Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

ระบบความมั่นคงในเอเชียตะวันออกในอนาคต: ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่1)

ระบบความมั่นคงในเอเชียตะวันออกในอนาคต: ผลกระทบต่อไทย (ตอนที่ 1)
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 55 ฉบับที่ 52 วันศุกร์ที่ 19 - พฤหัสบดีที่ 25 กันยายน 2551

คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ ผมอยากจะเอาผลการวิจัยของผมที่เพิ่งทำเสร็จไป มาสรุปให้ได้อ่านกัน งานวิจัยมีชื่อเรื่องว่า “ระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในยุคหลัง-หลังสงครามเย็น”

งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ (scenario) ของระบบความมั่นคงของเอเชียตะวันออกในอนาคต โดยได้วิเคราะห์ scenario ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ระบบหนึ่งขั้วอำนาจ ระบบการเปลี่ยนผ่านแห่งอำนาจ ระบบดุลแห่งอำนาจ การปะทะกันทางอารยธรรม และระบบภูมิภาคภิบาลโดยผมจะสรุปผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ (scenario) ของระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในอนาคต และจะเสนอแนะแนวนโยบายต่างประเทศของไทย เพื่อรองรับต่อระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในอนาคต ดังนี้

ระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในอนาคตอันใกล้: ระบบหนึ่งขั้วอำนาจ

ระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ ในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้ มีลักษณะ 1 ขั้ว คือ มีสหรัฐฯเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก โดยขั้วอำนาจอื่น ๆ ยังคงไม่มีศักยภาพพอ ที่จะขึ้นมาแข่งขันกับสหรัฐฯได้ รัสเซียยังคงอ่อนแอและคงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าที่จะฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ จีนยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าที่จะพัฒนาศักยภาพทางด้านการทหารและเศรษฐกิจ ที่จะขึ้นมาเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯได้ สำหรับสหภาพยุโรป ถึงแม้จะมีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ แต่ทางด้านการเมืองความมั่นคง ยังคงต้องใช้เวลาในการรวมตัวกัน สำหรับญี่ปุ่น ก็เช่นเดียวกัน ญี่ปุ่นมีข้อจำกัดหลายด้านด้วยกัน ทั้งในด้านของการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ศักยภาพในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจเริ่มลดลง และอำนาจทางด้านการทหารและความมั่นคง ยังจำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐฯอยู่

ในขณะนี้ ระบบความมั่นคงระหว่างประเทศ มีลักษณะของความเป็นหนึ่งขั้วอำนาจ ได้แก่การที่สหรัฐฯครองความเป็นเจ้าในโลก ซึ่งเป็นระบบโลกที่คุ้นเคยกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง อเมริกากลายเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก ระเบียบโลกในปัจจุบัน มีอเมริกาเป็น “dominant nation” และอเมริกาพยายามจะรักษาระบบโลกนี้ โดยดึงมหาอำนาจระดับรองลงมา ได้แก่ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น ให้มาสนับสนุนอเมริกา และมีประเทศระดับกลางและระดับเล็ก ก็พอใจและสนับสนุนระเบียบโลกที่อเมริกาสร้างขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกประเทศในโลกจะเห็นด้วยและสนับสนุนระบบโลกของอเมริกา ซึ่งถ้าประเทศที่ต่อต้านอเมริกามีมากขึ้นเรื่อยๆ ระเบียบโลกของอเมริกาจะอยู่ไม่ได้ จะสั่นคลอน ซึ่งขณะนี้ มีหลายๆประเทศที่ไม่ชอบอเมริกา อเมริกายอมให้เกิดสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ คือมีประเทศที่ต่อต้านอเมริกามากกว่าประเทศที่สนับสนุนอเมริกา เพราะฉะนั้น อเมริกาต้องทำให้ภาพนี้เปลี่ยนไป คืออเมริกามีฐานอำนาจอยู่ข้างบน และประเทศที่สนับสนุนอเมริกามีมาก ถึงแม้จะมีประเทศที่ต่อต้านอเมริกา แต่ก็มีน้อย ถ้าเป็นอย่างนี้ ระบบโลกของอเมริกาจะยังอยู่ต่อไปได้

สำหรับระบบความมั่นคงในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก แนวโน้มสำคัญคือ สหรัฐฯ ยังคงเป็นตัวแสดงสำคัญที่สุด และยังคงครองความเป็นเจ้าอยู่ต่อไป โดยยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ จะเน้น 3 เรื่องใหญ่ด้วยกัน เรื่องแรกคือ การครองความเป็นเจ้า เรื่องที่สองคือ นโยบายปิดล้อมและสกัดกั้นอิทธิพลของจีน และเรื่องที่สามคือสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ไทยคงไม่มีทางเลือกที่จะต้องเล่นตามเกมของสหรัฐฯ ทั้ง 3 เรื่อง

ในการวิเคราะห์ถึงภัยและโอกาสต่อไทย หากมองในแนวคิดสัจจนิยม จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯทำตัวเป็น "อันธพาล" จะเข้ามาครอบงำภูมิภาค ทั้งทางด้านการทหาร ความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แต่หากมองในแนวอุดมคตินิยม การที่สหรัฐฯเป็นเจ้าครองโลก ก็น่าจะเป็นโอกาสต่อไทย ในแง่ที่สหรัฐฯจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวคานอำนาจในภูมิภาค โดยการเข้ามาถ่วงดุลอำนาจระหว่างจีนและญี่ปุ่น และจะเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับไทย
หากมองในแง่นี้ นโยบายต่างประเทศไทยในระยะสั้น ก็มีความจำเป็นที่ไทยจะต้องมีนโยบายเข้าหาสหรัฐฯมากขึ้น เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติที่จะได้ จากการเข้าหาสหรัฐฯดังกล่าวข้างต้น

ดังนั้น ในระเบียบโลกที่อเมริกาเป็นเจ้าอยู่ในขณะนี้ ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้ จากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับอเมริกานั้นมีอยู่อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง ด้านการทหาร ด้านเศรษฐกิจ ด้านเทคโนโลยี ด้านองค์แห่งความรู้ ซึ่งต้องพึ่งพาอเมริกาอยู่ นั่นเป็นโอกาส แต่ภัยก็มี ถ้าใกล้ชิดกับอเมริกามากเกินไป ศัตรูของอเมริกาก็มีอยู่ จะกลายเป็นว่าไทยกลายเป็น “ลูกไล่” “หางเครื่อง” หรือ “ตามก้น” อเมริกา ซึ่งรัฐบาลบางสมัยก็โดนโจมตีมาแล้ว นอกจากนี้ ภัยของไทยที่ใกล้ชิดกับสหรัฐในยุคหลังเหตุการณ์ 11 กันยาฯ คือ อาจจะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน ทำให้ไทยเป็นเป้าของภัยก่อการร้าย และเป็นศัตรูกับโลกมุสลิม เพราะฉะนั้น จุดสมดุลอยู่ตรงไหน ไทยจะวางตัวอย่างไร มีความใกล้ชิด มีนโยบายต่ออเมริกาอย่างไร เพื่อที่จะก่อให้เกิดความสมดุล จะได้โอกาส และป้องกันไม่ให้เกิดภัยที่จะเข้ามาใกล้

กล่าวโดยสรุป ระบบหนึ่งขั้วอำนาจซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวในโลก แนวโน้มสำคัญคือ สหรัฐฯภายใต้การนำของรัฐบาล Bush แนวคิดอนุรักษ์นิยมใหม่ ลัทธิการครองความเป็นเจ้า การดำเนินนโยบายฝ่ายเดียว และการแสวงหาพันธมิตรที่จะสนับสนุนสหรัฐฯ จะดำเนินต่อไป ท่ามกลางสภาวะที่สหรัฐฯ ครองความเป็นเจ้าในโลกเช่นนี้ จะเป็นทั้งภัยและโอกาสต่อไทย ภัยในแง่ที่สหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายในลักษณะก้าวร้าวกดดันไทยต่อไป ซึ่งจะทำให้ไทยไม่มีทางเลือก ที่จะต้องสนับสนุนสหรัฐฯ แต่ขณะเดียวกัน การใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ก็จะเป็นโอกาสสำหรับไทยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางด้านการทหาร การเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจ ดังนั้นไทยจะต้องพยายามถ่วงน้ำหนัก สร้างดุลยภาพของความสัมพันธ์ให้ดี โดยพยายามลดภัยและเพิ่มโอกาสให้กับไทย

ระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในอนาคตระยะยาว: ระบบดุลแห่งอำนาจ และ การเปลี่ยนผ่านแห่งอำนาจ

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวมีแนวโน้มว่า โลกกำลังจะเปลี่ยนจากระบบ 1 ขั้วไปสู่หลายขั้วอำนาจ สหรัฐฯจะเสื่อมคลายลง ตามวัฏจักรของมหาอำนาจที่เป็นมาในอดีต นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่า ขั้วอำนาจอื่นๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป รัสเซีย ประเทศในเอเชีย ประเทศกลุ่มอิสลาม แอฟริกา และละตินอเมริกา มีแนวโน้มว่า จะต่อต้านสหรัฐฯ และเป็นพันธมิตรกันในการคานอำนาจสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้โลกเป็นหลายขั้วอำนาจในระยะยาว
สำหรับประเทศจะขึ้นมาท้าทายระเบียบโลกของอเมริกานั้น ขณะนี้ มีกลุ่มประเทศอิสลามกับจีนเป็นตัวแสดงที่สำคัญ

สำหรับจีน ปัจจัยสำคัญที่จะสร้างอำนาจให้กับชาติคือ ฐานประชากร ในปี 2025 ประชากรของจีนจะใหญ่มาก อินเดียจะมาก อเมริกาจะเล็กลง ยุโรปจะเล็กลง เพราะฉะนั้น ถ้าดูจากฐานประชากร จะตอบได้ง่ายๆเลยว่า ในอนาคตนั้น ใครจะใหญ่ในโลกนี้ ใครจะขึ้นมาท้าทายระเบียบโลกของอเมริกา ซึ่งก็คือ จีนกับอินเดีย

ที่ชัดเจนไปกว่านั้นคือ เรื่องของขนาดเศรษฐกิจ ในปี 1950 ขนาดเศรษฐกิจของอเมริกาใหญ่ 50 % ของเศรษฐกิจโลก แต่ในปี 2025 หากเศรษฐกิจของจีนยังเจริญเติบโต 8% ไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจของจีนจะใหญ่เท่ากับของอเมริกา และในปี 2050 เศรษฐกิจของจีนจะใหญ่เท่ากับของอเมริกาและยุโรปรวมกัน เพราะฉะนั้น จะเป็นแนวโน้มที่สำคัญอย่างยิ่ง ในแง่ของผลที่จะมากระทบต่อนโยบายของไทยในระยะยาว คือการผงาดขึ้นมาของจีน และในระยะยาว จะมีอินเดียด้วย

แต่ว่าสิ่งที่สำคัญ ที่จะมีผลกระทบต่อไทยมาก ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ในอนาคต จีนจะขยายอิทธิพลครอบงำภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม อเมริกาคงไม่ยอมให้จีนมีบทบาทมากขึ้น นโยบายปิดล้อมจีน ซึ่งสหรัฐฯดำเนินการมาตลอด จะนำมาใช้ต่อไป ขณะนี้จีนกำลังถูกปิดล้อม ทางด้านตะวันออกคือ ญี่ปุ่นและประเทศอาเซียนบางประเทศ ทางใต้คืออินเดีย ทางตะวันตก อเมริกากำลังเพิ่มบทบาทมากขึ้นในเอเชียตะวันตก สิ่งต่างๆเหล่านี้ เป็นวิวัฒนาการในอนาคต ที่กำลังจะเกิดขึ้น

การที่จีนใหญ่ขึ้นมา ไทยจะได้อะไร ขณะนี้ไทยก็รู้ว่า จีนกำลังใหญ่ขึ้นมา ไทยพยายามใกล้ชิดกับจีน พยายามทำเขตการค้าเสรีกับจีน อย่างไรก็ตาม นั้นคือโอกาสของไทยสำหรับการที่จะใกล้ชิดจีนในอนาคต

เมื่อมีโอกาส ก็มีภัย สำหรับ “ภัย” ที่จะเกิดขึ้นเมื่อไทยไม่ได้ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ คือการที่ไทยจะถูกจีนครอบงำ การเป็น “ลูกไล่” จีน ซึ่งคงจะไม่เป็นประโยชน์ต่อไทยในระยะยาว จุดสมดุลจะอยู่ตรงไหน การที่จะถ่วงดุลอำนาจระหว่างสหรัฐฯกับจีน น่าจะเป็นนโยบายของไทย คือ การสร้างดุลอำนาจให้เกิดขึ้น ไม่ให้อำนาจใดอำนาจหนึ่ง มีมากจนครอบงำภูมิภาคนี้

ดังนั้น ระบบหลายขั้วอำนาจ จะเป็นแนวโน้มสำหรับอนาคตในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของจีนและอินเดีย ซึ่งจะมีทั้งภัยและโอกาสต่อไทย ดังนั้น นโยบายในระยะยาวของไทย คือ การเน้นการทูตรอบทิศทาง นโยบายรักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกัน (equi-distant policy)

ในอนาคตระยะยาว โลกจะเปลี่ยนจากระบบ 1 ขั้วไปสู่ระบบหลายขั้ว ดังนั้น แนวนโยบายต่างประเทศไทยในระยะยาว จะต้องเตรียมปูพื้นฐานไว้ สำหรับโลกหลายขั้วอำนาจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยนโยบายไทยต้องค่อยๆปรับจากสภาวะแวดล้อมที่เป็นระบบ 1 ขั้วเป็นหลายขั้วอำนาจ จากการพึ่งพิงสหรัฐฯไปสู่นโยบายการทูตรอบทิศทาง (omni-directional diplomacy) โดยจะต้องพยายามฟื้นฟู สร้างความสัมพันธ์และรักษาความสัมพันธ์กับขั้วอำนาจอื่นๆที่กำลังจะเกิดขึ้น

ในระยะยาว จะเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ เพราะฉะนั้น ไทยจะต้องเข้าหาทุกขั้วอำนาจ คือ ดำเนินนโยบายในลักษณะที่รักษาระยะห่างที่เท่าเทียมกัน (equi - distant policy) ซึ่งจะเหมาะสำหรับดุลยภาพแห่งอำนาจ ที่แต่ละขั้วอำนาจมีอำนาจในระดับเดียวกัน คือ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯมีอำนาจพอ ๆ กัน

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะ