2 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาลอภิสิทธิ์ (ตอนที่ 1)
ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนนี้ และตอนหน้า จะเป็นการประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดย outline คือ ในตอนแรก ผมจะพูดถึงภูมิหลังของนโยบายต่างประเทศ เสร็จแล้วก็จะประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผมจะชี้ให้เห็นว่า มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ส่วนตอนสุดท้าย ผมจะไม่ประเมินเพียงอย่างเดียว แต่จะมีข้อเสนอแนะด้วยว่า นโยบายต่างประเทศของไทย ในอนาคต ควรจะเป็นอย่างไร
ภูมิหลัง
ตอนนี้มาดูในแง่ของภูมิหลังก่อน โดยผมจะเล่าให้ฟังเรื่องนโยบายต่างประเทศของไทย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยสงครามเย็น นโยบายไทยเน้นอยู่เรื่องเดียว คือ เรามีภัยคอมมิวนิสต์ และเราก็ดำเนินนโยบายในการที่จะ ไปเอาอเมริกามาช่วยป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ เราดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์
ทีนี้พอสงครามเย็นสิ้นสุดลง ประมาณปี 1990 ไทยก็เข้าสู่ยุคทอง มันเป็นจังหวะพอดีที่เศรษฐกิจไทยในยุคหลังสงครามเย็น เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุคของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เศรษฐกิจไทยก็เติบโตสูงที่สุดในโลก คือมีอัตราการเจริญเติบโตสูงถึง 13 % เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ ถือเป็นยุคทองของประเทศไทย เราเจริญสุดขีดในแง่ของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เราถูกมองว่า กำลังจะเป็นเสือตัวที่ 5 มังกรตัวที่ 5 ของเอเชีย และของโลก
เพราะฉะนั้น ในยุคนี้ นโยบายต่างประเทศไทย ก็มียุทธศาสตร์หลักที่จะทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำ กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะว่า ตอนนั้น เรามีศักยภาพพอที่เราจะฝันเช่นนั้น ที่จะมียุทธศาสตร์เช่นนั้น ในตอนนั้นเราจึงมียุทธศาสตร์เชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน มีกรอบสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ
ทุกอย่างก็กำลังเดินไปด้วยดี แต่พอมาถึงปี 1997 ทุกอย่างก็พังหมด หลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ความฝันของไทยที่จะเป็นผู้นำในภูมิภาคก็ล่มสลายลง พร้อมกับการล่มสลายของเศรษฐกิจไทย เราย่ำแย่อยู่หลายปี โดยเฉพาะในช่วงปี 1997 จนถึงปี 2000
พอมาถึงปี 2001 พตท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก็โดดเข้าสู่เวทีการเมืองพร้อมกับพรรคไทยรักไทย ซึ่งชูนโยบายประชานิยม ชูนโยบายชาตินิยมในด้านการต่างประเทศ พร้อมกับชูนโยบายในเชิงรุก ในสมัยรัฐบาลทักษิณ คือในช่วงปี 2001 – 2006 เราจึงเห็นความคิดริเริ่มต่างๆ มากมายในเรื่องนโยบายต่างประเทศ มีการเจรจา FTA เยอะมาก มีการสร้างกรอบความร่วมมือใหม่ขึ้นมา คือ ACMECS , BIMST – EC และ ACD ถือว่าเป็นยุคที่ไทยกลับมามีบทบาททางการทูตที่โดดเด่นอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการทูตในเชิงรุก แต่ว่าความคิดริเริ่มต่างๆ ของรัฐบาลทักษิณ ในที่สุด ก็พังหมด เพราะมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง
เพราะฉะนั้น หลังจากนั้น ก็เกิดเหตุการณ์ 19 กันยายน ปี 2006 ทหารก็ปฏิวัติ และหลังปฏิวัติเกิดอะไรขึ้นกับการทูตไทย การทูตไทยก็หยุดนิ่ง เข้าสู่ยุครัฐบาล “ใส่เกียร์ว่าง” ในยุคนั้น ที่เรามักเรียกว่า รัฐบาลขิงแก่ ก็ใส่เกียร์ว่าง เพราะฉะนั้น การทูตของไทยจึงหยุดหมด สิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำ รัฐบาลสุรยุทธ์ก็ไม่ทำ หยุดหมด
หลังจากนั้น พอมีการเลือกตั้ง รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเกิดวิกฤติการเมืองขึ้น เสื้อเหลืองก็ชุมนุมประท้วงทุกวัน รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย ก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะมัวแต่ต้องคิดว่า จะเอาตัวรอดอย่างไร
รัฐบาลอภิสิทธิ์
หลังจากนั้น เราก็เข้าสู่ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2009 ถึงปัจจุบัน โจทย์ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ คืออะไรในเรื่องนโยบายต่างประเทศ โจทย์ก็คือ ตอนนี้มีข้อจำกัดอยู่ 2 ประการ ประการแรก คือ วิกฤติการเมือง ที่ทำให้รัฐบาลสมัคร รัฐบาลสมชาย ทำอะไรไม่ได้ในเรื่องนโยบายต่างประเทศ ไม่มีผลงาน หยุดหมด และวิกฤติการเมืองก็ลามมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ส่วนข้อจำกัดประการที่สอง คือ วิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่เราบางทีเรียกว่า วิกฤติ subprime เพราะฉะนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงเจอ 2 เด้ง ในเรื่องของข้อจำกัด ทั้งวิกฤตการเมืองภายในประเทศ และวิกฤตเศรษฐกิจโลก
จากข้อจำกัดดังกล่าว โจทย์สำคัญในการประเมินรัฐบาลอภิสิทธิ์ คือ รัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศไทยจากการทูตเชิงธุรกิจ ซึ่งกลายเป็นฉายาในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่ใช้การทูตในการทำธุรกิจ ให้กลับมาเป็นการทูตในเชิงสุจริตได้อย่างไร นี่เป็นโจทย์ที่หนึ่ง ที่จะต้องทำให้การทูตไทยไม่ใช่กลายเป็นเครื่องมือสนับสนุนผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม แต่การทูตไทย นโยบายต่างประเทศไทย จะต้องสนับสนุนผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ นโยบายต่างประเทศต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์แห่งชาติ
สำหรับโจทย์ข้อที่สอง คือ ไทยจะกลับมามีบทบาท มีนโยบายในเชิงรุกทางการทูตได้อย่างไร รัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องมีความคิดริเริ่ม นโยบายในเชิงรุก ที่จะทำให้ไทยกลับมาโดดเด่นในเวทีภูมิภาค และในเวทีโลกได้อีกครั้งได้หรือไม่ และจะทำให้ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศมหาอำนาจได้หรือไม่ นี่คือโจทย์ที่ผมจะเอามาประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา
ความสำเร็จ
เรามาประเมิน 2 ปี นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยมาดูที่ความสำเร็จก่อน
ความสำเร็จประการแรก คือ การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้นำการทูตไทยให้กลับมาอยู่บนพื้นฐานของการทูตเชิงสุจริต ไม่ใช่การทูตเชิงธุรกิจ
ความสำเร็จอีกประการ คือ ในปี 2009 ไทยเป็นประธานอาเซียน โจทย์สำคัญ คือ ไทยจะต้องใช้โอกาสทองในการเป็นประธานอาเซียนพลิกฟื้นบทบาทของไทยที่ตกต่ำอย่างมากในอาเซียน ให้กลับมามีบทบาทนำในอาเซียนอีกครั้งหนึ่งให้ได้ เพราะฉะนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2009 รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้จัดประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 14 ขึ้นที่ชะอำ – หัวหิน และก็ประสบความสำเร็จ ไทยก็มีบทบาทที่โดดเด่นขึ้น
ต่อมา ในปลายปี 2009 ไทยได้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15 แต่หลังจากนั้น บทบาทไทยในการเป็นประธานอาเซียนก็หมดวาระลง (ไทยเป็นประธานอาเซียน ตั้งแต่กลางปี 2008 ถึงปลายปี 2009) พอปี 2010 เวียดนามก็เป็นประธานอาเซียน บทบาทไทยก็ลดลง อย่างไรก็ตาม ไทยได้ผลักดันเรื่องหนึ่งที่ผมถือว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาลอภิสิทธิ์ คือ แนวคิดเรื่อง ASEAN Connectivity Master Plan ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของไทย เป็นการผลักดันของไทยในอาเซียนที่จะให้อาเซียนนอกจากจะเป็นประชาคมแล้ว ก็ควรจะมีการเชื่อมต่อเข้าหากัน เพื่อที่จะทำให้ประชาคมมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ความสำเร็จอีกประการ คือ บทบาทของนายกฯ อภิสิทธิ์ในเวทีโลก สองปีที่ผ่านมา นายกฯ อภิสิทธิ์ ได้พยายามเดินทางไปเข้าร่วมประชุมในเวทีโลกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น UN ที่นิวยอร์ก การประชุม G20 ก็ไปประชุมที่ลอนดอน ในเดือนเมษายน ปี 2009 และที่ Pittsburgh ในเดือนกันยายน ปี 2009 ในฐานะประธานอาเซียน และในฐานะประธานอาเซียนก็ไปเข้าร่วมประชุม World Economic Forum ด้วย นายกฯ อภิสิทธิ์ ก็เล่นบทบาทในฐานะประธานอาเซียนได้ดีพอสมควร โดยในปลายปี 2009 ได้มีการประชุมสุดยอดอาเซียน – สหรัฐฯ ครั้งแรกซึ่งในตอนนั้น ไทยยังเป็นประธานอาเซียนอยู่ ดังนั้น นายกอภิสิทธิ์ก็รับหน้าที่เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯร่วมกับประธานาธิบดีโอบามา
อย่างไรก็ตาม จากที่กล่าวมาข้างต้น การที่นายกอภิสิทธิ์เดินทางไปร่วมประชุมในเวทีโลกหลายเวที แต่คำถามสำคัญ คือ เราได้อะไร เราไปแล้ว เราไปผลักดันอะไร และทำให้ไทยโดดเด่นขึ้นหรือไม่ ซึ่งผมก็อยากจะประเมินว่า เราก็ได้แค่ไปปรากฎตัว แต่ว่าบทบาทของไทย คือ บทบาทของนายกอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้โดดเด่นอะไร ซึ่งประเด็นนี้ผมจะกลับมาประเมินอีกที
ส่วนความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้เราอยู่ในหัวข้อของความสำเร็จ ผมจึงจะยังไม่พูดเรื่องปัญหากับกัมพูชา ซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แต่ตอนนี้หากพูดถึงความสำเร็จในแง่ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับมาเลเซีย ลาว พม่า และเวียดนาม ผมดูแล้วความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเหล่านี้ในช่วง 2 ปี ก็โอเค ไม่ได้เลวร้ายอะไร อยู่ในระดับที่พอรับได้ แต่ประเด็นก็คือ ไม่มีอะไรที่เป็น masterpiece หรือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่ผมจะประเมินต่อในหัวข้อความล้มเหลว
สำหรับความสัมพันธ์ไทยกับมหาอำนาจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งก็เป็นปกติอยู่แล้วระหว่างไทยกับมหาอำนาจ เพราะว่า เราจะเข้ากับมหาอำนาจได้ดี เรามักจะมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า ซึ่งกับสหรัฐฯ 2 ปีที่ผ่านมา ก็โอเค Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ก็เดินทางมาเยือนไทย ในเดือนกรกฎาคม ปี 2009 และได้พบปะหารือกับนายกฯ อภิสิทธิ์ สำหรับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะกับจีน และญี่ปุ่น ก็โอเค ความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่นๆ ก็พอจะไปได้ อันนี้ คือ ความสำเร็จครับ
(โปรดอ่านต่อตอนจบในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนหน้า ซึ่งผมจะประเมินต่อในส่วนของความล้มเหลว และข้อเสนอนโยบายต่างประเทศไทยในอนาคต)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น