ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 22 วันศุกร์ที่ 20 - วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552
ในช่วงปลายเดือนนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยเรื่องที่สำคัญของการประชุมคือ การผลักดันการจัดตั้งประชาคมอาเซียนภายในปี 2015 คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไปแล้ว คอลัมน์ในวันนี้จะมาวิเคราะห์ต่อ เกี่ยวกับการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
ภูมิหลัง
แผนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลีปี 2003 โดยได้มีการจัดทำ Bali Concord II ซึ่งกำหนดจะจัดตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นภายในปี 2020 (แต่ต่อมาร่นมาเป็นปี 2015) โดยประชาคมอาเซียนจะมี 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาคมการเมืองความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
สำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมนั้น ในภาษาอังกฤษเรียกว่า ASEAN Socio-Cultural Community เรียกย่อว่า ASCC ต่อมาในปี 2004 ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการหรือ Plan of action ขึ้น ล่าสุดอาเซียนกำลังจัดทำแผนงานหรือ Blueprint ของ ASCC โดยจะมีการลงนามรับรอง Blueprint ในการประชุมสุดยอดที่หัวหินปลายเดือนนี้ ผมจะใช้ร่าง Blueprint เป็นหลักในการวิเคราะห์
สำหรับ ASCC นั้น มีเป้าหมายหลักที่จะทำให้เกิดประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีสังคมที่รับผิดชอบ เพื่อก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและก่อให้เกิดเอกภาพ โดยเสริมสร้างอัตลักษณ์ร่วมกัน และทำให้เกิดเป็นสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่และสวัสดิการของประชาชนดีขึ้น ASCC ให้ความสำคัญกับ 5 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สวัสดิการสังคม สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
เรื่องแรกที่ ASCC ให้ความสำคัญคือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นการศึกษาให้เป็นวาระของอาเซียน การสร้างสังคมความรู้ โดยส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง ส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสม ส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเสริมสร้างทักษะในการประกอบการ สำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
สวัสดิการสังคม
ASCC จะส่งเสริมความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยลดความยากจนและส่งเสริมการคุ้มครองและสวัสดิการสังคม เน้นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสังคมและเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDG) ในการกำจัดความยากจนและความหิวโหย และ ASCC จะให้ความมั่นใจว่า ประชาชนอาเซียนทุกคนมีอาหารพอเพียงตลอดเวลา และให้ความมั่นใจในความปลอดภัยด้านอาหาร เน้นการเข้าถึงการรักษาสุขภาพ การบริการทางการแพทย์ และยาที่เพียงพอและราคาถูก รับประกันอาเซียนที่ปลอดยาเสพติด และพร้อมรับกับภัยพิบัติและประชาคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
สิทธิมนุษยชน
ในร่าง Blueprint ของ ASCC ได้กล่าวว่า อาเซียนมีพันธกรณีในการส่งเสริมความยุติธรรม และสิทธิของประชาชน โดยเน้นการปกป้องผลประโยชน์ สิทธิ รวมทั้งส่งเสริมโอกาสอย่างเท่าเทียม และยกระดับคุณภาพชีวิต มาตรฐานการดำรงชีวิตสำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
เกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนนี้ ผมมีความเห็นว่า Blueprint ของ ASCC ควรให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนมากกว่านี้ โดยน่าจะครอบคลุมถึงเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และการติดต่อในระดับประชาชนต่อประชาชน
อย่างไรก็ตาม อาเซียนยังมีปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการประชาธิปไตย หลายประเทศสมาชิกยังเป็นเผด็จการ ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบจริงๆก็มีเพียงไม่กี่ประเทศ จึงทำให้ความร่วมมือของอาเซียนในเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ไม่พัฒนาเท่าที่ควร ถึงแม้ว่าในกฎบัตรอาเซียนจะระบุไว้ในมาตรา 14 ว่า จะมีการจัดตั้งกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียนขึ้นมา แต่ผมเกรงว่าในที่สุด อำนาจหน้าที่ของกลไกนี้ จะถูกตัดทอนลง จนไม่มีประสิทธิภาพ
สิ่งแวดล้อม
ในร่าง Blueprint ของ ASCC ได้กล่าวว่า อาเซียนจะส่งเสริมสิ่งแวดล้อมสีเขียวและสะอาด โดยการปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติ อนุรักษ์ดิน น้ำ แร่ธาตุ และพลังงาน ความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าไม้ ทรัพยากรชายฝั่ง และทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพน้ำและอากาศ และอาเซียนจะมีส่วนร่วมในความพยายามของโลก ในการจัดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและคุ้มครองชั้นโอโซน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมมีความเห็นว่า เป้าหมายของ ASCC ดูจะสวยหรูเกินความเป็นจริง เพราะความร่วมมือในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม กำลังเป็นสิ่งท้าทายความร่วมมือของอาเซียนเป็นอย่างมาก
ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า นับเป็นปัญหาใหญ่ โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูญเสียป่าไป 1.04% ต่อปี สำหรับปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพก็มีปัญหาหลายเรื่องด้วยกัน ระบบนิเวศของปะการังถูกทำลายไปแล้ว 80% นอกจากนี้ ยังมีปัญหาพืชและสัตว์กำลังจะสูญพันธุ์ รวมทั้งทรัพยากรสัตว์น้ำก็กำลังลดถอยลงเป็นอย่างมาก สำหรับปัญหามลพิษในอากาศและน้ำนั้น ปัญหาใหญ่คือ ปัญหาควันไฟป่าจากอินโดนีเซีย สำหรับปัญหาภาวะโลกร้อน ก็ส่งผลกระทบ โดยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวน 2 ตันต่อคนต่อปี
ถึงแม้ว่าอาเซียนจะได้ประกาศมาตรการต่างๆในการแก้ปัญหาวิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่ปรากฎอยู่ใน Blueprint ของ ASCC แต่ในทางปฏิบัติ ผมเกรงว่า อาเซียนคงจะประสบปัญหาหลาย เรื่อง โดยเฉพาะปัญหาการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ และกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆในประเทศสมาชิกที่ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา
การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน
เรื่องสุดท้ายที่ ASCC ให้ความสำคัญคือ การสร้างอัตลักษณ์ของเซียน โดยจะเน้นการสร้างความรู้สึกของการอยู่ร่วมและส่งเสริมความเป็นเอกภาพในความแตกต่าง ส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศสมาชิก เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ศาสนา และอารยธรรม ส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจด้านประวัติศาสตร์ของภูมิภาคที่เป็นหนึ่งเดียว และค้นหาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของอาเซียน และสร้างอาเซียนที่มีประชาชนเป็นแกนนำ โดยสนับสนุนทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างประชาคม
ผมมองว่า เป้าหมายของ ASCC ในการสร้างอัตลักษณ์อาเซียนข้างต้น ดูจะเป็นความฝัน เพราะจริงๆแล้ว จุดอ่อนของอาเซียนเรื่องหนึ่งก็คือ แต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งในเรื่องของระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศาสนาและเชื้อชาติ ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของอาเซียนคือ จะทำอย่างไรที่จะสร้างประชาคม โดยมีอัตลักษณ์ร่วมกันอย่างแท้จริง
อุปสรรค
กล่าวโดยสรุป การจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน อย่างแท้จริงในปี 2015 ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาเซียนยังมีปัญหาเรื่องสังคมวัฒนธรรมอีกมาก ได้แก่ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ปัญหาการมีอัตลักษณ์ร่วมกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ประชาชนยังมีความขัดแย้งและไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ปัญหาช่องว่างระหว่างประเทศรวยและประเทศจน ปัญหาการทำให้ประชาคมอาเซียน เป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และปัญหาที่ประชาชนไม่มีความรู้เรื่องอาเซียน
สุดท้าย ผมอยากจะเสริมว่า ใน Blueprint ของ ASCC น่าจะมีหัวข้อเพิ่มขึ้นมา 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ การทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ASCC กับประเทศนอกภูมิภาค
สำหรับเรื่องการทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางนั้น ควรจะมีการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคประชาสังคม ในการสร้าง ASCC ควรมีการจัดตั้งกลไกอาเซียนที่ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ในลักษณะ “สภาที่ปรึกษาอาเซียน” (ASEAN Consultative Council) และควรมีมาตรการส่งเสริม Track III ของอาเซียนหรือ Track ของภาคประชาสังคมของอาเซียนอย่างจริงจัง
สำหรับความสัมพันธ์ของ ASCC กับประเทศนอกภูมิภาคนั้น ใน Blueprint ควรมีการกล่าวถึง ASCC+1 คือ ความสัมพันธ์ทางด้านสังคมวัฒนธรรมระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา นอกจากนี้ ในกรอบอาเซียน+3 ควรมีการต่อยอดเป็น ASCC+3 โดยเป็นการต่อยอดจากประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ให้พัฒนาไปเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมเอเชียตะวันออก
1 ความคิดเห็น:
ขอบคุณมาก ๆ นะครับ
แสดงความคิดเห็น