Follow prapat1909 on Twitter

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐฯต่อเอเชีย

ยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐฯต่อเอเชีย

ตีพิมพ์ใน: สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์

เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Robert Gates รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้เดินทางไปเยือนอินโดนีเซีย และได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐฯต่อเอเชีย คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้วิเคราะห์ถึงสุนทรพจน์ดังกล่าว โดยจะเน้นถึงการมองภัยคุกคามของสหรัฐฯ และยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯเพื่อรับมือกับภัยคุกคามดังกล่าว


ภาพรวม

สำหรับภาพรวมของสุนทรพจน์ในครั้งนี้ ผมดูแล้วเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายค่อนข้างมากทีเดียวสำหรับรัฐบาล Bush เพราะเราคงจะจำกันได้ว่า รัฐบาล Bush ในช่วงแรก ๆ มีนโยบายแข็งกร้าวมาก แต่จากสุนทรพจน์ของ Gates ครั้งนี้ ดูอ่อนลงมาก และมีลักษณะเป็นภาษาดอกไม้ค่อนข้างมาก ยุทธศาสตร์ของ Gates ปรับเปลี่ยนไปมากจากเดิมที่สหรัฐฯเคยเน้นยุทธศาสตร์แบบดำเนินนโยบายแบบฝ่ายเดียว หรือที่เรียกว่า unilateralism และเน้นความสัมพันธ์ทางทหารแบบสองฝ่าย หรือที่เรียกว่า bilateralism ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักที่เรียกว่า hub and spoke หรือยุทธศาสตร์ “ดุมล้อ” และ “ซี่ล้อ” โดยสหรัฐฯเป็น hub และประเทศอื่น ๆ เป็น spoke แต่สุนทรพจน์คราวนี้กลับไปเน้นยุทธศาสตร์ใหม่ที่เน้นพหุภาคีนิยม หรือ multilateralism

ภัยคุกคาม

Gates ได้วิเคราะห์ว่า ตั้งแต่สงครามเย็นสิ้นสุดลง ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาค สภาวะแวดล้อมทางด้านความมั่นคงในเอเชียได้เปลี่ยนแปลงไปมาก มีขั้วอำนาจใหม่เกิดขึ้น มีภัยคุกคามใหม่ ๆ เกิดขึ้น ดังนี้

· การผงาดขึ้นมาของอินเดีย ซึ่งสหรัฐฯมองว่า กำลังเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับ
สหรัฐฯ และกำลังเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและทางด้านทหาร

· สำหรับจีน ได้ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และจีนกำลังแปรเปลี่ยน
ความสำเร็จทางเศรษฐกิจไปเป็นการเพิ่มอิทธิพลทางการเมือง และทางทหารของตน

· รัสเซีย ได้ฟื้นตัวจากสภาวะยุ่งเหยิงจากยุคหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย
ขณะนี้รัสเซียกำลังผงาดขึ้นมาใหม่ด้วยความร่ำรวยที่ได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และกำลังมีความทะเยอทะยาน ที่จะกลับมามีบทบาทที่โดดเด่นในเวทีระหว่างประเทศอีกครั้ง

· สำหรับเกาหลีเหนือ ในสายตาของ Gates ยังคงเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ
ต่อภูมิภาค เกาหลีเหนือยังคงเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวที่เป็นแกะดำต่างจากแนวโน้มในภูมิภาค ที่มุ่งไปสู่เสรีภาพและความรุ่งเรือง เกาหลีเหนือถือเป็นภัยคุกคามต่อประเทศเพื่อนบ้าน และด้วยความพยายามที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธ และอาจส่งต่ออาวุธร้ายแรงให้กับประเทศอื่น เกาหลีเหนือจึงเป็นปัญหาของภูมิภาคซึ่งจะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อโลก

· นอกจากนี้ มีภัยคุกคามใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาโจร
สลัด ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ ความยากจน เครือข่ายการก่อการร้าย การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้ายแรงต่างๆ

Gates ได้ย้ำว่า ภัยคุกคามต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะแก้ไขได้ โดยประเทศ
หนึ่งหรือสองประเทศ แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ประเทศ
สำหรับในการวิเคราะห์ภัยคุกคามของ Gates นั้น ผมมีความเห็นว่า โดยทั่วไปแล้วก็
ไม่ได้มีอะไรใหม่ แต่ประเด็นสำคัญที่เห็นชัดเจนคือการลดการวาดภาพจีนว่า เป็นภัยคุกคามสำคัญ โดยจะเห็นได้ว่า Gates มองอินเดียเป็นบวก ในขณะที่มองจีนและรัสเซียก็ไม่ถึงกับเป็นลบ ส่วนเกาหลีเหนือนั้นก็เป็นภัยคุกคามของสหรัฐฯมานานแล้ว

แต่ผมก็ยังมีความรู้สึกว่า การวาดภาพภัยคุกคามของ Gates น่าจะเป็นภาพหลอก เป็นภาพลวงตาเสียมากกว่า ผมเชื่อว่า วาระซ่อนเร้นที่สำคัญของสหรัฐฯในภูมิภาคคือ การมองว่าจีนกำลังผงาดขึ้นมาเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อสหรัฐฯ

ยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ

ในการที่จะเผชิญกับภัยคุกคามดังกล่าว Gates ได้เสนอยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจ
สรุปเป็นข้อ ๆได้ดังนี้

· Gates ได้ย้ำว่า สหรัฐฯนั้นเป็นประเทศในแปซิฟิค (Pacific Nation) และจะ
ยังคงเป็นต่อไป ซึ่งผมมองว่า เท่ากับเป็นการตอกย้ำว่า อเมริกาเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคนี้และอเมริกาจะต้องมีบทบาทสำคัญ Gates ได้บอกว่า อเมริกาได้เสียสละทั้งเลือดเนื้อ และทรัพย์สินเพื่อต่อสู้กับการรุกราน ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และต่อสู้เพื่อสันติภาพและความรุ่งเรืองในภูมิภาคมาโดยตลอด ในปัจจุบัน พันธกรณีของสหรัฐฯในภูมิภาคยังคงแข็งแกร่งและจะยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

· สำหรับความสำคัญของพันธมิตรหลักของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชีย
ตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ Gates ได้ตอกย้ำว่า พันธมิตรดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น แต่ปัจจุบันทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่นได้ผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและสร้างเสริมสมรรถนะทางทหารที่เข้มแข็ง ดังนั้น ทั้งสองประเทศจึงสามารถที่จะเพิ่มความรับผิดชอบในการป้องกันตนเองมากขึ้น ทำให้สหรัฐฯสามารถที่จะลดกองกำลังทหารทั้งในญี่ปุ่นและในเกาหลีได้ แต่การลดกำลังทหารของสหรัฐฯ จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงพันธกรณีที่จะปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ

· สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐฯได้เพิ่มกองกำลังทหาร
มากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทของเกาะกวมในการเป็นฐานทางทหารที่สำคัญเพื่อพร้อมที่จะเผชิญกับภัยคุกคาม

สำหรับในประเด็นนี้ ผมมีความเห็นว่า ยุทธศาสตร์นี้ เป็นยุทธศาสตร์ที่เรารู้กัน
มานานแล้วว่า ยุทธศาสตร์ทหารสำคัญของสหรัฐฯคือ การเคลื่อนย้ายทหารจากเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมาสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้เพราะ ภัยคุกคามสำคัญของสหรัฐฯกำลังเคลื่อนมาทางใต้เช่นเดียวกัน นั่นก็คือ แนวโน้มการขยายอิทธิพลของจีนเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐฯคือ การปิดล้อมจีนและการสกัดกั้นอิทธิพลของจีน

· นอกจากนี้ Gates ยังบอกว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ด้านการทหาร
ของสหรัฐฯ จากยุทธศาสตร์เดิมแบบที่จะมีการคงกองกำลังแบบถาวร ไปสู่ยุทธศาสตร์ในการเพิ่มความคล่องตัว และยุทธศาสตร์การเสริมสร้างสมรรถนะทางทหารให้แก่พันธมิตรในการป้องกันตนเอง

· นอกจากนั้น Gates ยังได้กล่าวว่า ขณะนี้สหรัฐฯกำลังเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่
ในการผสมผสานระหว่าง hard power กับ soft power โดยจะเป็นการผสมผสานกันทั้งในด้านการทหาร การทูต เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในลักษณะเป็นบูรณาการ

· เรื่องที่ Gates ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ ความมั่นคงทางทะเล เพื่อต่อต้าน
กับภัยคุกคามในรูปแบบของโจรสลัด การก่อการร้ายและการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง กองทัพเรือสหรัฐฯกำลังร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อป้องกันเส้นทางการเดินเรือ สหรัฐฯได้ให้ความช่วยเหลือต่ออินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงค์โปร์ และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะในการป้องกันความมั่นคงปลอดภัยของช่องแคบมะละกา

· ประเด็นสุดท้ายที่ Gates ได้พูดถึง คือ การเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯ
โดยการสนับสนุนให้พันธมิตรของสหรัฐฯในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมมือกันมากขึ้น ซึ่ง Gates อ้างว่า เป็นการเปลี่ยนแนวคิดจากในยุคสงครามเย็นที่เน้นตัวแบบ hub and spoke โดยสหรัฐฯหันมาสนับสนุนความร่วมมือระหว่างพันธมิตรมากขึ้น สนับสนุนพหุภาคีนิยมมากขึ้น แต่ Gates ก็ได้ยืนยันว่าแนวโน้มดังกล่าว จะไม่ทำให้ความสัมพันธ์ทวิภาคีอ่อนแอลง แต่จะเป็นการเอาความสัมพันธ์พหุภาคีมาเสริมความสำคัญทวิภาคีมากกว่า พูดง่าย ๆ ก็คือ จะเป็นการเอาเวทีพหุภาคีมาเสริม hub and spoke นั่นเอง

กล่าวโดยสรุป สุนทรพจน์ของ Gates ได้ชี้ให้เห็นยุทธศาสตร์ใหม่ทางทหารของสหรัฐฯต่อภูมิภาคเอเชีย แต่ผมยังไม่ค่อยแน่ใจนักว่า จะเป็นยุทธศาสตร์จริงๆ หรือยุทธศาสตร์หลอก ผมเชื่อว่า ยุทธศาสตร์ใหญ่ของสหรัฐฯในภูมิภาคยังคงมีอยู่ 3 เรื่อง ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือการครองความเป็นเจ้า ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ การปิดล้อมจีน และยุทธศาสตร์ที่ 3 คือการทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

ผมไม่เชื่อตามที่ Gates ได้พูดว่า ยุทธศาสตร์สหรัฐฯกำลังเปลี่ยนจาก hub and spoke มาเป็นพหุภาคีนิยม ผมคิดว่า สหรัฐฯยังคงจะยึดยุทธศาสตร์ hub and spoke ต่อไป แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเอาเวทีพหุภาคีมาเสริม อาจจะเป็นเพื่อลดกระแสการต่อต้านสหรัฐฯที่กำลังมีมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งจีน และอินเดีย

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขออนุญาตเข้ามาหาบทความในบล็อกอาจารย์ค่ะ
สำหรับเตรียมสอบกลางภาค 1 สิงหาคมนี้

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความดี ๆ