Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2551

5 ปีสงครามอิรัก (ตอนที่ 1)

5 ปีสงครามอิรัก (ตอนที่ 1)

ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว เป็นวาระครบ 5 ปีของสงครามอิรักโดยสหรัฐฯบุกโจมตีอิรักเมื่อเดือนมีนาคมปี 2003 คอลัมน์โลกทรรศน์จะได้ถือโอกาสนี้ ในการย้อนวิเคราะห์ถึงสงครามอิรัก โดยจะแบ่งเป็นตอน ๆ ตอนแรก ๆ จะวิเคราะห์ถึงสาเหตุของสงคราม คำถามที่สำคัญคือ ทำไมสหรัฐฯจึงบุกอิรัก ประเด็นต่อมาคือ ผลกระทบต่อสงคราม หลังจากนั้น ผมจะได้ประเมินว่า 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลบุชประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร และในตอนท้าย จะได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มของสงครามอิรักในอนาคต

1. ทำไมสหรัฐฯจึงบุกอิรัก?

1. 1 การก่อการร้ายและอาวุธร้ายแรง

สาเหตุของสงคราม ประการแรกคือ เรื่องการก่อการร้าย และอาวุธร้ายแรง

ถ้ามองย้อนกลับไปช่วงก่อนเหตุการณ์ 11 กันยาฯ อิรักถึงแม้จะมีปัญหากับสหรัฐฯก็ตาม บุกคูเวต และในที่สุด ก็แพ้สงคราม ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมานั้น อิรักเป็นตัวปัญหาก็จริง แต่ไม่ถึงกับวิกฤต ไม่ถึงกับว่าสหรัฐฯต้องไปบุกอิรัก เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา อเมริกาใช้วิธีคว่ำบาตรและปิดล้อม แต่หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยาฯ ทุกสิ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ถือเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายและยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ อย่างมาก
อาจกล่าวได้ว่า หลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ อเมริกาได้เปลี่ยนไปเป็นคนละคน ความรุนแรงของเหตุการณ์ 11 กันยาฯ สำหรับชาวอเมริกัน นับเป็นผลกระทบ เป็นเหตุการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ เพราะถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของอเมริกา 200 ปี สงครามที่ถูกคุกคามจากภายนอก เช่น สงครามโลกครั้งที่ 1 อเมริกาก็ไม่โดนอะไร เพราะสมรภูมิรบอยู่ในยุโรป อเมริกาส่งทหารไปรบในยุโรปและชนะ สงครามโลกครั้งที่ 2 โดนที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ แต่ตัวแผ่นดินใหญ่อเมริกาไม่ได้ถูกกระทบอะไร อเมริกาส่งทหารไปรบในยุโรป และเอเชียก็ชนะ หลังจากนั้นเป็นสงครามเย็น สงครามกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ซึ่งอเมริกาก็ไม่ได้โดนอะไร สงครามเกาหลี เกาหลีเหนือบุกเกาหลีใต้ อเมริกาส่งทหารไปรบ สงครามเวียดนามก็เช่นกัน เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็น สงครามก็หมดไป

แต่เหตุการณ์ 11 กันยาฯ เป็นเหตุการณ์ที่ต่างไปจากประวัติศาสตร์ของอเมริกา ที่อเมริกาถูกโจมตีในส่วนที่เป็นหัวใจของอเมริกา คือกลางนครนิวยอร์ค สัญลักษณ์ของอเมริกาคือ ตึก World Trade Center ไม่เพียงเท่านั้น ตึกเพนตากอน ตึกสำนักงานใหญ่ของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ที่เป็นศูนย์กลาง เป็นหัวใจของอำนาจทางทหารของอเมริกาก็ถูกโจมตีด้วย

ในวันนั้น ประธานาธิบดี Bush ต้องขึ้นเครื่องบินหนีและไม่กล้าร่อนลง พอร่อนลงที่ฐานทัพทหาร ต้องรีบบินต่อ เพราะกลัวจะถูกโจมตี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯที่ประธานาธิบดีต้องหนีกระเซอะกระเซิงขนาดนั้น

เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ 11 กันยาฯ สำหรับคนอเมริกันถือว่าเจ็บปวดมาก นั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อเมริกาเปลี่ยนไปเหมือน “คนเลือดเข้าตา”

หลังจากวันนั้น อเมริกาก็ประกาศนโยบายที่จะทำลายขบวนการก่อการร้ายให้ได้ ขบวนการก่อการร้ายกลายเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ประธานาธิบดี Bush ประกาศว่า จะต้องทำลายเครือข่าย Al Qaeda จะต้องจับตัว Bin Laden ล้มล้างระบอบตาลีบัน หลังจากดำเนินการไปได้ซักพักหนึ่ง ก็สามารถล้มล้างระบอบตาลีบันลงไปได้ที่อัฟกานิสถาน

แต่ว่า Bin Ladenก็หายไป Al Qaeda ก็หายไป อเมริกาดำเนินยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์ระยะยาวคือ การทำลายเครือข่ายการก่อการร้ายทั่วโลก หยุดยั้งรัฐบาลที่สนับสนุนการก่อการร้าย ปฏิรูปการป้องกันประเทศใหม่ ดำเนินนโยบายทั้งด้านการทูต คือ สร้างแนวร่วมในการต่อต้านการก่อการร้าย ด้านข่าวกรอง การบังคับใช้กฎหมาย เศรษฐกิจ และทหาร ดำเนินไปพร้อม ๆ กัน

หลังจากอเมริกาดำเนินนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายได้พักหนึ่ง เป็นภาค 1 เข้าสู่ภาค 2 เป็นภาคที่เรียกว่า Bush Doctrine เป็นการประเมินนโยบายการป้องกันประเทศใหม่ ประเมินรูปแบบภัยคุกคามต่ออเมริกา หลังจากที่ใช้เวลาอยู่พักหนึ่ง ผลออกมาคือ หลังจากปราบปรามได้พักหนึ่ง อเมริกาเริ่มกลัวว่า การโจมตีของขบวนการก่อการร้ายครั้งต่อไป อาจจะเป็นอาวุธร้ายแรง อาจจะเป็นอาวุธเคมี อาวุธเชื้อโรค อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธกัมมันตภาพรังสี จึงกลายเป็นว่า แล้วอเมริกาจะป้องกันไม่ให้ขบวนการก่อการร้ายมีอาวุธเหล่านั้นได้อย่างไร ทางฝ่ายสหรัฐฯมุ่งเป้าไปที่ “อักษะแห่งความชั่วร้าย” คือ อิรัก อิหร่าน เกาหลีเหนือ 3 ประเทศนี้คือ 3 ประเทศที่มีศักยภาพมากที่สุด ในการที่จะพัฒนาอาวุธร้ายแรงเหล่านี้ และสามารถส่งต่ออาวุธเหล่านั้นให้แก่ขบวนการก่อการร้าย

จากข้อมูลของ CIA ได้มีการประเมินในแง่ของอิรักว่า ในตอนสงครามอ่าวครั้งที่ 1 ตอนนั้นอิรักเกือบจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้อยู่แล้ว แต่ว่าถูกทำลายเสียก่อนเมื่อ 10 กว่าปีก่อน อย่างไรก็ตาม อิรักหลบ ๆ ซ่อน ๆ ที่จะพัฒนาอาวุธเหล่านี้กลับขึ้นมาอีก จากข้อมูลของ CIA คาดการณ์ว่า ภายในอีกไม่กี่ปีหรือร้ายไปกว่านั้นคือ ไม่กี่เดือน ถ้าไม่ทำอะไรซักอย่าง อิรักคงจะสามารถสร้างอาวุธนิวเคลียร์ได้ และแน่นอนว่า ในแง่ของสหรัฐฯมีความเชื่อว่า อิรักนั้นมีการสร้างอาวุธเคมีและอาวุธเชื้อโรคอยู่ รวมทั้งความพยายามที่จะพัฒนา ขีปนาวุธพิสัยไกล

หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยาฯ มีการประเมินกันว่า เครือข่าย Al Qaeda รวมทั้ง Bin Ladenประกาศจุดยืนอย่างชัดเจน ต้องการที่จะมีอาวุธร้ายแรงเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธเคมี เชื้อโรคและนิวเคลียร์ อาวุธตัวใหม่ที่ขบวนการก่อการร้ายจะได้มาง่าย ๆ คืออาวุธกัมมันตภาพรังสี หรือภาษาง่าย ๆ เรียกว่า dirty bomb ซึ่งจะทำขึ้นมาไม่ยากนัก โดยใช้กากนิวเคลียร์ ซึ่งจะส่งผลให้มีคนตายได้ไม่น้อยเหมือนกัน
ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในอดีตที่ป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรงมี 3 ยุทธศาสตร์ คือ prevention, defense, deterrence

prevention คือป้องกันการแพร่ขยายของเทคโนโลยีของอาวุธเหล่านั้นไปสู่ประเทศหรือขบวนการก่อการร้าย
ส่วนยุทธศาสตร์การป้องปราม (deterrence) คือยุทธศาสตร์ ในสมัยสงครามเย็น เป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯและโซเวียตที่มีอาวุธนิวเคลียร์ ในตอนนั้นยุทธศาสตร์การป้องปราม หมายความว่า ถ้าโซเวียตโจมตีสหรัฐฯ สหรัฐฯสามารถจะโจมตีรัสเซียกลับได้ และทั้ง 2 ประเทศก็จะหายนะด้วยกันทั้งคู่ เพราะฉะนั้น อย่าคิดที่จะมีสงครามนิวเคลียร์จะดีกว่า ไม่มีประโยชน์อะไร ยิงมาก็ยิงกลับ หายนะด้วยกันทั้งคู่ นั่นคือการป้องปรามไม่ให้เกิดสงคราม

แต่ปัญหาคือ ยุทธศาสตร์การป้องกัน (prevention) รัฐบาลสหรัฐฯกำลังคิดว่าคงไม่ได้ผลแล้ว ในที่สุด ประเทศที่ต้องการมีอาวุธเหล่านี้ก็จะมี รวมทั้งขบวนการก่อการร้าย และยุทธศาสตร์การป้องปราม (deterrence) ก็คงไม่ได้ผลเช่นกัน เพราะในอดีตป้องปรามโซเวียตได้เพราะมีประเทศ มีประชากร แต่สหรัฐฯคิดว่าคงจะป้องปรามขบวนการก่อการร้ายไม่ได้

แล้วถ้าทั้ง 2 อย่างนี้ไม่ได้ผลก็ต้องใช้ defense คือ โครงการการสร้างเกราะป้องกันสหรัฐฯ ในกรณีที่อเมริกาถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธติดหัวรบอาวุธร้ายแรง อเมริกาจะสามารถทำลายขีปนาวุธเหล่านี้กลางอากาศ ก่อนที่จะมาตกที่อเมริกา ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯอยากจะสร้างระบบนี้อย่างมากก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ 11 กันยาฯ แต่พอเกิดเหตุการณ์แล้ว ได้พิสูจน์ว่า เกราะกำบังคงไม่ได้ผล ถ้าขบวนการก่อการร้ายจะโจมตีอเมริกา คงจะไม่ยิงขีปนาวุธมาแน่ คงจะมาด้วยวิธีที่อเมริกาคาดไม่ถึง อาจจะใช้รถบรรทุก หรือเรือสินค้า แล้วซ่อนอาวุธร้ายแรงนั้นเข้ามา ดังนั้น defense คงไม่ได้ผล

ดังนั้น ยุทธศาสตร์การป้องกันสหรัฐฯ ป้องกันการโจมตีจากอาวุธร้ายแรง ในที่สุดอเมริกาได้คิดยุทธศาสตร์ใหม่ขึ้นมา คือ preemption ยุทธศาสตร์การโจมตีก่อนที่เขาจะโจมตีเรา ซึ่งกรณีของอิรักเป็นกรณีแรก เป็นการเริ่มยุทธศาสตร์นี้เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ เพราะอเมริกามองแล้วว่า ถ้าปล่อยไว้ อิรักจะมีอาวุธนิวเคลียร์ และอาจจะส่งต่อให้ขบวนการก่อการร้าย จะให้อเมริกานั่งอยู่เฉย ๆ รอการโจมตีจากอาวุธร้ายแรงเหล่านี้ก่อนหรือ? Bush บอกว่านั่นเหมือนการฆ่าตัวตาย อเมริกาต้องกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ คือ การตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

นี้คือสาเหตุที่อเมริกาบุกอิรักข้อที่ 1 คือ อาวุธร้ายแรง ซึ่งเป็นสาเหตุที่รัฐบาลสหรัฐฯประกาศอย่างเป็นทางการว่า นี่คือสาเหตุหลักที่อเมริกาต้องเข้าไปปลดอาวุธ ล้มระบอบซัดดัมเพื่อป้องกันอาวุธร้ายแรง แต่ จริง ๆ แล้ว สาเหตุที่อเมริกาบุกอิรักนั้น มีสาเหตุจากอะไรบ้าง นอกจากอาวุธร้ายแรง?


1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ