Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2551

วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ : ผลกระทบต่อโลกและต่อไทย

วิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ : ผลกระทบต่อโลกและต่อไทย

ตีพิมพ์ใน: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


1. วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

กรณีวิกฤต subprime ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดหุ้นทั่วโลก และทำท่าว่า ฟองสบู่ของเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะแตกก็ได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะวิกฤต ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ต้นตอของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นผลมาจาก ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือ ปัญหาของการขาดสภาพคล่อง ที่เป็นผลมาจากการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และได้มีการนำเอาเงินกู้ดังกล่าวไปเปลี่ยนสภาพและปล่อยกู้ต่อให้ธนาคารต่างๆ ทั่วโลก ผลสืบเนื่องจึงเป็นลักษณะลูกโซ่ ทำให้ธนาคารต่างๆทั่วโลกมีความไม่แน่ใจในค่าของเงินกู้ดังกล่าว และเริ่มมีความเสี่ยงในการปล่อยกู้ เริ่มมีความไม่เชื่อมั่นในสถานะทางการเงินของธนาคารต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ทั้งธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทและผู้บริโภค มีความยากลำบากในการกู้เงิน

ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า ผลกระทบของวิกฤต subprime จะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน บางคนมองว่า อาจจะเป็นเพียงทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลง แต่บางคนกลับมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯคือ Goldman Sachs ได้ออกมาประกาศว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย พูดง่ายๆ ก็คือ ในปี 2008 นี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯจะติดลบ

รัฐบาล Bush ได้พยายามผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีการตั้งวงเงินไว้ถึง 150,000 ล้านเหรียญ ซึ่งมาตรการดังกล่าวก็เพิ่งได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ดำเนินนโยบายทางการเงินโดยการลดอัตราดอกเบี้ยลง จาก 4.25% เหลือ 3.5% ซึ่งนับเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยที่มากที่สุดในรอบ 20 ปี อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ เหล่านี้ ก็ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน และอาจส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจโลก

2. ผลกระทบต่อโลก

2.1 ตลาดหุ้น

หลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ได้ทรุดหนักลงเรื่อย ๆ ก็ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ตลาดหุ้นในประเทศต่าง ๆ ดัชนีราคาหุ้นตกต่ำลงอย่างมาก ได้มีการประเมินว่า ความเสียหายโดยเฉพาะในช่วง 3 สัปดาห์ของเดือนมกราคมนี้ มีถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดหุ้นในประเทศต่าง ๆ มีมูลค่าลดลงกว่า 20%

ในวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ดัชนีราคาหุ้นในประเทศต่าง ๆ ตกต่ำลงอย่างมาก ถือว่าเป็นวันที่การค้าขายในตลาดหุ้นย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน ปี 2001 อาทิ ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ ดัชนีลดลงถึง 17% ส่วน Bank of China กำลังจะประกาศการขาดทุนครั้งใหญ่จากการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับ subprime ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับธนาคารใหญ่ของเยอรมนีก็ขาดทุนถึง 1,400 ล้านเหรียญ ซึ่งเกี่ยวเนื่องจากการเข้าไปลงทุนใน subprime

2.2 การค้า

ผลกระทบอีกประการหนึ่งที่เป็นผลมาจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์คือ ผลกระทบต่อการค้าของโลก โดยมีแนวโน้มว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะทำให้กระแสนโยบายปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

แนวโน้มที่สหรัฐฯจะมีนโยบายปกป้องทางการค้าและต่อต้านเสรีนิยมมากขึ้นในอนาคตนั้น นอกจากจะเป็นผลมาจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์แล้ว ยังเป็นผลจากปัจจัยอื่น ๆ ประการแรกคือ การเพิ่มขึ้นของการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ โดยเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐฯขาดดุลการค้าถึง 8 แสนล้านเหรียญ ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ แนวโน้มการย้ายฐานการทำงานออกไปนอกประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมภาคบริการต่าง ๆ อาทิ การย้ายฐานการให้บริการโทรคมนาคมสื่อสารไปอยู่ที่อินเดีย ซึ่งทำให้คนอเมริกันตกงานเป็นจำนวนมาก

ขณะนี้จึงกลายเป็นว่า เรื่องใหญ่ที่กลายเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ก็คือเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่นโยบายต่างประเทศหรืออิรัก ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต ก็มีแนวโน้มที่จะมีนโยบายทางการค้าที่มีลักษณะปกป้องทางการค้า แนวนโยบายของพรรคเดโมแครตคือ การให้ความสำคัญกับคนงานสหรัฐฯที่ตกงานเพราะการค้าเสรี ดังนั้น ทั้งHillary Clinton และ Obama ก็คัดค้าน FTA โดย Hillary ได้กล่าวว่า หากเธอได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะเอาข้อตกลง FTA มาทบทวนกันใหม่ โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบต่อคนงานอเมริกัน Hillaryได้เคยประกาศว่า NAFTA นั้นทำให้คนอเมริกันตกงาน ดังนั้น จึงมีแนวโน้มว่า นโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลเดโมแครต จะชะลอการเจรจา FTA และจะมีนโยบายต่อต้านการค้าเสรีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก

มีแนวโน้มว่า สภาคองเกรสที่พรรคเดโมแครตมีเสียงข้างมาก ก็กำลังผลักดันกฎหมายปกป้องทางการค้าหลายฉบับ ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการเสนอร่างกฎหมายที่จะไม่ให้สถานะ MFN ต่อจีน นอกจากนี้ ยังมีการเสนอร่างกฎหมาย Fair Currency Act โดยระบุว่าจีน ดำเนินนโยบายอัตราการแลกเปลี่ยน ที่เป็นการละเมิดต่อกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะต้องได้รับการตอบโต้โดยการขึ้นภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีน และสถานะ Fast Track Authority ของ Bush ก็ไม่ได้รับการต่ออายุ ทำให้รัฐบาล Bush ตกอยู่ในฐานะลำบากมากในการเจรจา FTA กับประเทศต่าง ๆ

ผลกระทบของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศต่างๆ ไปยังตลาดสหรัฐฯแล้ว ความต้องการการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯกำลังลดลงอย่างชัดเจน อาทิ บริษัท Kubota ของญี่ปุ่นซึ่งส่งออกรถแทรคเตอร์ไปยังตลาดสหรัฐฯ ยอดส่งออกลดลง 5% และปีนี้คงจะลดลงเพิ่มมากขึ้น สำหรับในจีน การส่งออกสินค้าสิ่งทอไปสหรัฐฯลดลงถึง 20% อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ จะขึ้นอยู่กับว่า ประเทศนั้น ๆ พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯมากน้อยเพียงใด ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่จะพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย สิงค์โปร์ และไทย

3. ผลกระทบต่อไทย

3.1 ตลาดหุ้นและการลงทุน


ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดคือ ผลกระทบต่อตลาดหุ้นของไทย ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นของไทยตกต่ำลงอย่างมาก
นอกจากนี้ แนวโน้มในระยะยาวคือ ผลกระทบต่อการลงทุนของสหรัฐฯในประเทศไทย การลงทุนของสหรัฐฯในไทยปัจจุบันมีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ สหรัฐฯถือเป็นประเทศที่มาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น แต่จากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ มีแนวโน้มจะทำให้การลงทุนของสหรัฐฯในไทยลดลงอย่างแน่นอน

3.2 การค้า

สหรัฐฯเป็นตลาดการส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยปีที่แล้ว ไทยส่งออกไปสหรัฐฯมีมูลค่า 15,000 ล้านเหรียญ หรือเกือบ 20% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ดังนั้น ผลกระทบจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯอย่างแน่นอน ทั้งนี้เพราะอุปสงค์ของสหรัฐฯคงจะลดลง รวมทั้งไทยก็จะเจอมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ สินค้าหลัก ๆ ที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯที่จะได้รับผลกระทบ คงหนีไม่พ้นสินค้าสิ่งทอ สินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้า กุ้ง ไก่ และข้าวหอมมะลิ การส่งออกชิ้นส่วนยานยนตร์ การส่งออกปลาทูน่ากระป๋อง สินค้าเหล็ก และสินค้าสับปะรดกระป๋อง เป็นต้น

4. แนวโน้ม

ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์จะส่งผลกระทบรุนแรงมากแค่ไหนต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ Goldman Sachs ก็ไม่ได้คาดการว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะถดถอยอย่างรุนแรง แต่จะเป็นการถดถอยในระดับปานกลาง และมีความเป็นไปได้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะพลิกฟื้นกลับมาโตได้อีกในปี 2009 ขณะนี้จึงมีการถกเถียงกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยจริงๆ หรือไม่ หรืออาจจะเป็นเพียงแค่ชะลอตัวลงเท่านั้น

ถึงแม้ว่า ประเทศต่าง ๆ ในโลกจะได้รับผลกระทบต่อวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ แต่หลาย ๆ ประเทศก็เตรียมรับมือกับวิกฤตการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว ประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศ ก็มีแผนที่จะป้องกันการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ก็มีความพร้อมมากขึ้นที่จะป้องกันผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ หลายๆ ประเทศในเอเชียเคยได้รับบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และได้มีมาตรการรับมือ โดยเฉพาะการสำรองเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้เป็นจำนวนมหาศาล และมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น ซึ่งจะทำให้โอกาสที่จะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งรอบ 2 เป็นไปค่อนข้างยาก หลาย ๆ ประเทศเตรียมรับมือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ด้วยการหันมาเน้นกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ หันไปกระชับความร่วมมือในลักษณะการรวมกลุ่มทางการค้า และแสวงหาตลาดทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: