Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การประชุมสุดยอด NATO โรมาเนีย

การประชุมสุดยอด NATO โรมาเนีย

ตีพิมพ์ใน: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์


เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ ได้มีการประชุมสุดยอด NATO ที่กรุงบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้วิเคราะห์ถึงผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้

ภูมิหลัง

NATO ก่อตั้งขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสหรัฐฯเป็นตัวตั้งตัวตีจัดตั้งพันธมิตร
ทางทหาร เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง บทบาทของ NATO ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดย NATO ได้ปรับเปลี่ยนภารกิจจากการต่อต้านคอมมิวนิสต์มาเป็นบทบาทรักษาสันติภาพทั่วทวีปยุโรป โดยในปี 1995 เป็นครั้งแรกที่ NATO ได้จัดตั้งกองกำลังนานาชาติ เพื่อรักษาสันติภาพในบอสเนีย ต่อมาในปี 1999 NATO ดำเนินมาตรการทางทหาร เพื่อให้ยูโกสลาเวียถอนทหารออกจากโคโซโว

ในยุคหลังสงครามเย็นนี้ เห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯต้องการใช้ประโยชน์จาก NATO ในการครองความเป็นเจ้า ทั้งในทวีปยุโรปและในระดับโลก

ในยุคหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ บทบาทของ NATO ได้เปลี่ยนแปลงไป โดยให้ความสำคัญกับการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และแนวโน้ม NATO กำลังจะกลายเป็นพันธมิตรทางทหารในระดับโลก และขอบข่ายการปฏิบัติงานของ NATO ก็กำลังขยายไปทั่วโลก

ตะวันออกกลาง

สำหรับการประชุมสุดยอดของ NATO ครั้งล่าสุดที่กรุงบูคาเรสต์ โรมาเนียนั้นได้มีการจัดทำเอกสารผลการประชุม ที่เรียกว่า Bucharest Declaration หรือปฏิญญาบูคาเรสต์ โดยเรื่องที่ NATO ให้ความสำคัญมากเรื่องหนึ่งคือ บทบาทของ NATO ในอัฟกานิสถาน NATO ได้ส่งกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถาน โดยภารกิจหลักเพื่อปราบปรามกลุ่มหัวรุนแรงและผู้ก่อการร้าย ในปฏิญญาบูคาเรสต์ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อบทบาทของ NATO ในอัฟกานิสถาน และยินดีที่ประเทศสมาชิกจะได้ส่งกองกำลังเพิ่มเติมเข้าไป
ผมมองว่า กองกำลัง NATO ในอัฟกานิสถานนั้น มีบทบาทในเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่ง ที่จะแสดงให้เห็นถึงบทบาทของ NATO ที่ขยายออกไปทั่วโลก โดยเฉพาะบทบาทการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งอัฟกานิสถานถือเป็นสมรภูมิที่สำคัญยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของอิรัก ไม่ได้มีกองกำลัง NATO เข้าร่วมกับกองกำลังของสหรัฐฯ แต่ NATO ก็มีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือฝึกกองกำลังของอิรักเป็นจำนวนกว่า 1 หมื่นคน
คาบสมุทรบอลข่าน

อีกภูมิภาคหนึ่งที่ NATO ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งคือ คาบสมุทรบอลข่าน โดยเฉพาะกรณีของโคโซโว NATO ได้มีบทบาทมาโดยตลอด ในปฏิญญาบูคาเรสต์ได้ตอกย้ำว่า คาบสมุทรบอลข่านมีความสำคัญอย่างยิ่ง และย้ำถึงบทบาทของกองกำลัง NATO ในโคโซโว ที่เรียกย่อว่า KFOR และเน้นด้วยว่า กองกำลัง KFOR จะยังอยู่ในโคโซโวต่อไปภายหลังที่โคโซโวประกาศเอกราชไปแล้ว

ผมมองว่า สหรัฐฯและ NATO ต้องการขยายบทบาทเข้าครอบงำคาบสมุทรบอลข่าน ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ใหญ่คือ การเพิ่มบทบาท และยุทธศาสตร์ปิดล้อมและลดอิทธิพลของรัสเซีย

นอกจากกรณีของโคโซโวแล้ว ปฏิญญาบูคาเรสต์ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของ NATO ในการกระชับความร่วมมือกับบอสเนีย มอนเตนีโกร และเซอร์เบีย โดย NATO ได้ตัดสินใจที่จะเชิญบอสเนียและมอนเตนีโกร มาหารือในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงอนาคตของการเป็นสมาชิก NATO ด้วย สำหรับในกรณีของเซอร์เบียนั้น NATO จะพยายามพัฒนาความสัมพันธ์กับเซอร์เบียและพยายามจะนำเซอร์เบียมาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมในยุโรป

แต่ผมมองว่า ปัญหาใหญ่ของ NATO ในบอลข่านคือ ผลกระทบจากการประกาศเอกราชของโคโซโว ซึ่งทำให้เซอร์เบียไม่พอใจเป็นอย่างมาก และจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเซอร์เบียกับตะวันตก เสื่อมทรามลงไปเรื่อย ๆ รวมทั้งมีแนวโน้มที่คาบสมุทรบอลข่านอาจจะลุกเป็นไฟ เนื่องด้วยความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่เป็นผลมาจากการประกาศเอกราชของโคโซโว โดยมีแนวโน้มที่ชาว Serb, Albanian และ Croat อาจจะมีความขัดแย้งและความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ NATO ในอนาคต
หุ้นส่วนระดับโลก (global partnership)

จากที่ได้กล่าวไปแล้วว่า แนวโน้มของ NATO คือ พยายามที่จะพัฒนาไปเป็นพันธมิตรทางทหารในระดับโลก และเพิ่มขอบข่ายการปฏิบัติการไปทั่วโลก ดังนั้นในปฏิญญาบูคาเรสต์จึงได้ตอกย้ำนโยบายของ NATO ที่จะร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในลักษณะเป็นหุ้นส่วน โดยได้กล่าวว่ามีถึง 17 ประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก NATO ที่ได้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการต่าง ๆ ของ NATO

และที่สำคัญก็คือ การกระชับความสำคัญกับประเทศในเอเชียตะวันออก ในปฏิญญาบูคาเรสต์ได้กล่าวชื่นชมบทบาทของออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนต์ สิงค์โปร์ และเกาหลีใต้ ที่ได้ส่งกองกำลังเข้าร่วมกับกองกำลัง NATO ในอัฟกานิสถาน

สงครามต่อต้านการก่อการร้าย

บทบาทหลักของ NATO อีกเรื่องหนึ่งในยุคหลัง 11 กันยาฯ คือสงครามต่อต้านการก่อการร้าย รวมทั้งบทบาทในการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง และป้องกันการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล โดยเน้นถึงการป้องกันไม่ให้ผู้ก่อการร้ายมีอาวุธร้ายแรงอยู่ในครอบครอง

ในปฏิญญาบูคาเรสต์ได้เน้นถึงการป้องกันการพัฒนาขีปนาวุธและการพัฒนาระบบการป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธ โดยสหรัฐฯให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดตั้งระบบดังกล่าวขึ้นในยุโรป แต่ก็ได้สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อรัสเซีย เพราะรัสเซียมองว่า วาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯคือ การมุ่งเป้ามาที่รัสเซีย

รัสเซีย

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง NATO กับรัสเซียนั้น เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง โดยในปฏิญญาบูคาเรสต์ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของ NATO กับรัสเซีย โดยเน้นว่า ถึงแม้ท่าทีในหลายๆเรื่องของรัสเซียจะเป็นที่น่าวิตกกังวล แต่ NATO ก็พร้อมที่จะร่วมมือกับรัสเซียในเรื่องที่จะมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย และการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง โดย NATO ย้ำว่า นโยบายขยายสมาชิกใหม่และระบบป้องกันขีปนาวุธไม่ได้เป็นการคุกคามต่อความสัมพันธ์ระหว่าง NATO กับรัสเซีย

แต่ผมมองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตก NATO และรัสเซียเสื่อมทรามลงอย่างมาก
โดยรัสเซียมองว่า ตะวันตกและ NATO กำลังมีนโยบายปิดล้อมรัสเซียโดยดึงเอาประเทศยุโรปตะวันออกมาเป็นประเทศสมาชิก และขยายอิทธิพลเข้าไปในเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย คือในยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน เทือกเขาคอเคซัส และเอเชียกลาง สำหรับในกรณีของโคโซโว รัสเซียก็คัดค้านอย่างเต็มที่ ต่อการที่ตะวันตกสนับสนุนการประกาศเอกราชของโคโซโว

การขยายสมาชิกใหม่

เรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการประชุมสุดยอดที่โรมาเนียคือ ประเด็นเรื่องการขยายสมาชิกใหม่ โดยในปฏิญญาบูคาเรสต์ ได้กล่าวถึง การเชิญ อัลบาเนีย และโครเอเชียเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่

สำหรับในกรณีของยูเครนและจอร์เจียนั้น ถึงแม้สหรัฐฯจะผลักดันเต็มที่ แต่ในที่สุด ที่ประชุม NATO ตัดสินใจไม่รับทั้ง 2 ประเทศเข้าเป็นสมาชิกในขณะนี้ โดยในปฏิญญาเพียงแต่กล่าวว่า ประเทศทั้งสอง จะเป็นสมาชิกของ NATO ในอนาคต แต่ในขณะนี้ คงจะต้องดำเนินการในกรอบที่เรียกว่า membership action plan หรือ แผนปฏิบัติการที่จะเป็นสมาชิกก่อน

ในประเด็นนี้ ผมขอวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ในตอนแรกสหรัฐฯพยายามผลักดันเต็มที่ ที่จะให้ยูเครนและจอร์เจียเป็นสมาชิกใหม่ โดยวาระซ่อนเร้นของสหรัฐฯคือ ต้องการเข้าไปมีบทบาทในเทือกเขาคอเคซัส และเขตสหภาพโซเวียตเดิม เพื่อลดอิทธิพลของรัสเซียและปิดล้อมรัสเซีย อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ ประเทศในยุโรปไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯ โดยมองว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับรัสเซียมากเกินไป โดยเฉพาะ เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีได้ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน

ความขัดแย้งในเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า พันธมิตร NATO กำลังสั่นคลอน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับพันธมิตรในยุโรป โดยเฉพาะประเด็นในเรื่องยุทธศาสตร์ต่อรัสเซีย โดยสหรัฐฯต้องการใช้ไม้แข็ง ในขณะที่ยุโรปต้องการใช้ไม้อ่อนและไม่ต้องการเผชิญหน้า โดยยุโรปไม่เห็นด้วยกับสหรัฐฯที่จะต้องเร่งรีบดึงเอาจอร์เจียและยูเครนมาเป็นสมาชิก และมองว่า เร็วเกินไปและจะเป็นการสร้างความขัดแย้งกับรัสเซียมากเกินไป

ไม่มีความคิดเห็น: