Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของไทย

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 28 พฤศจิกายน 2556

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะนำเสนอยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของไทยดังนี้

            ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

            ประชาคมอาเซียนประกอบด้วย 3 ประชาคมย่อยได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

               สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า ASEAN Socio-Cultural Community  หรือเรียกย่อว่า ASCC โดย ASCC จะให้ความสำคัญกับ 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม สิทธิทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

               ด้านการพัฒนามนุษย์ จะเน้นในเรื่องความร่วมมือทางด้านการศึกษา

               ด้านสวัสดิการสังคม ASCC จะส่งเสริมความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยลดความยากจนและส่งเสริมการคุ้มครองและสวัสดิการสังคม

                ด้านสิทธิทางสังคม อาเซียนมีพันธกรณีในการส่งเสริมความยุติธรรม และสิทธิของประชาชน โดยเน้นการปกป้องผลประโยชน์ สิทธิ รวมทั้งส่งเสริมโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน และยกระดับคุณภาพชีวิต มาตรฐานการดำรงชีวิต สำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

               สำหรับด้านสิ่งแวดล้อมใน Blueprint ของ ASCC ได้เน้นว่า อาเซียนจะส่งเสริมสิ่งแวดล้อมสีเขียวและสะอาด

               และสำหรับในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนนั้น ก็เป็นเรื่องที่ ASCC ให้ความสำคัญคือ จะเน้นการสร้างความรู้สึกของการอยู่ร่วมกัน และส่งเสริมความเป็นเอกภาพในความแตกต่าง ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน

               ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของไทย

               ไทยควรมีการจัดทำยุทธศาสตร์ในการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถเข้าสู่ ASCC ได้อย่างมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าว ควรมีรูปร่างหน้าตาดังนี้

               วิสัยทัศน์ ของยุทธศาสตร์ ASCC ของไทยคือ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

โดยจะมียุทธศาสตร์สำคัญดังนี้

               ยุทธศาสตร์ที่ 1 : ยุทธศาสตร์ในด้านการพัฒนามนุษย์

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้คือ ส่งเสริมให้ไทยเป็นประเทศชั้นนำในด้านการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของอาเซียน

               โดยจะมีกลยุทธ์หลักๆ คือ การส่งเสริมความร่วมมือในด้านการศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศอาเซียนมากขึ้น การส่งเสริมและเตรียมความพร้อมการเปิดเสรีในด้านการศึกษา การส่งเสริมการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค

               ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้ คือ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และให้ไทยมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือด้านการคุ้มครองและสวัสดิการสังคมในอาเซียน

               สำหรับกลยุทธ์ที่สำคัญได้แก่ การส่งเสริมสวัสดิการสังคมมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามกรอบความร่วมมือของ ASCC การส่งเสริมความร่วมมือในด้านสวัสดิการสังคมกับประเทศสมาชิกอาเซียน และการมีมาตรการรองรับผลกระทบทางสังคม ที่เป็นผลมาจากประชาคมอาเซียน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของไทย

               การจัดการกับภัยพิบัติ ก็เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้ โดยกลยุทธ์ที่สำคัญของไทยในด้านนี้คือ การส่งเสริมการสร้างระบบบริหารจัดการภัยพิบัติในระดับภูมิภาค ให้มีบูรณาการ โดยให้ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางของความร่วมมือในด้านนี้ และให้ไทยมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการภัยพิบัติในอาเซียน

               ยุทธศาสตร์ที่ 3 : ความยุติธรรมและสิทธิทางสังคม

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้คือ การส่งเสริมความยุติธรรมและสิทธิ และให้ไทยมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือดังกล่าวในอาเซียน

               สำหรับกลยุทธ์ที่สำคัญคือ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการสำหรับสตรี เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ การส่งเสริมความร่วมมือในการคุ้มครองสิทธิของผู้ด้อยโอกาส ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน การคุ้มครองสิทธิแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน โดยการกำหนดมาตรการบริหารจัดการกับปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ทำงานผิดกฎหมายในไทย และกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบในทางลบจากแรงงานต่างด้าว 

               ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้คือ การส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และไทยมีบทบาทนำในการสร้างความร่วมมือดังกล่าวในอาเซียน

               สำหรับกลยุทธ์ที่สำคัญคือ การพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ การเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การปรับประสานกฎระเบียบด้านมาตรฐานและมาตรการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นมาตรฐานอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมืออาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างศักยภาพของไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

               ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

               เป้าหมายของยุทธศาสตร์นี้ คือ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนศิลปะ และวัฒนธรรมของอาเซียน

               ซึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญได้แก่ การส่งเสริมการตระหนักการรับรู้เกี่ยวกับอาเซียน และความรู้สึกของการเป็นประชาคม ด้วยการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับอาเซียน เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประชาคมอาเซียน

               นอกจากนี้ กลยุทธ์อีกประการคือ การอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน ด้วยการพัฒนาความร่วมมือเชื่อมโยงด้านศิลปวัฒนธรรมกับประเทศอาเซียน การพัฒนาจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้เป็นประตูวัฒนธรรมสู่อาเซียนหรือ ASEAN Culturul Gateway รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักในประชาคมอาเซียน ในมิติทางสังคมวัฒนธรรม (ASEAN Cultural Literacy) ให้แก่ประชาชนและสังคมไทยด้วย

 

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ผลกระทบของประชาคมอาเซียนต่อไทย

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2556


ในการที่ไทยจะมียุทธศาสตร์สู่ประชาคมอาเซียนนั้น จุดเริ่มต้นคือ การทำ SWOT analysis คือการวิเคราะห์ผลกระทบของประชาคมอาเซียนต่อไทย รวมทั้งวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของไทยในประชาคมอาเซียน คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์ผลกระทบของประชาคมอาเซียนต่อไทย ดังนี้

          ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

          ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community : APSC) นั้น เรื่องสำคัญคือ ความร่วมมือในด้านสิทธิมนุษยชน และความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ได้แก่ อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ข้ามชาติ การค้ายาเสพติดข้ามชาติ และปัญหาภัยพิบัติ เป็นต้น

          สำหรับผลกระทบของAPSC ต่อไทยนั้น ในด้านความร่วมมือสิทธิมนุษยชน ผลกระทบในเชิงบวกคือ ความร่วมมือในอาเซียนในการส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน จะเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบ คือ แม้ว่าจะมีความร่วมมือในด้านนี้มากขึ้น แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็คงจะเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งโยงไปถึงเรื่องการค้ามนุษย์ การกดขี่แรงงานต่างด้าว นอกจากนั้น ยังอาจจะเกิดปัญหาเรื่องการย้ายถิ่นฐานของคนในภูมิภาค ซึ่งอาจจะนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมา

          สำหรับในประเด็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่นั้น ผลกระทบในเชิงบวกคือ ความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ จะเพิ่มมากขึ้น อาทิ มีการกำหนดมาตรการด้านการค้ามนุษย์ การกำหนดมาตรการเพื่อให้อาเซียนปลอดยาเสพติด และกลไกแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบได้แก่ ไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่และความท้าทายข้ามแดนมากขึ้น เช่น อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ เครือข่ายการค้ายาเสพติดข้ามชาติ และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรี อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุข และความมั่นคงภายในประเทศ ปัญหาจากกลุ่มก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ แสวงประโยชน์จากการเปิดและเคลื่อนย้ายเสรี ทำให้การป้องกันและปราบปรามมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากขึ้น

         

         

          ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

          สำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) นั้น เน้นการทำให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว โดยมีการเปิดเสรีใน 5 ด้านด้วยกัน คือการเปิดเสรีการค้าสินค้า การเปิดเสรีการค้าภาคบริการ การเปิดเสรีด้านการลงทุน การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน และการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานมีฝีมือ

·      ภาพรวม

          สำหรับผลกระทบในภาพรวมนั้น ผลกระทบในเชิงบวกคือ เมื่อเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ขึ้น จะทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่และหลากหลาย สามารถรองรับผลผลิตที่มีคุณภาพแตกต่างกัน ประชาชนมีทางเลือกสินค้าและบริการมากขึ้น ความร่วมมือและปฎิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น และไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียน โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีความได้เปรียบและพร้อม

          อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบของ AEC ต่อไทย คือ การแข่งขันทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว จะเพิ่มขึ้นในอาเซียน และเกิดการแข่งขันเพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเอง

·      การเคลื่อนย้ายสินค้าอย่างเสรี

          ผลกระทบในเชิงบวกต่อไทย ที่สำคัญมี 3 ประการคือ

-        สินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบ เช่น น้ำตาล ผักและผลไม้กระป๋อง อาหารแช่แข็ง กระดาษและสิ่งพิมพ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักร เนื้อสัตว์แปรรูป เครื่องสำอาง

ผลิตภัณฑ์เหล็ก อัญมณี ข้าว สิ่งทอ ยางพารา และเม็ดพลาสติก จะมีโอกาสส่งออกไปยังตลาดอาเซียนมากขึ้น

-        การมีอำนาจต่อรองที่มากขึ้น การรวมตัวกันของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ ได้ก่อให้เกิดตลาดในภูมิภาค ที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน การรวมตัวเป็นประชาคม จึงทำให้เกิดอำนาจการต่อรองทางการค้ากับกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่นๆ

-        เป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME ต้องเร่งพัฒนาฝีมือ ตลอดทั้งสินค้าและบริการ ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน พร้อมที่จะต่อสู้ในการค้าการบริการในระดับระหว่างประเทศ

          อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบ จากการเปิดเสรีการค้าสินค้า ใน AEC ต่อไทย ที่สำคัญคือ สินค้าที่ไทยเสียเปรียบและไม่พร้อมที่จะแข่งขันกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและแป้งมัน และอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ อาจประสบปัญหาในการแข่งขันกับต่างประเทศ ดังนั้นธุรกิจที่ไม่พร้อมและเสียเปรียบ อาจประสบปัญหาถึงขั้นต้องปิดกิจการ

·      การเคลื่อนย้ายบริการอย่างเสรี

          สำหรับผลกระทบในเชิงบวกต่อไทยคือ ธุรกิจบริการด้านการศึกษานานาชาติ ภาพยนตร์ ธุรกิจการจัดประชุม (MICE) การท่องเที่ยว บริการสุขภาพ สปาและนวดแผนไทย และบริการโทรคมนาคม จะมีความได้เปรียบ และมีโอกาสขยายธุรกิจไปในอาเซียนมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบต่อไทยคือ ธุรกิจบริการที่ไทยเสียเปรียบและไม่พร้อมในการแข่งขัน อาทิ ธุรกิจบริการโลจิสติกส์ และธุรกิจการให้บริการก่อสร้าง อาจจะประสบปัญหาถึงขั้นต้องปิดกิจการ เนื่องจากความไม่พร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และเทคโนโลยี

·      การเคลื่อนย้ายการลงทุนเสรี

          สำหรับผลกระทบในเชิงบวกคือ การเคลื่อนย้ายการลงทุนอย่างเสรีในอาเซียน จะทำให้ธุรกิจไทยมีโอกาสมากขึ้น ในการย้ายฐานการผลิต และการลงทุนไปยังประเทศอาเซียน นอกจากนี้ เนื่องจากขนาดของประชากรที่มีมากกว่า 600 ล้านคน และการที่อาเซียนจะเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว จะเป็นแรงจูงใจให้ประเทศนอกอาเซียน สนใจมาลงทุนในภูมิภาคอาเซียนและในไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตามผลกระทบในเชิงลบก็มี โดยเฉพาะจะมีการลงทุนจากธุรกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาในไทยมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้น

 

 

·      การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี

                     สำหรับผลกระทบในเชิงบวกต่อไทยคือ แรงงานมีฝีมือของไทย จะมีโอกาสทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยจะมีแรงงานมีฝีมือที่มาจากประเทศสมาชิกอาเซียน มาช่วยในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบคือ แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเสรีแรงงานไร้ฝีมือ แต่จากการที่มีการเคลื่อนย้ายบุคคลระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนง่ายขึ้น อาจทำให้ปัญหาแรงงานไร้ฝีมือผิดกฎหมาย ในไทยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การเปิดเสรีแรงงานมีฝีมือ จะมีแรงงานจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้ามาแข่งขันในตลาดแรงงานในไทยมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการประกอบอาชีพของคนไทย

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

          สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) นั้น เรื่องสำคัญคือ ความร่วมมือในการพัฒนามนุษย์ การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม ความยุติธรรมและสิทธิทางสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน

·      การพัฒนามนุษย์

         เรื่องสำคัญคือ ความร่วมมือในด้านการศึกษา ระหว่างประเทศอาเซียน ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อไทยคือ ประชาชนคนไทยมีโอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งสถานศึกษามีการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ แรงงานในประเทศไทย จะมีโอกาสในการพัฒนาตนเอง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับแรงงานในประเทศอาเซียนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบต่อไทยคือ ประเทศไทยจะต้องปรับตัวเพื่อรองรับการกำหนดมาตรฐานแรงงานของอาเซียน ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากมาตรฐานที่ใช้อยู่ภายในประเทศ

·      การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม

         ผลกระทบในเชิงบวกต่อไทยคือ ภาครัฐจะให้ความสำคัญกับสวัสดิการสังคมมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามกรอบความร่วมมือของประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ จะมีความร่วมมือในการคุ้มครองและสวัสดิการสังคมเพิ่มมากขึ้นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อไทย

         อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเชิงลบคือ การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน อาจส่งผลให้ปัญหาสังคมในด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยจะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น

·      ความยุติธรรมและสิทธิทางสังคม

         ผลกระทบในเชิงบวกคือ ความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ และสวัสดิการสำหรับ สตรี เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ จะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาในการละเมิดสิทธิและสวัสดิการ กลุ่มคนเหล่านี้ อาจจะเพิ่มตามไปด้วย

·      ด้านสิ่งแวดล้อม

         ผลกระทบในเชิงบวกคือ ความร่วมมือในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ผลกระทบในเชิงลบคือ แม้ว่าจะมีความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะปัญหาจากมลพิษของเสียข้ามแดน

·      การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน  

         ผลกระทบในเชิงบวกคือ ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพิ่มมากขึ้น และความพยายามในการแสวงหา และสร้างอัตลักษณ์อาเซียนเพิ่มมากขึ้น แต่สำหรับผลกระทบในเชิงลบคือ ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนว่า จะทำให้อัตลักษณ์ของไทยถูกกลืนไป ดังนั้น ความเข้าใจผิดดังกล่าว อาจนำไปสู่กระแสการต่อต้านความความยามในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนร่วมกัน