Follow prapat1909 on Twitter

วันศุกร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ระบบความมั่นคงในเอเชียตะวันออกในอนาคต: ผลกระทบต่อไทย (ตอนจบ)

ระบบความมั่นคงในเอเชียตะวันออกในอนาคต: ผลกระทบต่อไทย (ตอนจบ)
ลงพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันที่ 26 กันยายน - 2 ตุลาคม 2551 ปีที่ 56 ฉบับที่ 1


คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้เอาผลการวิจัยของผมที่เพิ่งทำเสร็จไป มาสรุปให้ได้อ่านกัน งานวิจัยมีชื่อเรื่องว่า “ระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในยุคหลัง-หลังสงครามเย็น”

งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ (scenario) ของระบบความมั่นคงของเอเชียตะวันออกในอนาคต โดยได้วิเคราะห์ scenario ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ระบบการเปลี่ยนผ่านแห่งอำนาจ ระบบดุลแห่งอำนาจ การปะทะกันทางอารยธรรม และระบบภูมิภาคภิบาลโดยในตอนที่แล้ว ผมได้สรุปผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (scenario) ของระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในอนาคต และเสนอแนะแนวนโยบายต่างประเทศของไทย เพื่อรองรับต่อระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในอนาคต โดยได้วิเคราะห์ถึงระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ระบบการเปลี่ยนผ่านแห่งอำนาจ ระบบดุลแห่งอำนาจ ไปแล้ว ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อถึง scenario ของระบบภูมิภาคภิบาล และการปะทะกันทางอารยธรรม ดังนี้

ภูมิภาคภิบาล

หากวิเคราะห์ความมั่นคงระหว่างประเทศ ตามแนวอุดมคตินิยม จะเห็นภาพได้ว่า โลกกำลังจะมีวิวัฒนาการเปลี่ยนไป เรื่องของขั้วอำนาจจะเป็นเรื่องพ้นยุคพ้นสมัย โลกกำลังเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ความมั่นคงระหว่างประเทศ จะไม่ได้ถูกกำหนดโดยขั้วอำนาจหรือมหาอำนาจ แต่ความมั่นคงระหว่างประเทศในอนาคต จะมีตัวแสดงที่หลากหลาย โดยเฉพาะสถาบันระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ กฎระเบียบระหว่างประเทศ องค์กรข้ามชาติต่างๆ ดังนั้น ในอนาคตในระยะยาว ความมั่นคงระหว่างประเทศ จะมีวิวัฒนาการคล้ายการเมืองภายในประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และคล้ายสังคมภายในประเทศมากขึ้น การเมืองภายในประเทศ จะมีสถาบันทางสังคม รัฐบาล สภา พรรคการเมือง กลุ่มต่างๆในสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมือง ความมั่นคงระหว่างประเทศกำลังมุ่งไปสู่ระบบที่คล้าย ๆ กับเป็นกึ่งรัฐบาล กึ่งสังคมโลก คือมีสถาบันทางสังคมระหว่างประเทศ มีองค์การระหว่างประเทศ มีกฎหมายระหว่างประเทศ

มองในแง่โอกาสของไทย ในโลกใบใหม่ที่จะเป็นโลกาภิบาล ที่ระบอบหรือสถาบันความมั่นคงระหว่างประเทศจะมีความเข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้ประเทศมหาอำนาจ ขั้วอำนาจต่างๆ ลดบทบาทและอำนาจลง มองในแง่นี้ ก็อาจเป็นผลดีต่อไทย ที่จะลดภัย "อันธพาล" จากเจ้าครองโลกอย่างเช่นสหรัฐฯ ดังนั้นนโยบายไทยในระยะยาว ต้องลดนโยบาย "pro" สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม กระแสโลกาภิบาลและกระแสโลกาภิวัตน์ นอกจากจะเป็นคุณ ก็จะเป็นโทษต่อรัฐไทย โดยจะทำให้รัฐไทยสูญเสียอำนาจอธิปไตยลงไปเรื่อย ๆ บทบาทของรัฐจะถูกลิดรอนลงไปเรื่อย ๆ ในขณะที่บทบาทของระบอบระหว่างประเทศ สถาบันระหว่างประเทศ จะเพิ่มอำนาจมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐไทย ที่จะต้องปฏิบัติและมีพฤติกรรมตามกฎระเบียบโลกมากขึ้น

สำหรับในระดับภูมิภาค หากวิเคราะห์ระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกตามแนวเสรีนิยม จะเห็นภาพ ตามที่ได้วิเคราะห์แล้วในเรื่องโลกาภิบาลในระดับโลกคือ ขั้วอำนาจกำลังเป็นเรื่องพ้นยุคพ้นสมัย ความมั่นคงระหว่างประเทศในภูมิภาค จะวิวัฒนาการไปสู่ความเป็นระบอบ (regime) โดยมีสถาบันทางสังคมในภูมิภาค องค์การระหว่างประเทศ กฎระเบียบระหว่างประเทศ โดยอาเซียน และ ASEAN Regional Forum (ARF) จะมีพัฒนาการเป็นสถาบันระหว่างประเทศ ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับนโยบายต่างประเทศไทยต่อภูมิภาคก็เช่นเดียวกันกับนโยบายไทยในระดับโลกคือ จะต้องปูพื้นฐานสำหรับโลกใบใหม่ ที่กำลังพัฒนาขึ้นในภูมิภาค คือ ภูมิภาคภิบาล (regional governance) นโยบายต่างประเทศไทย ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการรองรับ พัฒนาการของระบอบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งได้แก่ อาเซียน ARF และสำหรับสถาบันในภูมิภาค ที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคตด้วย

ดังนั้น ในระยะยาว ระบบภูมิภาคภิบาล (regional governance) พัฒนาการของสถาบันและกฎระเบียบในภูมิภาคจะมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการของประชาคมความมั่นคงอาเซียน และประชาคมความมั่นคงเอเชียตะวันออก ดังนั้น ไทยจึงต้องรีบเข้าไปมีบทบาท ในพัฒนาการของระบบภูมิภาคภิบาล ดังกล่าว

การปะทะกันระหว่างอารยธรรม

อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้อีกแนวทางหนึ่ง (scenario) ที่ในระยะยาว ระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ อาจจะวิวัฒนาการเป็น 2 ขั้ว (bi-polar system) จากบทวิเคราะห์ของ Samuel Huntington ใน The Clash of Civilizations โลกกำลังจะเป็น 2 ขั้วคือ ขั้วตะวันตกกับขั้วที่ไม่ใช่ตะวันตก และความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วนี้ จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

ใน "scenario" ของการปะทะกันระหว่างอารยธรรม เอเชียจะมีบทบาทอย่างไร ในการปะทะกันระหว่างอารยธรรม ตามแนวคิดของ Huntington จีนจะเป็นตัวแสดงหลักของขั้วที่ไม่ใช่ตะวันตก ที่จะขัดแย้งกับสหรัฐฯและยุโรปมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสภาวะเช่นนี้ ประเทศอื่นๆจะกำหนดท่าทีอย่างไร จะเข้าร่วมกับขั้วจีนต่อต้านตะวันตก หรือจะกำหนดท่าทีในลักษณะอื่น

ไทยจะกำหนดบทบาทอย่างไร ไทยคงไม่สามารถไปอยู่ในขั้วตะวันตกได้ เพราะไทยไม่ใช่ตะวันตก ตะวันตกก็ไม่เอาไทย นโยบายไทยใน scenario นี้ จะเข้าหาขั้วประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก ซึ่งก็คือจีนกับอิสลาม อย่างไรก็ตาม ก็น่าจะมีทางเลือกอีกทางหนึ่ง เพราะไทยไม่ใช่อารยธรรมอิสลามหรือขงจื้อ แต่เป็นอารยธรรมพุทธ เพราะฉะนั้น ไทยจึงอาจเป็นเพียงตัวประกอบของความขัดแย้งหลัก คือความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิสลามและจีน คืออาจเป็นอารยธรรมที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Non-aligned Civilization)

หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ แนวโน้มของความขัดแย้งระหว่างอารยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างตะวันตกกับอิสลาม ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ยุทธศาสตร์ของรัฐบาล Bush ในการปราบปรามขบวนการก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จ รัฐบาล Bush เชื่อในทฤษฎีโดมิโนใหม่ คือการปฏิรูประบบการเมืองในตะวันออกกลาง การใช้ลัทธิ Bush Doctrine ทำสงครามจิตวิทยา เพื่อจะกำราบขบวนการก่อการร้าย ชาวอาหรับและชาวมุสลิม แต่ยุทธศาสตร์ของ Bush กลับยิ่งเพิ่มกระแสของการเกลียดชังสหรัฐฯ และตะวันตกไปทั่วโลกอาหรับและโลกมุสลิม ขบวนการก่อการร้ายก็เพิ่มมากขึ้น

ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมดังกล่าว ซึ่งถือเป็นภัยต่อไทย ไทยจึงต้องพยายามดำเนินนโยบายสายกลาง แบบ “บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น” และควรจะปรับยุทธศาสตร์ใหม่ โดยควรจะเป็นยุทธศาสตร์แบบบูรณาการ ที่เป็นนโยบายในเชิงบวกที่จะแก้ปัญหาการก่อการร้ายสากล โดยเน้นการแก้ที่รากเหง้าของปัญหา
หากเกิดความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมขึ้นในอนาคต ประเทศไทยจะทำอย่างไร ทางออกที่ดีที่สุดคือ ไทยควรจะเป็นกลาง แต่ไทยจะเป็นกลางได้หรือไม่ อย่างที่ประธานาธิบดีบุชบอกว่า “You’re with us or you’re against us.” เมื่อไทยเป็นกลางไม่ได้ ก็ต้องพยายามปรับนโยบายให้มีความสมดุล ทำอย่างไรให้ตะวันตกรู้สึกว่า ไทยไม่ใช่ศัตรู เป็นพันธมิตร แต่ในขณะเดียวกัน โลกมุสลิมก็ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อไทย

ไม่มีความคิดเห็น: