Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ไทยกับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่1)


ไทยกับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน (ตอนที่1)
 

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์
คอลัมน์กระบวนทรรศน์ ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2555

 

เรื่องที่ผมจะเขียนในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ คือ เรื่อง ไทยกับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยผมจะกล่าวในภาพรวมก่อน พูดถึงความสำคัญของอาเซียนต่อไทย ภาพรวมประชาคมอาเซียนและยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมของไทย

 

ความสำคัญของอาเซียนต่อไทย

 

สำหรับคำถามแรกที่ผมอยากจะตอบ หลาย ๆ คนอาจจะยังคงตั้งคำถามอยู่ในใจว่า ทำไมเราจะต้องศึกษาเรื่องอาเซียน ทำไมเราจะต้องเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ประชาคมอาเซียนสำคัญอย่างไร อาจจะเป็นคำถามที่คาใจสำหรับหลาย ๆ คน

ผมอยากจะตอบว่า อาเซียนถือได้ว่า เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีความสำคัญที่สุดต่อไทยในทุก ๆ ด้าน

ในด้านเศรษฐกิจ ตัวเลขชัดเจน ไทยค้าขายกับประเทศอาเซียนมากที่สุด ขณะนี้อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การลงทุนกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าขณะนี้ต่างชาติที่มาลงทุนในไทยมากที่สุด คือ ยุโรปและญี่ปุ่น แต่ประเทศในอาเซียนก็มาลงทุนในไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศไทยก็ไปลงทุนในอาเซียนมากขึ้น

ในด้านการเมืองความมั่นคง อาเซียนเกิดขึ้นมาได้ เนื่องจากเหตุผลทางด้านการเมืองความมั่นคง เมื่อ 45 ปีมาแล้ว ตอนที่ไทยริเริ่มตั้งอาเซียน เหตุผลสำคัญ คือ เรื่องการเมืองความมั่นคง ในตอนนั้นเป็นยุคสงครามเย็น คอมมิวนิสต์ คือ ภัยคุกคามหลัก เพราะฉะนั้น เราได้ประโยชน์มากในการตั้งอาเซียนขึ้นมา คือ เรามีพวก มีพันธมิตรในการต่อสู้กับภัยคุกคามคอมมิวนิสต์

ในปี 1978 เกิดปัญหาใหญ่ในภูมิภาค คือ เวียดนามบุกยึดกัมพูชา ไทยจึงใช้อาเซียนในการสร้างแนวร่วมประสานท่าทีในการที่จะไปล็อบบี้ UN สหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจ ซึ่งในที่สุดก็ทำสำเร็จ ผลักดันให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชาในปี 1989

สัจธรรมที่สำคัญในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ประเทศเล็กเสียเปรียบ ประเทศใหญ่ได้เปรียบ เราจะเห็นได้ว่า มหาอำนาจ คือ ประเทศใหญ่ ๆ ทั้งนั้น คือ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย อินเดีย ถามว่าประเทศเล็กจะอยู่รอดได้อย่างไร ในการเมืองโลก ในเศรษฐกิจโลก ประเทศเล็กจะอยู่รอดได้ คือ ต้องรวมตัวกัน ถือเป็นเหตุผลหลักว่า ทำไมยุโรปซึ่งมีแต่ประเทศเล็ก ๆ จึงรวมตัวกันเป็นสหภาพยุโรป และนี่ก็คือเหตุผลว่า ทำไมประเทศเล็ก ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงต้องมารวมตัวกันเป็นอาเซียน เพราะว่า เมื่อรวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย เมื่อรวมตัวกันแล้ว อำนาจการต่อรองบนเวทีระหว่างประเทศจะมีมากขึ้นสำหรับอาเซียน สำหรับไทยก็ได้ประโยชน์มาก แทนที่เราจะอยู่ตัวคนเดียว เราก็มีอาเซียนเป็นพวก เป็นแนวร่วม อำนาจการต่อรองของไทยก็เพิ่มขึ้นมาก

อีกเรื่องหนึ่ง คือ เราอาจจะได้ยินกันมากในเรื่องการผงาดขึ้นมาของจีน (the rise of China) และการผงาดขึ้นมาของอินเดีย (the rise of India) แต่เราอาจจะลืมไปว่า ยังมีการผงาดขึ้นมาของอาเซียน (the rise of ASEAN) ด้วย เราอาจจะมองข้ามตัวเราเองไป เรามองแต่มหาอำนาจใหญ่ ๆ เมื่ออาเซียนรวมตัวกัน จะมีประชากรประมาณ 600 ล้านคน GDP รวมกันประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งหาก 10 ประเทศรวมตัวกันเหนียวแน่น ก็ไม่เบา เพราะฉะนั้น การผงาดขึ้นมาของอาเซียน กำลังเป็นตัวแปรสำคัญในระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองโลก การผงาดขึ้นมาของอาเซียนนั้น เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการผงาดขึ้นมาของจีนและอินเดีย อาเซียนจึงมีความสำคัญมาก

ในปัจจุบัน อาเซียนนับว่ามีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก ขณะนี้อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ประมาณ 60-70 % ของ GDP ไทย มาจากการส่งออก ดังนั้น เศรษฐกิจไทยจึงเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของอาเซียนเป็นอย่างมาก

                หากอาเซียนเป็นประเทศ อาเซียนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยมี GDP รวมกันสูงถึงกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ได้ทำการศึกษาถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2030 พบว่า ในปีดังกล่าว GDP ของอาเซียนจะขยายเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว คือจะมี GDP อยู่ประมาณ 7-8 ล้านล้านเหรียญ ซึ่งจะทำให้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ดังนั้น จากแนวโน้มดังกล่าว จะเห็นได้ว่า อาเซียนกำลังจะผงาดขึ้นมาเป็นขั้วเศรษฐกิจโลก เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกในอนาคต ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก จากการเป็นสมาชิกของอาเซียน

                นอกจากนี้ อาเซียนก็กำลังเป็นสถาบันหลักในภูมิภาค เป็นเวทีพหุภาคีทางการทูตที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค หากดูภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิก จะเห็นได้ว่า องค์กรหรือสถาบันที่สำคัญที่สุด คือ อาเซียน บางคนอาจบอกว่า เอเปก แต่เอเปกไม่มีทางสู้อาเซียนได้ เนื่องจากเอเปกก่อตั้งมาเป็นเวลา 20 ปี แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อาเซียนกำลังจะกลายเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค อาเซียนจะเป็นแกนหลักของสถาบัน ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค ปัจจุบันใคร ๆ ก็มาตีสนิทกับอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ยุโรป และสหรัฐฯ ดังนั้น อาเซียนกำลังมีความสำคัญมาก นี่คือ ความสำคัญของอาเซียนที่ไทยจะมองข้ามไม่ได้ การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน ก็ยิ่งจะทำให้อาเซียนมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก

ประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ไทยจะเสียเปรียบเป็นอย่างมาก หากเราอยู่เพียงตัวคนเดียว ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ไทยจะต้องรวมกลุ่มกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง และนี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญกับอาเซียน และต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน

 

ประชาคมอาเซียน

 

อาเซียน มีประวัติศาสตร์มายาวนานถึง 45 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก มีทั้งยุครุ่งเรื่อง ยุคทอง ยุคตกต่ำ (ยุควิกฤตเศรษฐกิจ) เราก็ผ่านมาหมดแล้ว ยุควิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1997 อาเซียนก็ตกต่ำมาก ดังนั้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ อาเซียนจึงหันกลับมามองว่า เราต้องกลับมาเดินหน้ากันต่อ จึงเป็นที่มาที่ได้มีการผลักดันให้มีการบูรณาการกันมากขึ้น ในปี 2002 สิงคโปร์ได้เสนอเรื่องการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนขึ้น และในปี 2003 มีการต่อยอดออกไป ในการประชุมสุดยอดที่บาหลี อินโดนีเซีย ก็ได้ตกลงกันว่า จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น ซึ่งในตอนแรกตกลงกันว่า ภายในปี 2020 แต่ต่อมาก็ร่นมาเป็นปี 2015

 

ประชาคมอาเซียนมี 3 ประชาคมย่อย

 

ประชาคมย่อยที่ 1 คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งจะให้ความสำคัญในเรื่องความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง การพัฒนาทางการเมือง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การสร้างกลไก ป้องกัน และแก้ไขความขัดแย้ง หัวใจของประชาคมการเมืองและความมั่นคง คือ กลไกการแก้ไขความขัดแย้ง แต่เราอาจจะคิดอยู่ในใจว่า อาเซียนมีกลไกแก้ไขความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง ดูจากกรณีไทย - กัมพูชา จะเห็นได้ว่า อาเซียนยังไม่มีกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีประสิทธิภาพ

ประชาคมย่อยที่ 2  คือ ประชาคมเศรษฐกิจ ประชาคมเศรษฐกิจให้ความสำคัญในเรื่องการทำให้เป็นตลาดเดียว และฐานการผลิตเดียว การเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า เปิดเสรีด้านการค้าภาคบริการ เปิดเสรีการลงทุน การเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น และการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ จะเห็นได้ว่า การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนไม่ใช้คำว่า free แต่ใช้คำว่า freer หมายความว่า ยังเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนได้ไม่ 100% ส่วนที่สองที่เรายังเปิดเสรีไม่ได้ คือ เรื่องแรงงาน จึงจำกัดอยู่เฉพาะการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือเท่านั้น แรงงานไร้ฝีมือยังเปิดไม่ได้

ส่วนประชาคมย่อยที่ 3 ของประชาคมอาเซียน คือ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวกับความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียน ในอดีต ไทยอาจจะต้องทำคนเดียวในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อาจจะต้องทำคนเดียวในเรื่องการให้สวัสดิการสังคม แต่ต่อไป ในเมื่อเราจะเป็นประชาคม 10 ประเทศจะต้องมาร่วมมือกันในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ร่วมมือในการให้สวัสดิการสังคม ร่วมมือกันในเรื่องของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกันในการสร้างอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน อัตลักษณ์ร่วมมีความสำคัญมาก เพราะถ้าจะเป็นประชาคมก็จะต้องมีอัตลักษณ์ร่วมกัน  ต้องมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ทำอย่างไร ประชากร 600 ล้านคน จะรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งจะต้องสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา หรืออาจจะต้องค้นหาอัตลักษณ์ร่วม ที่เราอาจจะมีอยู่แล้ว

 

(โปรดติดตามอ่านต่อตอนที่ 2 ในคอลัมน์กระบวนทรรศน์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันพฤหัสบดี ที่ 6 กันยายน 2555 )

 

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สนุกจูงเบย