Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ปี 2014

ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม 2557

               เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยยูนนาน ที่เมืองคุนหมิง ให้ไปเข้าร่วมในการประชุม “China-ASEAN Relations: Review and Prospect” และได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “The Achievements of China-ASEAN Dialogue In the Past 23 Years”  คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะสรุปสาระสำคัญของสุนทรพจน์ดังกล่าว ดังนี้
               การผงาดขึ้นมาของจีน
               ความสัมพันธ์อาเซียน-จีนได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีสาเหตุมาจากการผงาดขึ้นมาของจีน หรือ the rise of China และการผงาดขึ้นมาของอาเซียน หรือ the rise of ASEAN
               สำหรับการผงาดขึ้นมาของจีนนั้น เศรษฐกิจจีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมากที่สุดในโลก โดยมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย 10 % ต่อปี ขนาดเศรษฐกิจของจีนหรือ GDP ขณะนี้ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐ แต่ในอนาคต ประมาณ 10 ปีข้างหน้า คือประมาณปี 2025 จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ขณะนี้ จีนเป็นประเทศที่ค้าขายกับโลกเป็นอันดับ 1 การลงทุนในต่างประเทศก็เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ จีนก็เป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ของโลก
               ดังนั้น อิทธิพลของจีนจะเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียกลาง อิทธิพลของจีนจะมีในทุกมิติ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ยุทธศาสตร์หลักของจีนคือ การเปลี่ยนระบบโลกจากระบบหนึ่งขั้วอำนาจไปเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ การกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และการประกาศสโลแกน “การผงาดขึ้นมาอย่างสันติ” หรือ peaceful rise
               การผงาดขึ้นมาของอาเซียน
               และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์อาเซียน-จีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็วคือ การผงาดขึ้นมาของอาเซียน 47 ปีที่ผ่านมา อาเซียนได้วิวัฒนาการกลายเป็นองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค ความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนพัฒนาไปอย่างรวดเร็วในทุกๆมิติ ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ปลายปี 2015 จะมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้น โดยจะมี 3 ประชาคมย่อย ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
               อาเซียนจึงเป็นการรวมกลุ่มของภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก จะเป็นรองก็แต่เพียงกับสหภาพยุโรปเท่านั้น
               10 ประเทศอาเซียนรวมกันมีประชากรกว่า 600 ล้านคน GDP รวมกันกว่า 2 ล้านล้านเหรียญ ทำให้อาเซียนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก ขณะนี้ เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกพัฒนา ไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ในปี 2030 GDP ของอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็ 7-8 ล้านล้านเหรียญ จะเป็นอันดับ 5 ของโลก
               อาเซียนกำลังผงาดขึ้นมาเป็นตัวแสดงในระดับภูมิภาคและในระดับโลก อาเซียนเป็นแกนกลางของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค เป็นศูนย์กลางของการทูตในภูมิภาค ซึ่งใช้คำว่า ASEAN Centrality อาเซียนมีกรอบความร่วมมือหลายกรอบ ทั้ง ASEAN + 1 ASEAN + 3 และ ASEAN + 8
               ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน
               และด้วยการผงาดขึ้นมาของทั้งอาเซียนและจีนดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้ความสัมพันธ์อาเซียน-จีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
               ในด้านการเมืองความมั่นคง จีนเป็นประเทศแรกที่ให้การรับรองสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือของอาเซียน หรือที่เราเรียกย่อๆว่า TAC รวมทั้งสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเครียร์หรือ SEANWFZ ในปี 2002 มีปฏิญญาความร่วมมือความมั่นคงในรูปแบบใหม่ และปฏิญญาทะเลจีนใต้หรือ DOC ต่อมาในปี 2003 มีปฏิญญาที่ทำให้จีนเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ประเทศแรกของอาเซียน ล่าสุดก็มีการจัดตั้ง Maritime Cooperation Fund ขึ้น
               สำหรับในด้านสังคมและวัฒนธรรม มีความร่วมมือกันหลายด้าน ทางด้านวัฒนธรรม ความสัมพันธ์ในระดับประชาชนก็มีมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในด้านใหม่ๆเกินขึ้น เช่น ด้านสาธารณสุข วิทยาศาสตร์ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
               แต่ที่เป็นหัวใจความสัมพันธ์อาเซียน-จีน คือความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
               ด้านการค้า ขณะนี้จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียน ในขณะที่อาเซียนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของจีน มีเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนตั้งแต่ปี 2010 การค้าขยายตัว 20 % ทุกปี จนในปี 2015 คาดว่ามูลค่าการค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนล้านเหรียญ และได้มีการตั้งเป้าว่า ในปี 2020 มูลค่าการค้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านเหรียญ
               สำหรับในด้านการลงทุน ในปี 2005 ได้มีการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือด้านการลงทุนอาเซียน-จีน ปี 2009 มีการจัดตั้ง Investment Cooperation Fund วงเงิน 1 หมื่นล้านเหรียญ เพื่อลงทุนในการสร้างโครงสร้าง พื้นฐาน เชื่อมการคมนาคมระหว่างจีนกับอาเซียน ตามแผนแบบบทการเชื่อมโยงอาเซียน หรือ Master Plan on ASEAN Connectivity และล่าสุดปีที่แล้ว ได้มีการเดินหน้าในการจัดตั้ง Asian Infrastructure Investment Bank
               สำหรับในด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนมาอาเซียนเพิ่มขึ้น 20 % ทุกปี ปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาอาเซียนมากกว่า 10 ล้านคน สำหรับนักท่องเที่ยวจากอาเซียนไปจีน ก็มีตัวเลขใกล้เคียงกันคือประมาณเกือบ 10 ล้านคน
               สำหรับความร่วมมือในการเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างอาเซียน-จีนนั้น มีข้อตกลง ASEAN-China Inter Connectivity และ ASEAN-China Transportation Linkage จีนได้กำหนดให้เมืองคุนหมิงและหนานหนิงเป็นประตูสู่อาเซียน โดยมีโครงการสร้างถนนและทางรถไฟจากเมืองทั้ง 2 เข้ามาในอาเซียน โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ที่จะมีถนนจากคุนหมิงมาถึงสิงคโปร์ นอกจากนี้ มีโครงการสร้างทางรถไฟหลายเส้นทาง โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟจากคุนหมิงไปถึงสิงคโปร์ผ่านทางเวียดนาม และอีกเส้นก็จะผ่านทางพม่า มาไทยและลงไปสิงคโปร์ รวมทั้งโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน ลาว และไทยด้วย
               อนาคตความสัมพันธ์อาเซียน-จีน
               สำหรับแนวโน้มความสัมพันธ์อาเซียน-จีนในอนาคต ก็จะกระชับแน่นแฟ้นขึ้นอีก โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ ปริมาณการค้าจะเพิ่มขึ้นอีกมาก โดยในปี 2020 จะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านเหรียญ ในด้านการลงทุน

ในปี 2020 มูลค่าการลงทุนจากจีนมาอาเซียนจะมีมูลค่าสูงถึง 1 แสน 5 หมื่นล้านเหรียญ โดยจะเป็นการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมจีนกับอาเซียนตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ซึ่งขณะนี้ จีนก็กำลังพัฒนาแผนเส้นทางถนนและรถไฟเชื่อมอาเซียนอีกหลายเส้นทาง ซึ่งทุกเส้นทางก็จะตัดผ่านเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมด ดังนั้น โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน-จีนเหล่านี้ จึงมีมีนัยอย่างสำคัญยิ่งต่อไทย
               นอกจากนี้ ก็กำลังจะมีการเจรจาปรับปรุง FTA อาเซียน-จีนกันใหม่ โดยจะให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น เน้นการเปิดเสรีด้านบริการและการลงทุน และเชื่อม FTA อาเซียน-จีนกับประชาคมเศรษกิจอาเซียน และมีข้อเสนอการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจอาเซียน-จีน หรือ ASEAN-China Economic Area และการจัดตั้งระเบียงเศรษฐกิจจีน-สิงคโปร์ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างจีนกับประเทศต่างๆในอาเซียน นอกจากนี้ จีนก็กำลังผลักดันยุทธศาสตร์ใหม่ เรียกว่า Maritime Silk Road ซึ่งจะเป็นการเชื่อมทางทะเลระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ด้วย
               อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญต่อความสัมพันธ์อาเซียน-จีนคือ ปัญหาในทะเลจีนใต้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ลุกลามบานปลายมากขึ้น ดังนั้น ทั้งจีนและอาเซียนต้องรีบจัดการกับปัญหานี้ อย่าปล่อยให้ลุกลามบานปลายจนจะมาทำลายความสัมพันธ์อาเซียน-จีน โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเน้นการพูดคุยเจรจา เพื่อหาสูตรข้อตกลงในลักษณะ win-win  ด้วยการเดินหน้าแปลง DOC ไปสู่การปฏิบัติ และเจรจา COC ให้ประสบความสำเร็จ ทุกฝ่ายจะต้องยุติกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งโดยเฉพาะความเคลื่อนไหวทางทหาร โดยเน้น เจรจาในเรื่องของเขตพัฒนาร่วมหรือ JDA และร่วมมือกันในประเด็นปัญหาที่ไม่ะเอียดอ่อน แต่ที่สำคัญมากคือจะต้องมีการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันให้เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหานี้ในระยะยาวต่อไป


              


ไม่มีความคิดเห็น: