การประชุม Strategic and Economic Dialogue ระหว่างสหรัฐ กับ จีน
ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 57 ฉบับที่ 37 วันศุกร์ที่ 4 - วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2553
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการประชุมสำคัญระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งการประชุมดังกล่าวเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Strategic and Economic Dialogue ซึ่งในครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 2 การประชุมครั้งแรกมีขึ้นเมื่อปีที่แล้ว โดยเป็นความคิดริเริ่มของประธานาธิบดีโอบามา ทางฝ่ายสหรัฐหัวหน้าคณะมี 2 คน คือ Hillary Clinton รัฐมนตรีต่างประเทศ และ Tim Geithner รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ส่วนทางฝ่ายจีนมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะ การประชุมดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญรองลงมาจากการประชุมระดับสุดยอด คอลัมน์โลกทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์ผลการประชุมดังกล่าว ดังนี้
ความร่วมมือด้านความมั่นคง
ในสุนทรพจน์กล่าวสรุปปิดการประชุม Hillary Clinton ได้กล่าวชื่นชมผลการประชุม โดยบอกว่าเวทีการประชุมนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญอย่างยิ่งสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน Hillary ได้กล่าวว่า ในช่วงต้นปี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองเสื่อมโทรมลงมาก อย่างไรก็ตาม กลไกหารือเวทีนี้ได้ทำให้ความสัมพันธ์กลับมาเป็นบวกอีกครั้งหนึ่ง โดยได้มีการหารือในด้านต่างๆ หลายเรื่อง
เรื่องแรกเป็นเรื่องความมั่นคง โดยได้มีการหารือถึงประเด็นปัญหาระหว่างประเทศอย่างละเอียด รวมถึงปัญหาอิหร่านและเกาหลีเหนือ
ในกรณีของอิหร่าน ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความสำคัญที่จะบรรลุถึงข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณให้อิหร่านมีความรับผิดชอบระหว่างประเทศ มิเช่นนั้นจะถูกโดดเดี่ยวและจะได้รับผลจากพฤติกรรมของตน
สำหรับในกรณีเกาหลีเหนือ สหรัฐและจีนมีวัตถุประสงค์ตรงกันที่ต้องการสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี ปีที่แล้ว ทั้งสองประเทศร่วมมือกัน ในการผลักดันข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคง และบังคับใช้ข้อมติดังกล่าว หลังจากเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ในขณะนี้ ทั้งสองประเทศต้องร่วมมือกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะแก้ไขวิกฤตการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี ที่เกิดจากการที่เกาหลีเหนือจมเรือของเกาหลีใต้ Hillary ได้เน้นว่า จีนเป็นประเทศที่น่าจะกังวลที่สุดต่อสันติภาพและเสถียรภาพในคาบสมุทรเกาหลี ดังนั้น จึงต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ในอนาคต สหรัฐจะร่วมมือกับประชาคมโลก และกับฝ่ายจีน เพื่อที่จะหาหนทางที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในครั้งนี้
ความร่วมมือด้านพลังงาน
แต่ไฮไลท์ของการประชุมในครั้งนี้คือ ความร่วมมือในด้านพลังงาน โดยได้มีการลงนามในข้อตกลงหลายเรื่องในด้านนี้ ข้อตกลงที่สำคัญที่มีการลงนามในครั้งนี้ มีดังนี้
• มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือในด้านความมั่นคงปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ โดยจะร่วมมือกันในการป้องกันและต่อต้านการค้าวัตถุดิบนิวเคลียร์อย่างผิดกฎหมาย
• มีการลงนามในแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับการขุดเจาะสำรวจแก๊สธรรมชาติในจีน โดยแผนดังกล่าวมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า U.S.-China Shale Gas Resource Task Force Work Plan
• มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตาม MOU ความร่วมมือในด้านการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม และมีการจัดทำกรอบความร่วมมือด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ระยะเวลา 10 ปี โดยในกรอบความร่วมมือดังกล่าว จะเน้นสาขาความร่วมมือ 6 สาขา ได้แก่ น้ำ อากาศ พลังงานไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง การปกป้องธรรมชาติ และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
• ได้มีการจัดการประชุมคณะทำงานของ Clean Energy Research Center เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม
• ทั้งสองฝ่ายมีแผนที่จะจัดการประชุมความร่วมมือด้านพลังงานอีกหลายเวที ได้แก่ Electric Vehicle Forum การประชุม U.S.-China Energy Policy Dialogue ครั้งที่ 5 และการประชุม U.S.-China Oil and Gas Industry Forum ครั้งที่ 10 ในช่วงปลายปีนี้ นอกจากนี้ จะมีการจัดการประชุม U.S-China Renewable Energy Forum ครั้งแรกขึ้น และได้มีการจัดการประชุม Advanced Bio-fuels Forum เมื่อวันที่ 26-27 พฤษภาคมที่ผ่านมา และทั้งสองฝ่ายกำลังเดินหน้าในเรื่อง U.S-China Renewable Energy Partnership
• ทั้งสองฝ่ายได้จัดทำแถลงการณ์ร่วม ความร่วมมือในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน โดยที่ทั้งสองประเทศเป็นประเทศที่ผลิตและบริโภคพลังงานมากที่สุดในโลก จึงมีผลประโยชน์ร่วมกันและความรับผิดชอบร่วมกันในด้านความมั่นคงด้านพลังงาน
• ทั้งสองฝ่ายได้ตอกย้ำจุดยืนในการสนับสนุน Copenhagen Accord ที่เป็นข้อตกลงล่าสุด ที่ตกลงกันในการประชุมเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อปลายปีที่แล้ว
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
การประชุมในครั้งนี้ มีการหารือความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐ โดย Tim Geithner รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้กล่าวสรุปว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสองกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น โดยดูได้จากการส่งออกของสหรัฐมาจีนได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปีนี้ โดยได้เพิ่มขึ้นเกือบ 50% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
เรื่องสำคัญที่ทั้งสองประเทศได้ร่วมมือกันคือ ความร่วมมือในการกอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจโลก ในการประชุมปีที่แล้ว ทั้งสองฝ่ายได้เน้นเรื่อง การปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลก หลังจากนั้นทั้งสองประเทศได้ดำเนินมาตรการต่างๆ ในการปรับสมดุล โดยทางสหรัฐได้มีการออมและลงทุนมากขึ้น และลดการกู้เงินจากต่างประเทศ ในขณะที่ทางฝ่ายจีนก็มีการบริโภคและการนำเข้ามากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกมีความสมดุลมากขึ้น
ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมมือกันในการเพิ่มเงินทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจเกิดใหม่ โดยผ่านทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF
อีกเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่แต่ Geithner ได้กล่าวแต่เพียงเล็กน้อย คือ ปัญหาค่าเงินหยวนของจีน โดยได้กล่าวแต่เพียงว่า ยินดีที่ผู้นำจีนได้ให้ความสำคัญในการปฏิรูประบบการแลกเปลี่ยนของจีน
แต่เรื่องที่ Geithner ดูจะให้ความสำคัญคือ การที่สหรัฐผลักดันให้จีนปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนของสหรัฐในจีน ซึ่งทางฝ่ายสหรัฐดูจะพอใจที่จีนได้ดำเนินมาตรการต่างๆ อาทิ การยึดหลักการกลไกตลาด การค้าเสรี และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของจีน รวมทั้งการที่จีนจะเข้าเป็นสมาชิกของข้อตกลง WTO ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และการที่จีนกำลังลดอุปสรรคการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งทางฝ่ายสหรัฐมองว่าเป็นความคืบหน้าที่สำคัญ
บทวิเคราะห์
ผมมองว่า ผลของการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นการพลิกผันอีกครั้งหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จากความร่วมมือเป็นความขัดแย้ง และจากความขัดแย้งมาเป็นความร่วมมือ เราคงจำได้ว่า ในช่วงต้นปีที่แล้ว ตอนที่โอบามาเป็นประธานาธิบดีใหม่ๆ ได้ดำเนินนโยบายในเชิงรุกเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน ความสัมพันธ์ในช่วงปีที่แล้วดีขึ้นมากโดยเฉพาะตอนที่โอบามาเดินทางไปเยือนจีน แต่พอมาถึงช่วงต้นปีนี้ ความสัมพันธ์ก็พลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยเกิดความขัดแย้งหลายเรื่อง อาทิ การที่โอบามาประกาศที่จะขายอาวุธให้กับไต้หวัน และการที่โอบามาได้พบปะกับองค์ดาไล ลามะ ที่ทำเนียบขาว และต่อมาสหรัฐได้โจมตีจีนอย่างหนักในเรื่องของค่าเงินหยวน และความสัมพันธ์ดูมีแนวโน้มทรุดหนักลงไปเรื่อยๆ
แต่พอมาเมื่อช่วงเดือนเมษายน ความสัมพันธ์ก็พลิกผัน โดยหู จิ่น เทา ได้เดินทางไปเยือนสหรัฐ หลังจากนั้น ความสัมพันธ์เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ และจากการประชุม Strategic and Economic Dialogue ในครั้งนี้ ก็ทำให้ความสัมพันธ์ดีมากขึ้นไปอีก
คำถามสำคัญคือ เกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คำตอบของผมคือ เราต้องเข้าใจยุทธศาสตร์หลักของสหรัฐต่อจีน ซึ่งมีลักษณะกึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ ในบางช่วง สหรัฐจะเน้นนโยบายปิดล้อม ใช้ไม้แข็งกับจีน แต่ในบางช่วง ก็จะเปลี่ยนมาเป็นนโยบายปฏิสัมพันธ์และใช้ไม้อ่อนกับจีน สลับกันไปนั่นเอง
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ไฮไลท์อยู่ที่ความร่วมมือด้านพลังงาน ซึ่งก็เป็นการสานต่อข้อตกลงระหว่างโอบามากับหู จิ่น เทา เมื่อปลายปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับในด้านอื่นๆ ก็ไม่มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม และความขัดแย้งในเรื่องสำคัญ ยังไม่ได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด อย่างเช่น เรื่องปัญหาค่าเงินหยวน เรื่องความร่วมมือในการแก้ไขวิกฤตินิวเคลียร์อิหร่าน เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป ในอนาคต เราคงจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน กลับไปกลับมา คือ บางครั้งจะมีความร่วมมือ บางครั้งก็จะขัดแย้ง ซึ่งเป็นผลมาจากยุทธศาสตร์กึ่งปิดล้อมกึ่งปฏิสัมพันธ์ของสหรัฐนั่นเอง
1 ความคิดเห็น:
สงสัยงานนี้สหรัฐกับจีนเอาจริง
“ความร่วมมือสหรัฐกับจีนต้านภัยนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ”
http://www.chanchaivision.com/2013/03/unandnorthkorea130308.html
แสดงความคิดเห็น