื่องภาวะโลกร้อน แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่กลับมองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดคือ เรื่องนโยบายการค้า ซึ่งมีแนวโน้มว่าประชาชนอเมริกันจะสนับสนุนการค้าเสรีน้อยลง ทั้งนี้ เพราะปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ Obama เองก็มีแนวคิดที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเจรจา FTA ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า สหรัฐคงจะมีนโยบายการค้าที่แข็งกร้าวมากขึ้นกับประเทศคู้ค้าต่างๆ
กล่าวโดยสรุป ถึงแม้ Obama จะขายฝันได้สำเร็จในเรื่องของความหวังและการเปลี่ยนแปลง ในเรื่องนโยบายต่างประเทศ แต่อุปสรรคที่จะสานฝันให้เป็นจริง ก็คงจะทำให้ Obama คงจะอยู่ในสถานะ “เข็นครกขึ้นภูเขา” ทีเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น