Follow prapat1909 on Twitter

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Trans-Pacific Partnership หรือ TPP : ผลกระทบต่อไทย

Trans-Pacific Partnership หรือ TPP : ผลกระทบต่อไทย

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 6 – วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2554

แนวโน้มที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย คือ ความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะผลักดันการจัดตั้ง FTA ตัวใหม่ ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือเรียกย่อว่า TPP คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ FTA ดังกล่าว โดยจะวิเคราะห์ถึง ภูมิหลัง สาเหตุ ผลกระทบต่อไทย และข้อเสนอท่าทีไทย ดังนี้

ภูมิหลัง

ในการประชุมเอเปค ที่โยโกฮามา ญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2010 สหรัฐฯได้ผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปค เพื่อมาแข่งกับประชาคมอาเซียน สหรัฐฯกลัวว่า เอเชียจะรวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ และอิทธิพลของสหรัฐฯจะลดลง ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ การรื้อฟื้นเอเปค ด้วยการผลักดันการจัดตั้งประชาคมเอเปค ซึ่งหัวใจของประชาคมดังกล่าว คือ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP) ซึ่งหัวใจของ FTAAP คือ การจัดตั้ง FTA ที่มีชื่อว่า Trans-Pacific Partnership หรือ TPP

ในระหว่างการประชุมเอเปคที่โยโกฮามา ได้มีการประชุมสุดยอด TPP ครั้งแรกขึ้น ระหว่างผู้นำ 9 ประเทศที่สนใจจะเข้าร่วม TPP ซึ่งมีสหรัฐฯเป็นหัวเรือใหญ่ และอีก 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

สหรัฐฯบอกว่า TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง จะครอบคลุมประเด็นปัญหาการค้าใหม่ๆ จะเป็น FTA ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด สหรัฐฯมีแผนที่จะขยายจำนวนสมาชิก จาก 9 ประเทศ ให้ขยายไปเรื่อยๆ จนครอบคลุมสมาชิกเอเปคทั้งหมด ซึ่งจะมีปริมาณการค้ารวมกัน คิดเป็น 40 % ของการค้าโลก TPP จึงจะเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สหรัฐฯกำลัง lobby ประเทศต่างๆอย่างหนักให้เข้าร่วม TPP มากขึ้น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แสดงความสนใจ และสหรัฐฯกำลังเจรจากับ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

ซึ่งสำหรับไทย เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา Barbara Weisel ผู้ช่วย USTR ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อชักชวนให้ไทยเข้าร่วม TPP โดย Weisel ได้บอกว่า การค้าและการลงทุนของทั้ง 2 ประเทศจะเพิ่มขึ้น หากไทยเข้าร่วม TPP ที่ผ่านมา ได้มีการเจรจา TPP ไปแล้ว 6 รอบ โดยตั้งเป้าว่า จะบรรลุข้อตกลงให้ได้ในระหว่างการประชุมสุดยอดเอเปคที่ฮาวาย ในเดือนพฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม ไทยยังสงวนท่าทีในเรื่องนี้อยู่

สาเหตุ

สำหรับสาเหตุ หรือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯพยายามผลักดัน TPP นั้น สาเหตุหลัก คือ เพื่อเป็นตัวกันการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกในกรอบอาเซียน+3 (ซึ่งมีอาเซียน 10 ประเทศ กับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) หากอาเซียน+3 พัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก เศรษฐกิจโลกจะแบ่งเป็น 3 ขั้ว คือ ขั้วสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย การรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออกจึงท้าทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก และจะส่งผลกระทบในทางลบเป็นอย่างมากต่อผลประโยชน์ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯในภูมิภาค มีการประเมินโดยนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯว่า FTA ในกรอบอาเซียน+3 จะกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐฯปีละ 25,000 ล้านเหรียญ สหรัฐฯจึงต้องป้องกันไม่ให้มีการรวมกลุ่ม และทำให้การรวมกลุ่มของประเทศเอเชียตะวันออก เป็นส่วนหนึ่งของกรอบที่ใหญ่กว่า คือให้เป็นส่วนหนึ่งของกรอบเอเปค โดยมี TPPเป็นหัวใจ หรือเป็นแกนกลาง

ผลกระทบต่อไทย

คำถามสำคัญในขณะนี้ต่อไทย คือ ไทยจะเข้าร่วม TPP ดีหรือไม่ และการเข้าร่วม TPP จะมีผลดี-ผลเสียต่อไทยอย่างไร ผมขอวิเคราะห์ผลดี-ผลเสียในชั้นต้น ดังนี้

• ผลดี
เรามาเริ่มต้นที่ผลดีก่อน หากไทยเข้าร่วม TPP ผลดีตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ เศรษฐกิจไทยจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น การค้าไทยกับภูมิภาคจะเพิ่มมากขึ้น การลงทุนจะเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนการผลิตจะลดลง

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์เจาะลึกลงไป คือ หากไทยเข้าร่วม TPP ก็เท่ากับเราจะมี FTA กับ 9 ประเทศ แต่หากวิเคราะห์ 9 ประเทศเหล่านี้ จะเห็นได้ว่า เกือบทั้งหมด เรามี FTA กับประเทศเหล่านี้อยู่แล้ว การเข้าร่วม TPP ก็จะไม่ได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นมากนัก คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเปรู เรามี FTA ทวิภาคีอยู่แล้ว ส่วนบรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ก็เป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งมี FTA ในกรอบ AFTA กับไทยอยู่แล้ว และประเทศเหล่านี้ก็กำลังจะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ดังนั้น จึงเหลือ 2 ประเทศ คือ ชิลีและสหรัฐฯ ที่ไทยยังไม่มี FTA ด้วย สำหรับชิลี ไทยค้าขายกับชิลีน้อยมาก จึงไม่น่ามีผลอะไร เพราะฉะนั้น ในที่สุดแล้ว ผลประโยชน์ที่จะได้ต่อไทย คือ ผลประโยชน์ที่จะได้จากสหรัฐฯนั่นเอง แต่ประเด็น คือ เราเคยเจรจา FTA ทวิภาคีกับสหรัฐฯมาแล้ว ในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ และเราคงจำกันได้ว่า มีหลายสาขาที่เราจะเสียเปรียบสหรัฐฯ แม้ว่าเราอาจจะได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าบางตัวไปสหรัฐฯมากขึ้น แต่ก็อาจจะต้องแลกกับการที่ไทยจะต้องเปิดเสรีการค้าภาคบริการ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน และการเชื่อมโยงการค้ากับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า บวก ลบ คูณ หาร แล้ว จะคุ้มกันหรือไม่

สำหรับผลดีตามหลักรัฐศาสตร์นั้น ประเด็นแรก ภาษาอังกฤษเรียกว่า fear of exclusion คือ หากประเทศต่างๆในภูมิภาคเข้าร่วม TPP แต่ไทยไม่ได้เข้าร่วม เราก็จะเสียเปรียบ เราจะตกรถไฟสาย TPP

ส่วนผลดีอีกประการ คือ ผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์ หากไทยเข้าร่วม TPP จะทำให้สหรัฐฯพอใจ ไทยก็จะเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯต่อไป

• ผลเสีย

เรามาดูผลเสียกันบ้าง หากไทยเข้าร่วม TPP อาจส่งผลกระทบในทางลบหลายประการ ประการแรก เป็นผลเสียตามหลักเศรษฐศาสตร์ คือ TPP จะเป็น FTA ที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งจะกระทบต่อไทยหลายสาขา อาทิ เกษตร การค้าภาคบริการ มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายการแข่งขัน

สำหรับผลเสียตามหลักรัฐศาสตร์นั้น มีดังนี้

- หากมีการจัดตั้ง TPP สหรัฐฯจะครองความเป็นเจ้าในภูมิภาคต่อไป
- เอเชียตะวันออกจะรวมกลุ่มกันไม่สำเร็จ
- TPP จะกระทบต่อ FTA ที่ไทยมีอยู่แล้ว ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะ FTA ในกรอบอาเซียน+1 (อาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-อินเดีย)
- จะกระทบต่อแผนการจัดตั้ง FTA ในกรอบอาเซียน+3 และอาเซียน+6
- นอกจากนั้น TPP จะลดบทบาทของอาเซียนลง และจะทำให้เอเปคมีบทบาทมากขึ้น
กล่าวโดยสรุป สหรัฐฯจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการจัดตั้ง TPP แต่สำหรับไทย อาจจะไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ผลเสียกลับมีมากมายหลายประการ

ข้อเสนอท่าทีไทย

จากการวิเคราะห์ผลดี-ผลเสียดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นเพียงการวิเคราะห์ในชั้นต้น ชี้ให้เห็นว่า ผลดีก็มี แต่ผลเสียก็ไม่น้อย ดังนั้น จึงควรมีการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างละเอียด ลึกซึ้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุป เพื่อกำหนดท่าทีไทยให้ชัดเจนต่อไป

แต่จากการวิเคราะห์ผลกระทบของผมในชั้นต้น ชี้ให้เห็นว่า ขณะนี้ ผลดี-ผลเสีย ยังไม่ชัดเจน ผมจึงเห็นว่า ท่าทีไทยในขณะนี้ จึงควรมีลักษณะ wait and see แต่หากในอนาคต หลังจากมีการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างละเอียดแล้ว และหากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว คือ หากผลดีมากกว่าผลเสีย ไทยก็ควรเข้าร่วม TPP

อย่างไรก็ตาม หากดูสถานการณ์ในขณะนี้ ถ้าไทยเข้าร่วม TPP กับ 9 ประเทศ ไทยก็ไม่น่าจะได้ผลดีอะไรมากนัก ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการวิเคราะห์ผลดี-ผลเสีย คือ จำนวนสมาชิก โดยหากในอนาคต จำนวนสมาชิก TPP เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเป็นตัวแปรสำคัญในการชั่งน้ำหนักของผลดี-ผลเสีย

กล่าวโดยสรุป ท่าทีไทยในขณะนี้ ควรใช้นโยบายการทูตที่ไทยใช้ได้ประสบความสำเร็จมาโดยตลอด คือ การดูทิศทางลม โดยหากในอนาคต มีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆเข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ ไทยก็อาจจะต้องเข้าร่วม เพื่อไม่ให้ตกรถไฟ แต่ผมมองว่า สถานการณ์ในขณะนี้ ยังไม่จำเป็นที่ไทยจะต้องรีบโดดเข้าร่วม TPP

ไม่มีความคิดเห็น: