Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ปี 2011 (ตอนที่ 1)

ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ปี 2011 (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับวันศุกร์ที่ 7 – วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม 2554

เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา Walter Lohman ได้เขียนบทความชื่อ “Reinvigorating the US-Thailand Alliance” ใน website ของ Heritage Foundation ซึ่งเป็น think tank ที่มีอิทธิพลของสหรัฐฯ ผมเห็นว่าเป็นงานเขียนที่สำคัญ จึงจะนำมาสรุป วิเคราะห์ ดังนี้

พันธมิตร ไทย - สหรัฐฯ : อดีต และ ปัจจุบัน

Lohman ได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์และพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐฯว่า มีอยู่ 5 ด้าน ดังนี้

• ด้านการทหาร
พันธมิตรไทย-สหรัฐฯด้านการทหารและความมั่นคง เป็นมิติความสัมพันธ์ที่มีความเข้มข้นมากที่สุด โดยมีการซ้อมรบร่วมระหว่างไทยกับสหรัฐฯเป็นเวลายาวนานกว่า 40 ปี และที่สำคัญที่สุด คือ การซ้อมรบ Cobra Gold ซึ่งเป็นการซ้อมรบร่วมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากนี้ ในอดีต สหรัฐฯเป็นประเทศสำคัญที่ขายอาวุธให้ไทย ล่าสุด มีการซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล๊คฮอล์ก และเครื่องบิน F16 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ จีนกำลังเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯในการขายอาวุธราคาถูกให้กับไทย โดยจีนได้ฉวยโอกาสในช่วงหลังรัฐประหารปี 2006 สหรัฐฯระงับการให้ความช่วยเหลือทางทหารต่อไทย จีนจึงได้รีบเสนอให้ความช่วยเหลือทางทหารต่อไทย เป็นเงินจำนวนกว่า 50 ล้านเหรียญ รวมทั้งยกระดับการซ้อมรบร่วมระหว่างไทยกับจีนด้วย

• ด้านการต่อต้านการก่อการร้าย
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯในอีกด้านที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะในยุคหลังเหตุการณ์ 11
กันยาฯ คือ ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมมือกันอย่างเข้มข้นในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และด้านงานข่าวกรอง รวมถึงการจัดตั้ง US-Thai Counterterrorism Intelligence Center

• ด้านเศรษฐกิจ
ไทยเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ การค้าในปี 2010 มีมูลค่าถึงเกือบ 32,000 ล้าน
เหรียญ ทำให้ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 23 ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ การลงทุนของสหรัฐฯในไทยในปี 2010 มีมูลค่าเกือบ 13,000 ล้านเหรียญ

ไทยกับสหรัฐฯ มีสนธิสัญญา Treaty of Amity and Economic Relations ซึ่งภายใต้
สนธิสัญญาฉบับนี้ บริษัทสหรัฐฯ มีสิทธิเทียบเท่าบริษัทของไทย สหรัฐฯเป็นประเทศเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของสหรัฐฯมาไทย ยังคงประสบปัญหา โดยเฉพาะในเรื่อง
มาตรการทางภาษี ในขณะที่ จีนมี FTA กับไทย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับจีนในการค้าขายกับไทย ทำให้จีนได้เปรียบสหรัฐฯเป็นอย่างมาก แม้ว่า ในปี 2004 จะได้มีการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แต่การเจรจาก็สะดุดหยุดลงตั้งแต่รัฐประหาร ในปี 2006 ถึงแม้ว่า USTR จะยังไม่ได้มีการแถลงอย่างเป็นทางการ ถึงความเป็นไปได้ในการรื้อฟื้น FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ แต่เมื่อเร็วๆนี้ ส.ว. Richard Lugar จากพรรครีพับริกัน ได้เสนอญัตติกระตุ้นให้ USTR เปิดฉากการเจรจา FTA กับอาเซียน

• ด้านการทูต
มิติที่ 4 ของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ คือ ความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งหัวใจของการทูตสหรัฐฯต่อไทย คือ สถานทูตสหรัฐฯที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีบทบาทอย่างสำคัญยิ่งต่อสถานะของสหรัฐฯในภูมิภาค สถานทูตสหรัฐฯในกรุงเทพฯ เป็นสถานทูตสหรัฐฯที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยสถานทูตสหรัฐฯที่กรุงเทพฯได้กลายเป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางการทูตของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลาหลายสิบปี

• ด้านเวทีพหุภาคี
มิติที่ 5 ของความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ คือ มิติที่เกี่ยวข้องกับอาเซียน ในอดีต ไทยเป็นแกนนำของอาเซียนมาโดยตลอด โดยไทยมีสถานะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถานะของไทยในอาเซียนได้ตกต่ำลง เพราะความวุ่นวายทางการเมือง แต่ไทยก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในองค์กรนี้อยู่ ดังนั้น ไทยยังคงเป็นช่องทางของสหรัฐฯในการที่จะกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียน
สิ่งท้าทาย

อย่างไรก็ตาม บทความของ Lohman ใน Heritage Foundation ได้วิเคราะห์ว่า มีสิ่งท้าทาย 2 เรื่องใหญ่ ต่อพันธมิตรไทย-สหรัฐฯ เรื่องแรก คือ ความวุ่นวายทางการเมืองของไทย และเรื่องที่ 2 คือ การผงาดขึ้นมาของจีน

สำหรับเรื่องความวุ่นวายทางการเมืองของไทยนั้น ทำให้มีหลายฝ่ายในสหรัฐฯได้ตั้งคำถามถึงประโยชน์ของพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐฯ การพึ่งพาไทยเพื่อเป็นช่องทางเข้าอาเซียนก็ได้ถูกทำลายลง จากการที่ไทยได้เสียเครดิตอย่างมากในอาเซียนเพราะความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้น ความพยายามที่จะฟื้นฟูพันธมิตรไทย-สหรัฐฯ จึงถูกจำกัดด้วยปัจจัยทางการเมืองของไทย ซึ่งขณะนี้ ไทยไม่มีผู้นำที่แท้จริง ไม่มีผู้ประสานความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ และขาดผู้นำที่สหรัฐฯจะปฏิสัมพันธ์ด้วย

สำหรับสิ่งท้าทายที่ 2 ต่อพันธมิตรระหว่าง ไทย-สหรัฐฯ คือ การผงาดขึ้นมาของจีน ซึ่งไทยกับสหรัฐฯมีมุมมองต่อการผงาดขึ้นมาของจีนต่างกัน โดยยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ คือ การสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค โดยสหรัฐฯมองว่า จีนมีแนวโน้มจะเป็นภัยคุกคาม แต่ในขณะที่ไทยกลับมองการผงาดขึ้นมาของจีนว่า เป็นโอกาส โดยไทยจะเน้นถึงโอกาส ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางการเมือง ที่จีนจะหยิบยื่นให้ไทย

ในประวัติศาสตร์การทูตของไทยนั้น ชี้ชัดว่า ไทยมีความเชี่ยวชาญทางการทูตเป็นอย่างมาก ในการปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจต่างๆ ทำให้ไทยสามารถคงความเป็นเอกราช และมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการทูต พฤติกรรมของไทยยังคงเห็นได้ในปัจจุบัน โดยเห็นได้จาก ความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนระหว่างไทยกับจีน และไทยกับสหรัฐฯ

สำหรับความสัมพันธ์ไทยกับจีนทางด้านเศรษฐกิจนั้น การค้าได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในปี 2010 มีมูลค่าการค้าถึง 46,000 ล้านเหรียญ ไทยกับจีนได้ลงนามในข้อตกลง FTA ในปี 2003 และขณะนี้ จีนได้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับที่ไทยก็ได้ไปลงทุนในจีน ทำให้เศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างมาก

สำหรับในด้านการทหาร จีนมีนโยบายที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางทหารกับไทย โดยจีนได้เป็นประเทศผู้ขายอาวุธราคาถูกให้กับไทย และจีนได้ฉวยโอกาสในช่วงที่สหรัฐฯระงับความช่วยเหลือทางทหารต่อไทย ภายหลังรัฐประหาร ปี 2006 โดยจีนได้เสนอให้ความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเป็น 2 เท่า จากเงินช่วยเหลือที่สหรัฐฯเคยให้ ให้ทุนการศึกษาต่อไทยในวิทยาลัยทางทหารของจีนมากขึ้น และขยายการซ้อมรบร่วมกับไทย ดังนั้น ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างจีนกับไทยได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้จีนกลายเป็นทางเลือกใหม่ของไทย แทนที่การพึ่งพาการให้ความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯในอดีต

นอกจากนี้ จีนมีนโยบายในเชิงรุกในการทูตภาคประชาชน หรือ public diplomacy ด้วย โดยได้เปิดประตูรับนักเรียนไทยเข้าไปศึกษาในจีน ให้ทุนการศึกษา และจัดตั้ง Confucian Center เปิดโรงเรียนสอนภาษาจีน และสถาบันอื่นๆ เพื่อเน้นการมีมรดกร่วมทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับจีน

(โปรดอ่านต่อตอนจบ ในคอลัมน์โลกทรรศน์สัปดาห์หน้า)

ไม่มีความคิดเห็น: