ผลการประชุม APEC 2008 ที่เปรู
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 10 วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน-วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2551
เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้มีการประชุมสุดยอด APEC ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู คอลัมน์โลกทรรศน์ในตอนนี้ จะวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้
วิกฤติเศรษฐกิจโลก
Highlight ของการประชุมครั้งนี้ หนีไม่พ้นการหารือเรื่องวิกฤติการเงิน วิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยได้มีการจัดทำแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ต่างหาก แยกออกจากปฏิญญาสรุปผลการประชุม โดยในแถลงการณ์ดังกล่าว ได้มีการกล่าวถึงท่าทีของผู้นำ APEC ต่อสถานการณ์วิกฤติการเงินโลก โดยได้กล่าวว่า ผู้นำ APEC ได้หารือกันต่อวิกฤติการเงินโลก และมาตรการต่างๆที่สมาชิก APEC ได้ดำเนินการ
แถลงการณ์ APEC กล่าวอย่างมั่นใจว่า จะสามารถกอบกู้วิกฤติในครั้งนี้ได้ภายใน 18 เดือน โดยได้มีการดำเนินการในการสร้างเสถียรภาพให้กับภาคการเงิน และ APEC จะเดินหน้าต่อและร่วมมือกัน เพื่อดำเนินมาตรการในอนาคต
APEC สนับสนุนสถาบันการเงินระหว่างประเทศและธนาคารของภาคเอกชน เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก จะอยู่รอดได้ APEC ยังได้เน้นถึงความสำคัญของการปฏิรูปภาคการเงิน ในขณะที่ระบบการเงินมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น เครื่องมือในการตรวจสอบควบคุมก็ต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น วิกฤติครั้งนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงความจำเป็น ในการพัฒนามาตรฐานของบรรษัทภิบาล การจัดการความเสี่ยง และความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคการเงิน
APEC สนับสนุนปฏิญญา Washington (Washington Declaration) ซึ่งเป็นผลมาจากการประชุมสุดยอดกลุ่ม G 20 และ APEC สนับสนุนหลักการที่จะชี้นำแผนปฏิบัติการสำหรับการปฏิรูปตลาดการเงิน ดังนั้น APEC จึงสนับสนุนนโยบายหลักๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก ซึ่งได้แก่ ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทางด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเสียงของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ ให้มีบทบาทมากขึ้นในสถาบันการเงินระหว่างประเทศ
APEC ได้ให้ความสำคัญต่อบทบาทของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB และ Inter- American Development Bank และธนาคารเพื่อการพัฒนาอื่นๆ ในการที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์การเงิน APEC สนับสนุนบทบาทของ IMF เป็นพิเศษ โดยบอกว่า IMF นอกจากจะมีบทบาทในการสอดส่องดูแลระบบการเงินแล้ว ยังควรร่วมมือกับสถาบันการเงินอื่นๆ ในการเพิ่มบทบาทในการมีมาตรการควบคุมตรวจสอบ และควรมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า
นอกจากนี้ APEC ยังได้ย้ำว่า มีความเสี่ยงที่ เมื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกลดลง อาจนำไปสู่แนวโน้มของการออกมาตรการกีดกันการค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์ทรุดหนักลง APEC จึงสนับสนุนปฏิญญา Washington ในการเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ระงับการเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในช่วง 12 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ APEC ยังพยายามที่จะผลักดันการเจรจา WTO รอบ Doha ให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว
ผมประเมินว่า แถลงการณ์ของ APEC เกี่ยวกับวิกฤติการเงินโลกในครั้งนี้ ถึงแม้ดูคร่าวๆแล้ว จะมีการใช้ภาษาที่สวยหรู แต่ถ้าดูให้ละเอียดจริงๆแล้ว จะพบว่า ไม่มีอะไรใหม่ในแถลงการณ์ของ APEC โดยเกือบทั้งหมดที่ APEC พูดมา เป็นการย้ำนโยบายและมาตรการของกลุ่ม G 20 ซึ่งหลักๆแล้ว ก็เป็นแนวนโยบายของสหรัฐนั่นเอง ถ้าดูให้ละเอียดแล้ว จะเห็นได้ว่า แถลงการณ์เป็นประกาศนโยบายกว้างๆ ที่ไม่ได้มีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย
ซึ่งผลการประชุมที่ออกมาเช่นนี้ สำหรับผู้ที่ติดตามการประชุม APEC มาโดยตลอด ก็จะเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย 10 ปีมาแล้ว นับตั้งแต่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ความร่วมมือ APEC แทบไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย มีเพียงแต่การแสดงหลอกคนดู มีการประกาศนโยบายที่สวยหรู และการถ่ายภาพร่วมกันเป็นประจำทุกปีเท่านั้น
บูรณาการทางเศรษฐกิจ
ผมอยากจะกล่าวว่า APEC นั้นถูกอเมริกาครอบงำมาโดยตลอด ดังนั้น เรื่องที่ APEC ให้ความสำคัญก็คือเรื่องที่อเมริกาให้ความสำคัญนั่นเอง และขณะนี้ เรื่องหนึ่งที่อเมริกาให้ความสำคัญมากใน APEC ก็คือ การผลักดันการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP)
ในการประชุม APEC ที่เปรูในครั้งนี้ อเมริกาก็ผลักดันเรื่องนี้อีก ในปฏิญญาผลการประชุม APEC ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นลำดับแรก ปฏิญญาได้กล่าวว่า การประชุม APEC ปีที่แล้ว ที่ออสเตรเลีย APEC ได้ตกลงกันถึงเป้าหมายระยะยาว ที่จะส่งเสริมบูรณาการเศรษฐกิจในภูมิภาค ที่ประชุม APEC ในครั้งนี้ ได้รับรองแผนปฏิบัติการสำหรับบูรณาการทางเศรษฐกิจของ APEC (2009 work plan for the APEC Regional Economic Integration: REI) โดย APEC เน้นว่า จะเดินหน้าต่อไปในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว โดยมีเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือ
· ความคืบหน้าของประเทศสมาชิก APEC ในการเดินหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมาย Bogor ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะให้ APEC เป็นเขตการค้าเสรีในปี 2010 สำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และภายใน 2020 สำหรับประเทศกำลังพัฒนา
· เรื่องที่สอง คือ เรื่องการผลักดันเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิค หรือ FTAAP โดยที่ประชุมสุดยอด APEC ได้ขอให้เจ้าหน้าที่และรัฐมนตรี APEC ศึกษาถึงความเป็นไปได้และทางเลือกของการจัดตั้ง FTAAP รวมทั้งการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และลู่ทางการเจรจาจัดตั้ง FTAAP ในอนาคต
· สำหรับเรื่องที่สาม คือ การผลักดันแผนปฏิบัติการการอำนวยความสะดวกทางการค้าของ APEC แผนที่สอง (APEC’s second Trade Facilitation Action Plan: TFAP II) เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมทางการค้าลงอีก 5% ระหว่างปี 2007-2010
สำหรับเรื่องการผลักดันบูรณาการทางเศรษฐกิจในกรอบ APEC นั้น ผมมองว่า เป็นท่าทีของสหรัฐ โดยเฉพาะการผลักดัน FTAAP นั้น วาระซ่อนเร้นของสหรัฐ คือ การจัดตั้ง FTAAP ขึ้นมาเพื่อป้องกันการร่วมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ประเทศต่างๆในเอเชีย ก็ไม่เล่นด้วยกับสหรัฐ เพราะคงรู้ว่า สหรัฐจะมาไม้ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จีนมีท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน ในขณะที่ประเทศเล็กๆอย่างไทย ก็มีท่าทีแบบสงวนท่าที ท่าทีกำกวม ในลักษณะบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ในที่สุดแล้ว ข้อเสนอของสหรัฐในการจัดตั้ง FTAAP น่าจะไปไม่รอด
กล่าวโดยสรุป การประชุมสุดยอด APEC ที่เปรู ในปี 2008 นี้ ผลการประชุมก็เหมือนกับในหลายๆปีที่ผ่านมา คือ ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม ดูแล้วน่าจะเป็นการเสียเวลาที่มาประชุมกันทุกปีโดยไม่ได้ประโยชน์อะไร จริงๆแล้ว ถ้าจะเลิกการประชุมสุดยอด APEC ก็คงจะไม่เสียหายอะไร แต่สาเหตุที่ APEC จะยังคงมีชีวิตรอดต่อไปได้ก็คือ แรงสนับสนุนจากสหรัฐ ลูกพี่ใหญ่ใน APEC สำหรับสหรัฐแล้ว APEC ยังคงมีประโยชน์อย่างมากต่อสหรัฐ เพราะจะเป็นกลไกสำคัญในการคงอิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคต่อไป และ APEC จะเป็นกลไกสำคัญในการเป็นตัวกัน ไม่ให้ประเทศในเอเชีย รวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐ
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความ
แสดงความคิดเห็น