Follow prapat1909 on Twitter

วันจันทร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2553

Global NATO: ยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโต้

Global NATO: ยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโต้
สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 27 วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม-วันพฤหัสที่ 1 เมษายน 2553

ขณะนี้ นาโต้ซึ่งเป็นพันธมิตรทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังอยู่ระหว่างการกำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ เมื่อเร็วๆนี้ได้มีการจัดการประชุมในเรื่องนี้ ที่เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี ถึงแม้ยุทธศาสตร์ใหม่จะยังไม่เสร็จ แต่จากการศึกษาสุนทรพจน์ ทั้งจาก Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ และจากเลขาธิการนาโต้ คือ Anders Rasmussen ก็พอจะเห็นภาพคร่าวๆ ได้ว่า ยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโต้กำลังจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้จะวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ดังกล่าว ดังนี้

ภัยคุกคาม

ในสุนทรพจน์ของ Clinton มองว่า นาโต้จะต้องกำหนดภารกิจเพื่อรองรับกับภัยคุกคามใหม่ๆ ซึ่งภัยคุกคามสำคัญต่อนาโต้มีดังนี้
•ภัยคุกคามทางอินเตอร์เน็ต โดยเป็นภัยคุกคามต่อโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะการโจมตีเครือข่ายอินเตอร์เน็ต นาโต้ได้เริ่มมีมาตรการในเรื่องนี้แล้ว โดยกำลังจะมีนโยบายการป้องกันเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่เรียกว่า cyber defense policy
•ภัยคุกคามด้านที่สองเป็นเรื่องความมั่งคงทางพลังงาน แต่ละประเทศกำลังมีความเปราะบางต่อการถูกตัดพลังงาน ซึ่งจะมีผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์ ขณะนี้ได้มีการจัดตั้ง US –EU Energy Council แล้ว
•ภัยคุกคามเรื่องที่สามเป็นภัยคุกคามจากขีปนาวุธ โดยจะเป็นภัยคุกคามที่มาจากทางตะวันออกกลาง ดังนั้น นาโต้ต้องรีบจัดตั้งระบบป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธขึ้น
•ภัยคุกคามเรื่องที่สี่ เป็นภัยคุกคามใหม่ๆ ที่เรียกว่า non-traditional threats โดยยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโต้ จะต้องมีมาตรการจัดการกับภัยคุกคามใหม่ๆ อาทิ เรื่องโจรสลัด อาชญากรรมข้ามชาติ
•ภัยคุกคามอีกเรื่องคือ การก่อการร้ายและการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง โดยมีอันตรายอย่างมากที่ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐจะโจมตีนาโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ นอกจากนี้ มีหลายประเทศที่พยายามพัฒนาอาวุธร้ายแรงและขีปนาวุธ โดยเฉพาะเกาหลีเหนือ อิหร่าน นาโต้จึงต้องมียุทธศาสตร์ในการป้องกันไม่ให้มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์

ยุทธศาสตร์อันหนึ่งคือ ยุทธศาสตร์การป้องปรามอาวุธนิวเคลียร์ (nuclear deterrence) โดยทางสหรัฐได้ดำเนินยุทธศาสตร์การป้องปรามอย่างต่อเนื่อง และกำลังพัฒนาระบบป้องกันการโจมตีจากขีปนาวุธ และนาโต้ก็ควรที่จะพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธสำหรับยุโรป รัสเซียก็ควรจะร่วมมือกับนาโต้ในการป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์และพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธ

ภารกิจ

จากการวิเคราะห์ภัยคุกคามดังกล่าวข้างต้น ภารกิจหลักของนาโต้ก็ยังจะไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือการป้องกันประเทศสมาชิก การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับยุโรป และการส่งเสริมบูรณาการในยุโรป

อย่างไรก็ตาม นอกจากภารกิจหลักเหล่านั้น ยังมีภารกิจสำคัญที่นาโต้ จะพัฒนาเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ คือยุทธศาสตร์ “Global NATO” คือการขยายขอบเขตภารกิจของนาโต้ให้ครอบคลุมทั่วโลก โดยไม่ใช่แต่เฉพาะจะเน้นการจัดการความมั่นคงในยุโรปเหมือนในอดีตอีกต่อไป

ในปัจจุบัน นาโต้ก็ได้ขยายขอบเขตภารกิจนอกยุโรปออกไปเรื่อยๆแล้ว ตัวอย่างเช่นได้มีเรือรบของนาโต้จัดการกับปัญหาโจรสลัดในทะเลนอกฝั่งโซมาเลีย นาโต้ได้เข้าไปมีบทบาทในการฝึกทหารของอิรัก นาโต้กำลังร่วมมือกันในการป้องกันภัยคุกคามจากขีปนาวุธจากตะวันออกกลาง และนาโต้ก็ได้ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของโอบามา ที่ต้องการให้เพิ่มกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถานเกือบ 10,000 คน

Clinton ย้ำว่าโลกในยุคปัจจุบันที่ติดต่อเชื่อมโยงกัน ทำให้นาโต้ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองประชาชนโดยจำกัดอยู่แต่ในเฉพาะในยุโรปได้อีกต่อไป จึงมีความจำเป็นที่นาโต้จะต้องขยายภารกิจให้ครอบคลุมทั่วโลก ภัยคุกคามในปัจจุบันไม่ได้สนใจพรมแดนอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นโจรสลัด การก่อการร้ายหรืออาวุธร้ายแรง ดังนั้นนาโต้จะต้องเตรียมพร้อมที่จะจัดการกับภัยคุกคามเหล่านั้น ไม่ว่ามันจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

เลขาธิการนาโต้คือ Rasmussen ก็ได้เน้นย้ำประเด็นเรื่อง Global NATO นี้ โดยบอกว่าใน ยุคโลกาภิวัตน์ ปฏิบัติการของนาโต้จะต้องมีขอบเขตครอบคลุมนอกเหนือจากทวีปยุโรป นอกจากนี้ ทูตสหรัฐประจำนาโต้ คือ Ivo Daalder ก็ได้เสนอว่า นาโต้น่าจะรับเอาประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเป็นสมาชิกโดยไม่คำนึงว่าประเทศนั้นจะตั้งอยู่ที่ใดก็ตาม

หุ้นส่วน

อีกเรื่องที่สำคัญในยุทธศาสตร์ใหม่ของนาโต้ซึ่งสัมพันธ์กับภารกิจ Global NATO คือนอกจากจะมีแนวโน้มภารกิจครอบคลุมทั่วโลกแล้ว นาโต้จะมีสมาชิกและหุ้นส่วนขยายไปทั่วโลกอีกด้วย โดยจะมีการขยายความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนใหม่ๆ นอกจากสมาชิกนาโต้

ในอดีต สหรัฐมีท่าทีกำกวมในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างนาโต้กับ EU แต่ในปัจจุบันสหรัฐมองว่า EU ไม่ได้เป็นคู่แข่งของนาโต้อีกต่อไป แต่กลับมองว่ายุโรปที่แข็งแกร่ง จะเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญกับนาโต้และกับสหรัฐ

สหรัฐมองว่า นาโต้จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมบูรณาการของยุโรป หมายถึง การที่นาโต้จะขยายจำนวนสมาชิกออกไปเรื่อยๆ และเมื่อปีที่แล้ว นาโต้ก็ได้รับ แอลเบเนีย และโครเอเชีย เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ตอนนี้นาโต้มีสมาชิก 28 ประเทศแล้ว และในอนาคตนาโต้จะเพิ่มจำนวนสมาชิกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยนาโต้จะเน้นเป็นหุ้นส่วนกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลก

รัสเซีย

ในสุนทรพจน์ของ Clinton ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับนาโต้อย่างละเอียด โดยเฉพาะการจัดตั้ง NATO- Russia Council ขึ้น โดยสหรัฐย้ำว่า นาโต้กับรัสเซียยังมีความแตกต่างกันหลายเรื่อง และ NATO- Russia Council จะเป็นเวทีสำหรับการหารือ และเป็นเวทีในการกดดันให้รัสเซีย ยอมรับพันธกรณีที่มีต่อจอร์เจีย และให้ความเคารพต่ออำนาจอธิปไตยของรัฐ และจะเป็นเวทีในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในรัสเซียด้วย

บทวิเคราะห์

•ภาพรวม : Global NATO

จากการสรุปยุทธศาสตร์นาโต้ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า นาโต้กำลังจะพัฒนากลายเป็น Global NATO มากขึ้นทุกที คือจะเป็นพันธมิตรทางทหารในระดับโลกและมีภารกิจทางทหารครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งจะเป็นวิวัฒนาการที่แตกต่างจากบทบาทของนาโต้ในอดีตเป็นอย่างมาก
ในอดีตนั้น นาโต้ถูกตั้งขึ้นเป็นพันธมิตรทางทหารในสมัยสงครามเย็นเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลง บทบาทของนาโต้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยนาโต้ได้ปรับเปลี่ยนภารกิจจากการต่อต้านคอมมิวนิสต์ มาเป็นบทบาทรักษาสันติภาพทั่วทั้งทวีปยุโรป ในปี 1999นาโต้ได้ดำเนินมาตรการทางทหารเพื่อให้เซอร์เบียถอนทหารจากโคโซโว

จึงเห็นได้ชัดว่า สหรัฐมีแนวโน้มต้องการใช้ประโยชน์จากนาโต้ต่อไป โดยเฉพาะในการครองความเป็นเจ้าทั้งในทวีปยุโรปและในระดับโลก วาระซ่อนเร้นของสหรัฐคือการใช้นาโต้เพื่อปิดล้อมและลดอิทธิพลของรัสเซีย โดยการดึงเอาประเทศในยุโรปตะวันออก ซึ่งเคยเป็นบริวารของรัสเซียมาเป็นสมาชิกนาโต้ และยังส่งทหารเข้าไปในบอสเนีย และโคโซโว ในคาบสมุทรบอลข่านซึ่งเคยเป็นเขตอิทธิพลของรัสเซีย

บทบาทของนาโต้ในอนาคต จึงมีแนวโน้มขยายบทบาทเป็นพันธมิตรทางทหารในระดับโลก และขอบข่ายการปฏิบัติการของนาโต้ก็กำลังจะขยายไปทั่วโลก คือกลายเป็น Global NATO นั่นเอง

•หุ้นส่วนและสมาชิกใหม่

ผมมองว่า สหรัฐต้องการให้นาโต้ขยายจำนวนสมาชิกออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในคาบสมุทรบอลข่านและเทือกเขาคอเคซัสซึ่งเคยเป็นเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย สหรัฐและนาโต้ได้สนับสนุนการประกาศเอกราชของโคโซโว และกำลังมีแนวโน้มจะเชิญบอสเนีย มาเซโดเนีย และมอนเตเนโกร เป็นสมาชิก ก่อนหน้านี้ นาโต้ได้ชักชวนยูเครนและจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งทำให้รัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมาก และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัสเซียทำสงครามบุกจอร์เจีย ในปี 2008

นอกจากนี้ นาโต้ก็กำลังกระชับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะออสเตรเลีย ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และต่อยุทธศาสตร์ทางทหารของไทยด้วย

•รัสเซีย

ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐคือการใช้นาโต้ปิดล้อมรัสเซีย ในสมัยรัฐบาลบุช ความสัมพันธ์ระหว่างนาโต้และรัสเซียจึงเสื่อมโทรมลงเป็นอย่างมาก และตกต่ำลงหนักที่สุดเมื่อปี 2008 เมื่อรัสเซียบุกจอร์เจีย เป้าหมายของการบุกจอร์เจียคือ การประกาศให้ประเทศเพื่อนบ้านรัสเซียที่คิดจะตีตัวออกห่างจากรัสเซีย และจะไปเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ให้เห็นเป็นบทเรียน รัสเซียมองว่า นาโต้กำลังมีนโยบายปิดล้อมรัสเซีย และพยายามขยายอิทธิพลเข้าไปในเขตอิทธิพลเดิมของรัสเซีย คือยุโรปตะวันออก คาบสมุทรบอลข่านและเทือกเขาคอเคซัส

วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโลก

สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโลก
สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 26 วันศุกร์ที่ 19 – วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2553

ทุกๆ ปี ทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ จะเผยแพร่รายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลก สำหรับในปีนี้ เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าว สรุปประมวลสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในปีที่แล้ว ซึ่งครอบคลุมประเทศต่างๆ ถึง 194 ประเทศ ผมมองว่า รายงานฉบับนี้มีความสำคัญ ถึงแม้ว่ารายงานดังกล่าวจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะจากประเทศที่ถูกสหรัฐโจมตี เราต้องยอมรับว่าสหรัฐคงจะใช้รายงานดังกล่าวเป็นเครื่องมือของนโยบายต่างประเทศ และสหรัฐคงจะมีวาระซ่อนเร้น โดยเน้นโจมตีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังมองว่า รายงานดังกล่าวมีข้อมูลที่น่าสนใจ คือได้รวบรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกไว้อย่างละเอียด จริงๆ แล้ว รายงานในลักษณะนี้ควรจะถูกจัดทำขึ้นโดย UN แต่ UN เองก็มีปัญหา เพราะประเทศเผด็จการมักจะพยายามเข้าเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของ UNและพยายามขัดขวางไม่ให้ UN มีบทบาทในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ทาง NGO ก็มีการจัดทำรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ครอบคลุมเท่ากับรายงานของรัฐบาลสหรัฐ

ภาพรวม

ในรายงานดังกล่าวได้มีการมองถึงแนวโน้มสำคัญ 3 เรื่อง
เรื่องที่หนึ่ง ในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีความขัดแย้งและสงครามเกิดขึ้นกว่า 30 แห่ง และสงครามเหล่านี้ ก็มักจะเป็นบ่อเกิดของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
เรื่องที่สอง เป็นแนวโน้มที่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้น โดยเฉพาะจากเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น อินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ได้เพิ่มการเข้าควบคุมเสรีภาพในอินเทอร์เน็ตมากขึ้นด้วย
ส่วนเรื่องที่สาม คือการที่มีแนวโน้มของการที่รัฐบาลจะใช้กฎหมายความมั่งคงในภาวะฉุกเฉินเพื่อมาริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
สงครามในรายงานดังกล่าว ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับความขัดแย้งและสงครามซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสิทธิมนุษยชน โดยประเทศที่มีปัญหาในเรื่องนี้มีดังนี้

อัฟกานิสถาน : สถานการณ์ความมั่นคงในอัฟกานิสถานได้เลวร้ายลงเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย สงครามได้ขยายตัวออกไปครอบคลุมเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ ในรอบปีที่ผ่านมา ผลจากการก่อการร้ายทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตไปกว่า 2,400 คน

พม่า : ซึ่งก็มีปัญหาในการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการใช้กำลังทางทหารโจมตีชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มกะเหรี่ยง และไทยใหญ่ในรัฐฉาน

คองโก : สงครามกลางเมืองในคองโกกำลังลุกลามขยายตัวเป็นสงครามใหญ่ ปีที่แล้ว มีพลเรือน ประชาชนเสียชีวิตไปกว่า 1,000 คน และยังมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องย้ายถิ่นฐานอีกหลายแสนคน

อิสราเอล : ความขัดแย้งในรอบปีที่ผ่านมาอีกเรื่องคือ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ โดยได้มีการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา อิสราเอลได้โจมตีฉนวนกาซาอย่างหนัก ทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิต 1,400 คน ในจำนวนนี้เป็นพลเรือนประมาณ 1,000 คน

ไนจีเรีย : กองกำลังทหารไนจีเรียได้มีการวิสามัญฆาตกรรมและใช้กำลังปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมหัวรุนแรง ที่มีชื่อว่า Boko Haram โดยเฉพาะการสู้รบกันทางตอนเหนือของประเทศ ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตไปเกือบ 1,000 คน

ปากีสถาน: ก็เป็นอีกประเทศที่มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกิดมาจากการสู้รบระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่มก่อการร้าย โดยมีกรณีทั้งวิสามัญฆาตกรรม การสูญหาย และการทรมาน ทำให้พลเมืองเสียชีวิตไปเกือบ 1,000 คน

รัสเซีย : สถานการณ์ในเขตเทือกเขาคอเคซัสเลวร้ายลงเรื่อยๆโดยรัฐบาลต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน โดยเฉพาะในเขต Chechnya, Ingushetia และ Dagestan ซึ่งมีกรณีของวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ซูดาน: ความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตดาร์ฟูร์ ก็ยังคงมีอยู่ต่อไป แม้ว่าจะได้มีการทำข้อตกลงสันติภาพดาร์ฟูร์มาตั้งแต่ปี 2006 แล้วก็ตาม โดยตั้งแต่เกิดความขัดแย้งมาตั้งแต่ปี 2003 ประชาชนเกือบ 3,000,000 คนต้องย้ายถิ่นฐาน และมี ประมาณ 2,500,000 คนที่ลี้ภัยอยู่ในทางตะวันออกของ Chad มีการประเมินว่า มีผู้เสียชีวิตไปกับสงครามดาร์ฟูร์แล้วกว่า 300,000 คน

เสรีภาพ
แนวโน้มที่สองของสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา คือการที่รัฐบาลลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมีกรณีที่สำคัญดังนี้

จีน : ในช่วงปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้เพิ่มมาตรการในการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต มีการบล็อกเว็บไซต์ต่างๆ การเซนเซอร์ และการลงโทษผู้ละเมิดกฎเกณฑ์ของรัฐบาล รัฐบาลจีนได้ใช้บุคลากรหลายพันคน ในการควบคุม สอดส่องการใช้อินเทอร์เน็ตของชาวจีน โดยได้มีการปิดเว็บไซต์ไปกว่า 1,250 เว็บ และรัฐบาลได้บล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์ของต่างประเทศ (ในช่วงต้นปีนี้ ก็มีเรื่องเกิดขึ้นกับ google ซึ่งประกาศจะถอนตัวจากจีน)

อิหร่าน : สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในอิหร่านเสื่อมทรามไปมากในปีที่แล้ว โดยได้มีปัญหาตั้งแต่เดือนมิถุนายนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ถูกมองว่าไม่บริสุทธิ์และยุติธรรม โดยได้มีชาวอิหร่านหลายแสนคนออกมาเดินขบวนประท้วง แต่ก็ได้ถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างรุนแรง และได้มีการจับกุมผู้เดินขบวนกว่า 4,000 คน

เกาหลีเหนือ : เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก โดยชาวเกาหลีเหนือถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพในทุกๆด้าน โดยได้มีการวิสามัญฆาตกรรม การจับกุมนักโทษทางการเมือง และรัฐบาลควบคุมข้อมูลข่าวสารในทุกๆด้าน

รัสเซีย : ในช่วงปีที่ผ่านมา รัสเซียมีปัญหาในเรื่องของการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสื่อ โดยรัฐบาลได้เข้าควบคุมสื่อของรัฐ กดดันสื่อต่างๆ ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และมีการข่มขู่ผู้สื่อข่าวถึงขั้นได้มีการสังหารนักสิทธิมนุษยชนและผู้สื่อข่าวไปหลายคน

เวเนซุเอลา: มีปัญหาในเรื่องของการลิดรอนสิทธิของสื่อ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ถูกปิดไปกว่า 30 แห่ง และผู้สื่อข่าวเกือบ 200 คนถูกข่มขู่

เวียดนาม : มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยรัฐบาลได้เพิ่มการจับกุมกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ผู้สื่อข่าวถูกคุกคามหลังจากทำรายงานข่าวเกี่ยวกับการคอรัปชั่น รัฐบาลเวียดนามกำลังควบคุมสอดส่องการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด

กลุ่มผู้ด้อยโอกาส

แนวโน้มที่สามของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปีที่ผ่านมา คือการคุกคามกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่างๆ อาทิ ชนกลุ่มน้อย สตรีและเด็ก โดยมีตัวอย่างดังนี้

จีนได้มีการปราบปรามชาวทิเบตและชาว Uighurs โดยภายหลังการจลาจลในเมือง Urumqi เมืองหลวงของแคว้นซินเจียง รัฐบาลจีนได้ปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ชาว Uighurs ถูกจับกุมและสังหารเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับชาวทิเบต ก็มีกรณีวิสามัญฆาตกรรม การจับกุมและการทรมาน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เกิดขึ้นในอียิปต์ ที่ได้มีการโจมตีชาวคริสต์ในอียิปต์ ในมาเลเซียมีกรณีของแรงงานต่างชาติซึ่งถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ส่วนในซาอุดิอาระเบีย มีการใช้ความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก มีการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของสตรีเป็นอย่างมาก
กล่าวโดยสรุป สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วทุกมุมโลก และที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มของการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้ลดลง แต่กลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553

Trans-Pacific Partnership (TPP): ยุทธศาสตร์การค้าใหม่ของสหรัฐต่อเอเชีย

Trans-Pacific Partnership (TPP): ยุทธศาสตร์การค้าใหม่ของสหรัฐต่อเอเชีย
ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2553

Trans-Pacific Partnership เป็นกรอบการเจรจาการค้าเสรีแบบพหุภาคี ซึ่งผมจะเรียกย่อว่า TPP ซึ่งมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปี 1998 ที่สหรัฐเสนอทำ FTA ระหว่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี สิงคโปร์ และสหรัฐ แต่ต่อมาสหรัฐไม่ได้เดินหน้าในเรื่องนี้ต่อ แต่ชิลี สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ ได้เดินหน้าที่จะทำ FTA ระหว่าง 3 ประเทศ ซึ่งได้เริ่มมีการเจรจาตั้งแต่ปี 2003 ในปี 2005 บรูไนได้ขอเข้าร่วมด้วย โดยในปี 2005 จึงได้มีการประกาศจัดตั้ง FTA ระหว่าง 4 ประเทศ โดยมีชื่อว่า Trans-Pacific Strategic Economic Partnership และได้เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2006 โดย FTA ในกรอบนี้มีชื่อย่อว่า P4 ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าทวิภาคีที่เชื่อม 3 ทวีป คือเอเชีย ออสเตรเลีย และอเมริกาใต้ ข้อตกลง P4 ถือได้ว่าเป็น FTA ที่ครอบคลุมเกือบทุกสาขา ทั้งในเรื่องการค้า สินค้า การค้าภาคบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ นโยบายการแข่งขัน รวมถึงการเชื่อมโยงการค้ากับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม

ต่อมาได้มีประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมมากขึ้น คือสหรัฐ ออสเตรเลีย และเวียดนาม และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Trans-Pacific Partnership หรือ TPP
สำหรับท่าทีของสหรัฐนั้น ในช่วงระหว่างการเยือนเอเชียในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า สหรัฐจะเข้าร่วมกับ TPP โดยได้เน้นว่า TPP จะเป็นข้อตกลงการค้าที่มีคุณภาพสูง และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น Ron Kirk USTR ของสหรัฐได้ประกาศชี้แจงรายละเอียดของ TPP ในระหว่างการประชุม APEC ที่สิงคโปร์ โดยบอกว่า ประเทศที่สนใจ 8 ประเทศ จะเริ่มเจรจารอบแรกเพื่อจัดตั้ง TPP ในช่วงต้นปี 2010 ที่ออสเตรเลีย โดย Kirk ได้เน้นว่า เป้าหมายระยะยาว จะขยายจำนวนสมาชิกของ TPP ออกไปให้ครอบคลุมประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ต่อมา Kirk ได้มีหนังสือถึงประธานสภาคองเกรสสหรัฐ ชี้แจงเหตุผลของการเข้าร่วม TPP ของสหรัฐ โดย Kirk อ้างเหตุผลว่า ถึงแม้ว่าการส่งออกของสหรัฐไปภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้น(การส่งออกของสหรัฐไปภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น 63 % ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่สัดส่วนการค้าของสหรัฐในภูมิภาคกลับลดลง 3%) โดยขณะนี้กำลังมีการเกิดขึ้นของ FTA ทั้งทวิภาคีและพหุภาคีเกิดขึ้นมากมายในภูมิภาคโดยไม่มีสหรัฐ แม้ว่าสหรัฐจะมี FTA กับประเทศในภูมิภาคอยู่บ้าง (สิงคโปร์ ออสเตรเลีย) แต่ขณะนี้ มีข้อตกลง FTA ในภูมิภาคอยู่ถึง 175 ข้อตกลง และยังมีอีก 50 ข้อตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา Kirk อ้างว่า ข้อตกลง FTA เหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญทำให้สัดส่วนการค้าของสหรัฐในตลาดเอเชียแปซิฟิกลดลง Kirk อ้างว่า TPP สามารถจะทำให้สหรัฐกลับมามีบทบาทนำในภูมิภาคได้อีกครั้งหนึ่ง

เป็นที่น่าสังเกตว่า 7 ประเทศที่จะร่วมอยู่ใน TPP กับสหรัฐ ไม่ใช่ประเทศคู่ค้ารายใหญ่กับสหรัฐ ตลาดของ 7 ประเทศรวมกันแล้วคิดเป็นเพียง 5 % ของตลาดส่งออกสหรัฐเท่านั้น แต่เหตุผลหลักที่ทำให้สหรัฐเข้าร่วม TPP คือศักยภาพของ TPP ที่จะขยายกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุด

Fred Bergsten นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของสหรัฐ ซึ่งน่าจะอยู่เบื้องหลังยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐนี้ ได้คาดการณ์ว่าประเทศในภูมิภาคจะมาเข้าร่วมกับ TPP มากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่า แคนาดากับเกาหลีใต้น่าจะเข้ามาร่วมในลำดับแรก
อีกเหตุผลหนึ่งที่สหรัฐตัดสินใจเข้าร่วม TPP คือถึงแม้สหรัฐจะมี FTA ทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ถึง 17 ประเทศ แต่คุณภาพของ FTA ทวิภาคีก็สู้ TPP ไม่ได้ โดยเฉพาะมองในแง่ผลประโยชน์ของสหรัฐที่ต้องการเปิดเสรีในสาขาต่างๆให้มากที่สุด สหรัฐมองว่า FTA ทวิภาคีมีข้อจำกัดที่บางสาขาได้รับการยกเว้นไม่เปิดเสรีอย่างเช่นในกรณี FTA กับเกาหลีใต้ เกาหลีใต้ก็ไม่เปิดเสรีสาขายานยนต์

รัฐมนตรีการค้าของออสเตรเลีย Simon Crean มองว่า TPP จะเป็นก้าวแรกที่ในที่สุดจะนำไปสู่การจัดตั้ง Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) (ซึ่งทั้งออสเตรเลียและสหรัฐพยายามผลักดันการจัดตั้ง FTAAP ใน APEC แต่ไม่สำเร็จ) ดังนั้น จึงมีการมองว่า TPP น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีกว่า โดยค่อยๆเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ แล้วขยายใหญ่ แทนที่จะไปจัดตั้ง FTAAP ซึ่งครอบคลุมทั้งภูมิภาคซึ่งคงเป็นไปได้ยาก

สำหรับแนวโน้มก็คือ สหรัฐคงจะเริ่มผลักดัน TPP ในการประชุมสุดยอด APEC ที่ โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ และพอถึงปี 2011 สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด APEC ที่ฮาวาย ผมเดาว่า TPP คงจะเป็นไฮไลท์ของการประชุม APEC ที่ฮาวายอย่างแน่นอน

บทวิเคราะห์

คำถามสำคัญคือ อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง อะไรคือวาระซ่อนเร้นของสหรัฐในการผลักดัน FTA ในกรอบ TPP

คำตอบของผมคือ เหตุผลสำคัญที่สุดที่สหรัฐหันมาสนับสนุน TPP ก็เพราะสหรัฐกลัวการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐ และกลัวว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

แนวโน้มที่สำคัญอย่างยิ่งในภูมิภาคคือ แนวโน้มของการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วย ซึ่งรวมถึงกรอบ ASEAN+3 ที่จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก และแนวคิดการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก(East Asia Free Trade Area : EAFTA) นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้ง FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี ฯลฯ และยังมี FTA ทวิภาคีอีกมากมาย อาทิ FTA ไทย-จีน ไทย-ญี่ปุ่น พัฒนาการของการจัดตั้ง FTA เหล่านี้ไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วยเลย สหรัฐไม่มี FTA กับ อาเซียนทั้งกลุ่ม สหรัฐมี FTA ทวิภาคีกับสิงคโปร์ และออสเตรเลียเท่านั้น ดังนั้นหากสหรัฐไม่ดำเนินการอะไร อิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะตกต่ำลงเรื่อยๆ

มีการคาดการณ์กันว่า หากมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออกในกรอบ ASEAN+3 จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐ ซึ่งในระยะแรกจะกระทบ 25,000 ล้านเหรียญต่อปี และหากมีการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกในกรอบ ASEAN+3 จะทำให้เศรษฐกิจโลกแบ่งเป็น 3 ขั้ว โดยขั้วเอเชียตะวันออกจะมีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าขั้วสหรัฐและขั้วยุโรป ดังนั้น การรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออกจึงท้าทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าในโลกของสหรัฐเป็นอย่างมาก และจะส่งผลกระทบในทางลบเป็นอย่างมากต่อผลประโยชน์ของสหรัฐในภูมิภาค

ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบในทางลบที่จะเกิดขึ้น สหรัฐจึงพยายามป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออก และผลักดันการรวมกลุ่มโดยมีสหรัฐเป็นแกน และผลักดัน FTA โดยมีสหรัฐเป็นแกน
ในอดีต สหรัฐพยายามเจรจา FTA ทวิภาคีกับประเทศต่างๆในภูมิภาคโดยเริ่มจากสิงคโปร์และออสเตรเลีย หลังจากนั้นก็เริ่มมีการเจรจากับไทย มาเลเซีย และเกาหลีใต้ แต่การเจรจากับประเทศเหล่านี้ในที่สุดก็ติดขัดหมด และแผนการจะขยาย FTA ทวิภาคีออกไปก็ติดขัดหมด ในขณะเดียวกัน ในสมัยรัฐบาล Bush ได้พยายามรื้อฟื้นความสำคัญของ APEC โดยการผลักดันการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือ FTAAP ในกรอบของ APEC แต่ก็ไม่สำเร็จ สหรัฐหวังว่ายุทธศาสตร์การเจรจา FTA ทวิภาคี และ FTAAP จะทำให้สหรัฐกลับมามีบทบาททางเศรษฐกิจในเอเชียภูมิภาคนี้ และจะเป็นตัวกันและทำให้ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเจือจางลง แต่ในที่สุด FTA ทวิภาคีและ FTAAP ก็ประสบความล้มเหลว สหรัฐจึงต้องหายุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งในที่สุด สหรัฐก็พบว่า TTP น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุด

เราจึงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดถึงวิวัฒนาการของ TPP ว่า ในระยะยาว สหรัฐจะทำสำเร็จหรือไม่ คือจะขยาย TPP ให้กลายเป็น FTA เอเชียแปซิฟิก และเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้หรือไม่ ขณะนี้ ยังคาดการณ์ไม่ได้ชัดเจนว่า ประเทศต่างๆในภูมิภาคจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าเราก็คงจะต้องทำการบ้าน วิเคราะห์ผลดีผลเสียของการเข้าร่วม TPP และวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย หาก TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และ TPP จะส่งผลกระทบต่อ FTA ในภูมิภาคที่มีอยู่แล้วอย่างไร

วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ต่อเอเชียปี 2010

ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ต่อเอเชียปี 2010
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 25 วันศุกร์ที่ 12-วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม 2553 หน้า 32-33

เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ Kurt Campbell อธิบดีกรมกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้แถลงนโยบายของสหรัฐฯ ต่อเอเชียที่สภาคองเกรส ผมมองว่า การแถลงครั้งนี้ เป็นการประกาศยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อเอเชียล่าสุด คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จึงจะสรุปและวิเคราะห์คำแถลงดังกล่าวดังนี้

การทูตปฏิสัมพันธ์

ในตอนเริ่มต้น Campbell ได้กล่าวสรุปการทูตปฏิสัมพันธ์สหรัฐฯต่อเอเชียในสมัยรัฐบาล Obama ดังนี้
เรื่องแรก คือการปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาคด้วยการเยือนในระดับสูง โดยเริ่มจาก Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ หลังจากรับตำแหน่ง ได้เดินทางมาเยือนเอเชียในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2009 โดยได้เดินทางไปเยือนสำนักเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาการ์ตาด้วย ต่อมา Hillary Clinton ได้เดินทางมาเยือนเอเชียเป็นครั้งที่สอง เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เพื่อเข้าร่วมประชุม ARF ที่ภูเก็ต

ต่อมาประธานาธิบดี Obama ได้เดินทางมาเยือนเอเชียเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยได้แวะเยือน 4 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ สำหรับที่สิงคโปร์ Obama ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอด APEC ครั้งที่ 17 และประชุมสุดยอดสหรัฐฯกับอาเซียนเป็นครั้งแรก และในปลายเดือนมีนาคมนี้ Obama จะเดินทางมาเยือนเอเชียเป็นครั้งที่สอง โดยจะเยือนเกาะกวมอินโดนีเซียและออสเตรเลีย

สำหรับการทูตปฏิสัมพันธ์กับพม่านั้น ได้มีการกำหนดนโยบายใหม่ต่อพม่า ซึ่งเรียกว่า pragmatic engagement โดยได้เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่า แต่ขณะเดียวกัน ก็จะยังคงมาตรการคว่ำบาตรอยู่ จนกว่ารัฐบาลพม่าจะปรับเปลี่ยนนโยบาย Campbell ได้เดินทางไปเยือนพม่าในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีพม่า รวมทั้งกับนางออง ซาน
ซูจีด้วย

กรอบยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์

หลังจากนั้น Campbell ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์และนโยบายต่อเอเชียในอนาคต ซึ่งจะมียุทธศาสตร์อยู่ 4 เรื่องใหญ่ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือยุทธศาสตร์ต่อพันธมิตร ยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดต่อสหรัฐฯในภูมิภาคคือความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้ง 5 ในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับพันธมิตรทั้ง 5 จะเป็นเสาหลักของยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐฯในภูมิภาคโดยแกนหลักของพันธมิตรจะยังคงเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงด้านการทหาร ดังนั้น การซ้อมรบร่วมระหว่างพันธมิตร อาทิ การซ้อมรบร่วม Cobra Gold ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ จึงเป็นตัวอย่างของความสำคัญของพันธมิตร

Campbell กล่าวต่อไปว่า ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงด้านการทหาร มีความสำคัญเพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก การเล่นเกมถ่วงดุลอำนาจยังคงมีอยู่ สหรัฐฯจึงต้องคงกองกำลังทหารในภูมิภาคนี้ไว้ ทั้งนี้เพื่อที่จะเป็นหลักประกันสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

โดยเฉพาะพันธมิตรกับญี่ปุ่น จะเป็นเสาหลักของยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์เช่นเดียวกับพันธมิตรกับเกาหลีใต้ ซึ่งสหรัฐฯจะยังคงยึดมั่นที่จะปกป้องคุ้มครองเกาหลีใต้ และจะยังคงกองกำลังทหารในคาบสมุทรเกาหลีต่อไป

สำหรับในประเด็นเกาหลีเหนือนั้น ที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ใช้การเจรจา 6 ฝ่าย เพื่อที่จะปลดอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ แต่ในปี 2009 เกาหลีเหนือได้ยุติการเจรจาและได้เดินหน้าพัฒนาขีปนาวุธ และทดลองอาวุธนิวเคลียร์เป็นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว สหรัฐฯได้ปรับเปลี่ยนนโยบายต่อเกาหลีเหนือใหม่ ด้วยการเริ่มปฏิสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ โดยเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ได้ส่งทูต Stephen Bosworth เป็นผู้แทนพิเศษไปเจรจากับเกาหลีเหนือ ในการเจรจา เกาหลีเหนือยอมรับความสำคัญของการเจรจา 6 ฝ่าย และแถลงการณ์ร่วมเดือนกันยายน 2005 ที่จะทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือยังไม่ตกลงใจว่า จะกลับคืนสู่การเจรจา 6 ฝ่ายเมื่อไร

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 2 คือยุทธศาสตร์ต่อจีน โดย Campbell กล่าวว่า จีนกับสหรัฐฯมีความเห็นที่แตกต่างกันในหลายเรื่อง อาทิ เรื่องสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญา ความโปร่งใสทางทหาร เมื่อเร็วๆนี้ จีนได้แสดงความไม่พอใจต่อการที่สหรัฐฯจะขายอาวุธให้กับไต้หวัน รวมทั้งการที่ดาไลลามะได้พบกับทั้ง Obama และ Clinton อย่างไรก็ตาม จุดยืนของสหรัฐฯคือ สหรัฐฯจะแสวงหาความร่วมมือที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ขณะเดียวกัน สหรัฐฯก็จะหนักแน่นในเรื่องที่มีความเห็นแตกต่างกัน

สำหรับยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ โดย Campbell กล่าวว่า จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ กลุ่มประเทศอาเซียนก็เป็นคู่ค้าสำคัญและเป็นตลาดส่งออกใหญ่เป็นอันดับ 4 ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของสหรัฐฯต่อการค้ารวมในภูมิภาคได้ลดลง 3 % ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และนี่ก็คือเหตุผลที่สหรัฐฯกำลังเดินหน้าผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรีในกรอบใหม่ที่เรียกว่า Trans – Pacific Partnership (TPP) โดยสหรัฐฯ มียุทธศาสตร์ที่จะใช้ TPP เป็นจุดเริ่มต้นของบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ส่วนยุทธศาสตร์สุดท้ายคือยุทธศาสตร์สหรัฐฯต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดย Campbell ได้บอกว่า ขณะนี้กำลังมีแนวโน้มของการจัดตั้งสถาบันในภูมิภาคและบูรณาการในภูมิภาค อาทิ ASEAN , ASEAN Regional Forum (ARF) และ East Asia Summit (EAS) โดยสหรัฐฯกำลังพิจารณาอยู่ว่า สหรัฐฯจะปฏิสัมพันธ์กับสถาบันเหล่านี้อย่างไร โดยเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ Hillary Clinton ได้กล่าวสุนทรพจน์ประกาศจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อสถาปัตยกรรมในภูมิภาค โดยสหรัฐฯเน้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรเป็นเสาหลักของสถาปัตยกรรม สหรัฐฯได้เน้นย้ำหลายครั้งว่าสถาบันในภูมิภาคจะต้องมีสหรัฐฯรวมอยู่ด้วย โดยในตอนท้าย Campbell ได้กล่าวย้ำว่า สถาบันในหรือสถาปัตยกรรมในภูมิภาค สหรัฐฯจะต้องเป็นผู้เล่นสำคัญ และจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ผู้ดู สหรัฐฯเป็นประเทศที่อยู่ในภูมิภาคนี้ไม่ใช่ประเทศผู้มาเยือน ดังนั้น สหรัฐฯจะต้องเล่นบทบาทเป็นผู้นำในวิวัฒนาการของสถาปัตยกรรมในภูมิภาค

บทวิเคราะห์

ผมมองว่า คำกล่าวของ Campbell เป็นการตอกย้ำยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯในภูมิภาค ที่ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงก็ได้ออกมากล่าวหลายครั้ง แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากคำกล่าวและสุนทรพจน์ก็คือ วาระซ่อนเร้น หรือยุทธศาสตร์ที่แท้จริงของสหรัฐฯต่อภูมิภาค

ผมมองว่า ยุทธศาสตร์หลักที่แท้จริงของสหรัฐฯ ที่สหรัฐฯไม่สามารถกล่าวอย่างเปิดเผยได้คือยุทธศาสตร์การครองความเป็นเจ้า คือทำอย่างไรที่จะให้สหรัฐฯครอบงำโลกและภูมิภาคต่อไป
อีกยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯไม่สามารถกล่าวอย่างเปิดเผยได้ คือยุทธศาสตร์การสกัดกั้นอิทธิพลของจีน หรือที่เรียกง่ายๆว่ายุทธศาสตร์การปิดล้อมจีน

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 ที่ไม่สามารถเปิดเผยได้คือ ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศในเอเชียไม่ให้รวมกลุ่มกันโดยไม่มีสหรัฐฯ สหรัฐฯดำเนินยุทธศาสตร์ข้างต้นโดยผ่านช่องทางทวิภาคีและพหุภาคี ช่องทางทวิภาคีคือ การใช้ยุทธศาสตร์ hub and spokes โดยมีสหรัฐฯเป็น hub หรือเป็นดุมล้อ และมีพันธมิตรเป็น spokes หรือเป็นซี่ล้อ นอกจากนี้ สหรัฐฯยังได้ดำเนินยุทธศาสตร์ผ่านช่องทางพหุพาคีต่างๆ อาทิ APEC ,Trans – Pacific Partnership (TPP) , Lower Mekong Initiative, การเจรจา 6 ฝ่าย และการเจรจา 3 ฝ่าย เป็นต้น

วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553

Trans-Pacific Partnership (TPP): ยุทธศาสตร์การค้าใหม่ของสหรัฐต่อเอเชีย

Trans-Pacific Partnership (TPP): ยุทธศาสตร์การค้าใหม่ของสหรัฐต่อเอเชีย
ไทยโพสต์ วันพฤหัสที่ 11 มีนาคม 2553 หน้า 4

Trans-Pacific Partnership (TPP)
Trans-Pacific Partnership เป็นกรอบการเจรจาการค้าเสรีแบบพหุภาคี ซึ่งผมจะเรียกย่อว่า TPP ซึ่งมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ปี 1998 ที่สหรัฐเสนอทำ FTA ระหว่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี สิงคโปร์ และสหรัฐ แต่ต่อมาสหรัฐไม่ได้เดินหน้าในเรื่องนี้ต่อ แต่ชิลี สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ ได้เดินหน้าที่จะทำ FTA ระหว่าง 3 ประเทศ ซึ่งได้เริ่มมีการเจรจาตั้งแต่ปี 2003

ในปี 2005 บรูไนได้ขอเข้าร่วมด้วย โดยในปี 2005 จึงได้มีการประกาศจัดตั้ง FTA ระหว่าง 4 ประเทศ โดยมีชื่อว่า Trans-Pacific Strategic Economic Partnership และได้เริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2006 โดย FTA ในกรอบนี้มีชื่อย่อว่า P4
ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าทวิภาคีที่เชื่อม 3 ทวีป คือเอเชีย ออสเตรเลีย และอเมริกาใต้ ข้อตกลง P4 ถือได้ว่าเป็น FTA ที่ครอบคลุมเกือบทุกสาขา ทั้งในเรื่องการค้า สินค้า การค้าภาคบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ นโยบายการแข่งขัน รวมถึงการเชื่อมโยงการค้ากับมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม

ต่อมาได้มีประเทศที่สนใจจะเข้าร่วมมากขึ้น คือสหรัฐ ออสเตรเลีย และเวียดนาม และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Trans-Pacific Partnership หรือ TPP

สำหรับท่าทีของสหรัฐนั้น ในช่วงระหว่างการเยือนเอเชียในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ประธานาธิบดี Obama ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า สหรัฐจะเข้าร่วมกับ TPP โดยได้เน้นว่า TPP จะเป็นข้อตกลงการค้าที่มีคุณภาพสูง และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น Ron Kirk USTR ของสหรัฐได้ประกาศชี้แจงรายละเอียดของ TPP ในระหว่างการประชุม APEC ที่สิงคโปร์ โดยบอกว่า ประเทศที่สนใจ 8 ประเทศ จะเริ่มเจรจารอบแรกเพื่อจัดตั้ง TPP ในช่วงต้นปี 2010 ที่ออสเตรเลีย โดย Kirk ได้เน้นว่า เป้าหมายระยะยาว จะขยายจำนวนสมาชิกของ TPP ออกไปให้ครอบคลุมประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในที่สุด TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ต่อมา Kirk ได้มีหนังสือถึงประธานสภาคองเกรสสหรัฐ ชี้แจงเหตุผลของการเข้าร่วม TPP ของสหรัฐ โดย Kirk อ้างเหตุผลว่า ถึงแม้ว่าการส่งออกของสหรัฐไปภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้น(การส่งออกของสหรัฐไปภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น 63 % ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่สัดส่วนการค้าของสหรัฐในภูมิภาคกลับลดลง 3%) โดยขณะนี้กำลังมีการเกิดขึ้นของ FTA ทั้งทวิภาคีและพหุภาคีเกิดขึ้นมากมายในภูมิภาคโดยไม่มีสหรัฐ แม้ว่าสหรัฐจะมี FTA กับประเทศในภูมิภาคอยู่บ้าง (สิงคโปร์ ออสเตรเลีย) แต่ขณะนี้ มีข้อตกลง FTA ในภูมิภาคอยู่ถึง 175 ข้อตกลง และยังมีอีก 50 ข้อตกลงที่อยู่ระหว่างการเจรจา Kirk อ้างว่า ข้อตกลง FTA เหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญทำให้สัดส่วนการค้าของสหรัฐในตลาดเอเชียแปซิฟิกลดลง Kirk อ้างว่า TPP สามารถจะทำให้สหรัฐกลับมามีบทบาทนำในภูมิภาคได้อีกครั้งหนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า 7 ประเทศที่จะร่วมอยู่ใน TPP กับสหรัฐ ไม่ใช่ประเทศคู่ค้ารายใหญ่กับสหรัฐ ตลาดของ 7 ประเทศรวมกันแล้วคิดเป็นเพียง 5 % ของตลาดส่งออกสหรัฐเท่านั้น แต่เหตุผลหลักที่ทำให้สหรัฐเข้าร่วม TPP คือศักยภาพของ TPP ที่จะขยายกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุด

Fred Bergsten นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของสหรัฐ ซึ่งน่าจะอยู่เบื้องหลังยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐนี้ ได้คาดการณ์ว่าประเทศในภูมิภาคจะมาเข้าร่วมกับ TPP มากขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดว่า แคนาดากับเกาหลีใต้น่าจะเข้ามาร่วมในลำดับแรก

อีกเหตุผลหนึ่งที่สหรัฐตัดสินใจเข้าร่วม TPP คือถึงแม้สหรัฐจะมี FTA ทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ถึง 17 ประเทศ แต่คุณภาพของ FTA ทวิภาคีก็สู้ TPP ไม่ได้ โดยเฉพาะมองในแง่ผลประโยชน์ของสหรัฐที่ต้องการเปิดเสรีในสาขาต่างๆให้มากที่สุด สหรัฐมองว่า FTA ทวิภาคีมีข้อจำกัดที่บางสาขาได้รับการยกเว้นไม่เปิดเสรีอย่างเช่นในกรณี FTA กับเกาหลีใต้ เกาหลีใต้ก็ไม่เปิดเสรีสาขายานยนต์

รัฐมนตรีการค้าของออสเตรเลีย Simon Crean มองว่า TPP จะเป็นก้าวแรกที่ในที่สุดจะนำไปสู่การจัดตั้ง Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) (ซึ่งทั้งออสเตรเลียและสหรัฐพยายามผลักดันการจัดตั้ง FTAAP ใน APEC แต่ไม่สำเร็จ) ดังนั้น จึงมีการมองว่า TPP น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีกว่า โดยค่อยๆเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ แล้วขยายใหญ่ แทนที่จะไปจัดตั้ง FTAAP ซึ่งครอบคลุมทั้งภูมิภาคซึ่งคงเป็นไปได้ยาก

สำหรับแนวโน้มก็คือ สหรัฐคงจะเริ่มผลักดัน TPP ในการประชุมสุดยอด APEC ที่ โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ และพอถึงปี 2011 สหรัฐจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอด APEC ที่ฮาวาย ผมเดาว่า TPP คงจะเป็นไฮไลท์ของการประชุม APEC ที่ฮาวายอย่างแน่นอน


บทวิเคราะห์

คำถามสำคัญคือ อะไรคือสาเหตุที่แท้จริง อะไรคือวาระซ่อนเร้นของสหรัฐในการผลักดัน FTA ในกรอบ TPP
คำตอบของผมคือ เหตุผลสำคัญที่สุดที่สหรัฐหันมาสนับสนุน TPP ก็เพราะสหรัฐกลัวการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐ และกลัวว่าอิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

แนวโน้มที่สำคัญอย่างยิ่งในภูมิภาคคือ แนวโน้มของการรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วย ซึ่งรวมถึงกรอบ ASEAN+3 ที่จะพัฒนาไปเป็นประชาคมเอเชียตะวันออก และแนวคิดการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก(East Asia Free Trade Area : EAFTA) นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้ง FTA อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลี ฯลฯ และยังมี FTA ทวิภาคีอีกมากมาย อาทิ FTA ไทย-จีน ไทย-ญี่ปุ่น พัฒนาการของการจัดตั้ง FTA เหล่านี้ไม่มีสหรัฐรวมอยู่ด้วยเลย สหรัฐไม่มี FTA กับ อาเซียนทั้งกลุ่ม สหรัฐมี FTA ทวิภาคีกับสิงคโปร์ และออสเตรเลียเท่านั้น ดังนั้นหากสหรัฐไม่ดำเนินการอะไร อิทธิพลทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะตกต่ำลงเรื่อยๆ

มีการคาดการณ์กันว่า หากมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออกในกรอบ ASEAN+3 จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของสหรัฐ ซึ่งในระยะแรกจะกระทบ 25,000 ล้านเหรียญต่อปี และหากมีการจัดตั้งประชาคมเอเชียตะวันออกในกรอบ ASEAN+3 จะทำให้เศรษฐกิจโลกแบ่งเป็น 3 ขั้ว โดยขั้วเอเชียตะวันออกจะมีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าขั้วสหรัฐและขั้วยุโรป ดังนั้น การรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออกจึงท้าทายอำนาจและการครองความเป็นเจ้าในโลกของสหรัฐเป็นอย่างมาก และจะส่งผลกระทบในทางลบเป็นอย่างมากต่อผลประโยชน์ของสหรัฐในภูมิภาค

ดังนั้น เพื่อป้องกันผลกระทบในทางลบที่จะเกิดขึ้น สหรัฐจึงพยายามป้องกันไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มของประเทศในเอเชียตะวันออก และผลักดันการรวมกลุ่มโดยมีสหรัฐเป็นแกน และผลักดัน FTA โดยมีสหรัฐเป็นแกน
ในอดีต สหรัฐพยายามเจรจา FTA ทวิภาคีกับประเทศต่างๆในภูมิภาคโดยเริ่มจากสิงคโปร์และออสเตรเลีย หลังจากนั้นก็เริ่มมีการเจรจากับไทย มาเลเซีย และเกาหลีใต้ แต่การเจรจากับประเทศเหล่านี้ในที่สุดก็ติดขัดหมด และแผนการจะขยาย FTA ทวิภาคีออกไปก็ติดขัดหมด ในขณะเดียวกัน ในสมัยรัฐบาล Bush ได้พยายามรื้อฟื้นความสำคัญของ APEC โดยการผลักดันการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก หรือ FTAAP ในกรอบของ APEC แต่ก็ไม่สำเร็จ สหรัฐหวังว่ายุทธศาสตร์การเจรจา FTA ทวิภาคี และ FTAAP จะทำให้สหรัฐกลับมามีบทบาททางเศรษฐกิจในเอเชียภูมิภาคนี้ และจะเป็นตัวกันและทำให้ความร่วมมือเอเชียตะวันออกเจือจางลง แต่ในที่สุด FTA ทวิภาคีและ FTAAP ก็ประสบความล้มเหลว สหรัฐจึงต้องหายุทธศาสตร์ใหม่ ซึ่งในที่สุด สหรัฐก็พบว่า TTP น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุด

เราจึงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดถึงวิวัฒนาการของ TPP ว่า ในระยะยาว สหรัฐจะทำสำเร็จหรือไม่ คือจะขยาย TPP ให้กลายเป็น FTA เอเชียแปซิฟิก และเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้หรือไม่ ขณะนี้ ยังคาดการณ์ไม่ได้ชัดเจนว่า ประเทศต่างๆในภูมิภาคจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร สำหรับประเทศไทย ผมคิดว่าเราก็คงจะต้องทำการบ้าน วิเคราะห์ผลดีผลเสียของการเข้าร่วม TPP และวิเคราะห์ผลกระทบต่อไทย หาก TPP จะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และ TPP จะส่งผลกระทบต่อ FTA ในภูมิภาคที่มีอยู่แล้วอย่างไร





ความขัดแย้งจีน – สหรัฐฯ ปี 2010 (ตอน 3 )

ความขัดแย้งจีน – สหรัฐฯ ปี 2010 (ตอน 3 )
สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 24 วันศุกร์ที่ 5 - วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม 2553 หน้า 32-33

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เรื่องความขัดแย้งจีนกับสหรัฐฯ ตอนที่ 2 ซึ่งเกี่ยวกับปัญหาทิเบต คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะมาวิเคราะห์ต่อ ถึงความขัดแย้งในอีกมิติหนึ่งในคือความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ

ภาพรวม

ขณะนี้ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ กำลังมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ โดยสหรัฐฯได้กล่าวหาว่า จีนได้เปรียบดุลการค้าต่อสหรัฐฯมหาศาล และสาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากค่าเงินหยวนของจีน ซึ่งมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาเรื่องการเปิดตลาดโดยทางฝ่ายสหรัฐฯได้โจมตีจีนมาอย่างต่อเนื่องในเรื่องเกี่ยวกับการเปิดตลาดของจีน และอุปสรรคในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการจัดจำหน่ายสินค้าในจีน มาตรการกีดกันที่มิใช่ภาษี และมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ
นอกจากนี้ สหรัฐฯยังได้โจมตีจีนอย่างหนักในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และประเด็นความขัดแย้งด้านพลังงาน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ทั้งสองประเทศขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ จีนใช้ทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ได้น้ำมันจากแหล่งต่างๆ รวมทั้งจากประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐฯ เช่น อิหร่าน ความพยายามของจีนที่จะซื้อบริษัทน้ำมันของสหรัฐฯ คือบริษัท UNOCAL ก็ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากสภาคองเกรส
ในส่วนของจีน เมื่อในเดือนกุมภาพันธ์ กระทรวงพาณิชย์จีนก็ได้ออกแถลงการณ์การโจมตีสหรัฐฯว่ากำลังมีมาตรการปกป้องทางการค้าเพิ่มมากขึ้น และจีนก็ตกเป็นเหยื่อของมาตรการที่ไม่เป็นธรรม ทั้งสองประเทศขณะนี้กำลังทำสงครามการค้าโดยการขึ้นภาษีตอบโต้สินค้าของกันและกัน

พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯในขณะนี้คือ เรื่องของการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้เข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ( Treasury bond) ซึ่งทำให้จีนกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ จึงทำให้ความสัมพันธ์มีลักษณะพัวพันกันหลายเรื่อง และมีลักษณะที่สหรัฐฯต้องพึ่งพาจีน จีนก็ต้องพึ่งพาสหรัฐฯ โดยจีนนั้นได้ถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มีมูลค่าถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญ จึงทำให้จีนถือครองเงินดอลลาร์อยู่เป็นจำนวนมาก การถือครองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2001 จีนถือครองเงินดอลลาร์เพียง 1 แสนล้านเหรียญ แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านล้านเหรียญโดยที่จีนได้มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงทำให้จีนต้องใช้เงินทุนสำรองดังกล่าวไปในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะทำให้เงินหยวนมีค่าที่ต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย
ขณะนี้ จึงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในสหรัฐฯว่า หากจีนจะขายทิ้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่จีนถือครอง จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
ในประเด็นนี้ ยังมีการถกเถียงกันอยู่ แต่จากการศึกษาแนวโน้ม จะเห็นได้ถึงการเพิ่มขึ้นของการพึ่งพาอาศัยกันและกันทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งสอง โดยสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนเป็นจำนวนมาก ในขณะที่จีนก็เข้ามาช่วยซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ
แต่แนวโน้มในอนาคตคือ สหรัฐฯจะขาดดุลงบประมาณมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า อาจจะขาดดุลถึง 9 ล้านล้านเหรียญ (ในปี 2010 ขาดดุลอยู่ประมาณ 1.6 ล้านล้านเหรียญ)ดังนั้น หากจีนขายทิ้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็จะเกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงิน และจะกระทบต่อค่าเงินของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม การที่จีนจะขายทิ้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จีนก็อาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย แต่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า จีนจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน แต่ดูเหมือนกับว่าจีนจะมองว่า ดุลยภาพของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ จีนกำลังได้เปรียบสหรัฐฯ จึงมีแนวโน้มที่จะทำให้จีนมีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ

ค่าเงินหยวน

ตามที่ผมได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า สหรัฐฯมองว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ขาดดุลการค้ากับจีนมหาศาลคือ การที่เงินหยวนของจีนมีค่าต่ำกว่าความเป็นจริง โดยทางฝ่ายสหรัฐฯประเมินว่าค่าเงินหยวนต่ำกว่าความเป็นจริงถึง 40 % จึงทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาถูก และนำไปสู่การที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ามหาศาลกับจีน ถึงแม้ว่าจีนจะได้ประกาศเพิ่มค่าเงินหยวนไปบ้างแล้ว แต่ก็เพิ่มขึ้นน้อยมากเพียง 2 %

ในปี 2000 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีน มีมูลค่า 84,000 ล้านเหรียญ แต่ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากโดยในปีที่แล้วคือในปี 2009 สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนมากถึง 227,000 ล้านเหรียญ โดยสหรัฐฯขาดดุลกับจีนคิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯกับทั่วโลก ทั้งนี้ความไม่สมดุลทางการค้าได้สะท้อนออกมาในเรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งสหรัฐขาดทุนเงินบัญชีเดินสะพัดถึง 800,000 ล้านเหรียญ ในขณะที่จีนเกินดุลเงินบัญชีเดินสะพัดเกือบ 300,000 ล้านเหรียญในปี 2009 และในอนาคต แนวโน้มก็จะยิ่งหนักขึ้นไปอีก คือในปี 2011 จีนจะได้ดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 500,000 ล้านเหรียญ
ทางฝ่ายสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมาย Omnibus Trade and Competitiveness Act ปี 1988 กำหนดว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะต้องทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อพิจารณาว่า รัฐบาลดังกล่าวมีนโยบายแทรกแซงและทำให้ค่าเงินต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ ในปีนี้กระทรวงการคลังจะต้องรายงานภายในวันที่ 25 เมษายน จึงเป็นไปได้ว่า จีนคงจะเพิ่มค่าเงินหยวนประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้จากกฎหมายดังกล่าว โดยสภาคองเกรสได้พยายามผลักดันมาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อตอบโต้จีนโดยจะมีมาตรการทั้งการจำกัดการนำเข้า และมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อจีน

วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความขัดแย้งจีน-สหรัฐ ปี 2010 (ตอน 2)

สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
ปีที่ 27 ฉบับที่ 23 วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์- วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม 2553 หน้า 32-33

คอลัมน์โลกทรรศน์ตอนที่แล้ว ผมได้วิเคราะห์เกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดพัฒนาการความขัดแย้งใหม่เพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง คือ การที่ประธานาธิบดี Obama ได้พบปะกับ ดาไล ลามะ คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จึงจะมาวิเคราะห์ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
Obama พบ ดาไล ลามะ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศว่า Obama จะพบปะกับ ดาไล ลามะที่ทำเนียบขาว ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ โดยสหรัฐได้บอกว่า ตั้งแต่ปี 1990 ประธานาธิบดีของสหรัฐทุกคนได้พบปะกับ ดาไล ลามะ จึงถือเป็นเรื่องปกติ และดาไล ลามะก็เป็นผู้นำจิตวิญญาณชาวธิเบต ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก แต่รัฐบาลจีนก็ได้ประกาศคัดค้านการพบปะ และขอให้ยกเลิกการพบปะดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อความสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาล Obama ก็ไม่สนใจต่อคำคัดค้านจากทางฝ่ายจีน และได้เดินหน้าจัดการพบปะดังกล่าวขึ้น ตามกำหนดคือ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ โดยหลังจากการพบปะ รัฐบาลสหรัฐได้ออกแถลงการณ์ มีใจความว่า ประธานาธิบดี Obama ได้พบปะกับ ดาไล ลามะที่ทำเนียบขาว Obama ได้ย้ำว่า สหรัฐจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อการรักษาอัตลักษณ์ของธิเบต ทั้งทางด้านศาสนา วัฒนธรรม และภาษา และจะปกป้องสิทธิมนุษยชนของชาวธิเบต Obama ได้กล่าวชื่นชมนโยบายของ ดาไล ลามะ ที่เน้นเดินสายกลาง โดยเน้นการต่อสู้โดยไม่ใช้ความรุนแรง และความพยายามในการเจรจากับรัฐบาลจีน Obama ย้ำว่า รู้สึกยินดีที่ทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจาหารือกันเพื่อแก้ไขปัญหา

หลังจากการพบปะ ดาไล ลามะ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ โดยได้บอกว่า ได้ยกประเด็นเกี่ยวกับเรื่องธิเบตในการหารือกับ Obama แต่ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียด เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในธิเบต ดาไล ลามะ ได้กล่าวชื่นชมสหรัฐ ในฐานะที่เป็นผู้นำของประชาธิปไตยและเสรีภาพ นอกจากนี้ ดาไล ลามะ ยังได้พบกับ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐด้วย
ปฏิกิริยาจากรัฐบาลจีน

ภายหลังการพบปะ รัฐบาลจีนได้ออกมากล่าวโจมตีรัฐบาล Obama อย่างรุนแรง โดยโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน ได้แถลงว่า การพบปะดังกล่าว จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสอง และบอกว่า การพบปะดังกล่าวเป็นการละเมิดสิ่งที่สหรัฐได้ยอมรับมาในอดีตว่า ธิเบตเป็นส่วนหนึ่งของจีน และสหรัฐจะไม่สนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชของธิเบต และสหรัฐได้ละเมิดบรรทัดฐานของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก พฤติกรรมของสหรัฐถือได้ว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน และได้ทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของชาวจีนเป็นอย่างมาก จีนขอแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก และคัดค้านการพบปะดังกล่าว จีนขอเรียกร้องให้สหรัฐพิจารณาท่าทีของจีน และออกมาตรการที่จะขจัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และขอให้สหรัฐยุติการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ต่อต้านรัฐบาลจีน

ถึงแม้ว่า ดาไล ลามะ จะประกาศว่า สิ่งที่ต้องการคือ การปกครองตนเองของชาวธิเบต แต่ไม่ได้ต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจากจีน อย่างไรก็ตาม จีนก็ถือว่า ดาไล ลามะ คือผู้แบ่งแยกดินแดน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน คือ Cui Tiankai ได้เรียกทูตสหรัฐประจำจีนคือ Jon Huntsman เข้าพบ เพื่อประท้วงการกระทำของสหรัฐด้วย

บทวิเคราะห์

• ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐที่เกิดขึ้นล่าสุดในกรณีเรื่องธิเบตนี้ เป็นความต่อเนื่องของความขัดแย้งระหว่างประเทศทั้งสอง ที่ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม โดยเริ่มจากกรณี Google ประกาศถอนตัวจากจีน การที่สหรัฐประกาศขายอาวุธให้กับไต้หวัน ความขัดแย้งทางการค้า และการคว่ำบาตรอิหร่าน
• สำหรับสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ในส่วนของทางสหรัฐ Obama อาจจะต้องการลดกระแสการโจมตีจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่มองว่า Obama ยอมจีนมากเกินไป จึงหันกลับมาใช้ไม้แข็งกับจีน และอีกสาเหตุหนึ่ง น่าจะมาจากปฏิกิริยาของสหรัฐต่อท่าทีของจีนในเรื่องต่างๆ ที่สหรัฐมองว่า มีท่าทีในเชิงลบและแข็งกร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้สหรัฐจะหยิบเอาไพ่ธิเบตมาเล่นกับจีน แต่สหรัฐก็ไม่ต้องการให้ความขัดแย้งในเรื่องนี้ลุกลามบานปลายใหญ่โต จึงได้จัดให้ผู้นำทั้งสองได้พบปะกันในลักษณะ low profile โดยไม่ให้มีสื่อเข้าไปทำข่าวหรือถ่ายรูป ซึ่งน่าจะเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐถือว่าการพบปะดังกล่าว เป็นการพบปะแบบส่วนตัว ไม่ได้เป็นทางการ เพื่อลดกระแสความไม่พอใจจากจีน ดังนั้น การพบปะในครั้งนี้ จึงไม่ถือเป็นการเผชิญหน้ากับจีนอย่างเต็มที่ เพราะในอดีต ในปี 2007 ประธานาธิบดี Bush ได้กลายเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่พบปะกับ ดาไล ลามะ อย่างเป็นทางการที่สภาคองเกรส
แต่ก่อนหน้านี้ Obama ได้เลื่อนการพบปะกับ ดาไล ลามะ ในช่วงก่อนที่ Obama จะเดือนทางไปเยือนจีนในช่วงพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นเพราะไม่ต้องการมีเรื่องกับจีนก่อนไปเยือน แต่การเลื่อนการพบปะก็ได้ถูกโจมตีจากหลายๆฝ่ายในสหรัฐ ดังนั้น การตัดสินใจพบปะกับ ดาไล ลามะ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในสายตาของรัฐบาล Obama จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะกำลังเป็นช่วงที่สหรัฐกำลังใช้ไม้แข็งกับจีนในหลายๆเรื่อง
• ในส่วนของจีน ในอดีต จีนได้ออกมาแสดงความไม่พอใจทุกครั้งที่ประธานาธิบดีสหรัฐพบปะกับ ดาไล ลามะ แต่ในครั้งนี้ ดูปฏิกิริยาจีน จะรุนแรงกว่าทุกครั้ง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ชัดเจนว่า ท่าทีของจีนมีลักษณะแข็งกร้าวต่อสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจีนอาจจะลอง test รัฐบาล Obama ว่า จะยอมอ่อนข้อให้กับจีนแค่ไหน 1 ปีที่ผ่านมา Obama เน้นนโยบายปฏิสัมพันธ์ และยอมอ่อนข้อให้กับจีนเป็นอย่างมาก Obama เองก็พูดหลายครั้งว่า สหรัฐต้องการความร่วมมือจากจีนในการแก้ปัญหาของโลก จีนจึงอาจคิดว่าสหรัฐต้องพึ่งพาความร่วมมือจากจีน จึงทำให้จีนมีอำนาจการต่อรองและถือไพ่เหนือกว่า จึงกล้าที่จะแข็งกร้าวกับสหรัฐมากขึ้น
• สำหรับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐนั้น แนวโน้มคงจะชัดว่า คงจะทำให้ความสัมพันธ์เสื่อมโทรมลงไปอีก ผมมองว่า จีนคงจะกำลังมองหามาตรการตอบโต้สหรัฐ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา จีนใช้วิธีตอบโต้การที่ผู้นำยุโรปบางประเทศพบปะกับ ดาไล ลามะ ด้วยการยกเลิกการเยือนระดับสูง โดยจีนได้ใช้มาตรการดังกล่าวกับฝรั่งเศสและเยอรมนีมาแล้ว ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า จะมีการประกาศยกเลิกการเยือนสหรัฐของประธานาธิบดี Hu Jin Tao ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อเป็นการตอบโต้สหรัฐ และอาจจะมีการระงับการติดต่อระหว่างผู้นำทหารระดับสูง รวมทั้งจีนอาจจะตีรวนในประเด็นปัญหาต่างๆที่สหรัฐต้องการความร่วมมือจากจีน อาทิ ปัญหาอิหร่าน เกาหลีเหนือ และภาวะโลกร้อน