Follow prapat1909 on Twitter

วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความขัดแย้งจีน – สหรัฐฯ ปี 2010 (ตอน 3 )

ความขัดแย้งจีน – สหรัฐฯ ปี 2010 (ตอน 3 )
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 24 วันศุกร์ที่ 5 - วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2553 หน้า 32-33

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เรื่องความขัดแย้งจีนกับสหรัฐฯ ตอนที่ 2 ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาทิเบต คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ถึงความขัดแย้งในอีกมิติหนึ่งในคือความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ

ภาพรวม

ขณะนี้ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ โดยสหรัฐฯได้กล่าวหาว่า จีนได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐฯมหาศาล และสาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากค่าเงินหยวนของจีน ซึ่งมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องการเปิดตลาดโดยทางฝ่ายสหรัฐฯได้โจมตีจีนมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องเกี่ยวกับการเปิดตลาดของจีน และอุปสรรคในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการจัดจำหน่ายสินค้าในจีน มาตรการกีดกันที่มิใช่ภาษี และมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ
นอกจากนี้ สหรัฐฯยังได้โจมตีจีนอย่างหนักในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และประเด็นความขัดแย้งด้านพลังงาน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ทั้งสองประเทศขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ จีนใช้ทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ได้น้ำมันจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งจากประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐฯ เช่น อิหร่าน ความพยายามของจีนที่จะซื้อบริษัทน้ำมันของสหรัฐฯ คือบริษัท UNOCAL ก็ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากสภาคองเกรส
ในส่วนของจีน เมื่อในเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงพาณิชย์จีนก็ได้ออกแถลงการณ์การโจมตีสหรัฐฯว่ากำลังมีมาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มมากขึ้น และจีนก็ตกเป็นเหยื่อของมาตรการที่ไม่เป็นธรรม ทั้งสองประเทศขณะนี้กำลังทำสงครามการค้าโดยการขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าของกันและกัน

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯในขณะนี้คือ เรื่องของการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้เข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ( Treasury bond) ซึ่งทำให้จีนกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ จึงทำให้ความสัมพันธ์มีลักษณะพัวพันกันหลายเรื่อง และมีลักษณะที่สหรัฐฯต้องพึ่งพาจีน จีนก็ต้องพึ่งพาสหรัฐฯ โดยจีนนั้นได้ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มีมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญ จึงทำให้จีนถือครองเงินดอลลาร์อยู่เป็นจำนวนมาก การถือครองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2001 จีนถือครองเงินดอลลาร์เพียง 1 แสนล้านเหรียญ แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านล้านเหรียญโดยที่จีนได้มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงทำให้จีนต้องใช้เงินทุนสำรองดังกล่าวไปในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำให้เงินหยวนมีค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย
ขณะนี้ จึงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในสหรัฐฯว่า หากจีนจะขายทิ้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่จีนถือครอง จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ในประเด็นนี้ ยังมีการถกเถียงกันอยู่ แต่จากการศึกษาแนวโน้ม จะเห็นได้ถึงการเพิ่มขึ้นของการพึ่งพาอาศัยกันและกันทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสอง โดยสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเป็นจำนวนมาก ในขณะที่จีนก็เข้ามาช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
แต่แนวโน้มในอนาคตคือ สหรัฐฯจะขาดดุลงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า อาจจะขาดดุลถึง 9 ล้านล้านเหรียญ (ในปี 2010 ขาดดุลอยู่ประมาณ 1.6 ล้านล้านเหรียญ)ดังนั้น หากจีนขายทิ้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะเกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงิน และจะกระทบต่อค่าเงินของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การที่จีนจะขายทิ้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จีนก็อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย แต่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า จีนจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แต่ดูเหมือนกับว่าจีนจะมองว่า ดุลยภาพของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ จีนกำลังได้เปรียบสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้จีนมีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ

ค่าเงินหยวน

ตามที่ผมได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า สหรัฐฯมองว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลคือ การที่เงินหยวนของจีนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง โดยทางฝ่ายสหรัฐฯประเมินว่าค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 40 % จึงทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาถูก และนำไปสู่การที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ามหาศาลกับจีน ถึงแม้ว่าจีนจะได้ประกาศเพิ่มค่าเงินหยวนไปบ้างแล้ว แต่ก็เพิ่มขึ้นน้อยมากเพียง 2 %

ในปี 2000 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีน มีมูลค่า 84,000 ล้านเหรียญ แต่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากโดยในปีที่แล้วคือในปี 2009 สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนมากถึง 227,000 ล้านเหรียญ โดยสหรัฐฯขาดดุลกับจีนคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯกับทั่วโลก ทั้งนี้ความไม่สมดุลทางการค้าได้สะท้อนออกมาในเรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งสหรัฐขาดทุนเงินบัญชีเดินสะพัดถึง 800,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่จีนเกินดุลเงินบัญชีเดินสะพัดเกือบ 300,000 ล้านเหรียญในปี 2009 และในอนาคต แนวโน้มก็จะยิ่งหนักขึ้นไปอีก คือในปี 2011 จีนจะได้ดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 500,000 ล้านเหรียญ
ทางฝ่ายสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมาย Omnibus Trade and Competitiveness Act ปี 1988 กำหนดว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะต้องทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อพิจารณาว่า รัฐบาลดังกล่าวมีนโยบายแทรกแซงและทำให้ค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ ในปีนี้กระทรวงการคลังจะต้องรายงานภายในวันที่ 25 เมษายน จึงเป็นไปได้ว่า จีนคงจะเพิ่มค่าเงินหยวนประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้จากกฎหมายดังกล่าว โดยสภาคองเกรสได้พยายามผลักดันมาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อตอบโต้จีนโดยจะมีมาตรการทั้งการจำกัดการนำเข้า และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อจีน

ไม่มีความคิดเห็น: