Follow prapat1909 on Twitter

วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย (ตอนที่ 4 ) : ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 7 สิงหาคม 2557 

คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในตอนนี้ ผมจะเขียนเกี่ยวกับข้อเสนอการปฏิรูปการต่างประเทศของไทย ตอนที่ 4 ซึ่งจะเป็นเรื่องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับการทูตไทยในปัจจุบันและในอนาคต โดยผมจะเริ่มด้วยประวัติความเป็นมาของความสัมพันธ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจะเสนอยุทธศาสตร์ต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะเน้นยุทธศาสตร์ทวิภาคีกับยุทธศาสตร์พหุภาคี ที่จะต้องไปด้วยกัน
                สำหรับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เรามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพม่า ลาว กัมพูชา แต่ประวัติศาสตร์ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องของสงครามและความขัดแย้งมาโดยตลอด จนเมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง เมื่อสักประมาณ 20 ปีนี้เอง ที่ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเริ่มที่จะเป็นมิตรและเริ่มมีความร่วมมือกัน
               อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ก็ยังลุ่มๆดอนๆมาโดยตลอด โดยเฉพาะความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ซึ่งมี 2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรก ปี 2003 เกิดเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ และเรื่องที่ 2 คือ กรณีพิพาทบริเวณเขาพระวิหาร
ไทยยังมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ยังแก้ไม่ตกอยู่อีกมาก โดยเฉพาะปัญหาที่ต่างคนต่างไม่ไว้ใจกัน และปัญหาพรมแดนที่เป็นระเบิดเวลารออยู่
               ดังนั้น ปัญหาสำคัญที่สุดของการทูตไทยและนโยบายต่างประเทศไทยคือ ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปยุทธศาสตร์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใหม่ โดยยุทธศาสตร์ใหม่ต้องมีลักษณะบูรณาการ เป็นยุทธศาสตร์หลายช่องทาง ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี ยุทธศาสตร์ทวิภาคีจะต้องเสริมด้วยยุทธศาสตร์พหุภาคี และต้องประสานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และส่งเสริมเกื้อกูลกัน
               ยุทธศาสตร์ทวิภาคีกับยุทธศาสตร์อาเซียน จะต้องเกื้อกูลกัน ถ้าความสัมพันธ์ทวิภาคีไทยกับประเทศเพื่อนบ้านดี จะช่วยให้อาเซียนเจริญก้าวหน้า ในขณะเดียวกัน ถ้าอาเซียนมีความเจริญก้าวหน้าเป็นประชาคมอาเซียน มีความร่วมมือกันอย่างเข้มข้น จะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้นไปด้วย เพราะฉะนั้น ทวิภาคีเสริมอาเซียน และอาเซียนก็เสริมทวิภาคี
               สำหรับยุทธศาสตร์ไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในระดับทวิภาคีนั้น เรื่องสำคัญคือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ยุทธศาสตร์ระยะยาว จะต้องแก้ที่รากเง้าของปัญหาคือ ความขัดแย้งและความไม่ไว้วางใจกัน ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ ดังนี้
               ประการแรก ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ลืมประวัติศาสตร์ เรายังขุดเอาประวัติศาสตร์มาทิ่มแทงกัน ด้วยการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์และสงคราม
               ประการที่สอง ซึ่งก็สัมพันธ์กับประการแรกคือ การรื้อฟื้นลัทธิชาตินิยม ปลุกระดมคนไทยให้เกลียดประเทศเพื่อนบ้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการส่วนกระแสการเป็นประชาคมอาเซียนเป็นอย่างมาก เรายังมองประเทศเพื่อนบ้านเป็นศัตรู และยังไม่ไว้ใจกัน
ประการที่สาม ประเทศเพื่อนบ้านเองก็ไม่ไว้ใจไทยเช่นกัน และหวาดระแวงว่า ไทยจะพยายามครอบงำทางเศรษฐกิจ นักธุรกิจไทยในสายตาประเทศเพื่อนบ้าน ถูกมองเป็นลบมาก ถูกมองว่า ตักตวงผลประโยชน์และเป็นนักฉวยโอกาส
ประการที่สี่ เรื่องวัฒนธรรม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา วัฒนธรรมไทยในลักษณะ mass culture  คือ เพลง ภาพยนตร์ ละครทีวี ได้รับความนิยมในประเทศเพื่อนบ้านมาก แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนในประเทศเพื่อนบ้านก็มองว่า ไทยกำลังครอบงำทางวัฒนธรรม
ดังนั้น ไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหารากเหง้าเหล่านี้ นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไปคือ การส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชน และแก้ปัญหาพรมแดนพื้นที่ทับซ้อนกันอย่างบูรณาการ
สำหรับยุทธศาสตร์พหุภาคีนั้น แบ่งเป็น 2  ยุทธศาสตร์ย่อยคือ ยุทธศาสตร์อนุภูมิภาค และยุทธศาสตร์อาเซียน
สำหรับยุทธศาสตร์อนุภูมิภาคนั้น ไทยจะต้องผลักดันกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคต่างๆ ให้พัฒนาการไปอย่างเป็นรูปธรรม กรอบความร่วมมือที่สำคัญ ได้แก่ ACMECS ที่ไทยเป็นคนริเริ่มจัดตั้งขึ้น น่าจะเป็นกลไกที่เป็นประโยชน์ต่อไทย นอกจากนี้ ก็มีกรอบ BIMSTEC ที่จะเชื่อมไทยกับพม่าและประเทศในเอเชียใต้ และยังมีกรอบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Subregion   ไทยจะต้องเอาจริงเอาจังกับกรอบอนุภูมิภาคเหล่านี้ เพื่อที่จะใช้เป็นกลไกสำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
สำหรับยุทธศาสตร์พหุภาคีอาเซียนนั้น ถ้าอาเซียนบูรณาการและเป็นประชาคมได้สำเร็จ จะช่วยให้ความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้านดีขึ้น
ไทยจึงต้องมียุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างประชาคมอาเซียนด้วยการเสริมสร้างประชาคมย่อยทั้ง 3 ประชาคมให้สำเร็จ เพื่อช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน เรื่องสำคัญคือ การป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง ความร่วมมือในการจัดการปัญหาความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ซึ่งถ้า APSC ก้าวหน้า จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลไกป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง จะมีประโยชน์มาก คือ ถ้าไทยสามารถส่งเสริมพัฒนาให้กลไกมีประสิทธิภาพ จะช่วยในการจัดการความขัดแย้งระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้านได้
สำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ตรงนี้ ถ้าเราทำสำเร็จประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้ประโยชน์จาก AEC ได้ประโยชน์จากการติดต่อค้าขายกัน การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ทำให้ความหวาดแรงแวง และความไม่ไว้วางใจกันลดลง
ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน ไทยกำลังผลักดันที่จะเชื่อมโครงสร้างพื้นฐานกับประเทศเพื่อนบ้าน จะสร้างเส้นทางคมนาคมขนส่งติดต่อเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในระยะยาว จากการที่เรามีเส้นทางติดต่อไปมาหาสู่กัน จะช่วยทำให้ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้น เรื่องสำคัญคือ การพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม สิทธิผู้ด้อยโอกาส สิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน ซึ่งถ้าอาเซียนทำสำเร็จ ในเรื่องต่างๆเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์มาก ทำให้ไทยกับเพื่อนบ้านใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราสร้างอัตลักษณ์อาเซียนได้สำเร็จ ปัญหาความขัดแย้งไทยกับเพื่อนบ้าน จะแก้ได้ง่ายขึ้นมาก เราจะเลิกหวาดระแวงกัน ไทยกับเพื่อนบ้านจะมองเป็นพวกเดียวกัน

               และที่เกี่ยวเนื่องกับอัตลักษณ์อาเซียนคือ การปรับทัศนคติของคนไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน ตราบใดที่คนไทยมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อประเทศเพื่อนบ้าน ความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านก็จะไม่ดีไปด้วย เราจะต้องปรับทัศนคติคนไทยใหม่ ให้มองเพื่อนบ้านเป็นมิตรเป็นพวกเดียวกับเรา ถ้าเราทำตรงนี้สำเร็จ เราก็จะสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และประสบความสำเร็จในการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างยั่งยืนและอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น: