Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

จีนกับรางวัลโนเบลสันติภาพ ปี 2010

จีนกับรางวัลโนเบลสันติภาพปี 2010
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม 2553

ภูมิหลัง
เมื่อตอนเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการโนเบลได้ตัดสินใจให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2010 แก่ Liu Xiaobo นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยชาวจีน โดยคณะกรรมการโนเบลได้กล่าวว่า Liu ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในจีนมาอย่างยาวนาน โดยได้มีส่วนร่วมในการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ปี 1989 และเป็นคนสำคัญในการเขียนเอกสาร Charter 08 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยในจีน จากการกระทำดังกล่าว Liu ได้ถูกจำคุกเป็นเวลานานถึง 11 ปี เขาจึงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญยิ่งต่อการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในจีน

ปฏิกิริยาจากรัฐบาลจีน
หลังจากการประกาศรางวัลโนเบลสันติภาพให้แก่ Liu รัฐบาลจีนได้แสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก โดยกระทรวงต่างประเทศจีนได้ออกแถลงการณ์โจมตี Liu ว่าเป็นอาชญากร การให้รางวัลโนเบลแก่ Liu จึงเป็นการขัดกับหลักการพื้นฐานของรางวัลโนเบล

หลังจากนั้น รัฐบาลจีนได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้คนไปร่วมในพิธีให้รางวัล โดยภรรยาของ Liu ได้ถูกกักบริเวณอยู่ในบ้าน ส่วนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการร่าง Charter 08 ก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ นอกจากนั้น ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยังได้ถูกปราบปรามอย่างหนักในช่วงก่อนพิธีให้รางวัล โดยเฉพาะการจับกุมและการห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

รัฐบาลจีนพยายามประกาศโฆษณาชวนเชื่อ ปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมของชาวจีน โดยบอกว่า การให้รางวัลดังกล่าว เป็นอุบายของตะวันตกที่ต้องการทำลายการผงาดขึ้นมาของจีน

ก่อนหน้าพิธีให้รางวัลในวันที่ 10 ธันวาคม รัฐบาลจีนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การให้รางวัลอย่างรุนแรง โดยบอกว่า พิธีให้รางวัลเป็น ละครตลกทางการเมือง (political farce) และผู้เข้าร่วมพิธีจะเป็นตัวตลก (clown) กระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกแถลงการณ์ใช้ถ้อยคำรุนแรงว่า จีนจะต่อต้านประเทศหรือบุคคลใดก็ตาม ที่จะใช้รางวัลโนเบลสันติภาพ มาแทรกแซงกิจการภายในของจีน และล่วงล้ำอำนาจอธิปไตยของจีน โดยย้ำว่า Liu เป็นอาชญากร ใครให้รางวัลแก่เขา เท่ากับเป็นการดูถูกระบบตุลาการของจีน และมองว่า คณะกรรมการโนเบลได้ตัดสินใจเลือกอาชญากร ทั้งนี้เพื่อที่จะสนองต่อผลประโยชน์ของประเทศตะวันตกบางประเทศ

นอกจานี้ รัฐบาลจีนได้พยายาม lobby อย่างหนัก ไม่ให้ประเทศต่างๆ ส่งผู้แทนเข้าร่วมพิธีให้รางวัล โดยจีนอ้างว่า การให้รางวัลดังกล่าว ไม่ได้เป็นการสะท้อนความปรารถนาของคนส่วนใหญ่ในโลก

มีสถานทูต 65 สถานทูต ได้รับการเชิญให้เข้าร่วมในพิธี ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ จีนพยายาม lobby อย่างหนัก แต่ก็มีเพียง 17 ประเทศที่บอยคอตพิธี ซึ่งประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศเผด็จการ ไม่ชอบตะวันตก และมีผลประโยชน์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจกับจีน ซึ่ง 17 ประเทศนั้นคือ รัสเซีย คาซัคสถาน แอลจีเรีย ตูนิเซีย ซาอุดิอาระเบีย ปากีสถาน ศรีลังกา เซอร์เบีย อิรัก อิหร่าน เวียดนาม อัฟกานิสถาน เวเนซุเอลา อียิปต์ ซูดาน คิวบา และโมรอคโค
พิธีให้รางวัล

สำหรับพิธีให้รางวัลโนเบลสันติภาพแก่ Liu นั้น จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา โดย Liu ไม่ได้ไปรับและไม่มีผู้แทนมารับรางวัลดังกล่าว ผู้จัดจึงปล่อยให้เก้าอี้สำหรับ Liu นั้น ว่าง และได้เอารางวัลไปวางไว้บนเก้าอี้ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญ

ในพิธี Thorbjorn Jagland ประธานคณะกรรมการโนเบลได้กล่าวว่า ถึงแม้จีนจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่สถานะใหม่ของจีนในการเป็นมหาอำนาจนั้น จีนจะต้องเปิดกว้างรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ และต้องปฏิรูปทางการเมือง Jagland ได้เปรียบเทียบการต่อต้านของจีนต่อการให้รางวัลในครั้งนี้ว่า เปรียบเหมือนกับในสมัยที่รัฐบาลแอฟริกาใต้ ต่อต้านการให้รางวัลแก่ Desmond Tutu และเปรียบเหมือนกับรัฐบาลทหารพม่าที่ต่อต้านการให้รางวัลกับ ออง ซาน ซูจี Jagland เปรียบ Liu เหมือนกับ Nelson Mandela อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ที่เคยได้รับรางวัลในปี 1993 Jagland กล่าวว่า Liu ต้องการที่จะอุทิศรางวัลโนเบลนี้ให้แก่ดวงวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปี 1989

สาเหตุและปัจจัย
สำหรับคำถามที่ว่า อะไรคือสาเหตุที่มีการให้รางวัลโนเบลแก่ Liu ในครั้งนี้ ผมมองว่า อาจจะมีปัจจัย 2 ปัจจัยที่อาจจะผสมผสานกันอยู่ ปัจจัยแรก น่าจะเป็นการกระทำที่บริสุทธิ์และจริงใจของคณะกรรมการรางวัลโนเบล ที่ต้องการจะส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนทั่วโลก อย่างไรก็ตาม อาจจะอีกมีปัจจัยหนึ่ง ที่แอบแฝงอยู่ คือ คณะกรรมการโนเบลเป็นส่วนหนึ่งของโลกตะวันตก ซึ่งมองการผงาดขึ้นมาของจีนด้วยความหวาดระแวงมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตจีนจะมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดโลก จีนจึงอาจจะท้าทายระเบียบโลกและการครองโลกของตะวันตกได้ ฉะนั้น วาระซ่อนเร้นคือ การใช้เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นข้ออ้างในการโจมตีจีน เพื่อทำให้จีนเสียชื่อ และไม่มีความชอบธรรมที่จะผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำโลก

ผลกระทบต่อจีน
• ผมมองว่า การให้รางวัลโนเบลในครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะต่อภาพลักษณ์ของจีน ทำให้จีนตกเป็นเป้า โดยเฉพาะในแง่ลบ ในสายตาประชาคมโลก ก่อนหน้านี้ จีนมีภาพในแง่บวกมาโดยตลอด โดยเฉพาะความสำเร็จทางเศรษฐกิจ การผงาดขึ้นมาของจีน การจัดกีฬาโอลิมปิกปี 2008 และ World Expo ที่เซี่ยงไฮ้ แต่การให้รางวัลโนเบลสันติภาพแก่ Liu ทำให้ประชาคมโลกหันมามองเรื่องสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนที่สุดของจีน และกลายเป็นภาพลบที่สุดของจีน ดังนั้น soft power ของจีนก็เสียหายหนัก

• ปฏิกิริยาของรัฐบาลจีน ยิ่งทำให้จีนเสียชื่อหนักขึ้น การที่จีนบอยคอตพิธีให้รางวัลในครั้งนี้ ทำให้มีการเปรียบเทียบว่า จีนเหมือนกับสหภาพโซเวียตในปี 1975 ที่บอยคอตการให้รางวัลแก่ Andrei Sakharov นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่หนักไปกว่านั้นคือ จีนถูกเอามาเปรียบเทียบกับเยอรมนีในสมัยนาซี ของ Hitler ทั้งนี้เพราะ การที่ไม่มีคนมารับรางวัลโนเบลสันติภาพในปีนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ที่ผ่านมา มีอยู่ครั้งเดียวที่ไม่มีผู้มารับรางวัล ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1936 โดยผู้ได้รับรางวัลในปีนั้นคือ Carl von Ossietzky ผู้ต่อสู้เพื่อสันติภาพชาวเยอรมันที่ถูกคุมขัง และ Hitler ก็ปฏิเสธที่จะไม่ให้เขามาเข้าร่วมพิธี

• ผมมองว่า ปฏิกิริยาที่แข็งกร้าวของจีนในครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความหายนะในเรื่องของการทำ PR โดยหากรัฐบาลจีนไม่มีปฏิกิริยาเกินเหตุ ก็คงจะไม่ทำให้ชาวโลกหันมาสนใจพิธีให้รางวัลในครั้งนี้ และความพยายามของจีนในการ lobby เพื่อให้ประเทศต่างๆ บอยคอตพิธี ก็ไม่สำเร็จ

จริงๆ แล้ว จีนควรทำเหมือนอิหร่าน คือ เมื่อหลายปีก่อน นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของอิหร่านขื่อ Shirin Ebadi ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ รัฐบาลอิหร่านในตอนแรก ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ แต่ในตอนหลัง ก็ปล่อยให้ Ebadi ไปรับรางวัล และทูตอิหร่านในออสโล ก็เข้าร่วมพิธีด้วย กระแสต่อต้านอิหร่านในครั้งนั้นจึงไม่เกิดขึ้น

• ผลกระทบอีกประการต่อจีนในเรื่องนี้คือ ในอนาคต การทูตจีนทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี คงต้องเผชิญกับปัญหาการหยิบยกเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนขึ้นมาหารือ รัฐบาลประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ก็คงจะถูกกดดันจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว Liu

ไม่มีความคิดเห็น: