Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557

วิกฤตยูเครน (ตอน 3 : ระบบโลกในยุคหลังการผนวก Crimea ของรัสเซีย)


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2557

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้จะมาวิเคราะห์วิกฤตยูเครนต่อเป็นตอนที่ 3 ซึ่งผมจะเน้นถึงผลกระทบของวิกฤตคราวนี้ ต่อระบบการเมืองโลก ดังนี้

               ระบบโลกในยุคหลังการผนวก Crimea ของรัสเซีย

               หลังจากเกิดวิกฤตยูเครน โดยเฉพาะหลังจากที่รัสเซียได้เข้ายึดและผนวกคาบสมุทร Crimea ป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้ว จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเมืองโลก ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ที่การเมืองโลกกลับไปเหมือนศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่มีลักษณะของการต่อสู้แข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจ การถ่วงดุลอำนาจ และการกำหนดเขตอิทธิพลของมหาอำนาจ

               บรรทัดฐานระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามเย็นคือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี จะไม่มีการทำสงครามเพื่อผนวกดินแดน นั่นคือสิ่งที่เราเข้าใจว่า โลกจะเปลี่ยนไปในศตวรรษที่ 21 แต่สิ่งที่รัสเซียได้ทำในการผนวก Crimea คือการหมุนโลกให้กลับไปสู่ศตวรรษที่ 19 และ 20 ด้วยการใช้กำลังทหารบุกเข้าไปยึดและผนวก Crimea และปูตินได้ประกาศเขตอิทธิพลของรัสเซีย ซึ่งเท่ากับการกลับไปสู่เกมการเมืองโลกของมหาอำนาจในศตวรรษที่ 20

               แต่จริงๆแล้ว เรื่องนี้จะโทษรัสเซียแต่เพียงผู้เดียวก็ไม่ได้ เพราะตะวันตกและสหรัฐเอง ก็เป็นสาเหตุในการทำให้ระบบโลกถอยหลังลงคลอง เพราะเราคงจำกันได้ว่า สหรัฐนั่นแหละที่ได้ละเมิดกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศอย่างรุนแรง ในปี 2003 เมื่อสหรัฐได้ใช้กำลังทหารบุกเข้ายึดครองอิรัก โดยไม่ได้รับไฟเขียวจากคณะมนตรีความมั่นคง และตะวันตกก็เป็นต้นเหตุ ที่ทำให้รัสเซียต้องก้าวร้าว ก็เพราะตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง ตะวันตกได้ดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมและพยายามกดรัสเซียมาโดยตลอด  

               ความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับรัสเซีย

               ผลจากวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ โดยเฉพาะผลของการผนวก Crimea ของรัสเซีย ได้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกกับรัสเซียเป็นอย่างมาก ตะวันตกซึ่งรวมทั้งองค์กรของตะวันตก ได้แก่ สหภาพยุโรป หรือ EU และนาโต้ กำลังมีความขัดแย้งกับรัสเซียอย่างชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายการขยายจำนวนสมาชิก ของ EU และนาโต้ ไปครอบคลุมเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย

               ความพยายามกลับขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกของรัสเซีย ขั้นแรกคือ การขยายอิทธิพลเข้าครอบงำ

ประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต และหลังจากนั้น ก็ขยายอิทธิพลไปยังยุโรปตะวันออก ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ

               ผลกระทบของการผนวก Crimea จะทำให้ตะวันตกมีปฏิกิริยาตอบโต้รัสเซีย โดยเฉพาะคงจะมี

ยุทธศาสตร์การปิดล้อมรัสเซียใหม่ ทั้งทางด้านการทหาร การทูต และเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มว่า EU จะลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และประเทศ EU คงจะลดปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าและการลงทุนกับรัสเซียลง

               รัสเซีย

               สำหรับยุทธศาสตร์ของรัสเซียนั้น ล่าสุด ดูได้จากสุนทรพจน์ของปูติน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่กล่าวที่รัฐสภาของรัสเซียหลังจากที่รัสเซียผนวก Crimea ซึ่งดูน้ำเสียงแล้ว มีลักษณะที่เคียดแค้นและต้องการล้างแค้นตะวันตก หลังจากที่ตะวันตกได้ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย และตะวันตกได้กดรัสเซียมาตลอดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปูตินได้พูดชัดว่า รัสเซียได้กลับมาแล้ว และมีความต้องการอย่างแรงกล้า ที่จะเอาเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซียกลับคืนมา และการครอบงำยูเครนก็เป็นก้าวแรกของยุทธศาสตร์ดังกล่าว ปูตินได้กล่าวโจมตีนาโต้อย่างรุนแรง โดยได้บอกว่า นาโต้ได้โกหกรัสเซียมาตลอด และได้ตัดสินใจหลายเรื่องที่เหมือนกับเป็นการแทงรัสเซียข้างหลัง นาโต้ได้ผิดคำมั่นสัญญาที่ได้บอกว่า จะไม่ขยายสมาชิกมาทางตะวันออก ปูตินได้สรุปว่า ขณะนี้ตะวันตกกำลังดำเนินนโยบายปิดล้อมรัสเซียอยู่

               นาโต้

               การผนวก Crimea ของรัสเซีย และวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นคืนชีของพันธมิตรนาโต้ หลังจากที่ซบเซามานาน ตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นาโต้ ดูเหมือนกับว่า สับสนและไม่มีเป้าหมายชัดเจน แต่จากวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ ทำให้นาโต้กลับมมีเป้าหมาย

ที่ชัดเจน นั่นก็คือ การปิดล้อมรัสเซียทางทหาร เลขาธิการนาโต้ถึงกับกล่าวว่า วิกฤตยูเครนทำให้นาโต้เผชิญ

กัภัยคุกคามที่อันตรายที่สุด นับตั้งแต่สงครามเย็สิ้นสุดลง และว่าวิกฤตครั้งนี้ เท่ากับเป็นนาฬิกาปลุก ปลุกให้นาโต้ตื่นจากหลับ

               หลังการผนวก Crimea นาโต้ก็ได้เริ่มเคลื่อนไหวทางทหารมากขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐได้ส่งเครื่องบินเข้าไปในโปแลนด์และประเทศ Baltic รวมทั้งอังกฤษ เยอรมนี และเดนมาร์ก ก็ได้เสริมกองกำลังมากขึ้น

               นาโต้กำลังมีแผนที่จะจัดตั้งฐานทัพถาวรในประเทศ Baltic และนาโต้ก็พยายามที่จะให้ความช่วยเหลือทางทหารกับยูเครน แต่ก็มีข้อจำกัดเพราะยูเครนยังไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้

               ในอนาคต ก็คงจะเห็นนาโต้มีบทบาทมากขึ้นในการปิดล้อมรัสเซียโดยเฉพาะการเสริมกองกำลังเข้าไปในยุโรปตะวันออกและเขต Baltic รวมทั้งการสนับสนุนยูเครน ซึ่งเราคงจะเห็นชัดเจนถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโต้ ในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งจะมีการประชุมสุดยอดนาโต้ที่แคว้น Wales ในประเทศอังกฤษ

               สหรัฐ

               สำหรับบทบาทของสหรัฐ แน่นอนก็คงจะเป็นผู้นำของตะวันตก ผู้นำของนาโต้ในการดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซียในอนาคต

                ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐวิเคราะห์ว่า นโยบายของ Obama ที่เรียกว่า Reset เพื่อปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียนั้น ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และคงไม่ต้องหวังว่า รัสเซียจะสนับสนุนสหรัฐในปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ซีเรีย อิหร่าน และอัฟกานิสถาน และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า รัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคง สหรัฐจึงต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวกับรัสเซียใหม่

               ขณะนี้ก็ได้เริ่มมีข้อเสนอมากมาย โดยเฉพาะจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ให้มีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ต่อรัสเซีย โดยพวกอนุรักษ์นิยมและพวกสายเหยี่ยวในสหรัฐได้มองรัสเซียในเชิงลบมาก โดยมองว่า ขณะนี้รัสเซียกำลังจะเป็นศัตรูกับสหรัฐ ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเผชิญกับภัยคุกคามจากรัสเซีย โดยข้อเสนอยุทธศาสตร์การปิดล้อมรัสเซีย จะมีมาตรการต่างๆ อาทิ

·      สหรัฐจะต้องตอกย้ำพันธกรณีที่มีต่อนาโต้ โดยจะต้องมีการยกเลิก NATO-Russia Council และสหรัฐจะต้องทำให้รัสเซียเห็นว่า ถ้ารัสเซียใช้กำลังทางทหารต่อสมาชิกนาโต้ สหรัฐจะถือเป็นการเข้าข่ายมาตราที่ 5 ของกฎบัตรนาโต้ ซึ่งบอกว่า หากสมาชิกนาโต้ประเทศใดประเทศหนึ่งถูกโจมตีก็เท่ากับเป็นการโจมตีประเทศนาโต้ทั้งหมด

·      สหรัฐควรให้ความช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครน โดยเฉพาะหากรัสเซียบุกเข้าไปในยูเครน สหรัฐและพันธมิตรก็ควรสนับสนุนกองกำลังของยูเครนเพื่อต่อสู้กับรัสเซีย

·      สำหรับมาตรการทางการทูต สหรัฐควรระงับความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซียโดยการเรียกทูตสหรัฐประจำรัสเซียกลับประเทศ และขับไล่ทูตรัสเซียประจำสหรัฐออกนอกประเทศ

·      ควรมีการกำหนดนโยบายด้านพลังงานใหม่ โดยสหรัฐควรจะมีนโนยายใหม่ในการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้กับยุโรป เพื่อให้ยุโรปลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย

·      สหรัฐควรจะยกเลิกสนธิสัญญาในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์กับรัสเซีย และรีบสร้างเสริมสมรรถนะอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐ รวมทั้งการพัฒนาระบบป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธ

·      นอกจากนี้ สหรัฐควรจะโดดเดี่ยวรัสเซีย ซึ่งรัสเซียได้ถูกขับออกจาก G8 แล้ว ในอนาคต ควรมี

การพิจารณาสมาชิกภาพของรัสเซียใน G20 และใน OSCE ด้วย

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า วิกฤตยูเครนในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบโลก ทำให้ระเบียบโลกกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งจะเป็นยุคที่ตะวันตกจะขัดแย้งกับรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ และระบบโลกก็จะถอยหลังลงคลองกลับไปสู่ศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20

วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2557

วิกฤตยูเครน (ตอน 2 )


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่  3 เมษายน 2557 


คอลัมน์กระบวนทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ที่มาที่ไปของวิกฤตยูเครน รวมทั้งท่าทีของมหาอำนาจต่างๆไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้ ผมจะมาวิเคราะห์ต่อโดยจะเน้นไปที่บทบาทของรัสเซียและแนวโน้มของวิกฤตว่า จะลุกลามบานปลายออกไปอย่างไร

               ยุทธศาสตร์ของรัสเซีย

               สำหรับปูติน การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ถือเป็นหายนะครั้งใหญ่ของรัสเซีย ปูตินและผู้นำรัสเซียจึงมองว่า ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ในช่วงหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และในยุคหลังสงครามเย็น ตะวันตกโดยมีสหรัฐเป็นผู้นำ กำลังมีแผนการปิดล้อมและลดอิทธิพลของรัสเซีย และขยายอิทธิพลของตะวันตกเข้าไปยังเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย คือ ยุโรปตะวันออก เทือกเขา Caucasus เอเชียกลาง และคาบสมุทร Balkan ปูตินจึงมีความต้องการอย่างแรงกล้า ที่จะสถาปนาเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซียขึ้นมาใหม่ และทำให้รัสเซียกลับมาเป็นอภิมหาอำนาจของโลกอีกครั้งหนึ่ง

               ดังนั้น ยุทธศาสตร์ของรัสเซียในขณะนี้คือ การกลับเข้าไปมีอิทธิพลในยุโรปตะวันออก เทือกเขา Caucasus เอเชียกลาง และคาบสมุทร Balkan และหมากตัวแรกที่รัสเซียเดินคือ การผนวกคาบสมุทร Crimea กลับมาเป็นของรัสเซีย โดยรัสเซียอ้างว่า รัสเซียมีความชอบธรรม ที่จะแทรกแซงใน Crimea เพื่อปกป้องชาวรัสเซียใน Crimea ซึ่งมีอยู่ถึง 60 %

               คำถามสำคัญของโลกในขณะนี้คือ รัสเซียจะหยุดอยู่ที่ Crimea หรือจะรุกคืบเข้าผนวกดินแดนต่างๆที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งผมจะวิเคราะห์ความเป็นไปได้ ที่รัสเซียจะส่งทหารเข้าแทรกแซงและผนวกดินแดนเหล่านี้ ดังนี้

               Ukraine

               บริเวณที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ที่รัสเซียจะใช้กำลังทหารบุกเข้ายึดและผนวกเป็นของรัสเซียคือ ทางตะวันออกของ Ukraine ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวรัสเซีย โดยที่ผ่านมา ก็ได้มีการชุมนุมสนับสนุนรัสเซียในเมือง Donetsk ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ทางตะวันออกของ Ukraine

               ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวทางทหารโดยรัสเซียได้ส่งกองกำลังทางทหาร 3 - 8 หมื่นคน มาประชิดพรมแดน Ukraine รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่พร้อมจะบุกเข้าไปใน Ukraine กองกำลังรัสเซียกระจุกตัวทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของ Ukraine ซึ่งคงจะมุ่งเป้าไปที่เมือง Donetsk

               ผู้บัญชาการกองกำลังนาโต้ได้วิเคราะห์ว่า กองกำลังรัสเซียอาจจะบุกทางตะวันออกและทางใต้ของ Ukraine และอาจจะยึดทางใต้ของ Ukraine ทั้งหมด ซึ่งจะเชื่อมกับคาบสมุทร Crimea และเขต Trans-Dniester ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของประเทศ Moldova

               อนาคตของ Ukraine จึงขึ้นอยู่กับท่าทีของ Ukraine ต่อตะวันตกและรัสเซีย โดยหาก Ukraine จะเป็นรัฐกันชนระหว่างตะวันตกกับรัสเซีย ปูตินก็อาจจะยอมรับได้ แต่หาก Ukraine จะเอียงไปทางตะวันตก และเข้าเป็นสมาชิก EU และนาโต้ ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้น ปูตินก็จะยอมรับไม่ได้

               ข้อมูลข่าวกรองตะวันตกล่าสุด ได้ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่รัสเซียจะบุก Ukraine ทางตะวันออก โดยวิเคราะห์ว่า การเสริมสร้างกำลังทหารของรัสเซียตามพรมแดน Ukraine นั้น มีลักษณะเหมือนกับตอนที่รัสเซียกำลังจะบุก Chechnya และ Georgia

               Moldova

               อีกประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต และล่อแหลมต่อการที่รัสเซียจะบุกคือ ประเทศ Moldova โดยเฉพาะในเขต Trans-Dniester ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของ Moldova ติดกับ Ukraine เขตนี้ได้ประกาศเป็นเอกราชจาก Moldova มาตั้งแต่ปี 1990 และประชากรในเขตนี้ส่วนใหญ่ก็พูดภาษารัสเซีย นาโต้ได้เตือนว่า Trans-Dniester น่าจะเป็นเป้าหมายลำดับต่อไปของรัสเซีย

               นอกจากนี้ ยังมีเขต Gagauzia ซึ่งอยู่ทางใต้ของ Moldova เป็นเขตปกครองตนเอง ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้มีการทำประชามติ และ 98 % สนับสนุนการเข้าร่วม Eurasian Union ที่รัสเซียเป็นผู้ริเริ่ม

               อย่างไรก็ตาม Moldova กำลังจะลงนามในข้อตกลงกับ EU ดังนั้น รัสเซียจะต้องคิดหนัก หากตัดสินใจจะผนวกเขต Trans-Dniester

                Caucasus

               ในปี 2008 รัสเซียได้ทำสงครามกับ Georgia มาแล้ว ในตอนนั้นเรื่องสำคัญคือ South Ossetia และ Abkhazia ต้องการประกาศเอกราชแต่ Georgia ไม่ยอม จึงส่งกองกำลังเข้าไปใน South Ossetia รัสเซียจึงได้ตัดสินใจช่วย South Ossetia ด้วยการบุก Georgia

               สาเหตุสำคัญของสงครามปี 2008 เป็นทั้งเรื่องเชื้อชาติและเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เรื่องเชื้อชาติคือ ชาว Ossetia มีที่ตั้งดั้งเดิมอยู่ในรัสเซียและมีความใกล้ชิดทางชาติพันธุ์กับรัสเซีย แต่ในศตวรรษที่ 13 ได้ถูกรุกรานจากมองโกล ทำให้ต้องอพยพย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในบริเวณเทือกเขา Caucasus ในปัจจุบัน South Ossetia ต้องการไปรวมกับชาติพันธุ์เดียวกันคือ  North Ossetia ซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองในรัสเซีย แต่ Georgia ไม่ยอม จึงเกิดสงครามขึ้น

               และอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์คือการที่ Georgia ตีตัวออกห่างจากรัสเซีย และไปใกล้ชิดกับสหรัฐและตะวันตก ปี 2006 ตะวันตกเชิญ Georgia มาเป็นสมาชิกนาโต้ ทำให้รัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมาก และก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่รัสเซียบุก Georgia เสมือนเป็นสงครามสั่งสอนให้ Georgia และประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเห็นเป็นบทเรียนว่า อะไรจะเกิดขึ้น หากประเทศเหล่านี้ตีตัวออกห่างจากรัสเซีย

               ขณะนี้รัสเซียได้ประกาศให้การยอมรับการประกาศเอกราชของ  South Ossetia และ Abkhazia แล้ว แต่ Georgia และตะวันตกไม่ยอมรับ ดังนั้น ชนวนสงครามระหว่างรัสเซียกับ  Georgia ยังมีอยู่ และอาจจะปะทุขึ้นใหม่ในอนาคตได้

               อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศอื่นๆในเขต Caucasus คือ Armenia และ Azerbaijan ก็ไม่น่าจะมีปัญหากับรัสเซีย เพราะมีชาวรัสเซียอาศัยอยู่น้อยมาก และทั้ง 2 ประเทศก็พยายามที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย โดย Armenia ก็ได้ประกาศเข้าร่วม Eurasian Union ที่รัสเซียริเริ่มด้วย

               Baltic

               Latvia, Lithuania และ Estonia ก็เป็นอดีตสหภาพโซเวียต แต่ได้แยกออกมาเป็นประเทศเอกราชภายหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต

               ใน Latvia และ Estonia มีชาวรัสเซียอาศัยอยู่ประมาณ 26 % และทั้งสองประเทศก็มีกฎหมายว่า คนในประเทศจะมีสัญชาติได้จะต้องพูดภาษา Latvia และ Estonia ได้ ทำให้ชาวรัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมากและไม่ต้องการมีสัญชาติ Latvia และ Estonia จึงทำให้ถูกกีดกันในเรื่องของการทำงาน ปูตินก็ได้แสดงความไม่พอใจและเห็นใจชาวรัสเซีย และปูตินก็ได้พูดอยู่เสมอว่า รัสเซียมีความชอบธรรมที่จะปกป้องชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ก็มีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน ที่รัสเซียจะพยายามเข้าไปมีอิทธิพลในประเทศเหล่านี้รวมทั้งอิทธิพลทางทหารด้วย

               อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ประเทศนี้เป็นสมาชิก EU และนาโต้ การที่รัสเซียจะใช้กำลังบุกเข้าไปจึงเป็น

เรื่องยาก

               เอเชียกลาง

               ประเทศในเอเชียกลางก็เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะทางเหนือของ Kazahkstan  ประชากรกว่าครึ่งเป็นชาวรัสเซีย อย่างไรก็ตาม Kazahkstan มีความใกล้ชิดกับรัสเซียดีอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีปัญหา

               สำหรับประเทศในเอเชียกลางอื่นๆ มีชาวรัสเซียไม่มาก และประเทศเหล่านี้ก็มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดรัสเซียดีอยู่แล้ว จึงเป็นไปได้น้อย ที่รัสเซียจะเข้าแทรกแซงทางทหารในเอเชียกลาง

               Belarus

               สำหรับประเทศสุดท้ายที่จะวิเคราะห์คือ Belarus ซึ่งก็เป็นอดีตสหภาพโซเวียต แต่โดยภาพรวมแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่าง Belarus กับรัสเซียถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยมีชาวรัสเซียอยู่ประมาณ 8 % แต่ประชากรของ Belarus กว่า 70 % พูดภาษารัสเซียได้ และ Belarus ใช้ภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ นอกจากนี้ Belarus ประกาศจะเข้าร่วม Eurasian Union ด้วย

               กล่าวโดยสรุป ประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต กำลังอยู่ในสถานะล่อแหลม วิกฤติยูเครนมีแนวโน้มจะลุกลามบานปลายออกไป เราคงต้องจับตาดูกันต่อว่า รัสเซียจะเดินหมากอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ทางตะวันออกของ Ukraine ก็คงเป็นบริเวณที่เราจะต้องจับตาดูกันแบบตาไม่กระพริบทีเดียว