Follow prapat1909 on Twitter

วันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วิกฤตเกาหลีเหนือ ปี 2013



วิกฤตเกาหลีเหนือ ปี 2013


ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2556


เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน สถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ได้ครุกรุ่นขึ้นมาอีกครั้งหนื่ง คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ถึงวิกฤตดังกล่าว รวมทั้งสาเหตุ และแนวโน้มในอนาคต ดังนี้


วิกฤต

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา คาบสมุทรเกาหลีทำท่าจะลุกเป็นไฟ โดยเกาหลีเหนือได้ประกาศจะโจมตีสหรัฐฯด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ประกาศสงครามกับเกาหลีใต้ รวมทั้งจะโจมตีเป้าหมายทางทหารในญี่ปุ่นด้วย
เกาหลีเหนือประกาศว่า จะยกเลิกข้อตกลงสงบศึกที่ทำกับเกาหลีใต้ ที่มีอายุมากว่า 60 ปี ตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลง ในปี 1953 นอกจากนี้ เกาหลีเหนือได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงไม่รุกรานกันระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เกาหลีเหนือประกาศว่า ขณะนี้ทั้งสองเกาหลีอยู่ในสภาวะสงคราม

หนังสือพิมพ์ Rodong Sinmun ซึ่งเป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลเกาหลีเหนือ ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการประกาศแสนยานุภาพของเกาหลีเหนือ ซึ่งขณะนี้มีอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่ทันสมัย จึงสามารถทำให้กรุงโซลและกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กลายเป็นทะเลเพลิงได้

เกาหลีเหนือยังได้ข่มขู่ว่าจะโจมตีญี่ปุ่น โดยประกาศว่า จะยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น ที่เมือง Yokosuka, Misawa และ Okinawa ขีปนาวุธพิสัยกลางของเกาหลีเหนือ ซึ่งมีชื่อว่า Rodong จะสามารถยิงถึงเป้าหมายในญี่ปุ่นได้


สาเหตุ

คำถามสำคัญที่ชาวโลกสงสัย คือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกาหลีเหนือก้าวร้าว และประกาศจะทำสงครามกับสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

ผมมองว่า มีหลายปัจจัยที่จะอธิบายพฤติกรรมของเกาหลีเหนือ โดยอาจแบ่งเป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ดังนี้
สำหรับปัจจัยภายในประการแรกที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการอธิบายพฤติกรรมของเกาหลีเหนือ คือ การที่รัฐบาลเกาหลีเหนือต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนชาวเกาหลีเหนือ จากความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ โดยหันไปเน้นในเรื่องของภัยคุกคามจากภายนอก ซึ่งก็เป็นยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลเผด็จการมักจะใช้เป็นประจำ ดังนั้น การประกาศว่า เกาหลีเหนือกำลังจะเข้าสู่สงคราม จะทำให้ชาวเกาหลีเหนือหันไปให้ความสนใจกับภัยคุกคามภายนอก และเป็นการโยนความผิดความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ ไปให้กับประเทศที่เป็นศัตรูกับเกาหลีเหนือ

นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ Kim Jong-un บุตรชายคนเล็กของ Kim Jong-il ได้มาเป็นผู้นำของเกาหลีเหนือ พฤติกรรมของเกาหลีเหนือก็ก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ จึงอาจเป็นไปได้ว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นความพยายามของ Kim Jong-un ที่จะทำให้ประชาชนเคารพและเชื่อมั่นในตัวผู้นำคนใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้แทบจะไม่มีใครรู้จัก

และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การที่ Kim Jong-un จะต้องทำให้ผู้นำทหารของเกาหลีเหนือยอมรับในการเป็นผู้นำประเทศของเขา ไม่มีใครทราบแน่ชัดถึงอิทธิพลทางการเมืองของกองทัพเกาหลีเหนือ แต่เป็นที่คาดเดาว่า ฝ่ายทหารเกาหลีเหนือน่าจะมีอิทธิพลทางการเมืองเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา Kim Jong-un ได้ปลดผู้นำทหารที่มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อเขาไปแล้วหลายคน แม้ว่า Kim Jong-un จะยังคงกุมอำนาจได้อยู่ แต่ก็ต้องพยายามเอาใจฝ่ายทหารเต็มที่ การมีท่าทีแข็งกร้าวทางด้านนโยบายต่างประเทศ จะทำให้ได้รับการยอมรับจากฝ่ายทหารมากขึ้น นอกจากนี้ การเดินหน้าที่จะทำสงครามกับสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ก็จะทำให้กองทัพเกาหลีเหนือมีบทบาทมากขึ้นด้วย

Kim Jong-un แม้ว่าจะอยู่ในอำนาจมาได้ประมาณ 1 ปีแล้ว แต่สถานะทางการเมืองยังคงไม่มั่นคง ดังนั้น Kim Jong-un จึงต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะกุมอำนาจไว้ให้ได้ โดยเฉพาะการควบคุมฝ่ายทหาร การสร้างสถานการณ์ภาวะสงคราม ก็จะทำให้เขาได้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมกองทัพมากขึ้น

สำหรับปัจจัยภายนอกที่สำคัญในการอธิบายพฤติกรรมที่แข็งกร้าวของเกาหลีเหนือในครั้งนี้ ก็มีหลายปัจจัย ดังนี้

ปัจจัยภายนอกปัจจัยแรก คือ การที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ได้มีข้อมติเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเกาหลีเหนือ เพื่อเป็นการลงโทษที่เกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ครั้งที่ 3 ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พฤติกรรมที่ก้าวร้าวของเกาหลีเหนือในครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นการประท้วงมาตรการดังกล่าวของ UNSC ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกาหลีเหนือมีปฏิกิริยาต่อข้อมติของ UNSC ทุกครั้งที่ UNSC มีมาตรการคว่ำบาตรออกมา เกาหลีเหนือก็มีปฏิกิริยาต่อมาตรการทุกครั้ง ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งก็เป็นการแสดงออกทางการทูต ให้เห็นถึงความไม่พอใจของเกาหลีเหนือต่อมาตรการดังกล่าว และการที่เกาหลีเหนือจะไม่ยอมก้มหัวให้กับแรงกดดันจากภายนอก โดยในครั้งนี้ เกาหลีเหนือประกาศว่า มาตรการคว่ำบาตรล่าสุดของ UNSC เท่ากับเป็นการทำสงครามกับเกาหลีเหนือ โดยใช้คำว่า act of war

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายนอก ที่น่าจะเป็นปัจจัยหลักในการอธิบายพฤติกรรมของเกาหลีเหนือ คือ สหรัฐฯ สิ่งที่เกาหลีเหนือต้องการมากที่สุด คือการเจรจา 2 ฝ่ายกับสหรัฐฯ ต้องการให้สหรัฐฯ โอนอ่อนผ่อนตามความต้องการของเกาหลีเหนือ พฤติกรรมของเกาหลีเหนือก็เป็นเหมือนการเรียกร้องความสนใจให้สหรัฐฯหันมาเจรจา 2 ฝ่ายกับตน เกาหลีเหนือต้องการเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพกับสหรัฐฯ เพื่อที่จะมาแทนที่ข้อตกลงสงบศึกหลังสงครามเกาหลี และต้องการคำมั่นสัญญาจากสหรัฐฯ ว่า จะไม่พยายามโค่นล้มรัฐบาลเกาหลีเหนือ


แนวโน้ม

คำถามสำคัญสำหรับชาวโลก คือ ความขัดแย้งในครั้งนี้ จะลุกลามใหญ่โตจนกลายเป็นสงครามได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบของผม คือ สงครามไม่น่าจะเกิด ทั้งนี้เพราะทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ก็รู้ดีว่า หากเกิดสงคราม ก็จะเกิดหายนะด้วยกันทุกฝ่าย เกาหลีเหนือก็คงจะรู้ดีว่า หากทำสงครามกับเกาหลีใต้ สหรัฐฯ ก็คงจะช่วยเกาหลีใต้ และคงใช้กำลังทางทหารโดยเฉพาะการทิ้งระเบิดและขีปนาวุธถล่มเกาหลีเหนือ ซึ่งก็ทำให้เกาหลีเหนือแหลกลาญไปเช่นกัน

เกาหลีเหนือได้มีพฤติกรรมแบบนี้หลายครั้งแล้วในอดีต อาทิ เกาหลีเหนือได้เคยประกาศที่จะยกเลิกข้อตกลง ปี 1953 มาแล้วหลายครั้ง และครั้งล่าสุดในปี 2009 เกาหลีเหนือก็เคยประกาศจะยกเลิกข้อตกลงหยุดยิง เพื่อเป็นการประท้วงมาตรการคว่ำบาตรของ UNSC ในตอนนั้น  อีกตัวอย่าง คือ การประกาศว่าจะทำให้กรุงโซลเป็นทะเลเพลิงนั้น ก็เคยประกาศมาแล้วหลายครั้ง โดยประกาศครั้งแรกในปี 1994 และอีกครั้งในปี 2003

ดังนั้น ดูเหมือนกับว่าชาวโลกจะตื่นเต้นและตื่นกลัวกับพฤติกรรมของเกาหลีเหนือมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสงครามอาจจะไม่เกิดขึ้น แต่ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีจะยังคงยืดเยื้อต่อไป ทั้งนี้เพราะเงื่อนไขสำคัญของการยุติความขัดแย้งคือ การเจรจา 2 ฝ่ายระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีเหนือ ซึ่งยังไม่เกิด เพราะทั้งสองฝ่ายไม่สามารถที่จะหาสูตรที่ลงตัวได้ โดยเกาหลีเหนือต้องการเจรจา แต่สหรัฐฯ ตั้งเงื่อนไขว่า เกาหลีเหนือต้องปลดอาวุธนิวเคลียร์ก่อน ซึ่งเกาหลีเหนือก็ไม่มีทางยอม ดังนั้น วิกฤตในคาบสมุทรเกาหลีจะยังคงมีต่อไป ตราบใดที่สหรัฐฯ และเกาหลีเหนือยังไม่ยอมปรับเปลี่ยนท่าทีของตน โดยปัจจัยสำคัญของทางออกของปัญหานี้ น่าจะอยู่ที่สหรัฐฯ มากกว่า โดยสหรัฐฯ ควรยอมเจรจา 2 ฝ่ายกับเกาหลีเหนือ แทนที่จะเจรจา 6 ฝ่าย และควรจะเลิกเงื่อนไขเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือซึ่งเป็นไปไม่ได้ และหากเกิดการเจรจาขึ้น สหรัฐฯ ก็ควรยอมเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพ และสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ รวมทั้งให้หลักประกันความมั่นคงว่า จะไม่โจมตีและโค่นรัฐบาลเกาหลีเหนือ 

ไม่มีความคิดเห็น: