Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

จีน – อินเดีย : การแข่งขันในมหาสมุทรอินเดีย

จีน – อินเดีย : การแข่งขันในมหาสมุทรอินเดีย

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ วันศุกร์ที่ 21-วันพฤหัสฯที่ 27 มกราคม 2554

เกริ่นนำ

จีนและอินเดีย เป็นประเทศที่กำลังผงาดขึ้นมาแรงที่สุด ในการเป็นมหาอำนาจ ทั้งสองประเทศ จะเป็นคู่แข่งกัน และกำลังจะขัดแย้งกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จีนมองว่า อินเดียเป็นคู่แข่งที่สำคัญที่จะต้องถ่วงดุลและสกัดกั้นการขยายอิทธิพล เช่นเดียวกัน จีนก็มองอินเดียว่า เป็นคู่แข่งที่สำคัญ ที่จะต้องหาหนทางปิดล้อม อินเดียมองว่า จีนกำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมอินเดีย

แนวโน้มของความขัดแย้งระหว่างจีนกับอินเดีย กำลังจะเกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย การแข่งขันทางทหารในมหาสมุทรอินเดีย ระหว่างทั้งสองประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจีนและอินเดียต้องพึ่งพาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง ผ่านมหาสมุทรอินเดีย ทั้งสองประเทศ จึงต้องเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทะเล เพื่อปกป้องเส้นทางการลำเลียงน้ำมันของตน โดยจีนได้สร้างท่าเรือน้ำลึกที่ Hambantota ทางตอนใต้ของศรีลังกา และที่ Gwadar ปากีสถาน รวมทั้งท่าเรือที่พม่า และบังคลาเทศ ส่วนอินเดียได้ตอบสนองต่อการรุกคืบทางทะเลของจีน ด้วยการพัฒนากองทัพเรือขนานใหญ่ และกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับประเทศเกาะเล็กๆในมหาสมุทรอินเดีย อาทิ Mauritius , Seychelles , Madagascar และ Maldives

Gwadar

การแข่งขันกันในมหาสมุทรอินเดียล่าสุด เกิดขึ้นโดยจีนสนับสนุนการสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ Gwadar ปากีสถาน ส่วนอินเดีย ก็ไปสนับสนุนสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ Chabahar อิหร่าน ซึ่งอยู่ใกล้กับ Gwadar

สำหรับ Gwadar นั้น ตั้งอยู่ในอ่าวโอมาน ใกล้กับทางเข้าไปสู่อ่าวเปอร์เซีย ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 1973 ตอนที่ประธานาธิบดี Nixon เยือนปากีสถาน ผู้นำปากีสถานในขณะนั้น คือ Ali Bhutto ได้เคยเสนอให้สหรัฐฯมาสร้างท่าเรือที่ Gwadar และเสนอให้กองทัพเรือสหรัฐฯมาใช้ประโยชน์ แต่สหรัฐฯก็ไม่สนใจ ต่อมา ปากีสถานจึงหันไปหาจีน ซึ่งจีนก็ตกลง และได้เริ่มสร้างท่าเรือน้ำลึกตั้งแต่ปี 2002 โดยลงทุนไปกว่า 1,000 ล้านเหรียญ ท่าเรือน้ำลึกดังกล่าวสร้างเสร็จแล้วตั้งแต่ปี 2006 โดย Gwadar ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก ในเส้นทางการเดินเรือระหว่างตะวันออกกลางกับจีน โดยเฉพาะเส้นทางการลำเลียงน้ำมัน การที่จีนสามารถเข้าถึงมหาสมุทรอินเดียได้โดยตรง จะทำให้จีนอยู่ในสถานะได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ แม้ว่าจีนจะพัฒนาท่าเรือที่พม่า และศรีลังกา แต่ท่าเรือที่ Gwadar ดูจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดย Gwadar นอกจากจะเป็นประตูสู่มหาสมุทรอินเดียของจีนแล้ว ยังทำให้จีนสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางทหารของกองทัพเรือสหรัฐฯและอินเดีย ซึ่งเป็นคู่แข่งของจีนในมหาสมุทรอินเดียของจีนได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ท่าเรือ Gwadar มีประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และในเชิงทหาร โดยสามารถใช้เป็นฐานทัพเรือที่สำคัญของจีน ทั้งเรือรบและเรือดำน้ำ

ความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างจีนกับปากีสถาน ไม่ใช่มีแต่ในเฉพาะทางทะเลในมหาสมุทรอินเดียเท่านั้น แต่ขณะนี้จีนมีแผนจะสร้างถนนเชื่อมระหว่างมณฑล Xinjiang ทางตะวันตกของจีน กับเขต Gilgit-Balistan ของปากีสถาน นอกจากนี้ ขณะนี้ มีการหารือที่จะสร้างเส้นทางรถไฟ ยาว 3,000 กิโลเมตร เชื่อมระหว่าง Gwadar กับ Kashgar โดยในระหว่างการเยือนจีนเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วของประธานาธิบดีปากีสถาน Ali Zardari ได้หารือในเรื่องนี้กับประธานาธิบดี Hu Jintao ของจีนในเรื่องนี้ด้วย

Chabahar

แต่สำหรับอินเดีย มองการเคลื่อนไหวของจีนดังกล่าวข้างต้นว่า เป็นยุทธศาสตร์ปิดล้อมอินเดียของจีน ซึ่งอินเดียจะต้องตอบโต้ โดยยุทธศาสตร์ตอบโต้ของอินเดีย คือ การเข้าไปพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่เมือง Chabahar ในอิหร่าน ซึ่งอยู่ห่างจาก Gwadar เพียง 72 กิโลเมตร

อินเดียมองว่า การที่จีนไปสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ Gwadar นั้น เป็นภัยคุกคามต่ออินเดียโดยตรง เพราะ Gwadar อยู่ใกล้กับช่องแคบ Hormuz ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่ง Gwadar จะทำให้จีนและปากีสถาน สามารถควบคุมเส้นทางลำเลียงน้ำมันจากตะวันออกกลางได้

ดังนั้น อินเดียจึงได้ไปช่วยอิหร่านอย่างเต็มที่การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่ Chabahar นอกจากนี้ อินเดียยังช่วยในการสร้างถนนจากอิหร่านเข้าสู่อัฟกานิสถาน และช่วยอิหร่านในการปรับปรุงเส้นทางรถไฟ

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างอินเดียกับอิหร่านนั้น อาจประสบอุปสรรคหลายประการ ประการแรกคือ การสร้างเส้นทางจากอิหร่านไปอัฟกานิสถานนั้น อาจจะต้องประสบกับสงครามจากนักรบ Taliban นอกจากนี้ เขต Chabahar ยังเป็นเขตที่ไม่มีความมั่นคงปลอดภัย เพราะมีกลุ่มก่อการร้ายต่อต้านรัฐบาล โจมตีรัฐบาลบ่อยครั้ง

นอกจากนี้ การที่อินเดียช่วยเหลืออิหร่านในการพัฒนาท่าเรือที่ Chabahar นั้น อาจจะไปขัดแย้งกับนโยบายของสหรัฐฯ ที่ต้องการโดดเดี่ยวอิหร่าน โดยเฉพาะปัญหาการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน ดังนั้น จึงเป็นข้อสงสัยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับอิหร่าน จะไปสอดรับกับการเป็นพันธมิตรระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯได้หรือไม่ แม้ว่าสหรัฐฯจะเห็นด้วยกับอินเดีย ถึงความจำเป็นที่จะต้องถ่วงดุลอิทธิพลของจีนใน Gwadar แต่สหรัฐฯก็คงไม่เห็นด้วยกันอินเดีย ที่จะไปถ่วงดุลจีนโดยผ่านทางอิหร่าน
กล่าวโดยสรุป การแข่งขันกันระหว่างจีนกับอินเดีย ในมหาสมุทรอินเดีย กำลังจะเข้มข้นขึ้นทุกขณะ จีนและอินเดีย กำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก แต่ตรรกะของการเมืองโลก จะทำให้ทั้งสองประเทศ มีความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่มีความคิดเห็น: