ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ปี 2010 : ผลกระทบต่อโลก
ตีพิมพ์ใน ไทยโพสต์ วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน 2553
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการเผยแพร่เอกสารสำคัญเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ ที่มีชื่อว่า National Security Strategy ซึ่งจะมีการจัดทำขึ้นทุก 4 ปี ในสมัยรัฐบาลบุช มีการทำขึ้นในปี 2002 กับ ปี 2006 สำหรับในปี 2010 นี้ ได้มีการจัดทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัฐบาลโอบามา ซึ่งถือเป็นเอกสารสะท้อนยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของรัฐบาลโอบามา คอลัมน์กระบวนทรรศน์ในวันนี้ จะสรุปวิเคราะห์เอกสารดังกล่าว และผลกระทบที่จะมีต่อโลกและต่อภูมิภาค
Grand Strategy : ยุทธศาสตร์ Engagement
ในตอนต้นของเอกสารดังกล่าว ได้วิเคราะห์ถึงภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ ในช่วง 2 ทศวรรษหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง โดยสงครามได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากสงครามอุดมการณ์มาเป็นสงครามชาติพันธุ์และสงครามศาสนา การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง การไร้เสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร และอันตรายจากการแพร่ขยายของเชื้อโรคร้ายต่างๆ
แต่สำหรับสหรัฐ ด้านมืดของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์เกิดขึ้นในวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 จากการถูกโจมตีจากกลุ่มก่อการร้าย หลังจากนั้นสหรัฐก็ได้ทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยเฉพาะกลับกลุ่มอัลกออิดะห์ และทำสงครามในอิรัก
ในอนาคต สหรัฐจะยังคงเป็นผู้นำในการสร้างความมั่นคงให้กับโลก โดยร่วมมือกับพันธมิตรและสถาบันระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เป้าหมายหลักคือเพื่อเอาชนะอัลกออิดะห์ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน และป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง
Theme ของยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติปี 2010 คือ การรื้อฟื้นการเป็นผู้นำโลกของสหรัฐ และดำเนินยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ (Engagement)
ยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์ในระดับโลก คือการให้ความสำคัญกับสถาบันระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย การแพร่ขยายของอาวุธร้ายแรง การสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจโลก และแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน สงคราม และโรคระบาดต่างๆ
แต่การปฏิสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆ นอกจากนั้น สหรัฐกำลังกระชับความสัมพันธ์กับศูนย์กลางอำนาจใหม่ คือ จีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล แอฟริกาใต้ และอินโดนีเซีย สหรัฐกำลังเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ และแม้กระทั่งประเทศที่เป็นศัตรู สหรัฐก็จะดำเนินยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ด้วย
ยุทธศาสตร์ระยะสั้นเฉพาะหน้า
ยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์และการรื้อฟื้นความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐ ถือเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว แต่ปัจจุบัน สหรัฐต้องเผชิญกับภัยคุกคามหลายรูปแบบ จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ระยะสั้นเฉพาะหน้า
ภัยคุกคามที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ ภัยจากอาวุธร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อันตรายที่มาจากการที่กลุ่มก่อการร้ายมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง รวมทั้งการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์ไปสู่ประเทศต่างๆ ดังนั้นสหรัฐจึงกำลังดำเนินยุทธศาสตร์ป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์และสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐกำลังลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ลง พยายามส่งเสริมสนธิสัญญาป้องกันการแพร่ขยายของอาวุธนิวเคลียร์หรือ NPT พยายามแก้ปัญหาวิกฤตินิวเคลียร์ในอิหร่านและเกาหลีเหนือ พยายามไม่ให้วัตถุดิบนิวเคลียร์ตกอยู่ในมือของผู้ก่อการร้าย ป้องกันการโจมตีด้วยอาวุธชีวภาพ และการโจมตีเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
สหรัฐกำลังทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เป้าหมายคือ การเอาชนะอัลกออิดะห์ ด้วยยุทธศาสตร์สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ ขณะนี้ แนวหน้าของการต่อสู้อยู่ที่อัฟกานิสถานและปากีสถาน ในตะวันออกกลาง มีความพยายามสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับเพื่อนบ้าน ด้วยทางออกที่เรียกว่า two-state solution โดยการตั้งรัฐอิสราเอลคู่กับรัฐปาเลสไตน์ นอกจากนี้ ก็มีความพยายามปฏิสัมพันธ์กับโลกมุสลิมทั่วโลกด้วย
ยุทธศาสตร์ต่อเอเชีย
ในเอกสารดังกล่าว ได้ฉายภาพให้เห็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐต่อเอเชีย โดยยุทธศาสตร์หลักคือ การกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้ง 5 ในเอเชีย ซึ่งได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย โดยเน้นกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรดังกล่าวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ประเทศที่มีความสำคัญคือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่ถูกมองว่ากำลังจะเป็นผู้นำในการจัดการกับปัญหาทั้งในระดับโลกและภูมิภาค สหรัฐจึงจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศทั้งสอง โดยรวมแล้ว สหรัฐจะร่วมมือกับพันธมิตร ในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค อาทิ การแพร่ขยายอาวุธร้ายแรง การก่อการร้าย ภาวะโลกร้อน ปัญหาโจรสลัด ภัยจากโรคระบาด และความมั่นคงในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
นอกจากนี้ สหรัฐมองว่า เอเชียกำลังมีการเกิดขึ้นของศูนย์กลางอำนาจใหม่ ดังนั้น สหรัฐจึงพยายามที่จะเพิ่มการปฏิสัมพันธ์ในเอเชีย โดยผ่านทางองค์กรในภูมิภาค เวทีหารือใหม่ๆ และการทูตระดับสูง สหรัฐจะดำเนินยุทธศาสตร์ต่อเอเชียผ่านทางพันธมิตร กระชับความสัมพันธ์กับมหาอำนาจใหม่ และเพิ่มบทบาทในเวทีพหุภาคีต่างๆ ซึ่งรวมทั้ง ASEAN APEC และเวที East Asia Summit
สำหรับความสัมพันธ์กับจีนนั้น สหรัฐจะเน้นความสัมพันธ์ที่เป็นบวก สร้างสรรค์ และสมบูรณ์เบ็ดเสร็จกับจีน สหรัฐยินดีที่จีนจะเล่นบทบาทเป็นผู้นำที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับสหรัฐ อย่างไรก็ตาม สหรัฐจะยังคงเฝ้าระวังเกี่ยวกับการพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารของจีน และเตรียมรับมือกับผลกระทบ เพื่อป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ของสหรัฐและพันธมิตรได้รับผลกระทบในทางลบ จากการผงาดของจีนทางทหาร สหรัฐกับจีนคงจะไม่สามารถตกลงกันได้ในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะยังมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ความเห็นที่แตกต่างกันจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือในประเด็นปัญหาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน
สำหรับอินเดีย สหรัฐกำลังพัฒนาความสัมพันธ์ในลักษณะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับอินเดีย ซึ่งทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุด บทบาทความรับผิดชอบของอินเดีย เป็นตัวอย่างในเชิงบวกสำหรับประเทศกำลังพัฒนา และได้เปิดโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนกับสหรัฐ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง สหรัฐมองว่า อินเดียกำลังจะมีบทบาทความเป็นผู้นำในการจัดการปัญหาของโลก โดยการเป็นสมาชิกของกลุ่ม G20 และบทบาทของอินเดียในการสร้างเสถียรภาพในเอเชียใต้
สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่สหรัฐมองว่า กำลังเป็นศูนย์อำนาจใหม่และมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ คือ อินโดนีเซีย โดยในเอกสารดังกล่าว ได้พูดถึงอินโดนีเซียว่า เป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นสมาชิก G20 และเป็นประชาธิปไตย อินโดนีเซียจึงมีศักยภาพที่จะเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญกับสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ในภูมิภาค
บทวิเคราะห์•
โดยภาพรวมแล้ว ผมมองว่า ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติปี 2010 ของรัฐบาลโอบามาที่ได้สรุปข้างต้นนั้น มีแนวนโยบายที่แตกต่างจากยุทธศาสตร์ในสมัยของรัฐบาลบุชอย่างเห็นได้ชัด โดยยุทธศาสตร์ในสมัยรัฐบาลบุช เป็นยุทธศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นสายเหยี่ยวแบบสุดโต่ง เป็นยุทธศาสตร์สัจนิยมแบบสุดโต่ง แต่สำหรับยุทธศาสตร์ของโอบามา มีลักษณะของการผสมผสานระหว่างยุทธศาสตร์สัจนิยมกับอุดมคตินิยม และลดความเป็นสายเหยี่ยวลงไปมาก จนอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นยุทธศาสตร์สายพิราบ แต่โดยรวมแล้ว ก็ยังเป็นการผสมผสานกันของทั้งสัจนิยมและอุดมคตินิยม โดยมีความเป็นเสรีนิยมสูง โดยเฉพาะการเน้นยุทธศาสตร์ปฏิสัมพันธ์หรือ engagement ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่มองโลกในแง่ดี ซึ่งแตกต่างจากยุทธศาสตร์ของบุชที่มองโลกในแง่ร้ายเป็นอย่างมาก ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในลักษณะ grand strategy หรือยุทธศาสตร์ระยะยาวของโอบามานั้น แตกต่างจากยุทธศาสตร์ในสมัยบุชเป็นอย่างมาก
• อย่างไรก็ตาม เมื่อเรามาวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ระยะสั้นหรือยุทธศาสตร์เฉพาะหน้า กลับปรากฏว่า ยุทธศาสตร์ของโอบามาก็ไม่ได้แตกต่างจากยุทธศาสตร์ของบุชมากนัก โดยภัยคุกคามก็เหมือนกัน คือ กลุ่มก่อการร้ายและอาวุธร้ายแรง ดังนั้น ถึงแม้โอบามาจะมี grand strategy ที่มีลักษณะเสรีนิยม แต่พอมาถึงยุทธศาสตร์ในระยะสั้นเฉพาะหน้า กลับมีลักษณะเป็นสัจนิยมค่อนข้างมาก
• เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ของโอบามาต่อเอเชีย ก็ไม่ได้แตกต่างจากยุทธศาสตร์ของบุช โดยยังคงเน้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางทหารทั้ง 5 แต่ที่จะแตกต่างจากยุทธศาสตร์ของบุชคือ การให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคีในภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์ต่อมหาอำนาจใหม่ โดยเฉพาะกับจีน ก็แตกต่างจากในสมัยของรัฐบาลบุช โดยโอบามาเน้นที่จะปฏิสัมพันธ์กับจีนอย่างสร้างสรรค์มากขึ้นและมองจีนในแง่บวกมากขึ้น
• โดยสรุปแล้ว ยุทธศาสตร์ความมั่นคงใหม่ของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยผมมองว่าโดยรวมแล้ว น่าจะส่งผลกระทบในทางบวกต่อโลกมากขึ้น ทั้งนี้เพราะ หากรัฐบาลโอบามาสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ คือ เน้นปฏิสัมพันธ์ ก็น่าจะทำให้เกิดความร่วมมือและสันติภาพมากขึ้นในโลก การเน้นให้ความสำคัญกับองค์การระหว่างประเทศ ก็น่าจะส่งผลดีในการสร้างความร่วมมือ ลดความขัดแย้ง และน่าจะส่งผลให้เชิงบวกต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลก
สำหรับผลกระทบต่อเอเชียนั้น พันธมิตรทั้ง 5 น่าจะได้รับประโยชน์เหมือนเดิม โดยไทยในฐานะเป็นหนึ่งในพันธมิตรทั้ง 5 น่าจะได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐต้องการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรมากขึ้น ซึ่งรวมถึงไทย แนวโน้มคือ สหรัฐน่าจะให้ความสำคัญกับไทยมากขึ้น
นอกจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับมหาอำนาจใหม่ในเอเชีย น่าจะเป็นไปในทางบวกมากขึ้น ซึ่งรวมถึงจีนและอินเดีย เวทีพหุภาคีในภูมิภาค ก็น่าจะได้รับความสำคัญจากสหรัฐมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่ออาเซียน สุดท้าย ประเทศที่ดูแล้ว น่าจะกำลังเป็นจุดสนใจของสหรัฐเป็นอย่างมากคือ อินโดนีเซีย ซึ่งมีแนวโน้มว่า สหรัฐจะให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็น่าจะก่อให้เกิดผลในเชิงบว
1 ความคิดเห็น:
หลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” ที่ประกาศในสมัยประธานาธิบดีบุชนิยามว่าเป็นส่งกองทัพเข้ารุกรานอย่างเปิดเผย เป็นนิยามที่ไม่ครอบคลุม บิดเบือน จึงต้องกำหนดนิยามใหม่ อีกประเด็นที่ไม่ควรละเลยคือความเชื่อมโยงกับการส่งเสริมประชาธิปไตย การค้าเสรี คำถามที่สำคัญคือ รัฐบาลโอบามาได้ละทิ้งหลักนิยม “ชิงลงมือก่อน” หรือไม่ หรือเป็นเพียงปรับตัวให้เข้ากับบริบท
http://www.chanchaivision.com/2015/03/Preemption-from-Bush-to-Obama-150301.html
แสดงความคิดเห็น