Follow prapat1909 on Twitter

วันเสาร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วิกฤติการเงินสหรัฐ: ผลกระทบต่อโลก

วิกฤติการเงินสหรัฐ: ผลกระทบต่อโลก
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 2 วันศุกร์ที่ 3 - วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2551

วิกฤติการเงินสหรัฐ

วิกฤติการเงินสหรัฐในขณะนี้ กำลังจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก วิกฤติการเงินครั้งนี้ เริ่มเป็นปัญหามาตั้งแต่เมื่อปี่ที่แล้ว ซึ่งเราเรียกว่าวิกฤติ subprime ต้นตอเป็นผลมาจากปัญหาการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงิน ที่เป็นผลมาจากการปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และเมื่อเร็วๆนี้ ก็มีข่าวช็อคโลก เมื่อสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ คือ Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย และสถานการณ์ทำท่าจะลุกลามบานปลาย โดย Merrill Lynch ถูกขายให้ Bank of America และต่อมา American International Group หรือ AIG ทำท่าว่าจะล้มตาม ถึงขั้นรัฐบาลBushต้องเข้ามารีบอุ้ม AIG โดยการปล่อยเงินกู้จำนวน 85,000 ล้านเหรียญ อย่างไรก็ตาม การเข้าไปอุ้ม AIG ก็ยังไม่สามารถหยุดเลือดแผลวิกฤติครั้งนี้ได้ มีข่าวออกมาว่า Morgan Stanley และ Goldman Sachs สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อีกสองแห่ง ก็ทำท่าว่ากำลังจะล้ม

ต่อมารัฐบาล Bush จึงได้รีบเสนอสภาคองเกรส ให้อนุมัติเงินกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจจำนวนถึง 700,000 ล้านเหรียญ แต่เมื่อวันที่ 30 กันยายนนี้ ก็มีข่าวช็อคโลกอีกครั้ง คือการที่ข้อเสนอดังกล่าวของรัฐบาล Bush ไม่ผ่านสภา ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นไปทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้น Dow Jones หุ้นตกลงถึง 777 จุด ถือเป็นการตกมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และก็พลอยทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกกันทั่วหน้า หลายฝ่ายกำลังกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า แผนการกอบกู้วิกฤติของรัฐบาลBush จะประสบความสำเร็จหรือไม่

ผลกระทบต่อโลก

สถานการณ์วิกฤติการเงินสหรัฐกำลังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก

วิกฤติสหรัฐได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ตลาดหุ้นในประเทศต่างๆ ดัชนีราคาหุ้นได้ตกต่ำลงอย่างมาก
ผลกระทบของวิกฤติการเงินสหรัฐ อาจจะไม่จำกัดวงอยู่เฉพาะสถาบันการเงินของสหรัฐเท่านั้น แต่มีแนวโน้มกำลังจะขยายวงระบาดเข้าสู่สถาบันการเงินต่างๆทั่วโลก โดยล่าสุด ได้ส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินในยุโรปหลายแห่งแล้ว และหากรัฐบาล Bushไม่สามารถอัดฉีดเงินอุ้มสถาบันการเงิน จำนวน 700,000 ล้านเหรียญได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และส่งผลให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายใหญ่โตขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่า สำหรับในเอเชียนั้น วิกฤติคราวนี้ไม่น่าจะก่อให้เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งรอบสอง ทั้งนี้เพราะหลายๆประเทศในเอเชีย เคยได้รับบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และได้มีมาตรการรับมือ โดยเฉพาะการเข้มงวดในการปล่อยเงินกู้ของสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้งการสำรองเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้เป็นจำนวนมหาศาล

แต่วิกฤติคราวนี้ คงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมอย่างหนีไม่พ้น สมการง่ายๆก็คือ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกถดถอยไปด้วย โดยเฉพาะการถดถอยของการบริโภคในสหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ และการลงทุนของสหรัฐในประเทศต่างๆ

ในช่วงปลายเดือนกันยายนของทุกปี จะมีการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ โดยจะมีผู้นำของประเทศต่างๆทั่วโลกเข้าร่วมประชุมที่นิวยอร์ก สำหรับการประชุมครั้งนี้ เรื่องที่สำคัญที่สุด คือเรื่องวิกฤติการเงินของสหรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยสุนทรพจน์ของผู้นำประเทศต่างๆ ก็ออกมาในแนวเดียวกันคือ การโจมตีวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาล Bush และเป็นกังวลต่อผลกระทบของวิกฤติสหรัฐต่อเศรษฐกิจโลก

ในอดีตนั้น เวทีสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ก็มักจะมีแต่ศัตรูของสหรัฐที่ผู้นำจะใช้เป็นเวทีโจมตีสหรัฐ อย่างเช่น Fidel Castro ของคิวบา หรือ ประธานาธิบดี Mahmoud Ahmadinejad ของอิหร่าน แต่ในปีนี้กลับแตกต่างจากในอดีต เพราะกลายเป็นว่า เสียงโจมตีสหรัฐกลับมาจากพันธมิตรและคู่ค้าที่ใกล้ชิดกับสหรัฐ โดยเฉพาะจากยุโรป เอเชีย และละตินอเมริกา

ประธานาธิบดี Nicolas Sarkozy ของฝรั่งเศส ได้กล่าวว่า วิกฤติคราวนี้ถือเป็นวิกฤติการเงินที่ย่ำแย่ที่สุด นับตั้งแต่ยุควิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกในทศวรรษ 1930 Sarkozy ได้เสนอให้มีการจัดประชุมสุดยอดในเดือนพฤศจิกายน เพื่อหารือถึงปัญหาดังกล่าว และเพื่อที่จะพัฒนาระบบการควบคุมตลาดการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งผู้นำจากหลายๆประเทศก็สนับสนุนข้อเสนอของฝรั่งเศส

ส่วนนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี คือ Angela Merkel ก็ได้ออกมากล่าวโจมตีสหรัฐอย่างรุนแรง โดยได้บอกว่า ในการประชุม G-8 เมื่อปีที่แล้ว นางได้กระตุ้นให้สหรัฐและอังกฤษ เพิ่มการควบคุมสถาบันการเงิน และได้เสนอข้อเสนอต่างๆสำหรับการควบคุมสถาบันการเงิน แต่ทางสหรัฐก็ไม่สนใจข้อเสนอของนาง

สำหรับเลขาธิการ UN คือ Ban Ki Moon ก็ได้กล่าวว่าวิกฤติการณ์การเงินโลกในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่องานของ UN เป็นอย่างมาก เพราะเรื่องสำคัญของการประชุมในปีนี้ คือ แผนการให้ความช่วยเหลือประเทศยากจน ซึ่งจะพยายามผลักดันให้บรรลุเป้าหมายของ UN ที่เรียกว่า Millennium Development Goals โดย Ban ได้หวังว่าประเทศสมาชิกโดยเฉพาะประเทศร่ำรวย จะลงขันช่วยเหลือประเทศยากจน 72,000 ล้านเหรียญต่อปี แต่จากวิกฤติการเงินในขณะนี้ ก็คงจะทำให้เป้าดังกล่าวเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ Ban ยังได้กล่าวโจมตีแนวนโยบายที่สหรัฐสนับสนุนมาโดยตลอด คือ หลักการกลไกตลาดเสรี

สำหรับประธานาธิบดี Bush ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่ UN เป็นครั้งที่ 8 และครั้งสุดท้ายนั้น ได้ให้คำมั่นสัญญาต่อประเทศต่างๆทั่วโลกว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังมีแผนการต่างๆเพื่อกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโดยจะส่งเสริมเสถียรภาพของตลาดด้วยการป้องกันการล้มละลายของบริษัทใหญ่ๆ แต่สำหรับประเทศต่างๆแล้วก็มองว่า สหรัฐกำลัง มีสองมาตรฐาน คือในอดีต สหรัฐมักจะสั่งสอนประเทศต่างๆว่าต้องยึดกลไกตลาด แต่ในขณะนี้รัฐบาล Bush กำลังกลืนน้ำลายตัวเองด้วยการปฏิเสธกลไกตลาด และรัฐบาลกำลังจะเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดครั้งใหญ่ ด้วยแผนการอัดฉีดเงิน 700,000 ล้านเหรียญ ประเทศในเอเชียคงจำได้ดีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง รัฐบาลสหรัฐก็ได้มีใบสั่งผ่านทาง IMF ให้ประเทศต่างๆปฏิรูประบบเศรษฐกิจให้มีความโปร่งใส และยึดกลไกตลาดมากขึ้น แต่ขณะนี้ สหรัฐกลับกำลังจะสวนทางกับคำสั่งสอนของตน

นอกจากนี้ ผลกระทบจากวิกฤติการเงินสหรัฐในคราวนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ของโลกด้วย นั่นก็คือ ที่ผ่านมา สหรัฐครองความเป็นเจ้าในโลก ระบบโลกเป็นระบบหนึ่งขั้วอำนาจที่มีอเมริกาเป็นอภิมหาอำนาจหนึ่งเดียว องค์ประกอบแห่งอำนาจสหรัฐด้านหนึ่งก็คือองค์ประกอบด้านอำนาจทางเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐ วิกฤติการเงินครั้งนี้ อาจจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการเป็นอภิมหาอำนาจของสหรัฐในโลก โดย Richard Cooper ประธานสภาข่าวกรองแห่งชาติ สมัยประธานาธิบดี Clinton ถึงกลับกล่าวว่า การล่มสลายของระบบการเงินสหรัฐในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาพลักษณ์ของสหรัฐในโลก

ผลกระทบก็คือ การสูญเสียความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกของสหรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: