ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ : อดีต ปัจจุบัน อนาคต (จบ)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 46 วันศุกร์ที่ 6 - วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม 2553
คอลัมน์โลกทรรศน์ 4 ตอนที่แล้ว ผมได้เขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ ซึ่งได้พูดถึงความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในอดีตจนมาถึงปัจจุบัน คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ จะเป็นตอนที่ 5 และเป็นตอนสุดท้าย โดยจะเขียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐต่อ โดยจะพูดถึงความสัมพันธ์ในอนาคต และเน้นข้อเสนอแนะนโยบายไทยต่อสหรัฐในอนาคต ดังนี้
1. ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคต
สำหรับในอนาคต นโยบายไทยต่อสหรัฐควรจะเป็นไปในทิศทางใดนั้น ก่อนที่จะตอบคำถามนั้นจะต้องวิเคราะห์ถึงระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคตเสียก่อน บริบทของความสัมพันธ์ไทยสหรัฐมีอยู่ 3 เรื่องด้วยกัน
1.1 ระบบ 1 ขั้วอำนาจ
ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน และในอนาคตอันใกล้มีลักษณะ 1 ขั้ว คือ มีสหรัฐเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก ขั้วอำนาจอื่นๆ ยังไม่มีศักยภาพพอที่จะมาแข่งขันกับสหรัฐได้
จากบริบทดังกล่าว ได้แปลมาเป็นยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐ คือ ยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า ซึ่งถือว่า เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุด โดยสหรัฐจะพยายามทุกวิถีทางที่จะครองความเป็นเจ้า ทั้งในระดับโลกและในระดับภูมิภาค ต่อไป ให้ได้ยาวนานที่สุด
1.2 ระบบหลายขั้วอำนาจ
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวมีแนวโน้มว่า โลกกำลังจะเปลี่ยนจากระบบ 1 ขั้ว ไปสู่ระบบหลายขั้วอำนาจ ขั้วอำนาจอื่นๆ อาทิ จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล ประเทศในเอเชีย กลุ่มประเทศอิสลาม แอฟริกา และละตินอเมริกา มีแนวโน้มว่า จะคานอำนาจสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้โลกเป็นระบบหลายขั้วอำนาจในระยะยาว
การผงาดขึ้นมาของจีนนับว่ามีความสำคัญมากที่สุด ในการที่จะทำให้โลกเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ การผงาดขึ้นมาของจีน จึงเป็นบริบทสำคัญอย่างยิ่ง ต่อความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในอนาคต
จากบริบทการก่อตัวขึ้นของระบบหลายขั้วอำนาจและการผงาดขึ้นมาของจีน ได้แปลมาเป็นยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐอีกยุทธศาสตร์หนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน หรือยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน การที่สหรัฐจะครองความเป็นเจ้าอยู่ได้นั้น จะต้องพยายามสกัดกั้นไม่ให้มีคู่แข่งที่จะมาท้าทายการครองความเป็นเจ้า และแย่งตำแหน่งอันดับหนึ่งของสหรัฐไป ซึ่งแนวโน้มในอนาคตคือ จีนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของสหรัฐ
1.3 การปะทะกันทางอารยธรรม
แต่ก็มีความเป็นไปได้อีกแนวทางหนึ่ง ที่ในระยะยาว ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะวิวัฒนาการไปเป็นระบบ 2 ขั้วอำนาจ จากบทวิเคราะห์ของ Samuel Huntington ในหนังสือชื่อ The Clash of Civilizations มองว่า โลกกำลังจะแบ่งเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วตะวันตกกับขั้วที่ไม่ใช่ตะวันตก และความขัดแย้งระหว่าง 2 ขั้วนี้ จะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต คือ แนวโน้มในอนาคต ที่ระบบโลกอาจจะเกิดความขัดแย้งทางอารยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับอิสลาม
จากบริบทการปะทะกันทางอารยธรรม ได้แปลมาเป็นยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐอีกยุทธศาสตร์หนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์การทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย การครองความเป็นเจ้าของสหรัฐ ในขณะนี้ กำลังถูกท้าทายอย่างมาก จากขบวนการก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง
2. นโยบายสายกลาง
จากบริบทดังกล่าวข้างต้น ไทยควรจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อสหรัฐ ผมขอเสนอ keyword ที่สำคัญสำหรับอนาคตความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐคือ นโยบายสายกลาง และความสมดุล หรือดุลยภาพแห่งความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการดำเนินนโยบายสายกลาง นโยบายรักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกัน (equi-distant policy) การมีสมดุลและดุลยภาพแห่งความสัมพันธ์ และผลประโยชน์ร่วมกัน
2.1 นโยบายต่อระบบ 1 ขั้วอำนาจ
ตามที่ได้วิเคราะห์ข้างต้น แนวโน้มในระยะสั้นจะเป็นโลก 1 ขั้ว จึงมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องดำเนินนโยบายเข้าหาสหรัฐ และคงความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐไว้ เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติที่จะได้จากการเข้าหาสหรัฐ
นโยบายต่อยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้าของสหรัฐนั้น ไทยจึงคงจะไม่มีทางเลือกที่จะต้องคงความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ และร่วมมือกับสหรัฐต่อไป
2.2 นโยบายต่อระบบหลายขั้วอำนาจ
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว มีความเป็นไปได้ว่า ระบบหนึ่งขั้วอำนาจจะแปรเปลี่ยนเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ และอิทธิพลของสหรัฐในระยะยาวจะลดลงเรื่อยๆ ไทยจึงควรจะต้องเตรียมนโยบายเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยนโยบายไทยจะต้องค่อยๆ ปรับจากบริบทที่เป็น 1 ขั้ว เป็นหลายขั้วอำนาจ จากการพึ่งพิงสหรัฐ ไปสู่นโยบายการทูตรอบทิศทาง (omni-directional diplomacy) โดยจะต้องพยายามฟื้นฟู สร้างความสัมพันธ์ และรักษาความสัมพันธ์กับขั้วอำนาจใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ดังนั้น นโยบายหลักของไทยในระบบหลายขั้วอำนาจ จึงควรเป็นนโยบายสายกลาง หรือนโยบายรักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกัน โดยไทยควรดำเนินนโยบายต่อสหรัฐในระยะยาว ในลักษณะที่ให้ความสำคัญหรือให้น้ำหนักที่ไม่น้อยหรือไม่มากไปกว่ามหาอำนาจอื่น
นโยบายสายกลางต่อสหรัฐ คือ ไม่ต่อต้าน และไม่ pro พยายามหาจุดสมดุลและดุลยภาพแห่งความสัมพันธ์ การดำเนินนโยบายเช่นนี้น่าจะปลอดภัยที่สุดสำหรับไทยในระยะยาว
การดำเนินนโยบายสายกลางมีหลายสูตร สูตรที่เป็นกลางจริงๆ หมายความว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆ จะเท่าเทียมกัน ตัวอย่างเช่น หากเป็นความสัมพันธ์ไทยกับสามมหาอำนาจ คือ สหรัฐ จีน และอินเดีย สูตรสัดส่วนจะเป็น 33.33 : 33.33 : 33.33 แต่หากเป็นสูตรที่ไทยใกล้ชิดกับสหรัฐมากกว่ามหาอำนาจอื่นเล็กน้อย สูตรสัดส่วนก็จะเป็น 40 : 30 : 30 เป็นต้น
สำหรับนโยบายไทยในการตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การสกัดกั้นหรือการปิดล้อมจีนของสหรัฐนั้น ไทยควรจะดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง โดยสิ่งที่ไทยควรทำคือ การดำเนินนโยบายสายกลาง สร้างดุลยภาพแห่งนโยบาย และรักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกันระหว่างความสัมพันธ์ไทย-จีน กับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ
2.3 นโยบายต่อการปะทะกันทางอารยธรรม
นอกจากนั้น ไทยจะต้องเตรียมปรับนโยบาย หากความขัดแย้งทางอารยธรรมจะมีความรุนแรงมากขึ้น ไทยคงต้องพยายามวางตัวเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ในการปะทะกันระหว่างขั้วตะวันตกที่มีสหรัฐเป็นผู้นำกับขั้วที่ไม่ใช่ตะวันตก ซึ่งอาจจะมีกลุ่มประเทศมุสลิมและจีนเป็นแกนนำ
สำหรับยุทธศาสตร์การต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐนั้น ถึงแม้ในประเด็นนี้จะดูเหมือนกับว่า ไทยกับสหรัฐจะมีภัยคุกคามร่วมกันก็ตาม แต่ไทยจะต้องระมัดระวังในความร่วมมือกับสหรัฐ ทั้งนี้เพราะอาจจะทำให้ไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางอารยธรรมได้ สิ่งที่ไทยจะต้องดำเนินนโยบายคือ การสร้างสมดุลของนโยบายที่เป็นนโยบายสายกลาง โดยร่วมมือกับสหรัฐ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่เป็นการชักศึกเข้าบ้าน ไม่ทำให้ไทยเป็นเป้าของการก่อการร้าย และไม่เป็นศัตรูกับโลกมุสลิม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น