Follow prapat1909 on Twitter

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

นโยบายของสหรัฐต่อเอเชียปี 2009

ลงในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
วันศุกร์ที่ 19 - พฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน 2552

นโยบายของสหรัฐต่อเอเชียปี 2009

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา Dr. Kurt Campbell อธิบดีคนใหม่ของกรมกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้แถลงนโยบายล่าสุดของสหรัฐต่อเอเชียให้แก่คณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้วิเคราะห์คำแถลงดังกล่าวดังนี้

ภาพรวม

ในตอนต้นของการแถลง Campbell ได้เน้นย้ำว่า สหรัฐนั้นเป็นประเทศในแปซิฟิค (Pacific Nation) ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ทหาร การทูตและเศรษฐกิจ และได้ย้ำว่า การเดินทางเยือนเอเชียของ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายของรัฐบาล Obama ที่ต้องการจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค Campbell ได้ย้ำว่า เขาจะเดินหน้านโยบายปฏิสัมพันธ์กับเอเชียทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี

ผมมองว่า การแถลงนโยบายของ Campbell ข้างต้น เป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความพยายามของรัฐบาล Obama ที่ต้องการจะปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศใหม่ โดย keyword ที่สำคัญที่ Campbell ใช้ตลอดการแถลงนโยบาย คือคำว่า engagement (ปฏิสัมพันธ์) ผมดูภาพรวมเนื้อหานโยบายทั้งหมด เห็นได้ชัดว่า นโยบายต่างประเทศของรัฐบาล Obama มีลักษณะที่รัฐศาสตร์การทูตเรียกว่า อุดมคตินิยม (Idealism) ซึ่งเป็นแนวนโยบายหลักของกลุ่มที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมในสหรัฐ หัวใจของแนวคิดนี้คือ การมองโลกในแง่ดี และเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ผมดูเนื้อหานโยบายแล้ว ทำให้หวนนึกถึงนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล Bill Clinton ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ก็ได้บอกเราหลายครั้งว่า ในที่สุด แนวนโยบายอุดมคตินิยมก็จะเจออุปสรรคนานานัปการ ทั้งนี้เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้เป็นโลกของอุดมคตินิยม แต่กลับเป็นโลกของสัจจนิยม (Realism) ที่เน้นในเรื่องของการต่อสู้แข่งขันเพื่ออำนาจและความขัดแย้งระหว่างประเทศ ดังนั้นผมก็เป็นห่วงว่า นโยบายที่มองโลกในแง่ดีของรัฐบาล Obama อาจจะอยู่ได้ไม่นาน และในที่สุด ก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริง

พันธมิตร

Campbell ได้กล่าวถึงพันธมิตรหลัก ๆ ของสหรัฐในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย และย้ำว่า พันธมิตรดังกล่าวจะเป็นเสาหลักของนโยบายปฏิสัมพันธ์ รัฐบาล Obama จะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรให้แน่นแฟ้นมากขึ้น

เกาหลีเหนือ

ประเด็นร้อนที่สุดในภูมิภาค ขณะนี้คือ ปัญหาเกาหลีเหนือ โดยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ถือเป็นหุ้นส่วนสำคัญ ในความพยายามที่จะทำให้เกาหลีเหนือยุติการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ผ่านกระบวนการเจรจา 6 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ เกาหลีเหนือกลับถอยห่างจากกระบวนการยุติอาวุธนิวเคลียร์ โดยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม เกาหลีเหนือได้ทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งที่สอง ดังนั้น สหรัฐจึงจะร่วมมือกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ สหรัฐและพันธมิตรจะไม่ยอมรับการที่เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ โดยจะร่วมมือกับจีนในการประสานนโยบาย สหรัฐขอตอกย้ำว่า สหรัฐจะยึดมั่นในพันธกรณีที่จะปกป้องพันธมิตรของสหรัฐ

วิกฤตเศรษฐกิจ

Campbell ได้กล่าวต่อว่า เรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วนที่สุดเรื่องหนึ่ง คือ การกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจโลก 4 เศรษฐกิจในเอเชีย คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ถือเป็นคู้ค้าอันดับต้น ๆ ของสหรัฐ และสมาชิกของ APEC ก็นำเข้าสินค้าของสหรัฐคิดเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกของสหรัฐทั้งหมด การมีตัวแทนของเอเชียใน APEC WTO และ G20 ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจในเอเชีย และการเป็นแกนกลางของการส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคี และการกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ สหรัฐจะร่วมมือกับประเทศในเอเชียเพื่อที่จะลดผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Campbell ได้กล่าวถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า มีโอกาสของการขยายการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับภูมิภาคนี้ โดยกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะนี้เป็นตลาดส่งออกอันดับสองของสหรัฐในเอเชีย (รองจากจีน) โดยมีมูลค่าถึง 68,000 ล้านเหรียญ และอาเซียนเป็นภูมิภาคที่สหรัฐลงทุนมากที่สุด โดยมีเม็ดเงินถึง 130,000 ล้านเหรียญ และโดยที่ขณะนี้อาเซียนกำลังเดินหน้าไปสู่การจัดตั้งประชาคมอาเซียน และการจัดตั้งตลาดร่วม จึงเป็นที่คาดว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอาเซียนจะเพิ่มขึ้นมากในอนาคต สหรัฐเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนเป็นระยะเวลายาวนานเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 แล้ว และการที่อาเซียนได้มีการใช้กฎบัตรอาเซียนใหม่ ก็จะเป็นกรอบที่ทำให้ความร่วมมือในภูมิภาคกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น ดังนั้น สหรัฐจึงจะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่เพื่อสอดรับพัฒนาการของอาเซียน โดยเฉพาะการเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนให้มากขึ้นในอนาคต

สำหรับนโยบายของสหรัฐต่ออาเซียนนั้น ผมมองว่า คำแถลงของ Campbell เป็นการตอกย้ำและสานต่อแนวนโยบายของ Obama ซึ่งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศนโยบายใหม่ต่อเอเชีย โดยจะหันมาเน้นพหุภาคีนิยม แทนที่ทวิภาคีนิยม ซึ่งเป็นแนวนโยบายของสหรัฐในอดีต ดังนั้นจึงมีแนวโน้มชัดเจนว่า สหรัฐกำลังให้ความสำคัญต่ออาเซียนมากขึ้น และในอนาคต ก็คงจะเห็นมาตรการต่าง ๆที่เป็นรูปธรรมในการปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนเพิ่มมากขึ้น

สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น Campbell ได้เน้น 3 ประเทศ คือ ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
สำหรับ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ สหรัฐก็ร่วมมือกับรัฐบาลฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิด ในการจัดการกับปัญหาการก่อการร้าย
สำหรับ ไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ และมีสถานะเป็นพันธมิตรนอกนาโต้ ก็เป็นฐานสำคัญของสหรัฐในการดำเนินนโยบายต่อภูมิภาค และในขณะที่ไทยกำลังอยู่ในวิกฤติและความตึงเครียดทางการเมือง และการส่งเสริมสถาบันประชาธิปไตย สหรัฐก็พร้อมที่จะสนับสนุนและส่งความปรารถนาดีเพื่อให้ไทยฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆไปได้
และสำหรับอินโดนีเชีย รัฐบาลสหรัฐได้เจรจากับทางฝ่ายอินโดนีเชียในการผลักดันกรอบหุ้นส่วนที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ (Comprehensive Partnership) ซึ่ง Hillary Clinton ได้เคยหารือกับผู้นำอินโดนีเชียและรัฐมนตรีต่างประเทศ Wirajuda ของอินโดนีเซีย โดย Campbell เน้นว่า ในอนาคตความสัมพันธ์กับอินโดนีเซียจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

สำหรับในประเด็นพันธมิตรของสหรัฐในอาเซียนนั้น ผมมองว่า Campbell ได้ตอกย้ำพันธมิตรเก่าของสหรัฐ คือ ไทยกับฟิลิปปินส์ และที่มาแรงมาก ๆ ก็คือ อินโดนีเซีย ซึ่งคงจะต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอินโดนีเซียในอนาคต ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภูมิภาคและอาเซียนโดยรวม

สำหรับปัญหาพม่า Campbell ได้กล่าวย้ำถึงสิ่งที่ Hillary Clinton ได้พูดไว้ตอนเยือนอินโดนีเซียว่า นโยบายคว่ำบาตรของสหรัฐก็ไม่ได้ผล ในขณะเดียวกัน นโยบายปฏิสัมพันธ์ของอาเซียนก็ไม่ได้ผลเช่นกัน ดังนั้น ในขณะนี้รัฐบาล Obama กำลังทบทวนทางเลือกนโยบายใหม่ เพื่อหาหนทางที่มีประสิทธิภาพที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองในพม่า ซึ่งเราก็คงจะต้องจับตาดูว่า นโยบายใหม่ของสหรัฐต่อปัญหาพม่าจะเป็นอย่างไร

จีน

ประเทศสุดท้ายที่ Campbell กล่าวถึงคือ จีน ซึ่ง Campbell กล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน- สหรัฐนั้น ถือเป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ก็มีความสลับซับซ้อนและมีพัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว โดย Campbell ได้บอกว่า จะสานต่อนโยบายของรัฐบาล Obama ที่ต้องการขยายความร่วมมือกับจีนในทุก ๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม นโยบายของสหรัฐต่อจีนนั้น ก็คงจะต้องเน้นการหารืออย่างตรงไปตรงมาและโปร่งใส โดยเฉพาะในเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกัน และ Campbell ก็สรุปในตอนท้ายว่า จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในจีนต่อไป รวมทั้งในเรื่องปัญหา
ธิเบตด้วย

สำหรับในเรื่องนโยบายสหรัฐต่อจีนนั้น ผมมองว่า คำแถลงของ Campbell เป็นการตอกย้ำและสานต่อนโยบายของ Obama ที่ต้องการลดความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้า และการปิดล้อม และหันมาเน้นนโยบายปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของอุดมการณ์เสรีนิยม ที่เป็นปรัชญาหลักของนโยบายต่างประเทศ Obama ในขณะนี้

ไม่มีความคิดเห็น: