Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ผลการประชุม G 20 เพื่อปฏิรูประบบการเงินโลก

ผลการประชุม G 20 เพื่อการปฏิรูประบบการเงินโลก
ไทยโพสต์ เสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2551 ปีที่ 13 ฉบับที่ 4407

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมสุดยอด G 20 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อหารือถึงการปฏิรูประบบการเงินโลก คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ ผมจะได้วิเคราะห์ถึงผลการประชุมในครั้งนี้ และประเมินความสำเร็จและความล้มเหลว

ภูมิหลัง
ภายหลังจากเกิดวิกฤติการเงินลุกลามไปทั่วโลก ผู้นำโลกตะวันตกเริ่มตื่นตัวที่จะหาวิธีการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยสหรัฐได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอด G 20 ครั้งแรกขึ้น ในวันที่ 15 พฤศจิกายนที่กรุง Washington D.C. การประชุมครั้งนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “Summit on Financial Markets and the World Economy” การประชุมวันที่ 15 เป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรก ซึ่งตามแผนจะมีการประชุมอีกหลายครั้ง การประชุมครั้งแรกเน้นเรื่องการตกลงหลักการกว้างๆ ส่วนรายละเอียดนั้น จะให้รัฐมนตรีคลังศึกษาและเสนอต่อการประชุมสุดยอดครั้งต่อไป

ผลการประชุม
สำหรับผลการประชุมซึ่งได้แถลงออกมาในรูปของปฏิญญา ได้เน้นว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนักลงทั่วโลก ที่ประชุมจึงตกลงที่จะต้องมีนโยบายเพื่อตอบสนอง โดยเน้นในเรื่องความร่วมมือเศรษฐกิจมหภาคให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และจะร่วมมือกันผลักดันมาตรการเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบการเงิน ที่ประชุม G 20 ได้เน้นบทบาทของ IMF โดยเฉพาะบทบาทในการตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ มาตรการเสริมสภาพคล่อง และการปรับปรุงกลไกต่างๆ เพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น G 20 ยังได้เน้นบทบาทของธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีต่างๆ โดยย้ำว่า สถาบันเหล่านี้จะต้องมีทรัพยากรเพียงพอ ที่จะเล่นบทในการกอบกู้วิกฤติ

ที่ประชุมจะได้มีมาตรการปฏิรูปเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับตลาดการเงิน และให้มีกลไกควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงิน โดยการควบคุมตรวจสอบนั้น ถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินในปัจจุบัน มีขอบเขตขยายไปทั่วโลก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ และต้องมีการเสริมสร้างมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศ

ที่ประชุม G 20 ได้ตกลงหลักการ 5 ประการในการปฏิรูป

หลักการประการแรก คือ การเสริมสร้างความโปร่งใส โดยเน้นการสร้างความโปร่งใสในตลาดการเงิน

หลักการประการที่ 2 คือ การเสริมสร้างการควบคุมตรวจสอบ โดยจะต้องส่งเสริมกลไกควบคุมตรวจสอบ การบริหารจัดการความเสี่ยง

หลักการประการที่ 3 การส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลในตลาดการเงิน โดยจะต้องมีการปกป้องทั้งผู้บริโภคและผู้ลงทุน หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน การบิดเบือนกลไกตลาดอย่างผิดกฎหมาย

หลักการประการที่ 4 เป็นเรื่องของการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเน้นในเรื่องของการกำหนดมาตรการ กำหนดการควบคุมตรวจสอบสถาบันการเงิน โดยส่งเสริมความร่วมมือ และประสานงานในการควบคุมตรวจสอบ ซึ่งรวมถึงการไหลเวียนของเงินทุนข้ามชาติ

หลักการสุดท้าย หลักการประการที่ 5 คือ การปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ G 20 ตกลงจะให้มีการปฏิรูปสถาบัน Bretton Woods (คือ IMF และธนาคารโลก) โดยจะต้องทำให้สถาบันดังกล่าว สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจโลก เพื่อจะทำให้สถาบันดังกล่าวมีความชอบธรรม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจึงควรจะมีสิทธิ์มีเสียงในสถาบันเหล่านี้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายของปฏิญญา ก็มีข้อความในลักษณะติดเบรกการปฏิรูป ซึ่งน่าจะเป็นการผลักดันจากทางฝ่ายสหรัฐ โดยในปฏิญญาได้กล่าวในตอนท้ายว่า การปฏิรูปเหล่านี้จะสำเร็จได้ จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานและหลักการของตลาดเสรี และจะต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้มีมาตรการควบคุมสถาบันการเงินมากเกินไป
ในตอนสุดท้าย กลุ่ม G 20 ได้มีการตกลงว่า จะมีการประชุมครั้งต่อไป ในช่วงเดือนเมษายน 2009

ความสำเร็จหรือความล้มเหลว?

· โดยภาพรวมแล้ว ถ้าจะให้ผมประเมิน ถ้าดูจากความคาดหวังก่อนการประชุมว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ โดยอาจจะมีข้อตกลงการปฏิรูประบบการเงินโลกแบบถอนรากถอนโคน แต่ผลออกมาแล้ว ปรากฏว่า เป็นที่น่าผิดหวัง เพราะข้อตกลงต่างๆไม่ได้มีลักษณะการปฏิรูปอย่างจริงจัง มาตรการส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยไม่ได้มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม ที่จะกอบกู้วิกฤติการเงินโลกครั้งใหญ่ครั้งนี้ได้

อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ก็ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ เพราะเป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรกของกลุ่ม G 20 โดยก่อนหน้านี้ การประชุมสุดยอดจะมีระดับ G 8 เท่านั้น ก่อนหน้านี้ ตะวันตกยังคงหวงก้าง ไม่อยากขยายวงออกไปรวมประเทศกำลังพัฒนา แต่จากวิกฤติคราวนี้ ทำให้ตะวันตกต้องกัดฟันขยายวงจาก G 8 เป็น G 20 ซึ่งเราคงต้องดูกันต่อไปว่า การประชุมสุดยอด G 20 จะกลายเป็นกลไกถาวรในอนาคตได้หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับเป็นการยกระดับบทบาทของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการยกระดับบทบาทของจีนและอินเดีย แต่ผมยังไม่แน่ใจ เพราะการประชุมสุดยอด G 20 อาจจะเป็นลักษณะเฉพาะกิจก็ได้

· หลังจากการประชุมเสร็จสิ้นลง มีหลายฝ่ายมองว่า การประชุมครั้งนี้ล้มเหลว เพราะไม่ได้มีการปฏิรูปอย่างจริงจัง และมาตรการต่างๆก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ เป็นมาตรการที่รู้ๆกันอยู่แล้ว และหลายๆเรื่องก็กำลังดำเนินการอยู่แล้ว มาตรการเหล่านี้ ดูแล้วเหมือนจะเป็นมาตรการ “ซ่อม” มากกว่าจะเป็นมาตรการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างจริงจัง

· นอกจากนี้ มาตรการที่ G 20 ตกลง ส่วนใหญ่เป็นหลักการกว้างๆ ไม่ค่อยมีรายละเอียด และหลายมาตรการก็กำกวมว่า จะเป็นมาตรการของแต่ละประเทศ หรือจะเป็นมาตรการความร่วมมือระหว่างประเทศ

· ดัชนีบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการประชุม G 20 คือ การตอบสนองของตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากทราบข่าวผลการประชุม ปรากฏว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ได้ดีขึ้น บางแห่งหุ้นก็ตกลงเสียด้วยซ้ำ โดยนักวิเคราะห์หุ้นมองว่า เป็นผลมาจากตลาดหุ้นไม่เห็นว่า การประชุมจะช่วยกอบกู้วิกฤติการเงินโลกได้อย่างไร โดยมองว่าการประชุมมีผลเพียงในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่มีผลในเชิงรูปธรรม ตลาดหุ้นรู้สึกผิดหวังที่ไม่ได้มีการประกาศมาตรการความร่วมมืออย่างจริงจัง โดยเฉพาะความร่วมมือในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

· ความล้มเหลวของการประชุม G 20 ในครั้งนี้ เป็นผลมาจาก ท่าทีที่ขัดแย้งกัน ระหว่างสหรัฐ ยุโรป และเอเชีย
โดยทางยุโรปนั้น มีท่าทีชัดเจน ที่ต้องการให้มีการปฏิรูประบบการเงินโลกอย่างถอนรากถอนโคน ทั้ง Gordon Brown นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และนาย Nicolas Sarkozy ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ควบคุมระบบการเงินโลก ผู้นำยุโรปหลายคนเสนอให้มีการจัดตั้งกลไกควบคุมระบบการเงินโลกขึ้นมาใหม่ ให้มีการปฏิรูประบบทุนนิยมโลกครั้งใหญ่ ยุโรปต้องการระบบการเงินโลกใหม่ หรือ Bretton Woods II

แต่รัฐบาล Bush กลับมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการปฏิรูปของยุโรป โดย Bush ได้ออกมาพูดหลายครั้งว่า การปฏิรูประบบการเงินโลกจะต้องไม่กระทบต่อระบบทุนนิยมเสรี ระบบกลไกตลาด และการค้าเสรี ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของทุนนิยมแบบอเมริกัน รัฐบาล Bush ยังคงยืนยันในหลักการว่า กลไกภาครัฐควรจะเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาดให้น้อยที่สุด

เบื้องหลังท่าทีของสหรัฐ ก็คือ สหรัฐซึ่งเป็นอภิมหาอำนาจอำนาจอันดับ 1 ของโลก มีความหวาดระแวงต่อข้อเสนอของประเทศอื่นๆ ที่จะทำให้อิทธิพลของสหรัฐในระบบการเงินโลกลดลง โดย Bush ยังคงยืนยันว่า สหรัฐจะต้องเล่นบทเป็นผู้นำโลกต่อไปในการปฏิรูประบบการเงินโลก

แต่สำหรับท่าทีของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศจากเอเชียนั้น มีท่าทีไม่ค่อยเห็นด้วยกับข้อเสนอของตะวันตก ที่ต้องการผลักดันการเพิ่มบทบาทของ IMF และธนาคารโลก ทั้งนี้ เพราะเอเชียไม่มีสิทธิ์มีเสียงในองค์กรดังกล่าว และมีประวัติศาสตร์อันขมขื่นกับ IMF ซึ่งถูกมองว่า ถูกครอบงำโดยตะวันตก โดยเฉพาะโดยสหรัฐอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ ประสบการณ์ของเอเชียในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997 นั้น IMF ก็ได้เข้ามามีอำนาจบาตรใหญ่ และบีบคั้นประเทศที่กู้เงินจาก IMF เป็นอย่างมาก ซึ่งเอเชียมองว่า มาตรการต่างๆของ IMF สอดรับกับผลประโยชน์ของสหรัฐนั่นเอง

· ความล้มเหลวของการประชุม G 20 ประการสุดท้ายที่ผมอยากจะกล่าวถึง คือ ท่าทีของสหรัฐในการประชุมครั้งนี้ เป็นท่าทีของรัฐบาล Bush ซึ่งจะบริหารประเทศได้อีกไม่กี่วัน ในขณะที่ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ คือ นาย Barack Obama กลับไม่ได้มีบทบาทในการประชุม ดังนั้น จึงดูเหมือนกับว่า การประชุมครั้งนี้ คงจะไม่มีความหมาย เพราะค่อนข้างแน่นอนว่า รัฐบาล Obama คงจะมีท่าทีที่แตกต่างจากรัฐบาล Bush ดังนั้น ในที่สุดแล้ว เราคงจะต้องรอถึงเดือนเมษายน ปีหน้า ถึงจะเห็นถึงท่าทีของรัฐบาล Obama ในการประชุม G 20 ครั้งหน้าว่า จะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูประบบการเงินโลกได้มากน้อยแค่ไหน

ไม่มีความคิดเห็น: