Follow prapat1909 on Twitter

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

Medvedev Doctrine

Medvedev Doctrine
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 55 ฉบับที่ 51 วันศุกร์ที่12 - พฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2551

หลังสงครามรัสเซีย - จอร์เจีย ซึ่งรัสเซียคือผู้ชนะในสงครามครั้งนี้ ทำให้รัสเซียมีพลังอำนาจมากขึ้น และเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า รัสเซียกำลังกลับขึ้นมาผงาดเป็นอภิมหาอำนาจทางทหารอีกครั้งหนึ่ง คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะวิเคราะห์การประกาศนโยบายของรัสเซียล่าสุด ที่ผมอยากจะเรียกว่า Medvedev Doctrine หรือหลักการ Medvedev และวิเคราะห์แนวโน้มยุทธศาสตร์การตอบโต้จากสหรัฐ

Medvedev Doctrine

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ประธานาธิบดีคนใหม่ของรัสเซีย คือ Dmitri Medvedev ได้ประกาศนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 5 ประเด็นด้วยกัน

· รัสเซียจะเคารพและยึดมั่นในหลักการขั้นพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ
· รัสเซียมองว่าโลกจะต้องเป็นระบบหลายขั้วอำนาจ ระบบหนึ่งขั้วอำนาจเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ รัสเซียจะไม่ยอมรับระเบียบโลกที่มีเพียงหนึ่งประเทศที่จะครอบงำโลก และจะตัดสินใจในทุกๆเรื่อง
· รัสเซียไม่ต้องการที่จะเผชิญหน้ากับประเทศใดๆ ในขณะเดียวกัน รัสเซียก็จะไม่โดดเดี่ยวตัวเอง
· ลำดับความสำคัญอย่างยิ่งของนโยบายต่างประเทศรัสเซียคือ การปกป้องคุ้มครองชีวิตของชาวรัสเซีย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม
· มีภูมิภาคที่รัสเซียให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ภูมิภาคเหล่านี้ ครอบคลุมประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับรัสเซีย และเป็นมิตรเพื่อนบ้านของรัสเซีย

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นหลักการ Medvedev ซึ่งเป็นการกล่าวอย่างกว้างๆ
แต่ถ้าจะให้วิเคราะห์ต่อ ก็อาจจะมองได้ว่า ในประเด็นที่ 2 ที่รัสเซียบอกว่าจะไม่ยอมรับโลกระบบหนึ่งขั้วนั้น หมายความว่า รัสเซียจะไม่ยอมรับการครองความเป็นเจ้าของสหรัฐในโลก

สำหรับในประเด็นที่ 4 ที่บอกว่ารัสเซียจะปกป้องผลประโยชน์ของชาวรัสเซียนั้น หมายความว่า รัสเซียจะปกป้องชาวรัสเซียที่กระจายอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านรัสเซีย อย่างเช่น ประเทศเล็กๆ ในทะเลบอลติก และในจอร์เจีย ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศว่า รัสเซียมีสิทธิที่จะแทรกแซงโดยกำลังทางทหารได้ถ้าจำเป็น เหมือนกับที่รัสเซียทำกับจอร์เจีย

สำหรับประเด็นที่ 5 นั้น ซึ่ง Medvedev บอกว่า รัสเซียมีภูมิภาคที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ตรงนี้ก็ตีความว่า หมายถึง เขตอิทธิพลเก่าของรัสเซีย บริเวณที่เคยเป็นสหภาพโซเวียตมาก่อน และการที่ประเทศอื่นเข้ามาวุ่นวายในประเทศเหล่านี้ และมาบ่อนทำลายรัฐบาลที่สนับสนุนรัสเซีย ก็จะถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย

ผมวิเคราะห์ว่า รัสเซียมองตะวันตกโดยมีสหรัฐเป็นผู้นำ กำลังมียุทธศาสตร์ปิดล้อมรัสเซีย และลดอิทธิพลของรัสเซีย โดยการดึงเอาประเทศยุโรปตะวันออกมาเป็นสมาชิก NATO และ EU และขยายอิทธิพลของตะวันตก เข้าไปยังเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย คือ ยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่าน เทือกเขา Caucacus และเอเชียกลาง

สาเหตุสำคัญที่อยู่เบื้องหลังสงครามรัสเซีย-จอร์เจีย นั้นคือ ความพยายามของรัสเซียที่จะต่อต้านการปิดล้อมรัสเซียของตะวันตก และความพยายามของรัสเซียที่จะกลับมาเป็นอภิมหาอำนาจของโลกอีกครั้งหนึ่ง ทั้ง Medvedev และ Putin ต่างก็มีความต้องการอย่างแรงกล้า ที่จะสถาปนาเขตอิทธิพลของรัสเซียขึ้นมาใหม่

แนวโน้มการตอบโต้จากสหรัฐ

หลังการประกาศนโยบายของ Medvedev ก็ได้มีหลายฝ่ายในสหรัฐ โดยเฉพาะนักวิเคราะห์แนวอนุรักษ์นิยมสายเหยี่ยวมองว่า รัสเซียกำลังฉวยโอกาสจากการที่สหรัฐกำลังเสียสมดุลทางการทหาร ในการให้น้ำหนักกับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายมากเกินไป รัสเซียจึงรีบดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก เข้าบุกจอร์เจีย ในขณะที่สหรัฐก็ไม่สามารถทำอะไรรัสเซียได้ และยุโรปก็ไม่มีพลังอำนาจทางทหารที่จะต่อกรกับรัสเซีย และยังถูกรัสเซีย blackmail โดยการต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียเป็นจำนวนมหาศาล

นักวิเคราะห์สายเหยี่ยวของสหรัฐมองว่า สหรัฐได้ทุ่มเทกำลังทหารในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในโลกมุสลิมมากเกินไป ทำให้ไม่มีกำลังทหารเพียงพอ ที่จะต่อกรกับรัสเซีย สหรัฐอาจจะพยายามเพิ่มกำลังทางทหารในยุโรปตะวันออก เทือกเขา Caucacus และเอเชียกลาง เพื่อตอบโต้รัสเซีย แต่คงจะต้องใช้เวลาหลายปีทีเดียว และจะต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศในยุโรปตะวันตก แต่ดูเหมือนกับว่า ยุโรปก็คงจะไม่เอาด้วยกับสหรัฐ สหรัฐจึงกำลังมาถึงทางแพร่งทางยุทธศาสตร์ที่จะต้องตัดสินใจ ถ้าสหรัฐยังดำเนินนโยบายแบบเดิม ก็คงไม่สามารถตอบโต้รัสเซียได้ และถ้าสหรัฐไม่ตอบโต้รัสเซียภายใน 5-10 ปี โลกก็คงจะกลับไปเหมือนสมัยสงครามเย็น โดยรัสเซียอาจจะขยายอิทธิพลเข้าครอบงำอาณาบริเวณที่เป็นสหภาพโซเวียตเดิมได้สำเร็จ

แนววิเคราะห์สายเหยี่ยวมองว่าสหรัฐมีทางเลือกอยู่ 4 ทาง

· ทางเลือกที่ 1 คือ ความพยายามลดกำลังทหารในโลกมุสลิมและหันกลับมาให้ความสำคัญกับการปิดล้อมรัสเซีย ซึ่งหากดำเนินตามแนวทางนี้ สหรัฐจะต้องยุติปัญหากับอิหร่าน ซึ่งจะนำไปสู่เสถียรภาพในอิรัก ซึ่งจะทำให้สหรัฐถอนทหารออกจากตะวันออกกลางได้ แต่ทางเลือกนี้ ดูแล้วก็คงจะเป็นไปได้ยาก

· ทางเลือกที่ 2 คือ การเจรจากับรัสเซีย และยอมรับเขตอิทธิพลของรัสเซียในสหภาพโซเวียตเดิม ซึ่งทางเลือกนี้ก็จะนำไปสู่การเกิดขึ้นใหม่ของจักรวรรดิรัสเซีย ซึ่งก็จะทำให้ยากยิ่งขึ้นในการปิดล้อมรัสเซีย

· ทางเลือกที่ 3 คือ การปล่อยให้ยุโรปตะวันตกต่อกรกับรัสเซีย ซึ่งทางเลือกนี้ ก็ดูมีปัญหา ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ยุโรปก็แตกแยกกันเอง และไม่มีอำนาจทางทหารเพียงพอ และยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย

· ทางเลือกที่ 4 คือ การถอนกำลังจากอิรักและตะวันออกกลาง ซึ่งข้อเสียก็คือ หากรีบถอนกำลังออกมา อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายภายในตะวันออกกลาง และขบวนการก่อการร้ายอาจเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น ดูแล้วทางเลือกต่างๆที่สหรัฐมีอยู่ในขณะนี้ ก็ดูจะมีปัญหาทั้งสิ้น สหรัฐดูเหมือนกับกำลังตกอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ซึ่งเป็นการยากในการชั่งน้ำหนักระหว่างยุทธศาสตร์การปิดล้อมรัสเซียกับยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้าย ดูเหมือนกับว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐกำลังอยู่ในจุดวิกฤติ เพราะสหรัฐคงไม่มีกำลังทหารพอที่จะรบ 2 แนวรบ ทั้งกับรัสเซียและขบวนการก่อการร้าย ถ้าหากว่าสหรัฐยังคงดำเนินยุทธศาสตร์ในปัจจุบัน ก็เท่ากับสหรัฐให้น้ำหนักกับยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายมากกว่าการปิดล้อมรัสเซีย ดังนั้น ในอนาคต สหรัฐคงจะต้องคิดหนักว่าจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์อย่างไร เพื่อจะมาต่อกรกับหลักการ Medvedev

กล่าวโดยสรุป Medvedev Doctrine และแนวโน้มยุทธศาสตร์การตอบโต้ของสหรัฐ อาจจะกำลังทำให้โลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็นภาค 2 แต่ผมดูแล้ว ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ใช่สงครามเย็นแบบเต็มรูปแบบเหมือนเมื่อ 60 ปีก่อน แต่ความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย สหรัฐ และตะวันตก คงจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น: