5 ปีสงครามอิรัก (ตอนที่ 2)
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นวาระครบ 5 ปีของสงครามอิรักโดยสหรัฐฯบุกโจมตีอิรักเมื่อเดือนมีนาคมปี 2003 คอลัมน์โลกทรรศน์จะได้ถือโอกาสนี้ ในการย้อนวิเคราะห์ถึงสงครามอิรัก โดยจะแบ่งเป็นตอน ๆ ตอนแรก ๆ จะวิเคราะห์ถึงสาเหตุของสงคราม คำถามที่สำคัญคือ ทำไมสหรัฐฯจึงบุกอิรัก ประเด็นต่อมาคือ ผลกระทบต่อสงคราม หลังจากนั้น ผมจะได้ประเมินว่า 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลบุชประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร และในตอนท้าย จะได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มของสงครามอิรักในอนาคต
สำหรับตอนที่ 1 คือตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์ถึง สาเหตุว่าทำไมสหรัฐฯจึงบุกอิรักไป 1 หัวข้อแล้ว ในคอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่ 2 นี้ จะได้มาวิเคราะห์ต่อ ดังนี้
1.2 ลัทธิครองความเป็นเจ้า
สาเหตุต่อไป เป็นสาเหตุที่เรียกว่า วาระซ่อนเร้น เป็นวัตถุประสงค์ที่ประกาศไม่ได้ อันแรกคือ ลัทธิครองความเป็นเจ้า แน่นอนว่า ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อเมริกาเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 มาตลอด ระบบโลกทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นระบบที่อเมริกาสร้างขึ้นมาทั้งหมด ระบบความมั่นคง สหประชาชาติ พันธมิตรนาโต้ SEATO พันธมิตรกับญี่ปุ่น ฯลฯ อเมริกาสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น ในแง่ของเครือข่ายและระบบความสัมพันธ์ทั้งการเมืองและความมั่นคงโลก รวมทั้งสถาบันต่าง ๆ
ทางด้านเศรษฐกิจ หลังจากชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 อเมริกาได้สร้างระบบเศรษฐกิจโลกขึ้นมาโดยมีเสาหลัก 3 เสาคือ GATT IMF World Bank สำหรับ GATT เป็นกลไกระบบการค้า ส่วน IMF กับ World Bank เป็นกลไกจัดการระบบการเงินระหว่างประเทศ และมีดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลัก ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นระเบียบโลกที่เกิดขึ้นโดยที่อเมริกาได้สร้างขึ้นมา ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมีการถูกท้าทายบ้างก็จากฝ่ายสหภาพโซเวียต แต่ในที่สุดสหภาพโซเวียตก็ล่มสลาย และลัทธิที่มาท้าทายทุนนิยมของอเมริกาคือ คอมมิวนิสต์ก็ล่มสลายไปพร้อมกับสหภาพโซเวียตเมื่อประมาณเกือบ 20 ปีมาแล้ว
หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง อเมริกายิ่งโดดเด่นมากขึ้นในการครองความเป็นเจ้าในโลกนี้ นักรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักจะกล่าวว่า สงครามเย็นเป็นระบบ 2 ขั้ว (bi polar system) แต่หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง เห็นแล้วว่าเป็นระบบ 1 ขั้ว (Unipolar system) โดยมีอเมริกาเท่านั้นเป็นอภิมหาอำนาจ 1 เดียวในโลก เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องปกติที่ใครอยู่อันดับ 1 แล้วจะไม่ยอมลงจากอันดับ 1 มาอยู่อันดับ 2 ดังนั้น เป้าหมายยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯคือ ทำอย่างไรให้อเมริกาดำรงความเป็นหนึ่งในโลกนี้ต่อไปให้ยืนยาวที่สุด นั่นคือเป้าหมายหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของสหรัฐฯเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ
ระบบโลกที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังสงครามโลกจนถึงปัจจุบัน จะมีลักษณะคล้าย ๆ
รูปปิรามิด คือ มี dominant nation อยู่บนยอดปีระมิด คือสหรัฐฯ และตลอดเวลาที่ผ่านมา อเมริกาได้พยายามประคับประคองระบบที่อเมริกาสร้างขึ้นมาโดยให้มีประเทศอื่น ๆ สนับสนุนค้ำจุนและได้รับประโยชน์จากระเบียบโลกนี้
มหาอำนาจ (great power) ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ส่วนประเทศระดับกลาง (middle power) ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่สนับสนุนระบบโลกของอเมริกา พอใจและได้ประโยชน์จากระบบโลกนี้มาตลอด 50 ปีที่ผ่านมา
แต่ไม่ใช่ว่าทุกประเทศในโลกจะพอใจและสนับสนุนระบบโลกของอเมริกา ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่พอใจเช่น จีน รัสเซีย ประเทศในตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศมุสลิม และกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง
ถ้ามีประเทศไม่พอใจมากกว่าประเทศที่พอใจ ระบบโลกของอเมริกาจะถูกท้าทาย อเมริกายอมให้เกิดภาพนี้ไม่ได้
ฐานอำนาจของอเมริกาใหญ่โต อำนาจทางการเมืองการทหารของอเมริกานั้น อันดับที่ 2-10 บวกกันยังไม่เท่าอเมริกา งบประมาณทางด้านการทหารของอเมริกาคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของงบประมาณทางการทหารของประเทศทั้งหมดในโลกรวมกัน คือประมาณ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
ขนาดเศรษฐกิจของอเมริกาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีขนาดใหญ่คิดเป็นครึ่งหนึ่งของโลก แต่ตอนนี้ลดลงมาอยู่ที่ 20-30% แต่ก็ยังใหญ่
ด้านเทคโนโลยี วัฒนธรรม อเมริกาก็ครอบทุกด้าน
เพราะฉะนั้น อเมริกาต้องการให้มีประเทศที่สนับสนุน พอใจ ในระบบโลกของอเมริกา ถึงแม้จะมีประเทศที่ไม่พอใจ ท้าทาย ต่อต้าน ทำลายระบบของอเมริกา แต่ถ้ามีจำนวนน้อย ระบบโลกของอเมริกาก็จะมีเสถียรภาพอยู่ต่อไป
1.3 การปะทะกันทางอารยธรรม
หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ได้เกิดมิติใหม่ของความขัดแย้งระหว่างประเทศ คือ การปะทะกันระหว่างอารยธรรม ซึ่งจากหนังสือ Clash of Civilizations เขียนโดย Samuel Huntington ได้อธิบายว่า ความขัดแย้งนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมา 1,400 กว่าปีที่แล้ว นับเป็นสงครามครูเสดในรูปแบบใหม่ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ 11กันยาฯ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปะทะกันระหว่างอารยธรรม ระหว่างตะวันตกกับกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่ต้องการที่จะท้าทายและเป็นปฏิปักษ์ต่อสหรัฐฯและตะวันตก อาจกล่าวได้ว่า สงครามที่อเมริกากำลังดำเนินอยู่กับอิรักนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปะทะกันระหว่างอารยธรรม เพราะลึก ๆ แล้วอเมริกามองว่าโลกอาหรับกำลังกระด้างกระเดื่อง กำลังมีกระแสต่อต้านสหรัฐฯ กำลังเป็นปฏิปักษ์เกลียดชังสหรัฐฯมากขึ้นทุกที และต้องการทำลายสหรัฐฯอย่างเช่นที่เกิดในเหตุการณ์ 11 กันยาฯ
1.4 ดุลแห่งอำนาจ
สาเหตุต่อไป คือ การสร้างดุลแห่งอำนาจใหม่ ในตะวันออกกลาง อิรักกำลังจะเป็นมหาอำนาจในภูมิภาค และถ้าอเมริกาสามารถทำลายระบอบซัดดัมลงไปได้ แล้วเข้าไปยึดครองอิรักได้ ดุลแห่งอำนาจจะเปลี่ยนไป อเมริกาจะเข้าไปมีอิทธิพลอย่างมาก ต่อไปถึง อิหร่าน ซีเรีย ซาอุดิอารเบีย ดินแดนเหล่านี้ คือดินแดนที่รัฐบาล Bush มองว่าเป็นบ่อเกิดของขบวนการก่อการร้ายหัวรุนแรง เป็นบ่อเกิดของการต่อต้านตะวันตก เพราะฉะนั้นอเมริกาต้องเข้าไปจัดการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น