Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Hu Jintao เยือนสหรัฐฯ

Hu Jintao เยือนสหรัฐฯ

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับประจำวันศุกร์ที่28-วันพฤหัสบดีที่ 3 ก.พ. 2554

เมื่อช่วงวันที่ 18-21 มกราคมนี้ ประธานาธิบดี Hu Jintao ของจีน ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลการเยือนดังกล่าว ดังนี้

แถลงการณ์ร่วม

เอกสารสำคัญระบุผลการหารือระหว่าง Hu Jintao กับประธานาธิบดี Barack Obama คือ เอกสารที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า US.-China Joint Statement หรือ แถลงการณ์ร่วมสหรัฐฯ-จีน ลงวันที่ 19 มกราคม 2011 ซึ่งในเอกสารดังกล่าว มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

• ด้านการเมือง ความมั่นคง

ในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ทั้งสองฝ่าย ได้ตอกย้ำถึงบทบาทในเชิงบวกของอีกประเทศหนึ่ง
โดยสหรัฐฯยินดีที่จะเห็นจีนประสบความสำเร็จ มั่งคั่ง และเข้มแข็ง และมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ส่วนจีนก็ยินดีที่จะเห็นสหรัฐฯในฐานะประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่จะช่วยสร้างสันติภาพและความมั่งคั่งในภูมิภาค

ส่วนประเด็นปัญหาไต้หวันนั้น จีนย้ำว่าปัญหาไต้หวันเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยของจีน และ
หวังว่าสหรัฐฯจะเคารพในพันธกรณีในเรื่องนี้ ส่วนสหรัฐฯก็ย้ำว่า สหรัฐฯยังคงยึดนโยบายจีนเดียว และจะปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ

ทั้งสองฝ่ายต้องการเห็นความสัมพันธ์ทางการทหารกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยจะให้มีการติดต่อและหารือกันในทุกระดับ โดยรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ Robert Gates เพิ่งเดินทางไปเยือนจีน เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ส่วนผู้นำทางทหารของจีน ก็กำลังจะเดินทางเยือนสหรัฐฯในช่วงกลางปีนี้

• ด้านเศรษฐกิจ

ในเอกสารของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ให้ข้อมูลภูมิหลังว่า จีนเป็นตลาดสำคัญของสหรัฐฯ โดย
ปริมาณการส่งออกของสหรัฐฯไปจีน มีมูลค่า ถึง 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของสหรัฐฯในเอเชีย และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของสหรัฐฯในโลก รองจาก แคนาดา และเม็กซิโก

ในการเดินทางมาเยือนสหรัฐฯในครั้งนี้ รัฐบาลจีนได้ประกาศรายการสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง เครื่องบิน Boeing ชิ้นส่วนรถยนต์ สินค้าเกษตรและเคมี ซึ่งมีมูลค่ารวมกันถึง 45,000 ล้านเหรียญ

สำหรับในประเด็นเรื่องค่าเงินหยวนนั้น ในแถลงการณ์ร่วม จีนประกาศว่าจะให้มีการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวน และจะให้ค่าเงินหยวนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สำหรับเรื่องนี้ ต่อมาในการแถลงข่าว Obama ได้บอกว่า ได้พูดกับ Hu Jintao ว่า สหรัฐฯยินดีต่อการที่จีนจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในค่าเงินหยวน Obama บอกกับ Hu Jintao ว่า ค่าเงินหยวนยังมีค่าต่ำเกินไป และมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนใหม่

สำหรับความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนนั้น ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับ
ความสัมพันธ์ทางการค้าที่จะต้องมีความสมดุลมากขึ้น และจีนประกาศจะเพิ่มมาตรการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายประกาศเดินหน้าในการเจรจาสนธิสัญญาด้านการลงทุนระหว่างกัน

• ความร่วมมือในด้านอื่นๆ

นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ร่วม ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในด้าน
พลังงาน ซึ่งได้มีการสานต่อจากแถลงการณ์ร่วมความร่วมมือทางด้านพลังงานที่ตกลงกันในช่วงที่ Obama เดินทางไปเยือนจีนในปี 2009 โดยได้มีกรอบความร่วมมือด้านพลังงานเกิดขึ้นหลายกรอบ อาทิ US.-China Clean Energy Research Center , Renewable Energy Partnership , Joint statement on Security Cooperation และ Energy Cooperation Program

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเพิ่มการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ โดยสหรัฐฯประกาศแผน ที่จะเพิ่มจำนวนนักศึกษาสหรัฐฯที่ศึกษาอยู่ในจีน ให้เพิ่มขึ้นถึง 1 แสนคน

สำหรับในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนนั้น ทั้งสองฝ่ายตอกย้ำที่จะส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ถึงแม้ว่าจีนกับสหรัฐฯจะมีความแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องนี้ก็ตาม ทั้งสองประเทศย้ำว่า แต่ละประเทศมีสิทธิที่จะเลือกวิถีทางของตนในการพัฒนาประเทศ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้มีการจัดเวทีหารือด้านสิทธิมนุษยชน ที่มีชื่อว่า US.-China Human Rights Dialogue อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้มีรายงานข่าวว่า ในช่วงของการตอบคำถามผู้สื่อข่าวนั้น Hu Jintao ได้ยอมรับว่า ยังมีเรื่องที่จะต้องพัฒนาอีกมาก ในเรื่องของสิทธิมนุษยชนในจีน ซึ่งเป็นคำกล่าวที่เราไม่ค่อยจะได้ยินจากผู้นำจีน ในเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้ ซึ่งน่าจะเป็นความพยายามของจีนที่จะลดกระแสการต่อต้านจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่จีนเสียชื่ออย่างมาก ในเหตุการณ์การให้รางวัลโนเบลสันติภาพ แก่ Liu Xiaobo นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในจีน

บทวิเคราะห์

ผมมองว่า การเยือนสหรัฐฯของ Hu Jintao ในครั้งนี้ เป็นไปตาม pattern ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่จะกลับไปกลับมา ระหว่างความขัดแย้งกับความร่วมมือ โดยลักษณะสำคัญของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ คือ จะมีทั้งความขัดแย้งและความร่วมมือ ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง คือ การผงาดขึ้นมาของจีนอย่างรวดเร็ว และทำให้สหรัฐฯมองว่า จีนจะผงาดขึ้นมาเป็นคู่แข่งและท้าทายการเป็นเจ้าครองโลกของสหรัฐฯ ส่วนปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความร่วมมือ คือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยขณะนี้ จีน เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของสหรัฐฯในเอเชีย และเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของสหรัฐฯในโลก

จากปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้ความสัมพันธ์มีทั้งความขัดแย้งและความร่วมมือ และทำให้ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯต่อจีน มีลักษณะ กึ่งปิดล้อม กึ่งปฏิสัมพันธ์ โดยเน้นการปิดล้อมทางทหาร แต่ปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สัดส่วนของการปิดล้อมและการปฏิสัมพันธ์จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามสถานการณ์ ในสมัยของรัฐบาล Bush เน้นยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีน แต่พอมาถึงสมัย Obama ในปีแรก คือ ปี 2009 Obama เน้นยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ เราจึงเห็นความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯดีขึ้นมาก แต่พอมาถึงปี 2010 ความสัมพันธ์กลับตาลปัตร โดยเกิดความขัดแย้งกันหลายเรื่องตลอดทั้งปี ตั้งแต่เรื่องไต้หวัน ดาไลลามะ สงครามค่าเงินหยวน สิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะรางวัลโนเบลสันติภาพ รวมถึงความขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีย์ และในทะเลเหลืองอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ Hu Jintao เดินทางไปเยือนสหรัฐฯอย่างเป็นทางการ เป็นช่วงจังหวะที่จะกลับมาปรับความสัมพันธ์ และเน้นความสัมพันธ์ในแง่บวก ปฏิสัมพันธ์กันอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ จะเวียนกลับไปสู่ความขัดแย้งอีกครั้ง โดยมีหลายเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ แต่ไม่ได้ปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ร่วม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไต้หวัน ทิเบต สิทธิมนุษยชน ค่าเงินหยวน รวมทั้งความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ก็ยังคุกรุ่นหลายเรื่อง พร้อมที่จะปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้

ในปี 2011 และปี 2012 ความขัดแย้งน่าจะกลับมาตึงเครียด ยืดเยื้ออีกครั้ง ทั้งนี้ เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง คือ การผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งในปีนี้ และปีหน้า จีนจะยังคงผงาดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้จีนมีท่าทีแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯมากขึ้น และสหรัฐฯก็จะตอบโต้จีนรุนแรงมากขึ้น สำหรับเรื่องค่าเงินหยวนน่าจะเป็นประเด็นความขัดแย้งต่อไป สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออก สหรัฐฯน่าจะดำเนินนโยบายในเชิงรุกต่อไป ซึ่งจะก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งกับจีนในอนาคต และยุทธศาสตร์ปิดล้อมจีนของสหรัฐฯก็จะเข้มข้นมากขึ้น

ปัจจัยที่จะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกปัจจัย คือ ตัวแสดงที่อยู่ในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะฝ่ายทหารของจีน ซึ่งมีท่าทีต่อต้านสหรัฐฯมาโดยตลอด มีแนวโน้มชาตินิยมมากขึ้น และมีแนวโน้มจะผลักดันยุทธศาสตร์ทางการทหารที่ก้าวร้าวมากขึ้น ส่วนการเมืองในสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มของกระแสการต่อต้านจีนหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาคองเกรส

ปัจจัยภายในอีกประการ โดยเฉพาะที่จะเกิดขึ้นในปี 2012 คือ การเปลี่ยนแปลงการเมืองภายใน โดยในปี 2012 จะมีการเปลี่ยนผู้นำจีนคนใหม่ แทน Hu Jintao ซึ่งแนวโน้มก็คือ ระหว่างการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ผู้นำคนใหม่ของจีน น่าจะชูกระแสชาตินิยมและแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯมากขึ้น สำหรับในสหรัฐฯปี 2012 ก็จะเป็นปีรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งแน่นอนว่า จีนจะกลายเป็นเป้าหมายสำคัญในการโจมตีหาเสียงเลือกตั้ง ในช่วงการเลือกตั้ง mid-term ที่ผ่านมา ก็ได้เห็นแล้วว่า จีนกลายเป็นเป้าสำคัญของการโจมตีหาเสียง และในปี 2012 ก็คาดได้ว่า การหาเสียงเลือกตั้งโดยการโจมตีจีน จะเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ จะนำไปสู่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯที่เข้าสู่จุดวิกฤติอีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น: