Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

จีนผงาดในการประชุมสุดยอดกับอาเซียนที่พนมเปญ

เมื่อต้นเดือนนี้ มีการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กรุงพนมเปญ และเรื่องที่ดูจะเป็นเรื่องที่โดดเด่นที่สุด คือการประชุมอาเซียนกับจีน จีนผงาดและเป็นพระเอกในการประชุมครั้งนี้

อาเซียน+3

ก่อนอื่นผมขอกล่าวถึงการประชุมสุดยอดระหว่างอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้หรือกรอบอาเซียน+3 ที่เคยได้รับความสนใจอย่างมาก เคยมีการพูดกันว่า เรากำลังจะมีกองทุนการเงินแห่งเอเชีย กำลังจะมีเงินสกุลแห่งเอเชีย จะมีเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก แต่ว่ามาในครั้งนี้
อาเซียน+3 ดูจืดและเฉื่อยลงไป แต่มี อาเซียน+1 คือ อาเซียน+ จีนมีความสำคัญโดดเด่นมากกว่า แสดงให้เห็นว่า ทั้งสามประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องของความร่วมมือกัน

อาเซียน-จีน

ทีนี้ทุกสิ่งทุกอย่างก็มาที่อาเซียน +1 อาเซียนกับจีนได้ทำความตกลงกันหลายฉบับ ผมว่าน่าจะเป็นการประชุมสุดยอดที่มีลงนามความตกลงกันระหว่างอาเซียนกับจีนมากที่สุด

ที่สำคัญก็คือการลงนามความตกลง Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation คือกรอบความตกลงความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ ซึ่งในนั้นมีข้อตกลงหลายเรื่องด้วยกัน ที่สำคัญคือการจะจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีนขึ้น ภายในปี 2010 สำหรับ 6 ประเทศอาเซียนที่เป็นสมาชิกดั้งเดิม สำหรับประเทศน้องใหม่ ก็จะขยับอีก 5 ปี คือภายในปี 2015 กำหนดว่าจะเริ่มเจรจากันในปีหน้า นอกจากนั้น ยังมีกรอบที่เรียกว่า“ early harvest ” เป็น “ fast track “ คือการเจรจาในสาขาบางสาขาที่จะสามารถลดภาษีตกลงกันได้อย่างรวดเร็ว จะเริ่มเจรจากันและให้เสร็จสิ้นภายในปี 2003 หรือ 2004 ซึ่งในสาขาเหล่านี้จะมีสินค้าเกษตรรวมอยู่ด้วย
การค้าระหว่างอาเซียนกับจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากในช่วงปีสองปีนี้ รวมทั้งการลงทุนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้ตัวเลขการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีนยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นแต่ว่าในแง่ของอัตราการเพิ่มถือว่ามากที่สุด ถ้ามีเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน ตลาดจะมีขนาดถึง 1,700 ล้านคน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในหรือ GDP จะมีถึง 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และการค้าอาจจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯในอนาคต
สำหรับในด้านอื่น จีนมาคราวนี้เรียกว่ายิงกระสุนหลายนัดทีเดียว มีการลงนามในความร่วมมือด้านสินค้าเกษตร ลงนามในปฏิญญาร่วมในเรื่องของปัญหาทางด้านความั่นคงที่เป็นปัญหาใหม่ๆ และมีการทำความตกลงเป็นปฏิญญาในปัญหาทะเลจีนใต้ หรือปัญหาหมู่เกาะ Spratlys เป็นปัญหาความขัดแย้งและเจรจากันมานาน ในที่สุดก็ตกลงกันได้ รู้สึกว่าเป็นไพ่ใบสำคัญของจีนที่จีนได้ทิ้งลงมา ในการที่จีนยอมลงนามในปฏิญญาในเรื่องนี้กับอาเซียน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศอาเซียน ลดความหวาดระแวงจีนลงไปมาก ดูเหมือนว่าจีนจะได้ประโยชน์จากการประชุมอาเซียนครั้งนี้มากทีเดียว
จีนมีขนมหวานให้อาเซียนเต็มไปหมด จีนยังมีของขวัญอีก 2 ชิ้น จีนประกาศว่าพร้อมจะภาคยานุวัติในสนธิสัญญาสมานฉันท์และความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีมหาอำนาจชาติไหนที่จะยอมรับสนธิสัญญานี้ แต่จีนก็พร้อม และของขวัญชิ้นสุดท้ายป็นเรื่องของสนธิสัญญาที่จะทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ อาเซียนพยายามให้ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ยอมรับในสนธิสัญญาฉบับนี้ และจีนก็ประกาศว่าจีนพร้อมที่จะดำเนินการ

อาเซียน-ญี่ปุ่น

สำหรับญี่ปุ่นได้สูญเสียสถานะความเป็นผู้นำอย่างมาก ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นตกต่ำและจีนก็ผงาดขึ้นมา กลายเป็นว่า จีนเป็นฝ่ายรุก ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายรับ พยายามตามให้ทันจีน เพราะจีนรุดหน้าไปมากในเรื่องของกลไกความร่วมมือต่างๆ ในการประชุมสุดยอดกับอาเซียนคราวนี้ญี่ปุ่นก็คงไม่อยากน้อยหน้าจีน มีการทำปฏิญญาร่วมระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น “ Comprehensive Economic Partnership” ในปฏิญญาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นกลัวๆ กล้าๆ ญี่ปุ่นยังไม่กล้าฟันธงแบบจีน คือเป็นเขตการค้าเสรีไปเลย ญี่ปุ่นพยายามเลี่ยงใช้คำ เพราะยังไม่แน่ใจนักในเรื่องเขตการค้าเสรี จึงออกมาเป็นว่า ปฏิญญาระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นจะทำให้มีโอกาสในเรื่องของตลาดเพิ่มมากขึ้น จะมีความเป็นเสรีทางการค้าและการลงทุน จะพูดในลักษณะกว้างๆ แต่ก็มีทิ้งท้ายไว้นิดหนึ่งว่า มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีความตกลงที่จะมีองค์ประกอบของเขตการค้าเสรีได้ภายใน 10 ปี แต่ก็เปิดช่องไว้ว่า ความตกลงนี้อาจเป็นในลักษณะทวิภาคี คืออาจจะเป็น ญี่ปุ่น- สิงคโปร์ ญี่ปุ่น-ไทย แต่ไม่ใช่กับอาเซียนทั้งกลุ่ม ซึ่งเทียบกับความตกลงเขตการค้าเสรีจีนกับอาเซียนไม่ได้เลย ขณะนี้จีนดูน่าตื่นเต้น ในแง่ของนโยบายในเชิงรุก ส่วนญี่ปุ่นก็พยายามจะสู้ แต่ก็มีปัญหาภายใน ก็เลยกลัวๆกล้าๆ

อาเซียน-อินเดีย

สำหรับอาเซียนกับอินเดียก็เป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรก และในแถลงการณ์ร่วม มีการพูดถึงความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งเรื่องสำคัญเรื่องคือความร่วมมือในด้านความมั่นคง ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญที่อินเดียจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น ในการที่จะมาถ่วงดุลอำนาจกับจีนในภูมิภาค ทางด้านเศรษฐกิจ จะมีการเจรจาในเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับAFTA และจะมีเขตเศรษฐกิจที่เรียกว่า “India- Asean Regional Trade and Investment Area” จะเป็นเขตการค้า การลงทุนระหว่างอาเซียนกับอินเดีย ซึ่งจะมีลักษณะของเขตการค้าเสรีปนๆอยู่ด้วย ผมมองในแง่ของอินเดีย ก็มีศักยภาพ แต่ว่าคงต้องเป็นในระยะยาว ขณะนี้ การค้าระหว่างอาเซียนกับอินเดียมีน้อยมาก

อาเซียน-ออสเตรเลีย

สำหรับความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ได้มีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่อาจจะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียด้วย

อาเซียน-สหรัฐฯ

สำหรับอเมริกากับอาเซียน ยังไม่ได้มีการประชุมสุดยอด แต่ได้ข่าวว่า ประเทศไทยเราจะใช้โอกาสในการจัดประชุม APEC ในปีหน้า จัดประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯขึ้น ขณะนี้กำลังมีแนวโน้มชัดเจนว่า ประเทศมหาอำนาจกำลังแข่งกันเข้ามามีอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯคงจะยอมไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ในการประชุม APEC ที่เม็กซิโก อเมริกาได้ประกาศข้อเสนอ “Enterprise for ASEAN Initiative“ ซึ่งเป็น

ข้อเสนอจัดทำเขตการค้าเสรีกับประเทศอาเซียนในลักษณะทวิภาคี ขณะนี้อเมริกากำลังเจรจากับสิงคโปร์อยู่ อีกไม่นานคงจะเจรจาสำเร็จ อันนี้ก็เป็นอีกก้าวหนึ่งนะครับ อเมริกาพยายามที่จะก้าวเข้ามารักษาผลประโยชน์แข่งกับจีนและญี่ปุ่น
จากปรากฏการณ์ที่เราเห็นอยู่ในขณะนี้ อาเซียนมีการเจรจาจับคู่กับประเทศนอกภูมิภาค กับจีน กับญี่ปุ่น กับอินเดีย และออสเตรเลีย สหรัฐฯ ทีนี้ก็มองได้สองแง่มุม ในแง่มุมหนึ่ง อาจเป็นความต้องการของอาเซียนเอง ที่ต้องการประเทศนอกภูมิภาคมาถ่วงดุลกัน อาเซียนคงไม่อยากให้ภูมิภาคนี้ถูกครอบงำโดยจีน ในอีกแง่มุมหนึ่ง ประเทศมหาอำนาจอื่น อาทิ อเมริกาหรือญี่ปุ่น ก็คงไม่อยากให้จีนครอบงำหรือเป็นพี่ใหญ่ในภูมิภาคนี้แต่เพียงผู้เดียวเช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงพยายามที่จะเข้ามาใกล้ชิดกับอาเซียนมากขึ้น ก็เป็นความต้องการทั้งสองด้านครับ

สุดท้ายทั้งหมดนี้ ผมมองว่า ภาพที่ขาดไป คือเขตการค้าเสรี หรือความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรป และอีกอย่างที่ขาดไป ที่ไม่มีพูดถึงในเวทีอาเซียนคราวนี้คือเรื่อง Asia Cooperation Dialogue หรือ ACD ฝ่ายไทยไม่ได้พยายามเอาเข้าอาเซียนและให้อาเซียนยอมรับและช่วยกันสนับสนุน สิ่งที่เราน่าจะทำ แต่เราไม่ได้ทำ !

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ก็เป็นมิติด้านความสัมพันธ์ระดับประเทศที่ดีครับ และที่อาจารย์ได้ทิ้งท้ายไว้ก็มีความสำคัญมากทีเดียว ผมได้อ่านบทสรุปเค้าโครงชองแผนพัฒฯ ที่11 และนโยบายด้านเศรษฐกิจและต่างประเทศต่อไปของไทย ก็พบว่า สิ่งที่อาจารย์ถามถึงน่าจะมีคำตอบอยู่ครับ ข้อหนึ่งที่ผมเป็นห่วงคือ การที่จะใช้เงินสกุลร่วมกัน อาจประสบปัญหาจากการกดดันของอเมริกา หรือสหภาพยุโรป นั่นอาจหมายถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้น แม้ว่าการที่มีจีนเป็นพี่ใหญ่จะเป็นผลดี แต่ในฐานะประเทศเล็กอย่างไทยก็ควรศึกษานโยบายของจีนให้ละเอียดก่อนเป็นเบื้องต้น