Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552

แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2552

แนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2552
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 16 วันศุกร์ที่9 - วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม 2552

ในปี 2551 วิกฤติการเงินโลกถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด และในปี 2552 นี้ ผมก็คิดว่าเรื่องนี้จะยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของโลก วิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ปีที่แล้ว อาจจะเรียกว่าเป็นปีเผาหลอก ในปีนี้ น่าจะเป็นปีเผาจริง

สำหรับในปีนี้ คาดว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกจะยังคงลุกลามขยายตัวต่อไป และจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ประเทศต่างๆทั่วโลกคงจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เงินลงทุนจะหดหาย รวมทั้งตลาดส่งออกและตลาดหุ้นจะตกต่ำอย่างหนัก

เมื่อปลายปีที่แล้ว IMF ได้คาดการณ์แนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจโลกจะโตเพียง 2% ซึ่งจะลดลงจากปี 2007 ที่โต 5% IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้นตัวได้ในปี 2010 แต่เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆจะตกอยู่ในสภาวะถดถอย ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆจะติดลบและถดถอยทั้งหมด ไม่วาจะเป็นสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น

สำหรับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะเศรษฐกิจเกิดใหม่ ถึงแม้อัตราเติบโตเฉลี่ยจะอยู่ประมาณ 5% ในปีนี้ โดยประเทศในภูมิภาคเอเชีย น่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าภูมิภาคอื่น อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ประสบกับความยุ่งยาก

การคาดการณ์ข้างต้นของ IMF เมื่อปลายปีที่แล้ว ดังกล่าวข้างต้น ก็มีความไม่แน่นอน โดยสภาวการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ยังอยู่ในภาวะความเสี่ยงสูงมาก ดังนั้น จึงเป็นไปได้มากว่า เมื่อ IMF จะประกาศการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ในเดือนมกราคมในปีนี้ ก็น่าจะมีการปรับลดอัตราการเจริญเติบโตลงไปอีก

สำหรับผลกระทบสำคัญของวิกฤติเศรษฐกิจโลก เรื่องแรกคือ การส่งออก และการท่องเที่ยว การถดถอยของอุปสงค์ในตลาดสหรัฐและยุโรป จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกของประเทศต่างๆ รวมทั้งภาวะราคาสินค้าเกษตรก็จะตกต่ำลงอย่างมาก

นอกจากนี้ ระบบการเงินของประเทศต่างๆ อาจจะประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง ประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาก อาจจะรอดตัว แต่สำหรับประเทศที่ไม่มีเงินทุนสำรองเพียงพอ คงหนีไม่พ้นที่จะต้องไปกู้จาก IMF ซึ่งขณะนี้มีกว่า 10 ประเทศแล้ว ที่กำลังเจรจาขอกู้จาก IMF อยู่

วิกฤติเศรษฐกิจโลก อาจจะส่งผลต่อระบบการค้าโลกด้วย โดยอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดดันทางการค้า ธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่า ในปีนี้ ปริมาณการค้าจะหดตัว ซึ่งจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1982 เป็นต้นมา นอกจากนี้ เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในปีนี้ จะหดตัวเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง จากปริมาณ 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2007 ประเทศที่พึ่งพาการส่งออก เศรษฐกิจคงจะถดถอยแน่ หากไม่สามารถกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศได้

จากแนวโน้มวิกฤติเศรษฐกิจโลกดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่มากสำหรับประเทศต่างๆทั่วโลก ที่จะต้องหาหนทางในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก ซึ่งมาตรการหลักๆอาจแบ่งออกได้เป็นมาตรการดังนี้

· มาตรการกระตุ้นอุปสงค์ภายใน

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินปีที่แล้ว รัฐบาลของประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ได้พยายามใช้มาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงิน มาตรการการประกันเงินฝาก และการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่อง มาตรการเหล่านี้ ถือเป็นมาตรการกลักๆที่คงจะต้องเดินหน้าสานต่อให้เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ ถึงแม้จะเป็นมาตรการที่จำเป็น แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการลุกลามของวิกฤติเศรษฐกิจโลกในคราวนี้ โจทย์ใหญ่คือ ทำอย่างไรจึงจะหยุดยั้งการตกต่ำลงของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะของผู้บริโภค ดังนั้น ประเทศต่างๆคงจะต้องแสวงหามาตรการเสริมเพื่อจะกระตุ้นให้ความเชื่อมั่นและอุปสงค์ภายในเพิ่มขึ้น

· มาตรการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่อง

เศรษฐกิจเกิดใหม่ หลายประเทศกำลังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่อย่างยิ่ง หลายๆประเทศประสบปัญหาการไหลออกของเงินทุนอย่างรุนแรง

สำหรับประเทศที่มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น ก็อาจจะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันที่เกิดขึ้นจากการไหลออกของเงินทุน หลายๆประเทศอาจจะต้องเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับระบบอัตราแลกเปลี่ยนของตน

มาตรการในแก้ปัญหาสภาพคล่องดังกล่าว IMF จะมีบทบาทสำคัญ โดยตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว IMF ได้มีบทบาทเข้าไปช่วยเหลือเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศในยุโรปตะวันออก ปัจจุบัน IMF มีเงินทุนอยู่ประมาณ 2 แสนล้านเหรียญ ที่สามารถเอามาใช้ได้ในการแก้ปัญหาสภาพคล่อง เมื่อปลายปีที่แล้ว ฮังการี ไอซ์แลนด์ เซอร์เบีย และยูเครน ได้กู้จาก IMF ไปแล้ว ขณะนี้ ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

· การปฏิรูประบบการเงินโลก

แต่ผมเห็นว่า มาตรการที่สำคัญที่สุดในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจในคราวนี้ คือ จะต้องมีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง วิกฤติคราวนี้ ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างถอนรากถอนโคน โดยมีหลายเรื่องด้วยกันที่จะต้องมีการปฏิรูป ไม่ว่าจะเป็นกลไกในการควบคุมตรวจสอบระบบการเงินโลก ระบบการประเมินความเสี่ยง และการจัดตั้งกลไกระหว่างประเทศเพื่อลดความเสี่ยงของวิกฤติ และเพื่อกอบกู้วิกฤติเมื่อเกิดขึ้น สำหรับมาตรการย่อยๆที่อยู่ภายใต้มาตรการปฏิรูประบบการเงินโลกมีดังนี้

- กลไกควบคุมตรวจสอบ

วิกฤติคราวนี้ได้แสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของกลไกควบคุมตรวจสอบของระบบการเงินโลกในปัจจุบัน ระบบการเงินโลกในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้กลไกควบคุมตรวจสอบในระดับชาติไม่มีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตั้งกลไกตรวจสอบระบบการเงินในระดับโลก

- ระบบเตือนภัยล่วงหน้า

วิกฤติคราวนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงผลเสียอันมหาศาล จากการที่ไม่มีกลไกที่จะเตือนภัยล่วงหน้าถึงความเสี่ยง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า โดยเฉพาะในระดับโลก ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศต่างๆอย่างใกล้ชิด โดยระบบดังกล่าวจะต้องเน้นในเรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการควบคุมตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินของสถาบันทางการเงินยักษ์ใหญ่ต่างๆ

- การปฏิรูประบบเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

เมื่อ 75 ปีมาแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังคือ John Maynard Keynes ได้เสนอว่า ระบบเงินทุนสำรองของโลกมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเสถียรภาพทางการเงิน Keynes ได้หวังว่า IMF จะผลักดันให้เกิดระบบเงินทุนสำรองระหว่างประเทศขึ้น เพื่อใช้แทนเงินสกุลดอลลาร์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

- การปฏิรูปสถาบันการเงินโลก

มาตรการสุดท้ายคือ การปฏิรูปสถาบันการเงินโลก โดยเฉพาะการปฏิรูป IMF และธนาคารโลก ที่ผ่านมา IMF มีปัญหามากในเรื่องของระบบธรรมาภิบาล โดย IMF เอง ก็มักจะสร้างเงื่อนไขในการกู้เงิน เงื่อนไขหนึ่งก็คือ ธรรมาภิบาล แต่แปลกมากที่ IMF เองกลับไม่มีธรรมาภิบาลในกลไกบริหารจัดการของ IMF เพราะมีการจัดสรรอำนาจในการลงคะแนนเสียงอย่างลำเอียงให้กับสหรัฐและยุโรป และสหรัฐเป็นเพียงประเทศเดียวที่มี veto power และผู้อำนวยการ IMF ก็ถูกผูกขาดมาจากคนยุโรปมาโดยตลอด

ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการผลักดันการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง ที่ผมอยากจะเรียกว่าเป็น Bretton Woods II ที่ผ่านมา อเมริกาต่อต้านการปฏิรูประบบการเงินโลกมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ผมก็หวังว่า รัฐบาล Obama ซึ่งมีแนวนโยบายเปิดกว้าง อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และการนำไปสู่การปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจังในอนาคตได้

วันจันทร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2552

แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2552

แนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2552
ไทยโพสต์ วันจันทร์ที่ 5 มกราคม 2552 หน้า 4

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนนี้ เป็นตอนต้อนรับปีใหม่ ผมจึงอยากจะวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มสถานการณ์โลกในปี 2552 นี้ โดยเรื่องใหญ่ๆที่เราคงจะต้องจับตาดูกันเป็นพิเศษ ก็มีเรื่องเหล่านี้

วิกฤติเศรษฐกิจโลก

ปีที่แล้ว วิกฤติการเงินโลก ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด และในปีนี้ ผมก็ยังคิดว่า เรื่องนี้ก็จะยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของโลก วิกฤติเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี ปีที่แล้ววิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ได้ลุกลามระบาดไปทั่วโลก รัฐบาล Bush ต้องอัดฉีดเงินกว่า 7 แสนล้านเหรียญ เพื่อกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการระบาด ซึ่งได้ลุกลามระบาดเข้าไปในอุตสาหกรรมต่างๆ ล่าสุด ได้ทำให้บริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐทำท่าว่าจะล้มละลาย

ปีที่แล้ว อาจจะเรียกว่าเป็นปีเผาหลอก ในปีนี้ น่าจะเป็นปีเผาจริง

ภายหลังวิกฤติการเงินลุกลามทั่วโลก ผู้นำโลกตะวันตก ได้ตื่นตัวที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง โดยสหรัฐได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด G 20 ครั้งแรกขึ้น ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมก็ออกมาเป็นที่น่าผิดหวัง เพราะข้อตกลงต่างๆไม่ได้มีลักษณะการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง

สำหรับในปีนี้ คาดว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกจะยังคงลุกลามขยายตัวต่อไป และจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ประเทศต่างๆทั่วโลกคงจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม เงินลงทุนจะหดหาย รวมทั้งตลาดส่งออกและตลาดหุ้นจะตกต่ำอย่างหนัก บางตลาดมูลค่าหุ้นเมื่อปีที่แล้ว หายไปกว่าครึ่ง

ผลกระทบสำคัญของวิกฤติเศรษฐกิจคือ เรื่องการส่งออก และการท่องเที่ยว การถดถอยของอุปสงค์ในตลาดสหรัฐและยุโรป จะส่งผลกระทบอย่างมาก ต่อการส่งออกของทั้งประเทศต่างๆรวมทั้งประเทศไทยด้วย ภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะราคาข้าวโพด มันสำปะหลัง และยางพารา

นอกจากนี้ ระบบการเงินของประเทศต่างๆอาจจะประสบกับปัญหาการขาดสภาพคล่อง ประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาก อาจจะรอดตัว อย่างเช่น เกาหลีใต้ มีเงินทุนสำรองประมาณ 1 แสน 4 หมื่นล้านเหรียญ รัสเซียมีอยู่ 5 แสน 4 หมื่นล้านเหรียญ ประเทศที่มีเงินทุนสำรองมากที่สุดคือ จีน ซึ่งมีกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ แต่สำหรับประเทศที่ไม่มีเงินทุนสำรองเพียงพอ คงหนีไม่พ้นที่จะต้องไปกู้จาก IMF ซึ่งขณะนี้ มีกว่า 10 ประเทศแล้วที่กำลังเจรจาขอกู้จาก IMF อยู่

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศในเอเชีย ซึ่งเคยได้รับบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จึงได้มีมาตรการรับมือ โดยเฉพาะการสำรองเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้เป็นจำนวนมหาศาล มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น การหันมาเน้นกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐ การหันไปกระชับความร่วมมือในลักษณะการรวมกลุ่มทางการค้า และการแสวงหาตลาดทางเลือกอื่นๆเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ วิกฤติเศรษฐกิจโลก อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบการค้าโลก ซึ่งอาจจะนำไปสู่แนวโน้มของการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า โดยธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่า ในปีนี้ ปริมาณการค้าจะหดตัว ซึ่งเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1982 นอกจากนี้ เงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ในปีนี้ จะหดตัวเหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากปริมาณถึง 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2007 ประเทศที่พึ่งพาการส่งออก เศรษฐกิจคงจะถดถอยแน่ หากไม่สามารถกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศได้

จากแนวโน้มดังกล่าว อาจนำไปสู่กระแสการปกป้องทางการค้า โดยมีแนวโน้มที่รัฐบาลประเทศต่างๆอาจจะมีมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรม โดยการช่วยอุดหนุนการส่งออก การตั้งกำแพงภาษี และการลดค่าเงิน แม้กระทั่งในสหรัฐ ก็มีแนวโน้มที่น่ากลัวของกระแสปกป้องทางการค้า ขณะนี้ สภาคองเกรส ซึ่งมีพรรค Democrat ครองเสียงข้างมาก และรัฐบาลใหม่คือ รัฐบาลObama ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรค Democrat ที่มีชื่อเสียงในแนวนโยบายปกป้องทางการค้า ในการที่รัฐบาลสหรัฐจะมาช่วยอุ้มอุตสาหกรรมรถยนต์นั้น ก็จะมีมาตรการในการให้เงินอุดหนุน ซึ่งก็จะเป็นนโยบายปกป้องทางการค้าในทางอ้อม นอกจากนั้น การขาดดุลการค้ามหาศาลกับจีน ก็อาจจะเป็นประเด็นสำคัญในปีนี้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่จะรุนแรงมากขึ้น

นโยบายต่างประเทศของ Obama

สถานการณ์โลกเรื่องที่ 2 ที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษในปีนี้คือ นโยบายต่างประเทศของ Obama ว่าจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างไร

โดยภาพรวมแล้ว Obama มีแนวอุดมการณ์เสรีนิยม มีแนวนโยบายสายพิราบ Obama ได้เน้นว่า นโยบายต่างประเทศจะต้องมีการยกเครื่องใหม่ และมองโลกในแง่ดี และพยายามย้ำเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ และการกอบกู้ชื่อเสียงของสหรัฐ ดังนั้น หาก Obama สามารถบรรลุการปฏิรูปนโยบายต่างประเทศได้จริง ก็น่าจะเป็นผลดีต่อโลก โดยน่าจะทำให้โลกมีเสถียรภาพและสันติภาพมากขึ้น

มีโจทย์ใหญ่สำหรับ Obama หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่อตะวันออกกลาง นโยบายต่ออิรัก อิหร่าน อัฟกานิสถาน สงครามต่อต้านการก่อการร้าย Obama เน้นการกลับไปฟื้นฟูพันธมิตร หุ้นส่วน และสถาบันระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ สำหรับในเอเชีย Obama น่าจะให้ความสำคัญกับเวทีอาเซียนมากขึ้น และสำหรับนโยบายต่อมหาอำนาจอื่นๆโดยเฉพาะกับจีนและรัสเซียนั้น Obama ก็มีแนวโน้มว่า จะลดความตึงเครียดและมีนโยบายปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม ในโลกแห่งความเป็นจริง ผมมองว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย ที่ Obama จะประสบความสำเร็จ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง Obama ได้ขายฝันให้คนอเมริกันและชาวโลก และก็ขายฝันสำเร็จได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่สิ่งที่ยากกว่าการขายฝันคือ การสานฝันให้เป็นจริง อุปสรรคใหญ่ของ Obama คือ วิกฤติเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่คงจะทำให้ Obama ต้องทุ่มเวลาให้กับเรื่องนี้ มากกว่าที่จะมาเน้นการดำเนินนโยบายต่างประเทศในเชิงรุก

ความขัดแย้งตะวันตกกับรัสเซีย : สงครามเย็นภาค 2 ?

สถานการณ์โลกเรื่องที่ 3 ที่คงจะจับตามองเป็นพิเศษในปีนี้คือ ความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับรัสเซีย ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะลุกลามกลับไปเป็นสงครามเย็นภาค 2

ในรอบปีที่ผ่านมา สงครามที่รุนแรงที่สุด คือสงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย รัสเซียคือผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ เพราะจากสงคราม ทำให้รัสเซียมีพลังอำนาจมากขึ้น สามารถใช้กำลังทหารบุกเข้าไปในเขตอิทธิพลเดิม และเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า รัสเซียกำลังกลับขึ้นมาผงาดเป็นอภิมหาอำนาจทางทหารอีกครั้งหนึ่งแล้ว จากสงครามจอร์เจีย รัสเซียได้แสดงให้เห็นเป็นบทเรียนชัดว่า อะไรจะเกิดขึ้นสำหรับประเทศที่ตีตัวออกห่างจากรัสเซีย

รัสเซียมองตะวันตก โดยมีสหรัฐเป็นผู้นำว่า กำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซีย และลดอิทธิพลของรัสเซีย โดยดึงเอาประเทศยุโรปตะวันออกมาเป็นสมาชิก NATO และ EU และขยายอิทธิพลตะวันตกเข้าไปในเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย คือ ยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน เทือกเขาคอเคซัส และเอเชียกลาง รัสเซียไม่พอใจอย่างมาก ที่สหรัฐพยายามดึงเอายูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิก NATO

สำหรับแนวโน้มความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับตะวันตกในปีนี้ คงจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และทำท่าว่าจะคล้ายสงครามเย็นภาค 2 โดยขณะนี้ มีเครื่องบ่งชี้หลายประการ โดยเฉพาะกลุ่มสายเหยี่ยวในโลกตะวันตกมองว่า หากตะวันตกไม่ทำอะไรเลย และปล่อยให้รัสเซียได้รับชัยชนะในสงครามจอร์เจีย ก็จะทำให้รัสเซียได้ใจและก้าวร้าวมากขึ้น และอาจใช้กำลังทหารเข้ารุกรานประเทศเพื่อนบ้านอีก ดังนั้น ตะวันตกจะต้องหาทางลงโทษรัสเซียให้ได้

ตะวันตกกำลังมองว่า อาจจะต้องมีการเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหญ่ จากยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ ไปเป็นยุทธศาสตร์การปิดล้อมและโดดเดี่ยวรัสเซีย

นอกจากนี้ ตะวันตกกำลังหาทางลงโทษและตอบโต้รัสเซีย ด้วยการกีดกันไม่ให้รัสเซียเข้าเป็นสมาชิก WTO และ OECD รวมทั้งไล่รัสเซียออกจากกลุ่ม G 8 รวมทั้งยังมีข้อเสนอที่จะให้ตะวันตกคว่ำบาตรไม่ร่วมกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาวที่รัสเซียจะเป็นเจ้าภาพในปี 2014 ด้วย

การก่อการร้าย

สถานการณ์โลกเรื่องที่ 4 ที่จะต้องจับตามองในปีนี้คือ เรื่องการก่อการร้ายสากล

ปีที่แล้ว สถานการณ์การก่อการร้าย ในช่วงต้นปี มีแนวโน้มทุเลาเบาบางลง แต่ในช่วงปลายปี ก็กลับปะทุระเบิดขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์การก่อการร้ายที่มุมไบ ถือเป็นเหตุการณ์การก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา

การก่อการร้ายที่มุมไบ ได้เป็นเครื่องเตือนให้ชาวโลกตระหนักว่า เรื่องการก่อการร้ายยังไม่จบ และในปีนี้ ก็ต้องเตรียมทำใจว่า อาจเกิดเหตุการณ์การก่อการร้ายครั้งใหญ่อย่างไม่มีใครคาดถึงก็เป็นไปได้ เหตุการณ์ก่อการร้ายมุมไบ จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนผันอีกครั้งหนึ่งในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะกับกลุ่ม al-Qeada ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ดูเหมือนกับว่ากำลังสูญเสียบทบาทลง ดังนั้น หาก al-Qeada ประสบความสำเร็จในการปลุกระดมชาวมุสลิมในอินเดีย ซึ่งมีกว่า 150 ล้านคน ให้เข้าร่วมกับขบวนการหัวรุนแรงมากขึ้น ก็คงจะเป็นฝันร้ายของประชาคมโลก ในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอนาคต

และอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นผลพวงมาจากการก่อการร้ายที่มุมไบคือ ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ความขัดแย้งมีแนวโน้มลดลง แต่จากเหตุการณ์มุมไบ ทำให้อินเดียกล่าวหาปากีสถานว่า มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศอีกครั้งหนึ่ง ในปีนี้ จึงต้องจับตาดูเป็นพิเศษว่า ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศจะสงบลง หรือจะลุกลามใหญ่โตจนเป็นสงคราม จุดอันตรายของสงครามอินเดีย-ปากีสถานก็คือ ทั้งสองประเทศมีอาวุธนิวเคลียร์ ดังนั้น หากสงครามลุกลามกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ก็จะถือเป็นวันหายนะของโลกได้

สรุปสถานการณ์โลกในปี 2551 (จบ)

สรุปสถานการณ์โลกในปี 2551 (จบ)
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 15 วันศุกร์ที่ 2-วันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม 2552 หน้าที่ 25-26

ในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์สรุปสถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมา 5 เรื่องแรกไปแล้ว ในวันนี้จะมาต่อในอีก 5 เรื่องที่เหลือ

6. สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย

สถานการณ์โลก เรื่องที่มีความสำคัญเป็นอับดับ 6 คือ สงครามรัสเซีย-จอร์เจีย ในรอบปีที่ผ่านมา สงครามที่รุนแรงที่สุดคือ สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับจอร์เจีย สงครามครั้งนี้ เกิดขึ้น เมื่อจอร์เจียได้บุกเข้าไปในเขต South Ossetia ในวันที่ 7 สิงหาคม ต่อมาในวันที่ 8 สิงหาคม รัสเซียได้ตอบโต้ ด้วยการส่งทหารหลายพันคนเข้าไปใน South Ossetia และโจมตีที่มั่นทางทหารหลายแห่งในจอร์เจีย ต่อมาความขัดแย้งได้ลุกลามไปในเขต Abkhazia ทางตะวันตกของจอร์เจีย

รัสเซียคือผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ เพราะจากสงคราม ทำให้รัสเซียมีพลังอำนาจมากขึ้น สามารถใช้กำลังทหารบุกเข้าไปในเขตอิทธิพลของรัสเซีย และเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า รัสเซียกำลังกลับขึ้นมาผงาดเป็นอภิมหาอำนาจทางทหารอีกครั้งหนึ่ง รัสเซียได้แสดงให้เห็นเป็นบทเรียนชัดว่า อะไรจะเกิดขึ้นสำหรับประเทศที่ตีตัวออกห่างจากรัสเซีย

รัสเซียมองว่าตะวันตกโดยมีสหรัฐเป็นผู้นำ กำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซีย และลดอิทธิพลของรัสเซีย โดยการดึงเอาประเทศยุโรปตะวันออกมาเป็นสมาชิก NATO และ EU และขยายอิทธิพลตะวันตกเข้าไปในเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย คือ ในยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน เทือกเขาคอเคซัส และเอเชียกลาง รัสเซียไม่พอใจอย่างมาก ที่สหรัฐกำลังพยายามดึงเอายูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิก NATO

Putin มีความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะสถาปนาเขตอิทธิพลของรัสเซียขึ้นมาใหม่ โดยสร้างเครดิตให้กับกองทัพรัสเซีย และพยายามที่จะทำให้เพื่อนบ้านรัสเซียเห็นว่า การเป็นพันธมิตร NATO และการใกล้ชิดกับตะวันตกนั้น ไม่มีความหมาย ในการบุกจอร์เจีย รัสเซียได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การใกล้ชิดกับสหรัฐของจอร์เจีย ไม่สามารถช่วยจอร์เจียได้

ผู้แพ้ในสงครามรัสเซียจอร์เจียคือ ตะวันตก โดยตะวันตกไม่สามารถทำอะไรรัสเซียได้ รัสเซียถือไพ่เหนือกว่า โดยเฉพาะการ black mail ยุโรปตะวันตกในเรื่องการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ตะวันตกจึงไม่กล้าส่งทหารเข้าไปเพื่อสู้รบกับทหารรัสเซีย ตะวันตกจึงไม่สามารถที่จะคานอำนาจหรือปิดล้อมรัสเซียได้

7. การก่อการร้ายในมุมไบ

สถานการณ์การก่อการร้ายซึ่งมีท่าทีว่าจะทุเลาเบาบางลงในช่วงต้นปี กลับปะทุระเบิดขึ้นในช่วงปลายปี โดยเฉพาะเหตุการณ์การก่อการร้ายในมุมไบ ถือเป็นการก่อการร้ายครั้งรุนแรงที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา และผมก็จัดให้เป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับที่ 7

โดยเหตุการณ์ก่อการร้ายเกิดขึ้นในวันที่ 26-27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในอินเดีย ที่เมืองมุมไบซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอินเดีย โดยกลุ่มก่อการร้ายได้เข้าโจมตีโรงแรมชื่อดัง 2 แห่ง รวมทั้งภัตตาคาร สถานีรถไฟ และโรงพยาบาลในช่วงเวลาพร้อมๆกัน มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 200 คน กลุ่มก่อการร้ายที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นตัวการสำคัญคือกลุ่ม Lashkar-e-Taiba กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์กับ Taliban และ al-Qeada

หลังเหตุการณ์มุมไบ ความสัมพันธ์อินเดีย-ปากีสถานก็เข้าขั้นวิกฤติ เพราะอินเดียเชื่อว่าการก่อการร้ายที่มุมไบเป็นฝีมือของกลุ่ม Lashkar ซึ่งมีรัฐบาลปากีสถานรู้เห็นเป็นใจและอาจสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ความตึงเครียดถึงขั้นที่มีชาวอินเดียเสนอให้รัฐบาลใช้กำลังทหารโจมตีปากีสถาน สำหรับทางฝั่งปากีสถานนั้น ประธานาธิบดี Asif Ali Zardari ก็ได้สั่งการให้กองทัพปากีสถานเตรียมพร้อม หลังจากได้รับสัญญาณโดยเฉพาะคำขู่จากรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย

8. การประกาศเอกราชของโคโซโว

สถานการณ์โลกเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 8 ในรอบปีที่ผ่านมาคือ การประกาศเอกราชของโคโซโว

โคโซโวนั้น ในอดีตเป็นจังหวัดหนึ่งของเซอร์เบีย แต่ชาวอัลเบเนียนซึ่งนับถือศาสนาอิสลามเป็นคนกลุ่มใหญ่ และชาวเซอร์บกลายเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ในช่วงทศวรรษ 1990 รัฐบาลเซอร์เบีย ได้ดำเนินมาตรการสนับสนุนชาวเซอร์บ และมีการสังหารชาวอัลเบเนียนนับหมื่นคน จนเมื่อปี 1999 กองกำลัง NATO โดยการนำของสหรัฐ จึงถล่มเซอร์เบีย จนทหารเซอร์เบียต้องถอนออกไปจากโคโซโว และกองกำลัง NATO ได้เข้าควบคุมโคโซโวแทน

ภายหลังสงคราม ตะวันตกพยายามหว่านล้อมให้เซอร์เบียให้เอกราชแก่โคโซโว แต่เซอร์เบียไม่ยอม จนในที่สุด ตะวันตกจึงตัดสินใจให้โคโซโวประกาศเอกราชแต่เพียงฝ่ายเดียวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ให้การรับรองการประกาศเอกราชของโคโซโว แต่ก็มีหลายประเทศคัดค้านไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเซอร์เบีย รัสเซีย และจีน โดยนายกรัฐมนตรีของเซอร์เบียไม่ยอมรับการประกาศเอกราชดังกล่าว สำหรับท่าทีของรัสเซียนั้น ก็คัดค้านการประกาศเอกราช โดยก่อนหน้านี้ รัสเซียได้ประกาศหลายครั้งแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของตะวันตกที่จะให้โคโซโวเป็นเอกราช รัสเซียมองว่า ตะวันตกท้าทายรัสเซียเป็นอย่างมาก เพราะการเดินหน้ารับรองเอกราชของโคโซโวทั้งๆที่รัสเซียประกาศไม่เห็นด้วย ก็เท่ากับเป็นการตบหน้ารัสเซียอย่างแรงนั่นเอง และความไม่พอใจของรัสเซียในเรื่องนี้ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การทำสงครามกับจอร์เจียในเวลาต่อมา

9. วิกฤติทิเบต

สถานการณ์โลกที่มีความสำคัญเป็นลำดับ 9 ในรอบปีที่ผ่านมาคือ วิกฤติทิเบต

ทิเบตเคยเป็นอาณาจักรเก่าแก่ที่ย้อนกลับไปได้นับเป็นพันปี แต่ในปี 1951 จีนได้ส่งทหารเข้ายึดครองทิเบตและผนวกทิเบตเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม ชาวทิเบตก็ไม่ยินยอมที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของจีน และได้มีการต่อต้านตลอดเวลา 60 ปีที่ผ่านมา

การต่อต้านจีนของชาวทิเบตล่าสุด ระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม โดยได้มีการเดินขบวนต่อต้านจีน และการเดินขบวนก็บานปลายกลายเป็นการจลาจล ต่อมารัฐบาลจีนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้เดินขบวน โดยน่าจะมีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน

วิกฤติทิเบตคราวนี้ ถือว่าเป็นวิกฤติที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี และเกิดขึ้นในจังหวะที่จีนจะจัดกีฬาโอลิมปิค ถือเป็นฝันร้ายของรัฐบาลจีน การจัดโอลิมปิคในเดือนสิงหาคม จีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะใช้กีฬาโอลิมปิคเป็นโอกาสทองของจีน ที่จะประกาศศักดาความยิ่งใหญ่และความรุ่งเรืองของจีนต่อสายตาชาวโลก ไม่ใช่กลายเป็นเรื่องการนองเลือดในทิเบต ประเด็นนี้เองที่นับเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลจีนไม่กล้าที่จะทำอะไร เพราะกลัวกระทบกีฬาโอลิมปิค หากไม่มีโอลิมปิค คาดว่าจีนคงใช้กำลังเข้าปราบปรามชาวทิเบตอย่างราบคาบ

10. สงครามอิรัก

สำหรับสถานการณ์โลกในรอบปีที่ผ่านมา เรื่องที่มีความสำคัญเป็นลำดับ 10 คือ สงครามอิรัก ซึ่งหากเทียบกับปีที่แล้ว สงครามอิรักอยู่ในลำดับต้นๆ แต่ในปีนี้ สถานการณ์มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ นับเป็นการครบรอบ 5 ปีของสงครามอิรัก โดยสหรัฐบุกโจมตีอิรักเมื่อเดือนมีนาคมปี 2003 คำถามใหญ่คือ 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาล Bush ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไรในอิรัก

วัตถุประสงค์หลักของการบุกอิรัก มีเหตุผลใหญ่อยู่ด้วยกัน 4 เรื่อง ประการแรก คือ การมองอิรักว่าเป็นส่วนหนึ่งของสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เหตุผลประการที่ 2 คือ ความต้องการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐในตะวันออกกลาง เหตุผลที่ 3 คือ ความต้องการที่จะพัฒนาระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในอิรักและตะวันออกกลาง และเหตุผลประการที่ 4 คือ เรื่องอาวุธร้ายแรง

เรามาดูว่าทั้ง 4 เรื่องนี้ 5 ปีที่ผ่านมา สหรัฐประสบความสำเร็จอย่างไร

เรื่องแรกคือ อาวุธร้ายแรง ในที่สุด ก็ค้นไม่พบอาวุธร้ายแรงในอิรัก ถือเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงและทำให้สหรัฐเสียชื่อมาก

เรื่องที่ 2 คือ การพัฒนาประชาธิปไตย เรื่องนี้ รัฐบาล Bush ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะแทนที่อิรักจะกลายเป็นตัวแบบประชาธิปไตยในตะวันออกกลาง แต่กลับกลายเป็นอิรักลุกเป็นไฟ และกำลังเข้าขั้นจะเป็นสงครามกลางเมืองเข้าไปทุกที

เรื่องที่ 3 คือ สงครามต่อต้านการก่อการร้าย รัฐบาล Bush หวังในตอนแรกว่า การบุกยึดอิรัก จะเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู และจะทำให้สหรัฐประสบชัยชนะในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่ 5 ปีที่ผ่านมา ก็กลับตาลปัตรหมด อิรักกลับกลายเป็นศูนย์กลางของการทำสงครามศาสนา อิรักกลายเป็นศูนย์กลางของกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงทั่วโลก

สำหรับวัตถุประสงค์อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้สหรัฐบุกอิรักคือ ความต้องการครองความเป็นเจ้า ขยายอิทธิพลครอบงำตะวันออกกลาง สำหรับวัตถุประสงค์ข้อนี้ สหรัฐก็ล้มเหลวอีกเช่นกัน เพราะ 5 ปีที่ผ่านมา อิทธิพลของสหรัฐในตะวันออกกลางกลับลดลง และในทางกลับกัน อิหร่านซึ่งเป็นตัวแสดงสำคัญที่ต้องการผงาดขึ้นเป็นเจ้าในภูมิภาค และอิทธิพลของอิหร่านก็กลับเพิ่มขึ้น