Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

สถานการณ์การก่อการร้ายปี 2009

ลงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 33 วันศุกร์ที่ 8 - วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2552

เมื่อไม่กี่วันมานี้ รัฐบาลสหรัฐได้เผยแพร่เอกสารรายงานการประเมินสถานการณ์การก่อการร้ายสากลล่าสุด คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้นำเอกสารรายงานดังกล่าวมาสรุปวิเคราะห์ดังนี้

Al-Qaeda

โดยภาพรวมแล้ว รายงานพยายามชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการก่อการร้ายที่ลดลง โดยเฉพาะเครือข่าย Al-Qaeda ได้ลดบทบาทลง อย่างไรก็ตาม Al-Qaeda ยังคงเป็นภัยการก่อการร้ายที่สำคัญที่สุด ต่อสหรัฐและพันธมิตร โดย Al-Qaeda หลังจากถูกปรามปรามอย่างหนักในช่วงหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ แต่ปัจจุบัน ได้กลับมารวมตัวกันใหม่ และมีฐานที่มั่นใหม่อยู่ในบริเวณพรมแดนอัฟกานิสถานและปากีสถานโดยได้มีการทดแทนผู้นำที่ถูกจับกุมและสังหารไป และได้ใช้ฐานที่มั่นในการหลบซ่อน ฝึกผู้ก่อการร้ายรุ่นใหม่ และใช้เป็นศูนย์กลางในการติดต่อกับเครือข่ายทั่วโลก รวมทั้งใช้เป็นสถานที่ในการวางแผน การโจมตี การก่อวินาศกรรม และส่งผู้ก่อการร้ายเข้าก่อวินาศกรรมในอัฟกานิสถาน

สำหรับสถานการณ์ของกลุ่มก่อการร้ายเครือข่ายAl-Qaedaในอิรักนั้น ซึ่งเราเรียกว่า Al-Qaeda in Iraq หรือ AQI ภัยคุกคามก็ลดลง โดยดัชนีชี้วัดที่สำคัญของ AQI คือ ระเบิดฆ่าตัวตาย ซึ่งได้ลดลงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา

สำหรับสถานการณ์ในโซมาเลีย ในปลายปี 2006 เอธิโอเปียได้ส่งทหารเข้าไปในโซมาเลียเข้าไปเพื่อปราบปรามกลุ่ม Al-Qaeda อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2007 ผู้นำ Al-Qaedaได้เรียกร้องให้มีการทำสงครามศาสนา เพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากชาวมุสลิมในโซมาเลีย เพื่อต่อสู้กับกองกำลังของเอธิโอเปีย และการโจมตี การก่อวินาศกรรมของกลุ่มก่อการร้าย ก็ยังคงมีมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

สำหรับกลุ่ม Al-Qaeda in Yemen ในช่วงที่ผ่านมาได้โจมตีเป้าหมายของรัฐบาลเยเมนและสหรัฐหลายครั้ง เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนกันยายน ปีที่แล้ว โดยเป็นการก่อวินาศกรรมที่สถานทูตสหรัฐในเยเมน ทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 18 คน สำหรับ Al-Qaeda อีกกลุ่มหนึ่งคือ Al-Qaeda in Islamic Maghreb (AQIM) ก็ได้มีความเคลื่อนไหวในการสร้างเครือข่ายการก่อการร้าย โดยเฉพาะใน อัลจีเลียและทางตอนเหนือของทวีปอัฟริกา

Taliban

กลุ่มก่อการร้ายที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่ม Taliban ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มบทบาทมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการเข้าควบคุมดินแดนในอัฟกานิสถานและปากีสถาน Taliban ได้โจมตีกองกำลังสหรัฐและนาโต้มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และนักรบ Taliban ได้โจมตีและรุกคืบเข้าไปในบริเวณพรมแดนระหว่างปากีสถานและอัฟกานิสถาน โดย Talibanได้รุกคืบเข้าไปในหุบเขา Swat ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวงของปากีสถานคือ กรุง Islamabad

อิหร่าน

ในรายงานดังกล่าวของรัฐบาลสหรัฐ ได้กล่าวโจมตีอิหร่านว่า เป็นประเทศที่ ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายที่สำคัญที่สุด และการที่อิหร่านสนับสนุนการก่อการร้าย ได้ทำให้ความพยายามที่จะแก้ปัญหาการก่อการร้ายนั้นสะดุด โดยทางสหรัฐได้กล่าวหาว่า อิหร่านได้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่มด้วยกัน อาทิ กลุ่ม Hizballah ในเลบานอน กลุ่มก่อการร้ายปาเลสไตน์ ได้แก่ กลุ่ม HAMAS และกลุ่ม Palestinian Islamic Jihad นอกจากนี้ อิหร่านยังสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายนิกายชีอะห์ในอิรัก รวมทั้งสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรงในอัฟกานิสถาน และในคาบสมุทรบอลข่าน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานของรัฐบาลสหรัฐ ได้ประเมินสถานการณ์การก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า นับตั้งแต่เหตุการณ์ 11 กันยาฯ มาตรการต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาลต่าง ๆ ในภูมิภาค ได้ทำให้กลุ่ม Jemaah Islamiya หรือกลุ่ม JI และกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ อ่อนแอลง มาตรการก็มีทั้งการบังคับใช้กฎหมาย งานข่าวกรอง และการจับกุม และได้มีความร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น รวมทั้งการสนับสนุนจากสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม 6 ปีหลังจากเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมที่เกาะบาหลีเมื่อปี 2002 กลุ่มก่อการร้าย JI ถึงแม้จะอ่อนแอลง แต่ก็ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะโจมตีผลประโยชน์ของสหรัฐและตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถานการณ์ความขัดแย้งทางใต้ของฟิลิปปินส์ ระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่ม Moro Islamic Liberation Front ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ล่าสุด ยังคงมีความรุนแรงเพิ่มยิ่งขึ้นในเกาะมินดาเนา สำหรับสหรัฐ ก็สนับสนุนกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่ม Moro รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาบริเวณที่เสี่ยงต่อการก่อการร้าย และสหรัฐพยายามที่จะโดดเดี่ยวกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ ในฟิลิปปินส์ ซึ่งรวมถึง JI และ Abu Sayyaf ด้วย ล่าสุด ฝ่ายทหารฟิลิปปินส์พยายามที่จะทำลายฐานที่มั่นของขบวนการการก่อการร้ายในหมู่เกาะซูลู และทางตอนกลางของเกาะมินดาเนา
สำหรับสถานการณ์การก่อการร้ายในอินโดนีเซียมีแนวโน้มดีขึ้น โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้พยายามใช้ไม้แข็ง เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประหารชีวิตผู้ก่อการร้ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อวินาศกรรมที่เกาะบาหลี นอกจากนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้ดำเนินมาตรการทางกฎหมายกับสมาชิกของกลุ่มก่อการร้ายที่มีชื่อว่า Palembang Cell

ไทย

ในรายงานของรัฐบาลสหรัฐ ได้วิเคราะห์สถานการณ์การก่อการร้ายในไทยด้วย โดยได้กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐในการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นไปด้วยดี สำหรับสถานการณ์ในภาคใต้นั้น เจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทยและสหรัฐได้แสดงความเป็นห่วงกังวล ถึงแนวโน้มที่กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติอาจจะเข้ามามีบทบาทและร่วมมือกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า กลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ ได้เข้ามามีบทบาทในปัญหาภาคใต้ของไทยโดยตรง และยังไม่มีหลักฐานถึงการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทยกับเครือข่ายการก่อการร้ายในภูมิภาค
ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไทยได้เข้าร่วมในการลาดตระเวนช่องแคบมะละการ่วมกับอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนี้ ไทยยังได้ร่วมมือกับสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ในการปฏิเสธไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายใช้ไทยเป็นฐานที่มั่น ในอดีตไทยเคยถูกใช้เป็นทางผ่านของขบวนการก่อการร้ายในภูมิภาค หลักฐานสำคัญคือการจับกุม ฮัมบาลี ผู้นำของกลุ่ม JI เมื่อปี 2003

สรุป

จะเห็นได้ว่า เอกสารรายงานประเมินสถานการณ์การก่อการร้ายปี 2009 ของรัฐบาลสหรัฐ โดยภาพรวมมองว่า การก่อการร้ายมีแนวโน้มลดลง
แต่ผมมองว่า รัฐบาลสหรัฐเขียนเข้าข้างตนเองมากเกินไป โดยพยายามจะโยงว่าการลดลงของการก่อการร้าย คือความสำเร็จของการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐ
ผมยังไม่มั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่า การก่อการร้ายจะมีแนวโน้มลดลงจริงหรือไม่ มี 2 เรื่องที่ดูเหมือนสหรัฐได้มองข้ามไป แต่เป็นตัวชี้วัดสำคัญ ที่จะชี้ให้เห็นว่า การก่อการร้ายอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต
เรื่องที่หนึ่ง การก่อการร้ายที่มุมไบเมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์การก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา การก่อการร้ายที่มุมไบเป็นเครื่องเตือนให้ชาวโลกตระหนักว่า เรื่องการก่อการร้ายยังไม่จบ การก่อการร้ายที่มุมไบจึงเป็นจุดเปลี่ยนผ่านอีกครั้งหนึ่งในสงครามการก่อต้านการก่อการร้ายโดยเฉพาะกับกลุ่ม Al-Qaeda โดยหากAl-Qaeda ประสบความสำเร็จในการปลุกระดมชาวมุสลิมในอินเดีย ซึ่งมีกว่า 150 ล้านคน ให้เข้าร่วมกับขบวนการหัวรุนแรงมากขึ้น ก็คงจะเป็นฝันร้ายของประชาคมโลกในสงครามการต่อต้านการก่อการร้ายในอนาคต

เรื่องที่สองคือ บทบาทของกลุ่มตาลีบันที่กำลังเพิ่มบทบาทขึ้นอย่างน่ากลัว ทั้งในปากีสถานและอัฟกานิสถาน สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ การรุกคืบของตาลีบันในปากีสถาน ซึ่งขณะนี้ได้เข้าไปบุกยึดหุบเขา Swat ซึ่งอยู่ห่างจากกรุง Islamabad เพียง 100 กิโลเมตรเท่านั้น ฝันร้ายของมนุษยชาติอาจเกิดขึ้น หากตาลีบันสามารถเข้ายึดกรุง Islamabad ได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการยึดอำนาจรัฐของปากีสถานแต่ปากีสถานมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากอาวุธนิวเคลียร์ตกอยู่ในมือของนักรบตาลีบัน ก็จะเป็นสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างมาก

ไม่มีความคิดเห็น: