Follow prapat1909 on Twitter

วันอังคารที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความสัมพันธ์พม่า-เกาหลีเหนือ

ความสัมพันธ์พม่า-เกาหลีเหนือ
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 40 วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน - วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2553

ขณะนี้ ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือกำลังเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเรื่องใหญ่อีกเรื่อง ที่ผมได้วิเคราะห์ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือ เรื่องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของพม่า คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จึงจะวิเคราะห์ภูมิหลังและหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ข้อมูลจากอดีตเจ้าหน้าที่พม่า
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Aung Lynn Htut ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมพม่า แต่ได้แปรพักตร์มาเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร ได้เขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ International Herald Tribune เล่าถึงความเป็นมาของความสัมพันธ์ระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือว่า ในอดีตทั้งสองประเทศไม่ได้มีความสัมพันธ์กันมากเท่าไร โดยเฉพาะเหตุการณ์ในปี 1983 ทำให้พม่าตัดความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ เนื่องด้วยเหตุการณ์ลอบสังหารประธานาธิบดีเกาหลีใต้และคณะ ที่อยู่ระหว่างการเยือนย่างกุ้ง ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเกาหลีใต้เสียชีวิตถึง 17 คน รวมถึงรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีพาณิชย์ด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 1988 ที่รัฐบาลทหารยึดอำนาจ ทำให้มีการคว่ำบาตรพม่า รวมถึงการขายอาวุธให้กับพม่า หลังจากนั้นในปี 1992 ผู้นำทหารพม่า นายพลตาน ฉ่วย จึงได้เริ่มกลับมาคบกับเกาหลีเหนือใหม่อย่างลับๆ โดยผู้นำพม่ากลัวการโจมตีจากสหรัฐ จึงต้องการสร้างเสริมกำลังทางทหาร รวมทั้งอาวุธที่ทันสมัยและอาวุธนิวเคลียร์ด้วย

เกาหลีเหนือได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธมาพม่า โดยได้ปลอมเป็นนักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ ผู้นำทหารพม่ามองว่าหากมีอาวุธนิวเคลียร์จะสามารถป้องปรามการโจมตีจากสหรัฐได้ ในปี 2006 รัฐบาลทหารพม่าได้ยกระดับปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับเกาหลีเหนือ โดยมีนายพล Tin Aye เป็นผู้ประสานงานหลักกับทางฝ่ายเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ นายพล Shwe Mann ผู้นำอันดับ 3 ของพม่า ก็ได้เดินทางไปเยือนเกาหลีเหนืออย่างลับๆ ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2008 และได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางทหารกับเกาหลีเหนือ

ข้อมูลจากนักวิชาการออสเตรเลีย
ก่อนหน้านั้น ในเดือนสิงหาคม ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์ Sydney Morning Herald ได้ตีพิมพ์รายงานของนักวิชาการออสเตรเลีย ชื่อ Desmond Ball จากมหาวิทยาลัย Australia National University โดยข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากชาวพม่าที่แปรพักตร์ โดยบอกว่า กองทัพพม่าได้จัดตั้งฐานการพัฒนานิวเคลียร์ตั้งแต่ปี 2000 โดยมีโรงงานอยู่ใต้ดินในภูเขาทางตะวันตกเฉียงใต้ของ Naung Laing ใกล้เมือง Pyin Oo Lwin รายงายของ Ball ระบุว่า เกาหลีเหนือได้ช่วยเหลือในการพัฒนาโรงงานนิวเคลียร์ที่ Naung Laing ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2012 และพม่าจะสามารถจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้ภายในปี 2020

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังได้ระบุว่า มีโครงการพัฒนานิวเคลียร์ในพม่าอยู่ 2 แห่ง แห่งที่ 1 เป็น ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ที่รัสเซียช่วยเหลือ ส่วนแห่งที่ 2 เป็นโครงการลับ ซึ่งจะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ด้วยความช่วยเหลือจากเกาหลีเหนือ

ปฏิกิริยาจากสหรัฐ
สำหรับรัฐบาลสหรัฐนั้น ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โดยทางฝ่ายสหรัฐระบุว่า เกาหลีเหนือได้ขายอาวุธให้กับพม่า ช่วยเหลือพม่าในการพัฒนากองทัพ ในปี 2004 สหรัฐได้ป้องกันการขายขีปนาวุธพิสัยใกล้ที่เกาหลีเหนือกำลังจะส่งไปให้พม่า

ในสมัยรัฐบาลโอบามา ก็ต้องการที่จะหารือกับพม่าในเรื่องการซื้อเทคโนโลยีนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ โดยที่เป็นข่าวใหญ่เกิดขึ้น เมื่อตอนที่ Kurt Campbell อธิบดีกรมกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เดินทางไปเยือนพม่าเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยก่อนหน้าที่ Campbell จะไปเยือน ได้มีข่าวว่า มีเรือขนอาวุธจากเกาหลีเหนือมาจอดที่ท่าเรือ Thilawar Port ใกล้กรุงย่างกุ้ง ดังนั้น ในการเยือนพม่า Campbell ได้หารือกับ U Thaung รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพม่า ซึ่งเคยเป็นอดีตทูตพม่าประจำสหรัฐ และเป็นผู้ดูแลโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของพม่า และภายหลังการหารือ Campbell ก็ได้ออกมาประกาศเตือนพม่าอย่างรุนแรง เกี่ยวกับการซื้ออาวุธจากเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ รัฐบาลสหรัฐก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะประกาศอย่างเป็นทางการ กล่าวหาพม่าในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ท่าทีดังกล่าว อาจจะแสดงว่า สหรัฐเชื่อว่า พม่าไม่มีโครงการอาวุธนิวเคลียร์ หรืออาจจะยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ เช่นเดียวกันกับหลักฐานในเรื่องเกาหลีเหนือช่วยพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้กับพม่า ก็ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอ

ข้อมูลและหลักฐานอื่นๆ
แต่หลายๆ ฝ่าย ก็ยังคงไม่ไว้วางใจ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการค้นพบว่า เกาหลีเหนือได้แอบช่วยเหลือซีเรียในการพัฒนาโรงงานนิวเคลียร์

เกาหลีเหนือมีข้อตกลงกับพม่า ที่จะช่วยสร้างขีปนาวุธพิสัยกลาง ที่เรียกว่า SCUD เกาหลีเหนือถูกกล่าวหาอยู่บ่อยๆ ว่า ส่งออกอาวุธนิวเคลียร์ให้กับประเทศต่างๆ เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญของ UN ได้กล่าวหาเกาหลีเหนือว่า ยังคงส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์และขีปนาวุธให้กับอิหร่าน ซีเรีย และพม่า

ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารยืนยันตรงกันว่า เกาหลีเหนือช่วยพม่าพัฒนาขีปนาวุธ SCUD ฐานปล่อยจรวด อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยีทางทหาร แต่หลักฐานเกี่ยวกับบทบาทของเกาหลีเหนือในการช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์นั้น ยังไม่สามารถยืนยันได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลและหลักฐานอื่นๆ เพิ่มเติม เกี่ยวกับบทบาทของเกาหลีเหนือในการช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างพม่ากับเกาหลีเหนือ ดังนี้
- มีรายงานข่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารพม่าอย่างน้อย 1000 คน ได้ไปฝึกอบรมโครงการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่เกาหลีเหนือและรัสเซียในช่วงปีที่ผ่านมา
- จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานของพม่า พม่ามีเหมืองแร่ยูเรเนียมถึง 9 แห่ง นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า พม่าได้ส่งออกแร่ยูเรเนียมไปเกาหลีเหนือเพื่อแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือของเกาหลีเหนือในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้กับพม่า
- มีการคาดการณ์ว่า เกาหลีเหนือได้ลักลอบส่งอาวุธและเทคโนโลยีมาพม่า โดยทางเรือขนสินค้าของเกาหลีเหนือ เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เรือสินค้าเกาหลีเหนือชื่อ Kang Nam 1 ซึ่งกำลังเดินทางมาพม่า แต่ได้เดินทางกลับเกาหลีเหนือเมื่อมาถึงทะเลจีนใต้ หลังจากที่ถูกเรือรบสหรัฐไล่ติดตาม
- นอกจากนี้ ยังมีนักสังเกตการณ์บางคนเชื่อว่า เกาหลีเหนือส่งอาวุธมาทางเครื่องบิน โดยผ่านทางประเทศจีน โดยมีการพบเห็นเครื่องบินทหารซึ่งเชื่อว่ามาจากจีนและเกาหลีเหนือ มาจอดที่สนามบิน Meiktila ทางตอนกลางของประเทศพม่า

กล่าวโดยสรุป จากข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ถึงแม้จะยังไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน แต่ผมก็มองว่า มีหลักฐานและข้อน่าสงสัยหลายประการ ที่ประชาคมโลกโดยเฉพาะอาเซียนและไทยควรจะต้องติดตาม และแสวงหาความกระจ่างในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ โดยเฉพาะต่อไทยโดยตรง หากเป็นจริง ที่เกาหลีเหนือช่วยพม่าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ ก็จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ต่อความมั่นคงของไทย และต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

ไม่มีความคิดเห็น: