Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 5)

วิกฤต Eurozone (ตอนที่ 5)

ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2554

สถานการณ์ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับวิกฤต Eurozone คือ ได้มีการประชุมสุดยอด EU ไปเมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว และแนวโน้มของวิกฤตในอนาคต

การประชุมสุดยอด

วิกฤต Eurozone ยืดเยื้อมานานหลายเดือน และทำท่าจะทรุดหนักลงเรื่อยๆ EU ก็ร้อนตัวมากขึ้น ได้มีการจัดประชุมสุดยอดไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่สามารถที่จะกอบกู้วิกฤตได้อย่างเป็นรูปธรรม ในทางตรงกันข้าม สถานการณ์กลับทรุดหนักลงเรื่อยๆ ดังนั้น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงได้มีการจัดประชุมสุดยอด EU ครั้งล่าสุด ที่กรุงบรัสเซลส์

ในตอนแรก เป็นการประชุมผู้นำของสมาชิก EU ทั้ง 27 ประเทศ เยอรมนีกับฝรั่งเศสพยายามผลักดันการจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ของ EU ขึ้น เพื่อให้มีบูรณาการทางการเงินที่เข้มข้น อย่างไรก็ตาม การจัดทำสนธิสัญญาของ EU ทั้ง 27 ประเทศก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้เพราะอังกฤษได้ออกมาคัดค้านโดยนายกรัฐมนตรีของอังกฤษ คือ David Cameron มองว่า สนธิสัญญาดังกล่าวจะกระทบต่อผลประโยชน์ของอังกฤษ และจะทำให้ลอนดอนสูญเสียบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของยุโรป
ดังนั้น จึงได้มีการเปลี่ยนแผนมาเป็นการจัดทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาล 23 ประเทศ โดยมีสมาชิก Eurozone 17 ประเทศ บวกกับสมาชิก EU แต่ไม่ใช่สมาชิก Eurozone อีก 6 ประเทศ เข้าร่วมด้วย

ข้อตกลงดังกล่าว เป็นแผนร่วมกันของเยอรมนีและฝรั่งเศส ที่จะมีมาตรการในการลงโทษประเทศสมาชิก หากไม่มีวินัยทางการเงินการคลัง จะมีการเพิ่มบทบาทให้กับคณะกรรมาธิการยุโรป หรือ European Commission ในการเข้ามาตรวจสอบงบประมาณของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะจะมีมาตรการลงโทษสำหรับประเทศสมาชิกที่มีปัญหาเรื่องการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งก็จะทำให้นโยบายเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกมีเสถียรภาพและวินัยมากขึ้น และจะนำไปสู่การสร้างความมั่นใจให้เกิดกับเงินยูโรขึ้นอีกครั้ง
ผู้นำของเยอรมนี คือ Angela Merkel เล่นบทบาทเป็นผู้นำในการผลักดันข้อตกลงดังกล่าว โดยได้กล่าวว่า ทางเดียวที่จะกอบกู้วิกฤต Eurozone และจะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตขึ้นมาอีก คือ จะต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์ทางการเงินในสนธิสัญญาของ EU และมีการกำหนดบทลงโทษต่อประเทศสมาชิกที่ขาดวินัยทางการเงิน Merkel ต้องการให้ประเทศสมาชิก Eurozone เลียนแบบเยอรมนีในเรื่องวินัยทางการเงิน นอกจากนี้ เยอรมนีและสเปนได้บรรจุเรื่องวินัยทางด้านงบประมาณไว้ในรัฐธรรมนูญของทั้ง 2 ประเทศแล้ว และต้องการให้ประเทศอื่นทำตาม

นอกจากนี้ ข้อตกลงดังกล่าวจะมีการเพิ่มบทบาทให้กับธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) โดย ECB จะมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าไปซื้อพันธบัตรของประเทศ Eurozone ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง และลดความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ และการแพร่ระบาดของวิกฤตการณ์ทางการเงิน

แนวโน้ม

• ภาพรวม
ข้อตกลงดังกล่าวอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของวิกฤต Eurozone หากสามารถทำให้ตลาดการเงินมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยเฉพาะหากมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในเรื่องของงบประมาณของประเทศสมาชิก ซึ่งก็อาจจะทำให้ประเทศสมาชิกฟื้นตัวจากวิกฤตหนี้ได้ ข้อตกลงดังกล่าวอาจเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของบูรณาการทางการเงินของยุโรป

• อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความไม่แน่นอนว่า ข้อตกลงดังกล่าว จะสามารถกอบกู้วิกฤต Eurozone ได้อย่างแท้จริงได้หรือไม่ ทั้งนี้เพราะข้อตกลงดังกล่าว แม้จะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว แต่ขณะนี้ ยังมีปัญหาเฉพาะหน้า ระยะสั้น ที่ยังเป็นวิกฤต แต่ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้

• โจทย์แรก คือ ปัญหาของธนาคารในยุโรป แม้ว่าจะมีการเพิ่มทุน 1 แสนล้านยูโร แต่ก็อาจจะไม่เพียงพอ เพราะธนาคารยุโรปได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศที่มีปัญหาหนี้ เป็นเงินกว่า 4 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งหากรัฐบาลเหล่านี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารต่างๆก็จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และอาจนำไปสู่หายนะทางเศรษฐกิจของยุโรปได้
• โจทย์ที่ 2 คือ ปัญหาของกรีซ และการแพร่ระบาดของวิกฤตการเงิน ซึ่งยังคงไม่หยุด กรีซยังคงมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะผิดนัดชำระหนี้ และล้มละลาย ซึ่งในที่สุด กรีซอาจจะถูกกดดันให้ถอนตัวออกจาก Eurozone นอกจากนั้น ยังไม่มีความแน่นอนว่า ธนาคารต่างๆจะยอมยกเลิกหนี้ให้กับกรีซ 50% ได้หรือไม่

• โจทย์ที่ 3 คือ สถานการณ์ของอิตาลีและสเปนที่กำลังทรุดหนักลงเรื่อยๆ กองทุน EFSF ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเงินเป็น 1 ล้านล้านยูโร แต่ขณะนี้ก็มีเพียง 5 แสนล้านยูโรเท่านั้น ซึ่งคงจะไม่เพียงพอ หากวิกฤตลุกลามเข้าสู่อิตาลีและสเปน

• โจทย์ที่ 4 คือ สถานการณ์ความเชื่อมั่นของ Eurozone ยังคงทรุดหนักลงเรื่อยๆ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard and Poor หรือ S&P ได้ออกมาคาดการณ์ว่า มีโอกาสถึง 50% ที่ประเทศสมาชิก Eurozone 6 ประเทศ รวมถึงฝรั่งเศสและเยอรมนี อาจจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลง จากระดับ AAA ซึ่งการประกาศดังกล่าว มีผลทำให้ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมของประเทศ Eurozone เพิ่มมากขึ้น แนวโน้มดังกล่าว อาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของวิกฤตหนี้ ทำให้เกิดการหวาดกลัวว่า Eurozone จะเข้าสู่ภาวะแห่งการแตกสลาย

• สุดท้าย ผลกระทบของการจัดทำข้อตกลงและผลการประชุมในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า EU กำลังแตกออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็น Eurozone กับ ส่วนที่อยู่นอก Eurozone และทั้ง 2 ส่วนก็กำลังพัฒนาไปคนละทิศคนละทาง ที่ชัดเจนที่สุด คือ บทบาทของอังกฤษ ที่คัดค้านแนวคิดของเยอรมนีและฝรั่งเศสอย่างหนัก การแตกแยกครั้งใหญ่ใน EU ครั้งนี้ อาจจะมีนัยยะสำคัญยิ่งต่อวิวัฒนาการของ EU ในอนาคต โดยเฉพาะที่ต้องจับตามอง คือ แนวโน้มของอังกฤษ ที่กำลังถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ และมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคต อังกฤษอาจจะแยกตัวออกจาก EU ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อบูรณาการของ EU ในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น: