Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557

วิกฤตยูเครน (ตอน 3 : ระบบโลกในยุคหลังการผนวก Crimea ของรัสเซีย)


ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 17 เมษายน 2557

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้จะมาวิเคราะห์วิกฤตยูเครนต่อเป็นตอนที่ 3 ซึ่งผมจะเน้นถึงผลกระทบของวิกฤตคราวนี้ ต่อระบบการเมืองโลก ดังนี้

               ระบบโลกในยุคหลังการผนวก Crimea ของรัสเซีย

               หลังจากเกิดวิกฤตยูเครน โดยเฉพาะหลังจากที่รัสเซียได้เข้ายึดและผนวกคาบสมุทร Crimea ป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้ว จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบการเมืองโลก ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ที่การเมืองโลกกลับไปเหมือนศตวรรษที่ 19 และ 20 ที่มีลักษณะของการต่อสู้แข่งขันกันระหว่างมหาอำนาจ การถ่วงดุลอำนาจ และการกำหนดเขตอิทธิพลของมหาอำนาจ

               บรรทัดฐานระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในยุคหลังสงครามเย็นคือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี จะไม่มีการทำสงครามเพื่อผนวกดินแดน นั่นคือสิ่งที่เราเข้าใจว่า โลกจะเปลี่ยนไปในศตวรรษที่ 21 แต่สิ่งที่รัสเซียได้ทำในการผนวก Crimea คือการหมุนโลกให้กลับไปสู่ศตวรรษที่ 19 และ 20 ด้วยการใช้กำลังทหารบุกเข้าไปยึดและผนวก Crimea และปูตินได้ประกาศเขตอิทธิพลของรัสเซีย ซึ่งเท่ากับการกลับไปสู่เกมการเมืองโลกของมหาอำนาจในศตวรรษที่ 20

               แต่จริงๆแล้ว เรื่องนี้จะโทษรัสเซียแต่เพียงผู้เดียวก็ไม่ได้ เพราะตะวันตกและสหรัฐเอง ก็เป็นสาเหตุในการทำให้ระบบโลกถอยหลังลงคลอง เพราะเราคงจำกันได้ว่า สหรัฐนั่นแหละที่ได้ละเมิดกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศอย่างรุนแรง ในปี 2003 เมื่อสหรัฐได้ใช้กำลังทหารบุกเข้ายึดครองอิรัก โดยไม่ได้รับไฟเขียวจากคณะมนตรีความมั่นคง และตะวันตกก็เป็นต้นเหตุ ที่ทำให้รัสเซียต้องก้าวร้าว ก็เพราะตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง ตะวันตกได้ดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมและพยายามกดรัสเซียมาโดยตลอด  

               ความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับรัสเซีย

               ผลจากวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ โดยเฉพาะผลของการผนวก Crimea ของรัสเซีย ได้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างตะวันตกกับรัสเซียเป็นอย่างมาก ตะวันตกซึ่งรวมทั้งองค์กรของตะวันตก ได้แก่ สหภาพยุโรป หรือ EU และนาโต้ กำลังมีความขัดแย้งกับรัสเซียอย่างชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายการขยายจำนวนสมาชิก ของ EU และนาโต้ ไปครอบคลุมเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย

               ความพยายามกลับขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลกของรัสเซีย ขั้นแรกคือ การขยายอิทธิพลเข้าครอบงำ

ประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต และหลังจากนั้น ก็ขยายอิทธิพลไปยังยุโรปตะวันออก ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ

               ผลกระทบของการผนวก Crimea จะทำให้ตะวันตกมีปฏิกิริยาตอบโต้รัสเซีย โดยเฉพาะคงจะมี

ยุทธศาสตร์การปิดล้อมรัสเซียใหม่ ทั้งทางด้านการทหาร การทูต และเศรษฐกิจ โดยมีแนวโน้มว่า EU จะลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย และประเทศ EU คงจะลดปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าและการลงทุนกับรัสเซียลง

               รัสเซีย

               สำหรับยุทธศาสตร์ของรัสเซียนั้น ล่าสุด ดูได้จากสุนทรพจน์ของปูติน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่กล่าวที่รัฐสภาของรัสเซียหลังจากที่รัสเซียผนวก Crimea ซึ่งดูน้ำเสียงแล้ว มีลักษณะที่เคียดแค้นและต้องการล้างแค้นตะวันตก หลังจากที่ตะวันตกได้ทำให้สหภาพโซเวียตล่มสลาย และตะวันตกได้กดรัสเซียมาตลอดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปูตินได้พูดชัดว่า รัสเซียได้กลับมาแล้ว และมีความต้องการอย่างแรงกล้า ที่จะเอาเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซียกลับคืนมา และการครอบงำยูเครนก็เป็นก้าวแรกของยุทธศาสตร์ดังกล่าว ปูตินได้กล่าวโจมตีนาโต้อย่างรุนแรง โดยได้บอกว่า นาโต้ได้โกหกรัสเซียมาตลอด และได้ตัดสินใจหลายเรื่องที่เหมือนกับเป็นการแทงรัสเซียข้างหลัง นาโต้ได้ผิดคำมั่นสัญญาที่ได้บอกว่า จะไม่ขยายสมาชิกมาทางตะวันออก ปูตินได้สรุปว่า ขณะนี้ตะวันตกกำลังดำเนินนโยบายปิดล้อมรัสเซียอยู่

               นาโต้

               การผนวก Crimea ของรัสเซีย และวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งในการฟื้นคืนชีของพันธมิตรนาโต้ หลังจากที่ซบเซามานาน ตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นาโต้ ดูเหมือนกับว่า สับสนและไม่มีเป้าหมายชัดเจน แต่จากวิกฤตยูเครนในครั้งนี้ ทำให้นาโต้กลับมมีเป้าหมาย

ที่ชัดเจน นั่นก็คือ การปิดล้อมรัสเซียทางทหาร เลขาธิการนาโต้ถึงกับกล่าวว่า วิกฤตยูเครนทำให้นาโต้เผชิญ

กัภัยคุกคามที่อันตรายที่สุด นับตั้งแต่สงครามเย็สิ้นสุดลง และว่าวิกฤตครั้งนี้ เท่ากับเป็นนาฬิกาปลุก ปลุกให้นาโต้ตื่นจากหลับ

               หลังการผนวก Crimea นาโต้ก็ได้เริ่มเคลื่อนไหวทางทหารมากขึ้นโดยเฉพาะสหรัฐได้ส่งเครื่องบินเข้าไปในโปแลนด์และประเทศ Baltic รวมทั้งอังกฤษ เยอรมนี และเดนมาร์ก ก็ได้เสริมกองกำลังมากขึ้น

               นาโต้กำลังมีแผนที่จะจัดตั้งฐานทัพถาวรในประเทศ Baltic และนาโต้ก็พยายามที่จะให้ความช่วยเหลือทางทหารกับยูเครน แต่ก็มีข้อจำกัดเพราะยูเครนยังไม่ได้เป็นสมาชิกนาโต้

               ในอนาคต ก็คงจะเห็นนาโต้มีบทบาทมากขึ้นในการปิดล้อมรัสเซียโดยเฉพาะการเสริมกองกำลังเข้าไปในยุโรปตะวันออกและเขต Baltic รวมทั้งการสนับสนุนยูเครน ซึ่งเราคงจะเห็นชัดเจนถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโต้ ในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งจะมีการประชุมสุดยอดนาโต้ที่แคว้น Wales ในประเทศอังกฤษ

               สหรัฐ

               สำหรับบทบาทของสหรัฐ แน่นอนก็คงจะเป็นผู้นำของตะวันตก ผู้นำของนาโต้ในการดำเนินยุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซียในอนาคต

                ฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐวิเคราะห์ว่า นโยบายของ Obama ที่เรียกว่า Reset เพื่อปรับความสัมพันธ์กับรัสเซียนั้น ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และคงไม่ต้องหวังว่า รัสเซียจะสนับสนุนสหรัฐในปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ซีเรีย อิหร่าน และอัฟกานิสถาน และเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า รัสเซียเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคง สหรัฐจึงต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาวกับรัสเซียใหม่

               ขณะนี้ก็ได้เริ่มมีข้อเสนอมากมาย โดยเฉพาะจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ให้มีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ต่อรัสเซีย โดยพวกอนุรักษ์นิยมและพวกสายเหยี่ยวในสหรัฐได้มองรัสเซียในเชิงลบมาก โดยมองว่า ขณะนี้รัสเซียกำลังจะเป็นศัตรูกับสหรัฐ ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเผชิญกับภัยคุกคามจากรัสเซีย โดยข้อเสนอยุทธศาสตร์การปิดล้อมรัสเซีย จะมีมาตรการต่างๆ อาทิ

·      สหรัฐจะต้องตอกย้ำพันธกรณีที่มีต่อนาโต้ โดยจะต้องมีการยกเลิก NATO-Russia Council และสหรัฐจะต้องทำให้รัสเซียเห็นว่า ถ้ารัสเซียใช้กำลังทางทหารต่อสมาชิกนาโต้ สหรัฐจะถือเป็นการเข้าข่ายมาตราที่ 5 ของกฎบัตรนาโต้ ซึ่งบอกว่า หากสมาชิกนาโต้ประเทศใดประเทศหนึ่งถูกโจมตีก็เท่ากับเป็นการโจมตีประเทศนาโต้ทั้งหมด

·      สหรัฐควรให้ความช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครน โดยเฉพาะหากรัสเซียบุกเข้าไปในยูเครน สหรัฐและพันธมิตรก็ควรสนับสนุนกองกำลังของยูเครนเพื่อต่อสู้กับรัสเซีย

·      สำหรับมาตรการทางการทูต สหรัฐควรระงับความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซียโดยการเรียกทูตสหรัฐประจำรัสเซียกลับประเทศ และขับไล่ทูตรัสเซียประจำสหรัฐออกนอกประเทศ

·      ควรมีการกำหนดนโยบายด้านพลังงานใหม่ โดยสหรัฐควรจะมีนโนยายใหม่ในการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้กับยุโรป เพื่อให้ยุโรปลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย

·      สหรัฐควรจะยกเลิกสนธิสัญญาในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์กับรัสเซีย และรีบสร้างเสริมสมรรถนะอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐ รวมทั้งการพัฒนาระบบป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธ

·      นอกจากนี้ สหรัฐควรจะโดดเดี่ยวรัสเซีย ซึ่งรัสเซียได้ถูกขับออกจาก G8 แล้ว ในอนาคต ควรมี

การพิจารณาสมาชิกภาพของรัสเซียใน G20 และใน OSCE ด้วย

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า วิกฤตยูเครนในครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบโลก ทำให้ระเบียบโลกกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ ซึ่งจะเป็นยุคที่ตะวันตกจะขัดแย้งกับรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ และระบบโลกก็จะถอยหลังลงคลองกลับไปสู่ศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20

ไม่มีความคิดเห็น: