Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโลก

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโลก
สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 26 วันศุกร์ที่ 19 – วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2553

ทุกๆ ปี ทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ จะเผยแพร่รายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก สำหรับในปีนี้ เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าว สรุปประมวลสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในปีที่แล้ว ซึ่งครอบคลุมประเทศต่างๆ ถึง 194 ประเทศ ผมมองว่า รายงานฉบับนี้มีความสำคัญ ถึงแม้ว่ารายงานดังกล่าวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะจากประเทศที่ถูกสหรัฐโจมตี เราต้องยอมรับว่าสหรัฐคงจะใช้รายงานดังกล่าวเป็นเครื่องมือของนโยบายต่างประเทศ และสหรัฐคงจะมีวาระซ่อนเร้น โดยเน้นโจมตีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมองว่า รายงานดังกล่าวมีข้อมูลที่น่าสนใจ คือได้รวบรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกไว้อย่างละเอียด จริงๆ แล้ว รายงานในลักษณะนี้ควรจะถูกจัดทำขึ้นโดย UN แต่ UN เองก็มีปัญหา เพราะประเทศเผด็จการมักจะพยายามเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของ UNและพยายามขัดขวางไม่ให้ UN มีบทบาทในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ทาง NGO ก็มีการจัดทำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ครอบคลุมเท่ากับรายงานของรัฐบาลสหรัฐ

ภาพรวม

ในรายงานดังกล่าวได้มีการมองถึงแนวโน้มสำคัญ 3 เรื่อง
เรื่องที่หนึ่ง ในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีความขัดแย้งและสงครามเกิดขึ้นกว่า 30 แห่ง และสงครามเหล่านี้ ก็มักจะเป็นบ่อเกิดของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
เรื่องที่สอง เป็นแนวโน้มที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น โดยเฉพาะจากเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น อินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ได้เพิ่มการเข้าควบคุมเสรีภาพในอินเทอร์เน็ตมากขึ้นด้วย
ส่วนเรื่องที่สาม คือการที่มีแนวโน้มของการที่รัฐบาลจะใช้กฎหมายความมั่งคงในภาวะฉุกเฉินเพื่อมาริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สงครามในรายงานดังกล่าว ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับความขัดแย้งและสงครามซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิทธิมนุษยชน โดยประเทศที่มีปัญหาในเรื่องนี้มีดังนี้

อัฟกานิสถาน : สถานการณ์ความมั่นคงในอัฟกานิสถานได้เลวร้ายลงเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย สงครามได้ขยายตัวออกไปครอบคลุมเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ ในรอบปีที่ผ่านมา ผลจากการก่อการร้ายทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตไปกว่า 2,400 คน

พม่า : ซึ่งก็มีปัญหาในการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการใช้กำลังทางทหารโจมตีชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มกะเหรี่ยง และไทยใหญ่ในรัฐฉาน

คองโก : สงครามกลางเมืองในคองโกกำลังลุกลามขยายตัวเป็นสงครามใหญ่ ปีที่แล้ว มีพลเรือน ประชาชนเสียชีวิตไปกว่า 1,000 คน และยังมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องย้ายถิ่นฐานอีกหลายแสนคน

อิสราเอล : ความขัดแย้งในรอบปีที่ผ่านมาอีกเรื่องคือ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ โดยได้มีการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา อิสราเอลได้โจมตีฉนวนกาซาอย่างหนัก ทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 1,400 คน ในจำนวนนี้เป็นพลเรือนประมาณ 1,000 คน

ไนจีเรีย : กองกำลังทหารไนจีเรียได้มีการวิสามัญฆาตกรรมและใช้กำลังปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ที่มีชื่อว่า Boko Haram โดยเฉพาะการสู้รบกันทางตอนเหนือของประเทศ ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตไปเกือบ 1,000 คน

ปากีสถาน: ก็เป็นอีกประเทศที่มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกิดมาจากการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มก่อการร้าย โดยมีกรณีทั้งวิสามัญฆาตกรรม การสูญหาย และการทรมาน ทำให้พลเมืองเสียชีวิตไปเกือบ 1,000 คน

รัสเซีย : สถานการณ์ในเขตเทือกเขาคอเคซัสเลวร้ายลงเรื่อยๆโดยรัฐบาลต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน โดยเฉพาะในเขต Chechnya, Ingushetia และ Dagestan ซึ่งมีกรณีของวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ซูดาน: ความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตดาร์ฟูร์ ก็ยังคงมีอยู่ต่อไป แม้ว่าจะได้มีการทำข้อตกลงสันติภาพดาร์ฟูร์มาตั้งแต่ปี 2006 แล้วก็ตาม โดยตั้งแต่เกิดความขัดแย้งมาตั้งแต่ปี 2003 ประชาชนเกือบ 3,000,000 คนต้องย้ายถิ่นฐาน และมี ประมาณ 2,500,000 คนที่ลี้ภัยอยู่ในทางตะวันออกของ Chad มีการประเมินว่า มีผู้เสียชีวิตไปกับสงครามดาร์ฟูร์แล้วกว่า 300,000 คน

เสรีภาพ
แนวโน้มที่สองของสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา คือการที่รัฐบาลลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีกรณีที่สำคัญดังนี้

จีน : ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้เพิ่มมาตรการในการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต มีการบล็อกเว็บไซต์ต่างๆ การเซนเซอร์ และการลงโทษผู้ละเมิดกฎเกณฑ์ของรัฐบาล รัฐบาลจีนได้ใช้บุคลากรหลายพันคน ในการควบคุม สอดส่องการใช้อินเทอร์เน็ตของชาวจีน โดยได้มีการปิดเว็บไซต์ไปกว่า 1,250 เว็บ และรัฐบาลได้บล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์ของต่างประเทศ (ในช่วงต้นปีนี้ ก็มีเรื่องเกิดขึ้นกับ google ซึ่งประกาศจะถอนตัวจากจีน)

อิหร่าน : สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในอิหร่านเสื่อมทรามไปมากในปีที่แล้ว โดยได้มีปัญหาตั้งแต่เดือนมิถุนายนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ถูกมองว่าไม่บริสุทธิ์และยุติธรรม โดยได้มีชาวอิหร่านหลายแสนคนออกมาเดินขบวนประท้วง แต่ก็ได้ถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างรุนแรง และได้มีการจับกุมผู้เดินขบวนกว่า 4,000 คน

เกาหลีเหนือ : เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก โดยชาวเกาหลีเหนือถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในทุกๆด้าน โดยได้มีการวิสามัญฆาตกรรม การจับกุมนักโทษทางการเมือง และรัฐบาลควบคุมข้อมูลข่าวสารในทุกๆด้าน

รัสเซีย : ในช่วงปีที่ผ่านมา รัสเซียมีปัญหาในเรื่องของการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อ โดยรัฐบาลได้เข้าควบคุมสื่อของรัฐ กดดันสื่อต่างๆ ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และมีการข่มขู่ผู้สื่อข่าวถึงขั้นได้มีการสังหารนักสิทธิมนุษยชนและผู้สื่อข่าวไปหลายคน

เวเนซุเอลา: มีปัญหาในเรื่องของการลิดรอนสิทธิของสื่อ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ถูกปิดไปกว่า 30 แห่ง และผู้สื่อข่าวเกือบ 200 คนถูกข่มขู่

เวียดนาม : มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลได้เพิ่มการจับกุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ผู้สื่อข่าวถูกคุกคามหลังจากทำรายงานข่าวเกี่ยวกับการคอรัปชั่น รัฐบาลเวียดนามกำลังควบคุมสอดส่องการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด

กลุ่มผู้ด้อยโอกาส

แนวโน้มที่สามของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปีที่ผ่านมา คือการคุกคามกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่างๆ อาทิ ชนกลุ่มน้อย สตรีและเด็ก โดยมีตัวอย่างดังนี้

จีนได้มีการปราบปรามชาวทิเบตและชาว Uighurs โดยภายหลังการจลาจลในเมือง Urumqi เมืองหลวงของแคว้นซินเจียง รัฐบาลจีนได้ปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ชาว Uighurs ถูกจับกุมและสังหารเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับชาวทิเบต ก็มีกรณีวิสามัญฆาตกรรม การจับกุมและการทรมาน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เกิดขึ้นในอียิปต์ ที่ได้มีการโจมตีชาวคริสต์ในอียิปต์ ในมาเลเซียมีกรณีของแรงงานต่างชาติซึ่งถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ส่วนในซาอุดิอาระเบีย มีการใช้ความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสตรีเป็นอย่างมาก
กล่าวโดยสรุป สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วทุกมุมโลก และที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มของการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้ลดลง แต่กลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: